ทหารหวั่นไฟใต้ลาม ออกอัยการศึกคุมพื้นที่ จะนะ-เทพา

 

ประชาไท-3 พ.ย. 48 แม่ทัพ 4 ประกาศกฏอัยการศึกที่ อ.จะนะ-เทพา จ.สงขลา เหตุหวั่นไฟใต้ลาม และผู้ก่อการอาจใช้เป็นพื้นที่เก็บสะสมอาวุธ "ประชาไท" ย้อนรอยเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่จะนะ -เทพา

 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. พ.อ.อัคร พิทยะโรจน์ โฆษกกองทัพบก แถลงข่าวทางไกลผ่านดาวเทียมจากค่ายสิรินธร จ.ยะลา ถึงสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกประกาศกองทัพภาคที่ 4 เรื่องการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ เพราะขณะนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาศัยบางพื้นที่ซ่อนเก็บรักษาอาวุธและสิ่งซึ่งใช้เป็นประโยชน์ในการก่อเหตุไม่สงบ โดยขยายการก่อเหตุความรุนแรงเข้ามาในเขตพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา จ.สงขลา

 

ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยร้ายแรง และเพื่อเป็นการระงับและปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว มิให้ก่อความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเพิ่มเติมจากที่ได้มีการประกาศไว้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 2548 เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป

 

ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นั้นโฆษกกองทัพบกระบุว่า พระราชกำหนดดังกล่าวครอบคลุมเพียง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา จ.สงขลา ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงประกาศเป็นกฎอัยการศึกเพื่อเป็นการสกัดไม่ให้ปัญหาใน 3 จังหวัดลุกลามมาในพื้นที่ เป็นการสร้างกฎหมายรองรับให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานสามารถมีอำนาจปฏิบัติงานได้  โดยไม่ถือว่าเป็นการขยายความรุนแรง

 

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "นายกฯ ทักษิณ พบสื่อมวลชน" ถึงกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพิ่มเติมในพื้นที่อำเภอจะนะและอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะการประกาศกฎอัยการศึกสามารถทำได้ ตั้งแต่ผู้บังคับกองพันเป็นต้นไปในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์จำเป็น และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกที่เป็นผู้ดูแลการแก้ปัญหาในพื้นที่จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
       

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกกับทั้ง 2 อำเภอ ในวันที่ 2 ต.ค 48 มีการวางแผนลวงเจ้าหน้าที่มาตรวจรางรถไฟพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อให้โดนระเบิดจนทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2  นาย ซึ่งนายนายพิเชษฐ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อ.จะนะ จ.สงขลา เคยกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นไว้ว่าว่า กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ อีกครั้ง และเชื่อว่ากลุ่มคนร้ายมีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ อย่างแน่นอน และที่สำคัญคือเชื่อว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้กลุ่มคนร้ายได้วางแผนมาก่อนล่วงหน้าเป็นอย่างดี

 

ส่วนในวันนี้ (3 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ อ.จะนะ สามารถเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องหนักกว่า 10 กิโลกรัมฝังดินอยู่ที่ริมถนนสายจะนะ-ปัตตานี หมู่5 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา คาดว่าน่าจะเป็นการวางแผนเพื่อสร้างสถานการณ์ของผู้ก่อการ ในขณะที่ช่วงเช้าก็เกิดเหตุคนร้ายแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำวัตถุต้องสงสัยไปวางตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่เป็นพื้นที่รอยต่อกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบอย่างน้อย 8 จุด คือ ใน อ.จะนะ 2 จุด อ.เทพา 4 จุด และ อ.สะบ้าย้อย 2 จุด แต่สามารถเก็บกู้ได้ทั้งหมด

 

ย้อนรอย เกิดอะไรในพื้นที่จะนะ-เทพา

พื้นที่ อ.จะนะ และ อ. เทพา จ.สงขลา ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกรอบนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ค่ายปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2546 เป็นต้นมา สถานการณ์ใน 2 อำเภอก็รุนแรงขึ้นตามลำดับ

 

โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2546 คนร้ายไม่ทราบกลุ่มใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเข้าไปในกองบังคับการกองร้อยอาสาสมัคร (อ.ส.) อ.เทพา จ.สงขลา จากเหตุการณ์คราวนั้นทำให้เริ่มมีการควบคุมดูแลพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดอย่างเข้มงวดมากขึ้น

 

ในวันที่ 4 เม.ย. 2547 หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยปล้นโรงโม่ที่ยะลาเพื่อนำอุปกรณ์ระเบิดหินไปใช้ในการก่อการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าตรวจสอบโรงโม่หินรวม 3 แห่งในพื้นที่ อ.จะนะ โดย 2 แห่งแรกอยู่ในพื้นที่ หมู่ 6 ต.ท่าหมอไทร และอีก 1 แห่งตั้งอยู่ที่บ้านวังไผ่ ต.คลองเปรียะ และทำความเข้าใจกับเจ้าของเหมืองหินในพื้นที่ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งวางมาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น  โดยให้นำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในการระเบิดหินไปเก็บรักษาไว้กับ ตชด.

 

และหลังจากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ในวันที่ 28 เม.ย. 48 มีรายงานว่า เริ่มมีการเอาสถานการณ์ดังกล่าวปลุกระดม ทำให้มีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มวัยรุ่นเป็นระยะๆ ในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ เทพา ของ จ.สงขลา แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงตามมา อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ลักษณะรายวันเกิดขึ้นบ้างเป็นระยะๆ

 

ต่อมาเมื่อรัฐบาลเลือกพื้นที่โปรยนกกระดาษสัญลักษณ์แห่งสันติภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2547 อ.จะนะและ อ.เทพา ก็เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลเลือกด้วย

 

จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดครั้งใหญ่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขึ้น ทั้ง 2 อำเภอก็อยู่ในเกณฑ์พื้นที่ที่ พ.ร.ก. ดังกล่าวมีอำนาจด้วย แต่การตัดสินใจสุดท้ายในวันที่ 19 ก.ค.รัฐบาลได้ตัดพื้นที่ทั้ง 2 อำเภออก เพื่อให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีอำนาจเพียงในพื้นที่ 3 จังหวัด

 

ล่าสุดวันที่ 1 ส.ค ที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มญีฮาดอิสลามรัฐปัตตานี เข้ามาตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อก่อเหตุในพื้นที่นี้อีกระลอกใหญ่ ในขณะนั้นคาดว่าน่าจะมีการก่อเหตุในเดือนสิงหาคม

 

โดยพบข้อความเขียนว่าโดยมีข้อความเขียนว่า "1785 NOVEMBER" มีข้อความเป็นภาษารูมีแปลได้ว่า "กองกำลังญีฮาดอิสลามเพื่อรัฐปัตตานี" และมีอักษรย่อว่า "GJIP" และมีคำแปลเป็นภาษารูมีอีกว่า "กือเลาะกันญีฮาด อิสลามปัตตานี" พร้อมตราประทับลงท้ายที่มีลักษณะเป็นปืนใหญ่คู่เมืองปัตตานีสีแดง 2 กระบอกอยู่ทั้ง 2 ด้านและใต้ปืนใหญ่มีอักษรสีเขียวเขียนว่า "ญีฮาด" โดยประทับไว้หัวกระดาษเอกสารและท้ายเอกสารฉบับ ซึ่งระบุพื้นที่เป้าหมายเพื่อกระทำการบางอย่างไว้หลายจุด รวมถึง อ.เทพา อ.จะนะ และ อ.สะบ้าย้อยในจังหวัดสงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท