Skip to main content
sharethis



อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนองค์กรชาวบ้านย้ำ การสร้าง 3 เขื่อนเหนือเมืองเชียงใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง เสนอให้ทำการศึกษาการสร้างคลองระบายน้ำเลี่ยงเขตเมืองแทน รวมไปถึงการเข้าไปส่วนร่วมของภาคประชาชน


 


โครงการสร้างเขื่อนผุด หลังน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่


จากรณีการเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งใหญ่ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐต่างหาวิธีการป้องกันและแก้ไขกันหลายวิธีด้วยกัน โดยในส่วนของกรมชลประทานได้เสนอว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่นั้น มาจากน้ำหลากจากลุ่มน้ำแม่แตง และแม่น้ำปิงตอนบน และได้มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนแม่แตง บริเวณบ้านแข ต.แสนไห อ.เวียงแหง เขื่อนแม่ปิงตอนบน บริเวณบ้านยางโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว และเขื่อนน้ำกึ๊ด บริเวณบ้านต้นตอง ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยใช้วงเงินงบประมาณทั้งหมด 6,000 ล้านบาท


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงแรมนครพิงค์ พาเลซ .เชียงใหม่ ทางคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญตัวแทนของกรมชลประทาน มาชี้แจงข้อเท็จจริงถึงโครงการสร้างเขื่อนทั้ง 3 เขื่อน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกับโครงการดังกล่าวด้วย


 


ตัวแทนกรมชลประทาน ยืนยันเขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วมได้


นายวีระชัย วรภาสกุล ผู้อำนวยการส่วนกิจกรรมพิเศษ สำนักชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น ทางกรมโยธาธิการได้เคยทำการศึกษาโครงการสร้างเขื่อน 3 เขื่อนนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งนำกลับมารื้อใหม่หลังจากเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ และทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ออกย้ำให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว


 


"เป้าหมายของการสร้างเขื่อน 3 เขื่อนนี้ ก็เพื่อต้องการชะลอความเร็วของน้ำให้ช้าลง เนื่องจากหลังเกิดพายุและฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง และแม่น้ำปิงตอนบนมีปริมาณมาก ซึ่งน้ำแม่แตง มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 2,000 ตร.กม และแม่น้ำปิงตอนบนมีพื้นที่รับน้ำ 1,800 ตร.กม. ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการสร้างเขื่อนขึ้นมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองได้ และขอยืนยันตามหลักวิชาการของกรมชลประทาน เชื่อว่าเขื่อนจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้" นายวีระชัย กล่าว


 


ภาคประชาชน


ในขณะที่ นายนิคม พุทธา โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าวว่า สิ่งที่รู้สึกน่าเป็นห่วงอย่างมาก ก็คือ กลไกในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นว่า โครงการสร้างเขื่อนทั้ง 3 เขื่อน ประชาชนยังไม่มีโอกาสเข้าถึงและมีส่วนร่วมแต่อย่างใด แต่ภาครัฐกลับพยายามอ้างว่า เขื่อน คือเครื่องมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยที่ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทั้ง


ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน


 


นายนิคม ยังได้ยกตัวอย่างหากมีการสร้างฝายเวียงแหงว่า อาจจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน เพราะว่า อ.เวียงแหงเป็นพื้นที่แอ่ง และสองฟากฝั่งแม่น้ำแตง จะเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งหากสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นทางตอนเหนือ ก็จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ทำกิน รวมไปถึงสูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำ และหากเขื่อนเกิดพังขึ้นมา ก็จะทำให้น้ำท่วมเวียงแหงทั้งอำเภอ นอกจากนั้น ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนชาวบ้านในเขต ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว ทั้ง 7 หมู่บ้าน เพราะมีพื้นที่อยู่ลุ่มเขื่อนเวียงแหง นอกจากนั้น รัฐไม่ได้คำนึงถึงภาวะความเสี่ยงให้รอบด้าน เพราะจากข้อมูลพบว่า พื้นที่เวียงแหงนั้น อยู่ในเขตรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวเขื่อนได้


 


