คตง. กังวลหาผู้สมัครผู้ว่า สตง.ไม่ได้

ทั้งนี้ การพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 266 กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง.ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้เวลาในการประชุมพิจารณารวม 4 นัดคือวันที่ 27 ต.ค. 1, 3 และ 4 พ.ย. โดยวันนี้มีการประชุมนัดสุดท้ายและมีสรุปคำวินิจฉัยไม่รับตีความตามที่ คตง.ร้องขอ

 

โดยการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 266 โดยนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 เนื่องจากเห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น

กล่าวคือ คตง.ได้ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ใหม่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 ตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ที่ได้บัญญัติไว้และเป็นไปตามผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 จนได้ชื่อของนายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง. และได้เสนอชื่อดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยที่ประชุมวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบ รวมทั้งประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 312 แล้ว

การปฏิบัติดังกล่าว คณะตุลาการฯเห็นว่า คตง.ได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาดำเนินการในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการสรรหา และเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง.อันเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนตามคำวินิจฉัยที่ 47/2547 แล้ว

 

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังพิจารณาเห็นว่า คตง.ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนแต่อย่างใด การถอนตัวของนายวิสุทธิ์จากการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ การโต้แย้งการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ คตง.ในการสรรหาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง.จากคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และการโต้แย้งจากองค์กรภายนอกต่างๆ ไม่ได้เป็นการโต้แย้งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ คตง. ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว

 

อีกทั้งเมื่อ คตง.ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ใหม่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

 

ส่วนประเด็นคำถามที่ 2 ของ คตง.ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การที่ คตง.ได้ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.โดยไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งเพราะมิใช่ตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คณะตุลาการฯเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ คตง.และองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการ สตง.ที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำร้องดังกล่าวไม่ได้เป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง.ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ได้

 

ขณะที่ นายผัน จันทรปาน ตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังมีคำวินิจฉัยนี้ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว คำร้องนี้ตุลาการทุกคนพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยมีการพิจารณาถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับปัญหานี้ แต่ก็ทำได้เพียงเท่านี้ เพราะคำร้องไม่เข้าตามช่องทาง 266 อีกทั้งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมก็ไม่ใช่หน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปตอบเนื่องจากองค์กรเหล่านั้นเป็นกลุ่มองค์กรที่เป็นเอกชนไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

 

"การไม่รับคำร้องไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบ มติที่ออกมาครั้งนี้ก็เห็นแล้วว่าตุลาการเห็นตรงกันทั้ง 13 คน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนั้นต่อจากนี้เป็นเรื่องของ คตง.จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าที่สรรหาใหม่ หรือคืนตำแหน่งให้คุณหญิง ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเข้าไปก้าวล่วง เพียงแต่ยืนยันได้แค่ว่าสิ่งที่ คตง.ดำเนินการไปหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 47 /2547 ถูกต้องแล้ว ซึ่ง คตง.มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป ส.ว.มีหน้าที่รับลูกก็ดำเนินการไป แต่หากเกิดปัญหาอีกก็ส่งมาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ต้องเป็นปัญหาใหม่ โดยศาลก็พิจารณาว่ามาถูกช่องทางหรือไม่" นายผัน กล่าว

 

ด้านนายเกรียงศักดิ์ วัฒน์วลางกูร กรรมการ คตง.เปิดเผยว่า จะมีการประชุมด่วนในวันจันทร์นี้ โดยจะนำคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการให้ทราบ ซึ่งตนได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลแล้วถึงแม้ศาลจะไม่รับคำร้องแต่ก็ระบุชัดในคำวินิจฉัยกลางว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่าการ สตง.ของ คตง.ได้ดำเนินการโดยถูกต้อง เมื่อนายวิสุทธิ์ขอถอนตัว คตง.ก็ไม่มีทางเลือกอื่นก็จะต้องเปิดรับสมัครบุคคลเป็นผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ภายใน 30 วัน หลังจากที่ คตง.ได้รับคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ

 

"คตง.ไม่มีทางเลือกอื่นเราคงทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ก็คงต้องเดินหน้ารับสมัครผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ เพราะคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจน แต่สิ่งที่เรานึกกังวลอยู่ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจนนายวิสุทธิ์ต้องขอถอนตัวก่อนมีพระบรมราชโองการ อาจทำให้หลายคนที่สนใจไม่กล้ามาสมัครเป็นผู้ว่าการ สตง.ตรงนี้ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจต่อสังคม" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท