Skip to main content
sharethis


วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2005 11:24น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ชะตากรรมอย่างหนึ่งของข้อคิดที่สร้างสรรค์ประหลาดกว่าที่เคยเสนอกันมาคือ ไม่เชื่อกันว่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แต่สังคมไทยในอดีตเคยทำสิ่งอัศจรรย์ทางการเมืองมาแล้ว ถ้าครั้งหนึ่งทางออกเหล่านั้นของสังคมไทยเป็นไปได้ ก็ไม่มีอะไรจะขัดขวางไม่ให้คิดว่า บัดนี้ทางออกอย่างแนวทางสมานฉันท์เป็นไปไม่ได้ ในที่นี้จะขอยกกรณีตัวอย่างเพียง 3 กรณีคือ ชัยชนะของประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง ชัยชนะของรัฐไทยในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ และชัยชนะของเหยื่อความรุนแรงกรณี 28 เมษายน 2547 เหนือความเป็นศัตรูต่อกัน


 


ชัยชนะของความเมตตาปราณี : ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง 2488


วันที่ 16 สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า การประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย คำประกาศนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามในเวลานั้นได้ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ รวมทั้งทำการต่างๆอันเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดคำประกาศสันติภาพของนายปรีดี จึงสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์จากการที่ไทยเคยอยู่คนละฝ่ายกับผู้ชนะสงคราม มาเป็นอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐฯและอังกฤษผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุดได้ คงมีหลายเหตุผลหลายประการนอกเหนือจากการที่ระบุเพียงว่า การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและฝืนเจตนารมณ์ของคนในสังคมไทย หรือการที่เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาปฏิเสธรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ อันทำให้นานาชาติยอมรับให้ไทยพลิกสถานะจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามมาเป็นฝ่ายชนะได้


 


"รู้ธ" หรือนายปีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทยอธิบายเหตุที่นานาชาติยินยอมให้ประเทศไทยเป็นฝ่ายชนะสงครามไว้ในสุนทรพจน์ซึ่งแสดงไว้ ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2488 มีความสำคัญว่า การต่อสู้กู้ชาติมิใช่งานของคณะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วย วิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถที่จะทำได้ แต่คนอีก 17 ล้านคนทำอะไร?


 


เรื่องเล่าของการต่อต้านญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีมากหลาย วีรกรรมของขบวนการเสรีไทยก็เป็นที่ยกย่องไปทั่ว แต่ที่เล่าขานไม่รู้จบคือ ความปราณีของราษฎรไทยที่มีต่อเชลยศึกฝรั่ง น้ำใจอารีที่ผู้คนสามัญนับไม่ถ้วนในสังคมไทย มีต่อคนต่างวัฒนธรรมซึ่งมาตกทุกข์ได้ยากเพราะสงคราม เป็นส่วนสำคัญที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศจากการเป็นผู้แพ้มาเป็นผู้ชนะได้อย่างน่าอัศจรรย์


 


ชัยชนะของการเมืองเหนือความรุนแรง: รัฐไทยในสงครามคอมมิวนิสต์,2523


หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการคอมมิวนิสต์ในป่าเติบโตเพราะเชื้อไฟแห่งความรุนแรงโหดร้ายที่รัฐเป็นผู้ใช้ 4 ปีหลังจากนั้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ฝ่ายทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บรรลุข้อสรุปว่า การต่อสู้ในครั้งนั้นต้องอาศัยการต่อสู้อย่างใหม่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หน่วยทหารระดับพื้นที่ได้เริ่มแนวทางปฏิบัติใหม่ๆของตนก่อน จนผู้บังคับบัญชาเห็นว่าประสบความสำเร็จจึงเขียนเป็นนโยบายขึ้นมา


 


คำสั่ง 66/23 ถือกำเนิดขึ้นโดยมีลักษณะพิเศษหลายประการ ที่สำคัญคือ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายคอมมิวนิสต์ คำสั่งนี้ให้ถือว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยเป็นเงื่อนไขของภัยคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้จึงปฏิบัติต่อคนที่ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะมิตรไม่ใช่ศัตรู โดยถือว่าพวกเขา "ผู้หลงผิด" และดังนั้นจึงคู่ควรกับการให้อภัย และที่สำคัญคือ รัฐมุ่งเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองด้วยการสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและปกครองแผ่นดินของตน ถือว่างานการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดในการต่อสู้นี้ โดยให้ใช้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักเหนือหนทางการใช้ความรุนแรงด้วยมาตรการทางทหาร


 


อาจกล่าวได้ว่าคำสั่ง 66/23 เป็นภาพสะท้อนทั้งความกล้าหาญและความคิดสร้างสรรค์ของกองทัพไทยที่จะใช้แนวทางการเมืองมาแก้ปัญหา และยุติสงครามระหว่างคนไทยด้วยกันจนได้อาศัยแนวทางสันติวิธีและการให้อภัยต่อคนที่เคยเป็นศัตรูต่อกัน เป็นความพยายามสร้างสังคมการเมืองชนิดที่มีความสมานฉันท์เปิดพื้นที่ให้คนที่เคยเป็นศัตรูกลับเข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองได้อย่างมิตร และนำพาประเทศไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้และความมั่นคงที่ยั่งยืนได้อย่างน่าอัศจรรย์


 


ชัยชนะของการให้อภัย: กรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2547


สิบเอกสามารถ กาบกลางดอน อายุ 25 ปี เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้กับผู้ก่อการ ที่กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 แม่ของสิบเอกสามารถตระหนักดีว่า ลูกชายของตนจากไปแล้ว และไม่มีวันหวนคืนมา เธอกล่าวว่า "ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว เป็นความสูญเสียสำหรับทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน" พ่อของนายซุลกิฟลี ปานาวา อายุ 23 ปี ซึ่งเสียชีวิตที่สามแยกบ้านเนียงด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ก็เช่นกัน เขาก็ตระหนักดีว่าจะไม่มีวันได้เห็นหน้าลูกชายอีกแล้ว แต่ในฐานะคนมุสลิมเขากล่าวว่า "ไม่เคยโกรธเจ้าหน้าที่เลย ถือว่าเป็นการกำหนดของพระเจ้า"


 


ความทรงจำเหล่านี้อาจกลายเป็นบาดแผลที่ไม่ยอมหายและสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คน แนวทางสมานฉันท์มิได้หลอกตัวเองให้ลืมอดีตเหล่านี้ หรือ ทำราวกับว่าความทรงจำอันเจ็บปวดนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงความทรงจำอันเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังแก้ไขปัญหาความรุนแรง ให้จดจำความตายของลูกหลานไทยอย่าง สิบเอกสามารถ กาบกลางดอน และซุลกิฟลี ปานาวา เพื่อหาหนทางไม่ให้คนอื่นๆในสังคมต้องกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อไปอีก คงมีหลายคนเห็นว่าควรจะแก้แค้นเอาคืน แต่การแก้แค้นไม่ช่วยให้ได้ชีวิตลูกชายผู้สูญเสียคืนกลับมา จึงจำเป็นต้องเลือกวิธีต่อสู้กับต้นตอของปัญหาและ "เอาคืน" ไม่ใช่ด้วยการแก้แค้น แต่ด้วยการพยายามช่วยคนอื่นๆมิให้กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา


 


ตัวอย่างทั้งสามอาจมิใช่คำตอบว่า สังคมไทยจะนำข้อเสนอสมานฉันท์ไปทำให้เกิดผลขึ้นมาได้หรือไม่ แต่ก็ชี้ให้เห็นได้ว่า สังคมไทยได้ชัยชนะในสภาพที่เกือบเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีศักยภาพที่เอื้อต่อแนวทางสมานฉันท์อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ทั้งในระดับผู้นำประเทศ นักรบผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ และที่สำคัญในสามัญชนที่มีภูมิหลังทางศาสนาวัฒนธรรมแตกต่างกัน ผู้คนเหล่านี้กล้าเสี่ยงทำการเพื่อบ้านเมือง อาศัยความเมตตาอารี สันติวิธี และการให้อภัย เป็นหนทางเผชิญกับปัญหาความรุนแรงทั้งในฐานะผู้บริหารประเทศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย และในฐานะเหยื่อผู้สูญเสีย ข้อเสนอแนวทางสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย เป็นข้อเสนอต่อรัฐและสังคมไทยเพราะมั่นใจว่า สังคมไทยมีศักยภาพที่จะทำให้แนวทางสมานฉันท์เป็นจริงเพื่อสันติภาพและความมั่นคงได้


 


---------------------------------------------------------------------


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 












 





เปิดร่าง กอส. ตอนที่ 7 : มรดกเพื่อสมานฉันท์

เปิดร่าง กอส. ตอนที่ 6 : ลักษณะพิเศษของงานกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติของไทย








เปิดร่างกอส.ตอนที่ 5 : สมานฉันท์ที่ยั่งยืน















เปิดร่าง กอส. ตอนที่ 4 : ยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์
เปิดร่าง กอส.ตอนที่ 3 : แนวโน้มความรุนแรง
เปิดร่างรายงาน กอส. ตอนที่ 2 : "ชาติพันธุ์และศาสนา" ข้ออ้างจุดไฟใต้
เปิดร่างรายงาน กอส. (ตอนที่ 1) : จินตนาการเพื่อสมานฉันท์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net