เขื่อนไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่


"ที่สำคัญ เขื่อนไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วม จะเห็นได้ชัดเจนว่า หลังเกิดฝนตกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เมื่อปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนแม่งัดมากเกิน ทางชลประทานก็ยังต้องมีการระบายน้ำทิ้งออกมา เพราะกลัวเขื่อนพัง ซึ่งได้ไหลลงมาสมทบกันน้ำจากลำห้วยสาขา ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านในเขตเมือง เพราะฉะนั้น จึงไม่อยากให้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่อยากให้มีการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบ โดยให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง" นายนิคม กล่าว


 


ทั้งนี้ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้ซักถามนายวีระชัย วรภาสกุล ผู้อำนวยการส่วนกิจกรรมพิเศษ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กรณีที่เขื่อนแม่งัด ต้องระบายน้ำออกจากตัวเขื่อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากเกิน ซึ่งนายวีระชัย ได้พยักหน้ายอมรับ


 


กก.สิทธิฯ จี้ทบทวนโครงการเขื่อน


"สรุปก็คือว่า เขื่อนแม่งัด ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้เลย แต่เขื่อนแม่งัดเป็นกลไกเพียงแค่เป็นตัวควบคุมปล่อยน้ำเท่านั้น เพราะฉะนั้น โครงการสร้างเขื่อนทั้ง 3 เขื่อนนี้ ก็ไม่สามารถกักเพื่อป้องกันน้ำได้เช่นกัน เพราะหากมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากเกินจะรับได้ไหว ก็จะต้องปล่อยน้ำลงเหมือนกัน แล้วทำไมถึงต้องมีการเสนอให้มีการสร้าง 3 เขื่อน" นายหาญณรงค์ กล่าว


 


คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นรัฐจะต้องอธิบายให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ให้มีความชัดเจน และนำข้อมูลทุกรอบด้านเสนอให้ประชาชนได้รับทราบด้วย และจะทำอะไรควรต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน แต่ในขณะนี้ เท่าที่ทราบก็คือ กรมชลประทาน จะเป็นผู้ลงมือสร้างอย่างเดียว โดยให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้ศึกษา ผ่านการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ทำการศึกษาเพียงฝ่ายเดียว


 


เสนอทางออกขุดคลองระบายน้ำเลี่ยงเมืองเชียงใหม่


"อยากให้ทางตัวแทนของกรมชลประทาน ได้กลับไปทบทวนศึกษาในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่กันใหม่ ว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่อย่างยั่งยืน เช่น การขุดคลองระบายน้ำออกไปทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งอาจเป็นการลงทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งตนเคยไปศึกษาดูกรณี จ.ชุมพร ซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมเมืองเหมือนกับเชียงใหม่ และเขาได้ทำบายพาส ขุดคลองระบายน้ำเลี่ยงเมืองออกไปทั้งสองฟาก สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองได้ ทำไมไม่คิดแบบนี้กันบ้าง" นายหาญณรงค์ คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ กล่าวทิ้งท้าย


 


เอกสารกรมชลฯระบุโครงการเขื่อน ไม่มีผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม


ทั้งนี้ จากเอกสารการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการสร้างเขื่อนทั้ง 3 โครงการนั้นระบุว่า ไม่มีผลกระทบด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม และได้มีการศึกษาโครงการเบื้องต้นเสร็จแล้ว


 


โดยเขื่อนแม่แตง ต.แสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีความสูงของสันเขื่อน 83 เมตร ยาว 800 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 112 ลบ.. ใช้งบประมาณ 1,639.5 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี


 


เขื่อนน้ำปิง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จะมีความสูงของสันเขื่อน 73 เมตร ยาว 600 เมตร ความจุที่ระดับสูงสุด 85 ล้านลบ.. มีพื้นที่ผิวอ่างที่ระดับน้ำนองสูงสุดประมาณ 1,940 ไร่


 


เขื่อนน้ำกึ๊ด จะมีความสูง 58 เมตร สันเขื่อนยาว 250 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด 141 ล้านลบ.. ใช้งบประมาณลงทุน 2,957.6 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี


 --------------------------------------------------------------------------------------------


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 











 ประมวลภาพน้ำท่วมใหญ่เมืองเชียงใหม่






 ดูภาพน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ วันที่ 14-15 สิงหาคม 2548

 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net