Skip to main content
sharethis


 



ดร. โมดาดูกู คุปตะ


 


 


รางวัลอันทรงเกียรติอีกรางวัลหนึ่งของโลกที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยพูดถึงนัก นั่นคือ รางวัลอาหารโลก (The World Food Prize) หรืออีกนามหนึ่งที่ผู้คนใช้เรียกรางวัลนี้ก็คือ รางวัลโนเบลสาขาอาหารและเกษตรกรรม เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่พยายามช่วยเหลือหรือจัดหาให้อาหารอย่างเหมาะสมและยั่งยืนเพื่อลดภาวะทุพโภชนาการของคนในประเทศกำลังพัฒนา


 


ผู้ก่อตั้งมูลนิธิรางวัลอาหารโลก (The World Food Prize Foundation) ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลนี้ คือ นอร์แมน บอร์โลก์ (Norman Borlaug) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่รู้จักกันดีในฐานะเจ้าพ่อแห่งการปฎิบัติเขียว (Green Revolution) เขาได้ตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1986


 


สำหรับในปี 2005 นี้รางวัล World Food Prize ได้มอบให้แก่ ดร.โมดาดูกู คุปตะ ชาวอินเดีย


 


ประธานมูลนิธิ World Food Prize - WFP ทูตเคนเน็ต ควิน กล่าวถึง ดร.คุปตะ ว่า"นักเกษตรกรรมใต้น้ำ (Aquaculturist) ผู้นี้ได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเรื่องของความพยายามที่มีอยู่เสมอตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาในการที่จะนำสิ่งที่เขาเรียกว่า เป็นการ "ปฏิวัติฟ้า" ( Blue Revolution) ไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอัฟริกา"


 


ดร.คุปตะได้ไปสอนชาวนาผู้ไร้ที่ทำกิน ชาวนาผู้ยากแค้นแสนเข็ญ ให้เลี้ยงปลาในที่ดินที่ไม่ใช้แล้ว ในสระ คูข้างถนนที่ไม่สามารถผลิตอะไรได้แล้ว "เขาเข้าไปในหมู่บ้าน ทำงานร่วมกับประชาชน ทำให้คนเหล่านั้นดูว่าจะเริ่มอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นกับการกระทำนี้ก็คือ เขาได้ดึงดูดความสนใจให้กลับกลุ่มผู้หญิงนับหมื่นที่ไม่เคยรู้เรื่องหรือได้เกี่ยวข้องกับการจับปลาหรือเลี้ยงปลามาก่อนให้มาเข้าร่วม ถึงตอนนี้ประมาณร้อยละ 65 ของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจับปลา หรือเพาะเลี้ยงปลาคือผู้หญิงซึ่งตอนที่เขาเริ่มใหม่ๆ นั้นแทบจะเรียกได้ว่ามีแค่เป็นศูนย์"


 


วิธีทำฟาร์มเลี้ยงปลาของ ดร.คุปตะนั้น มีค่าใช่จ่ายที่ต่ำมากและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ผลจากสิ่งที่เขาทำก็คือ การผลิตปลาน้ำจืดในประเทศเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ เรียกได้ว่าอาจ 3-5 เท่าก็ได้


 


สำหรับ ดร.คุปตะแล้ว การที่เขาได้รับรางวัลดังกล่าวนั้น เขาเห็นว่า เป็นเพราะกรรมการตัดสินรางวัลนั้นเห็นความสำคัญว่าเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะสามารถเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความหิวโหยได้


 


"รางวัลนี้ถือว่าเป็นการแสดงความตระหนักต่อความจริงที่ว่าปลาเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญที่จะช่วยลดภาวะทุพโภชนาการในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งผมกำลังทำงานอยู่ และปลานั้นก็เป็นแหล่งโปรตีนที่ได้จากสัตว์ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนจนในประเทศกำลังพัฒนา" ดร.คุปตะกล่าว


 


การลดภาวะทุพโภชนาการในฐานะที่จะเป็นอีกทางหนึ่งในการชะลอการแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์ในอัฟริกากำลังเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นของ WFP ในปีนี้ แต่ดร.คุปตะ กล่าวว่า การสร้างภาวะโภชนาการให้ดีขึ้นนั้นใช้เวลามากกว่าการเพิ่มผลผลิตทางอาหารเสียอีก "ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ในช่วงทศวรรษ 1960 เราต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์อาหารมากมาย ปัจจุบันเรามีเหลือเฟือแล้ว แต่ว่านั่นไม่ได้แก้ปัญหาความอดอยาก ยังมีคนอีกมากมายในอินเดียที่กำลังจะตายไปด้วยความหิวโหย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเข้าถึงอาหาร หมายถึงว่า เราต้องทำให้อาหารราคาถูกลง และทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตไปด้วยในตัว"


 


ควบคู่ไปกับปัญหาเรื่องความหิวโหยและทุพโภชนาการ ปัญหาภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทางผู้เชี่ยวชาญของ WFP ได้นำมาหารือกันในการประชุมประจำปีในปีนี้


 


เคนเน็ต ควิน ประธานมูลนิธิกล่าวว่า ทุกวันนี้มีคนกว่า 115 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนากำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน "โรคหัวใจ ปัจจุบันนี้กลายเป็นอันดับหนึ่งในการคร่าชีวิตมนุษย์บนโลกของเรา และ 80% ของผู้ที่เสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นกับคนในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นแม้เราจะมีความก้าวหน้าในบางเรื่อง ทว่าก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากที่จะต้องต่อสู้กับความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการแล้วยังมีปัญหาเรื่องของภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนที่เริ่มส่งผลกระทบกับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว"


 


ท่านทูตควิน กล่าวว่าพิธีมอบรางวัล World Food Prize และการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นนี้เป็นการนำเสนอโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้หยิบยกประเด็นปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นกัน และมันก็จะไม่จบอยู่แค่นั้น จากงานดังกล่าวจะต้องกลายเป็นทางที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการปฎิวัติเขียวของรุ่นต่อไป


 


"เราได้นำนักเรียนชั้นมัธยมปลาย จำนวน 100 คน และครูที่สอนมัธยมปลายอีก 100 คนเข้ามาอยู่ห้องเดียวกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก และในปีนี้เรามีนักเรียนจากไอโอวาซึ่งเป็นที่เดียวกับที่ตั้งของรางวัลนี้ และนักเรียนจากรัฐอื่นๆ นอกจากนี้เรายังมีนักเรียนจาก แคนาดา บราซิล เนธอร์แลนด์ และ ไนจีเรียด้วย พวกเขาได้มีปฎิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางครั้งนักเรียนเหล่านี้ก็ตั้งคำถามที่ยากมากๆ แล้วเราก็คัดเลือกเด็กนักเรียนอเมริกัน 10 กว่าคนและส่งไปทำงานกับองค์กรวิจัยชั้นนำ ในประเทศ เคนยา เอธิโอเปีย อียปต์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน เปรู บราซิล เม็กซิโก และ คอสตาริกา แล้วพวกเขาก็ได้ปฎิสัมพันธ์กับศูนย์วิจัยเหล่านี้"


 


เมื่อตัวแทนจาก World Food Prize กลับไปยังบ้านเกิดพวกเขาก็จะได้นำความรู้ที่ได้นี้ไปแลกเปลี่ยนกับคนในองค์กร และกับรัฐบาลซึ่งจะทำให้ขยายความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาอาหารของโลก


 


.................................................................


เรียบเรียงจาก VOA NEWS

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net