Skip to main content
sharethis



 


15 ปีในการผลักดันร่างกฎหมายป่าชุมชนของภาคประชาชน และ 5 ปีที่ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาแก้ไข-เพิ่มเติมของฝ่ายนิติบัญญัติ นับเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่ไม่ได้แปลว่าจะเดินไปได้ยาวไกล!


 


ว่าก็ว่าเถอะ นอกจากร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ประชาชนรวมพลังเข้าชื่อ 50,000 ชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ จะไปไม่ถึงไหนแล้ว ยังดูเหมือนเดินวนๆ ชวนให้สลดใจอย่างไรชอบกล


 


ดูง่ายๆ จากชั้นของคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเป็นขั้นตอนล่าสุดที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 และกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นเสมือนภาพย่อของสังคมที่มีการปะทะกันระหว่างแนวคิดว่าด้วย "การอนุรักษ์" ทรัพยากรป่าไม้ 2 แนวทางใหญ่


 


ด้านหนึ่งอนุรักษ์เพื่อรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ที่สุด บนฐานคิดว่ามนุษย์คือตัวการทำลายป่า และเชื่อมั่นว่าอำนาจรัฐจะรักษาผืนป่าได้ดีที่สุด อีกด้านหนึ่งเป็นแนวทางอนุรักษ์ที่อิงกับสิทธิชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเชื่อในพลังของชาวบ้านที่หาอยู่หากินกับป่าว่ามีศักยภาพดูแลและจัดการป่าอย่างยั่งยืนได้


 


แม้จะดูเหมือนหาจุดบรรจบกันได้ในชั้นกรรมาธิการ แต่ในภาพรวมกลับกำลังเกิดคลื่นใต้น้ำและความไม่ยอมรับจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง มีการเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.ที่กำลังจะผ่านกรรมาธิการร่วมนี้จนส่อเค้าว่าร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน อาจต้องเดินทางต่อไป เป็น 20 ปี 30 ปี หรือนานกว่านั้น


 


สาเหตุของการเป็น "นิยายไม่รู้จบ"


"เขตอนุรักษ์พิเศษ" นับเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือรูปธรรมของความหวาดระแวงที่ยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น


 


โดยหลังจากกรรมาธิการร่วมลงมติให้บรรจุพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งห้ามจัดตั้งป่าชุนชน ไว้ในร่างพ.ร.บ.เมื่อวันที่ 15 ก.ย.48 ความไม่พอใจของเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศก็ถูกจุดชนวนขึ้น ทั้งที่เกือบจะลงเอยแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งอยู่แล้ว


 


"ชาวบ้านติดเรื่องพื้นที่อนุรักษ์พิเศษประเด็นเดียว เพราะเกณฑ์ที่ว่ามาเป็นเกณฑ์ทางกายภาพ ที่ไปตรงไหนก็เข้าข่ายหมด มันมีโอกาสทำให้คนที่ทำดี ที่ดูแลป่าอยู่หมดสิทธิ์ในการดูแล ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่คณะกรรมาธิการร่วมแก้ไขกันให้เข้มงวดมากขึ้น เราไม่มีปัญหาเลย" เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือกล่าว


 


คำๆ นี้ถูกโยนเข้ามาในช่วงท้ายๆ ของการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม โดยตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันหลายยก จนต้องหาทางลงด้วยการโหวตรับ/ไม่รับ ปรากฏว่า กรรมาธิการยกมือรับ 11 คน ไม่รับ 4 คน และมีอีก 3 คนที่ไม่เห็นด้วยแต่มาไม่ทันลงมติ   


 


(อ่านรายละเอียดในhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=880&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai)


 


กล่าวอย่างหยาบๆ การประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา เสมือนเป็นเครื่องมือต่อรองของฝ่ายอนุรักษ์สีเขียวจัด ในการรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้โดยไม่ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่ให้มนุษย์เข้าไปยุ่งกับป่าต้นน้ำลำธารโดยเด็ดขาด


 


แต่มีการย่อขนาดลง จากเดิมที่วุฒิสภาเคยลงมติให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด (รวมเขตอุทยานแห่งชาติ- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช) ราว 85 ล้านไร่  ก็ยอมลดลงในชั้นกรรมาธิการร่วม เหลือเฉพาะ "ไข่แดง" ประมาณ 19 ล้านไร่


 


"สมัยผมเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ผมนี่แหละที่ประกาศขยายพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วพบว่าไปทับชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ช่วงนั้นเราต้องสู้กับขบวนการสัมปทานไม้ ยังไงก็ต้องยึดหัวหาดประกาศเขตอนุรักษ์ไว้ให้ได้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นป่าถูกสัมปทานหมดแน่"


 


คำพูดของผ่อง เล้งอี้ ประธานคณะกรรมาธิการร่วมที่เคยพูดในการประชุมครั้งหนึ่ง น่าจะสะท้อนข้อเท็จจริงที่ทำให้กรรมาธิการหลายคนยอมถอย จากที่เคยยืนยันห้ามแตะต้องโดยเด็ดขาดทั้ง 85 ล้านไร่ 


 


ปัญหามีอยู่ไม่กี่ประการเท่านั้น  คือ


 


1. พื้นที่เขตอนุรักษ์พิเศษ 19 ล้านไร่นี้ไม่รู้อยู่ตรงไหนบ้าง


2.ไม่แน่ใจว่ามีชุมชนที่ต้องถูกโยกย้ายจากพื้นที่เหล่านี้จำนวนเท่าไร


 


สองคำถามนี้ถูกถามในที่ประชุมกรรมาธิการร่วม และได้มอบหมายให้ตัวแทนจาก ทส.ไปรวบรวมข้อมูลมานำเสนอที่ประชุม 3-4 ครั้ง แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้ก็ยังคงไม่ชัดเจน โดยรัฐมนตรี ทส. ยงยุทธ ติยะไพรัช ประมาณการว่าน่าจะมีประชาชนที่ต้องอพยพราว 40,000 คน


 


"จำนวนประชาชนที่แน่นอน ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้กำลังให้เจ้าหน้าที่สำรวจอยู่ แต่รับรองว่าจะไม่มีการใส่ชุดลายพรางหิ้วตัวชาวบ้านออกจากป่าเด็ดขาด จะเน้นการอะลุ่มอล่วย และให้ระยะเวลาปรับตัว" รัฐมนตรี ทส.กล่าวในที่ประชุมกรรมาธิการเมื่อ 25 ส.ค.48


 


3.ยังไม่นับรวมนิยามของเขตอนุรักษ์พิเศษ ที่กรรมาธิการหลายคนได้แต่ส่ายหัว เพราะนอกจากจะไม่ค่อยต่างจากเขตอนุรักษ์ปกติแล้ว เมื่อมองไปทางไหนก็กลายเป็นเขตอนุรักษ์พิเศษได้ทั้งสิ้น


 


ทั้งนี้ ตัวบ่งชี้ความพิเศษที่ทส.ระบุได้แก่ 1. เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ 2.มีความหลากหลายทางชีวภาพ 3.เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง ได้แก่ ความลาดชันสูง ง่ายต่อการพังทลาย และปริมาณน้ำฝนสูง 4.เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ 5. มีลักษณะเด่นทางธรณีวิทยา


 


4.ที่สำคัญจำนวน 19 ล้านไร่ที่ว่านี้ ไม่มีความแน่ชัดอันใด นอกจากเป็นข้อมูลตัวเลขคร่าวๆ ที่ออกจากปากกรรมาธิการซึ่งเป็นตัวแทน ทส. และถูกย้ำอยู่ตลอดเวลา จนดูเหมือนชัดเจนแน่นิ่งแล้ว  


 


พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ กับปัญหาที่อาจตามมา


อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยถูกคัดค้านโดยกรรมาธิการร่วมจำนวนหนึ่ง คือ บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สุรพล ดวงแข และประสาร มฤคพิทักษ์ ซึ่งชี้แจงว่า มาตรา 23/1 ได้กำหนดเงื่อนไขการขอจัดตั้งป่าชุมชนไว้รัดกุมเพียงพอแล้ว


 


คือ 1.ต้องเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนประกาศเขตอนุรักษ์ 2.ได้ดูแลรักษาป่าที่ขอกำหนดเป็นป่าชุมชนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีก่อนใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน 3.ยังดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน 4.มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแห่งการอยู่อาศัยที่เกื้อกูลต่อการรักษาป่า


 


"ลำพังการขอจัดตั้งป่าชุมชนที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดอย่างที่กล่าวมา ก็เชื่อว่าในป่าชุมชนภาคเหนือที่ชาวบ้านดูแลอยู่ คงเหลือชุมชนที่เข้าหลักเกณฑ์นี้ไม่ถึงครึ่งแล้ว" บัณฑูร เคยกล่าวในที่ประชุมกรรมาธิการร่วมครั้งหนึ่ง


 


นอกจากนี้เขาระบุว่าการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาหลายประการคือ 1.ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพราะต้องรอการสำรวจพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ 2.อาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่ 3. ความไม่ชัดเจนของข้อมูลเกี่ยวกับเขตอนุรักษ์พิเศษ เมื่อผ่านกรรมาธิการร่วมไปสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาอีกครั้ง อาจทำให้ไม่ได้รับอนุมัติจากทั้ง 2 สภา  (เอกสารชี้แจงประกอบการประชุมกรรมาธิการร่วมวันที่ 15 ก.ย.48)


 


ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ  ยังมีบางกลุ่มที่สนับสนุนร่างฉบับที่ผ่านวุฒิสภา ซึ่งไม่ให้จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 85 ล้านไร่โดยสิ้นเชิง เช่น สมาพันธ์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ มูลนิธิธรรมนาถ เนื่องจากเห็นว่าทรัพยากรป่าไม้เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ ไม่ควรให้ชุมชนใดชุมชนหนึ่งมีสิทธิเข้าไปใช้ประโยชน์โดยตรง อีกทั้งพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารนั้นมีความเปราะบางอย่างมาก การแทรกแซงจากมนุษย์แม้เพียงเล็กน้อย อาจกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่เหล่านั้น


 


ป่าชุมชน กับภาพรวมการจัดการป่าไม้ไทย


หากมองในภาพรวมของการจัดการป่าไม้ของประเทศ นอกจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนแล้ว ทางทส.ยังมอบหมายให้ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484  พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นไปตามตามนโยบายปฏิรูปกฎหมาย 400 ฉบับของรัฐบาล


 


โดยขณะนี้ดำเนินการไปอย่างเงียบเชียบ และน่าลุ้นเป็นอย่างยิ่งว่ารูปร่างหน้าตาใหม่ที่ได้รับการบูรณาการแล้วจะสะสวยหรือไม่ เพียงใด


 


อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก คือ แผนปฏิรูปป่าไม้ของประเทศ ที่เจ้ากระทรวง ทส.ได้มอบหมายให้คณะทำงาน หลายคณะดำเนินการ โดยให้ "ปลอดประสพ สุรัชสวดี" เป็นผู้รวบรวมยกร่างตามแนวกว้างๆ เพื่อการโซนนิ่งพื้นที่ป่าไม้ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเตรียมแบ่งพื้นที่ป่าทั่วประเทศเป็น 3 ส่วน ตามที่หลายประเทศทำ


 


คือ เขตอนุรักษ์พิเศษ หรือ Restrict area ที่สงวนไว้ไม่ให้ถูกรบกวนโดยเด็ดขาด, Service area หรือเขตบริการประชาชน เช่น พื้นที่อุทยานที่มีความสวยงามเหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว, สุดท้ายคือ เขตป่าเศรษฐกิจเพื่อการทำไม้ ซึ่งยังถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศ


 


โดยทั้งหมดนี้กำลังดำเนินการยกร่างให้มีความชัดเจนในรายละเอียด และแน่นอน มันได้สร้างความลุ้นระทึกให้ภาคประชาชนอีกเช่นเคยว่าจะออกมาในรูปโฉมใด จริงใจเพียงใด และป่าชุมชนจะอยู่ ณ ส่วนไหน 


 


2 แนวอนุรักษ์  อดีตอันหอมหวาน กับปัจจุบันที่เข็ดขม


เรื่องการ Zoning พื้นที่ป่า จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่องเสียทีเดียว เพราะเคยเกิดขึ้นแล้วตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2528 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2534-2539) ที่ให้มีป่า 40%ของพื้นที่ประเทศ (แบ่งเป็นอนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจ 15%)


 


แต่สภาพความเป็นจริงจากการแปรภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี พ.ศ.2541 ปรากฏว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมดเหลืออยู่เพียง 81 ล้านไร่หรือ 28% ของทั้งประเทศเท่านั้น โดยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ด้วย


 


ก่อนจะเหลือ 28% ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าถึง 70% สาเหตุที่ทำให้ป่าลดลงอย่างรวดเร็วเริ่มต้นตั้งแต่ที่การทำไม้และการเช่าพื้นที่ปลูกสวนป่าโดยเอกชน ตามแนวคิดเจ้าอาณานิคมอังกฤษเข้ามาในประเทศไทย โดยกรมป่าไม้ได้ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี2439 และทำหน้าที่ดูแลกิจการทำไม้ มี มร.เอช สะเลด ชาวอังกฤษเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของประเทศ


 


ทั้งนี้ การสัมปทานกินเวลายาวนานจนถึงปีพ.ศ. 2532 จึงได้มีการประกาศปิดป่า ถือเป็นการสิ้นสุดการทำไม้อย่างเป็นทางการ ซึ่งดำเนินมากว่า 93 ปี  (ข้อมูลจาก www.pachumchon.com)


 


ขณะที่ป่าไม้ลดลงเรื่อยๆ นั้นเอง ก็เกิดกระแสการอนุรักษ์ขึ้น ทั้งในส่วนของชนชั้นสูงที่ไปศึกษาในตะวันตกและซึมซับแนวคิดธรรมชาตินิยมกลับมา กับ ชนชั้นล่างหรือชุมชนในป่าหรือพื้นที่ใกล้ป่าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสัมปทานป่าไม้


 


ร่องรอยทางประวัติศาสตร์นี้แสดงชัดว่า ทั้งแนวคิดธรรมชาตินิยม ที่เริ่มต้นจากชนชั้นสูงก่อนแพร่สู่ชนชั้นกลาง และแนวทางปากท้องนิยมของชาวบ้าน เคยเป็นมีเป้าหมายเดียวกันในการต่อสู้กับขบวนการสัมปทานป่าไม้ของบรรดานายทุนที่เขมือบกลืนประเทศไทยอย่างตะกละตะกามมาแล้ว


 


(ข้อมูลจากบทความ "พลวัตรขบวนการเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน" โดย กฤษดา บุญชัย ในหนังสือ"สู่การปฏิรูปฐานทรัพยากร" โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร,2546)


 


น่าเสียดาย ที่ผ่านเวลามาไม่นานนัก ทั้ง 2 กลุ่มนี้กลับเห็นแย้งกันเองในเรื่อง "คน" กับ "ป่า"


 


กล่าวอย่างถึงที่สุด คือ มันคือความแตกต่างเกี่ยวกับความเชื่อในพลังชาวบ้านคนเล็กคนน้อย


 


เห็นชัดเจนในการถกเถียงกันของคณะกรรมาธิการร่วมเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะร่วมกับภาครัฐกำหนดแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ ซึ่งกรรมาธิการร่วมหลายคนได้เสนอให้ขยายเวลาการประกาศพื้นที่อนุรักษ์พิเศษจาก 1 ปีเป็น 2 ปี


 


อีกทั้งมีการลดทอนหลักการมีส่วนร่วมในร่างกฎหมาย โดยให้รัฐมนตรีทส.เป็นผู้กำหนดหลักการเอง เพื่อจะได้สะดวกต่อกระบวนการกำหนดเขตอนุรักษ์พิเศษของเจ้าหน้าที่


 


"มันเกินขอบเขตของความพอเหมาะพอดีในเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วม เรื่องการกำหนดเขตเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยตรง ซึ่งต้องให้ชาวบ้านร่วมรู้เห็นด้วย แต่ไม่มีบ้านเมืองไหนให้มากเท่าเมืองไทย เราเป็น Catholic more than Pope" นายพนัสกล่าวในที่ประชุมกรรมาธิการครั้งหนึ่ง


 


ท้ายที่สุด ไม่ว่าคณะกรรมาธิการจะประชุมกันลงตัวอย่างไร แต่เครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศเตรียมจัด "ธรรมชาติยาตรา" ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนอย่างท่วมท้น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยจะเดินเท้าจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่-รัฐสภา กรุงเทพฯ


 


มีจุดประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับ "พื้นทีอนุรักษ์พิเศษ" ที่กรรมาธิการร่วมเพิ่มเติมเข้ามา และรณรงค์ให้ความรู้กับชาวบ้านและสังคมเกี่ยวกับความพร้อมในการดูแล-จัดการป่าของชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งสื่อสารกับส.ส.โดยตรง เพื่อให้มีการทบทวนร่างฉบับกรรมาธิการร่วมนี้อย่างรอบคอบยิ่ง


 


 


อำนาจรัฐและทุนที่ผสานกลมกลืนกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้อีกกี่ปีสังคมไทยจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้ที่จะรู้ทัน และหาทางจบนิยายเรื่องนี้ลงได้ หวังว่าเวลานั้น "ป่า" คงยังพอหลงเหลือให้ได้ถกเถียงกัน....


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net