Skip to main content
sharethis

โดย ตติกานต์ อุดกันทา


 


ผู้คนที่อยู่ในยุคสมัยของข้อมูลข่าวสารอาจส่ายหน้าด้วยความไม่เชื่อถือเมื่อเห็นจั่วหัวว่าด้วยเรื่องของ "คำทำนาย" ปรากฏหราอยู่ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะออกมาฟันธงยืนยันว่ามันกำลังจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ทว่าปรากฏการณ์เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้นได้ ในอนาคต และเป็นอนาคตที่อยู่ไม่ไกลเท่าไหร่ด้วย เพราะมันอยู่ห่างจากเวลาปัจจุบันไปแค่อีกห้าปีเท่านั้น


 


ริชาร์ด คลาร์ก (อดีต) เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการรักษาความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนนิยายออกมาเป็นเรื่องแรกโดยใช้ชื่อว่า The Scorpion"s Gate หนังสือของคลาร์กเพิ่งจะวางจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และติดอันดับที่ 84 (เป็นผลการจัดอันดับในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548) จากจำนวนหนังสือกว่าล้านเล่มของเว็บไซต์ขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกไซเบอร์อย่างอะเมซอนดอทคอมโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน


 


สิ่งที่ทำให้นิยายของคลาร์กเล่มนี้มีคนสนใจมันในสถานะที่ มากกว่า ความเป็นเรื่องแต่ง น่าจะเป็นเพราะประวัติอันโชกโชนของคลาร์กเอง


 


เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงมาตลอด 30 ปี แม้จะมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีมาแล้วถึงสี่รุ่น (โรนัลด์ เรแกน, จอร์จ ซีเนียร์ บุช, บิล คลินตัน และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช) แต่ทุกคนก็เลือกให้คลาร์กอยู่ในทีมที่ปรึกษาด้านความมั่นคงมาตลอด และตำแหน่งสุดท้ายที่เขาได้รับก่อนจะลาออกในปี 2546 ก็คือตำแหน่งหัวหน้าระดับสูงสุดของหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษของคลาร์กคือการรักษาความปลอดภัยของระบบไซเบอร์ออนไลน์ และการป้องกันการก่อการร้าย และถ้าคนอย่างคลาร์กไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือได้จริงๆ เขาคงหลุดจากโผที่ปรึกษาของรัฐบาลไปนานแล้ว


 


เมื่อมีเรื่องแต่งที่ฟังดูคล้ายว่าอาจจะเกิดขึ้นจริงถูกเขียนออกมา โดยคนที่ได้ชื่อว่าเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ทำให้มีคนตั้งคำถามว่า เนื้อหาภายในนั้นคือจินตนาการส่วนบุคคลหรือว่าเป็นการคาดคะเนจากข้อมูลจริงที่รวบรวมมาตลอด 30 ปีกันแน่ แต่ไม่ว่าที่มาของนิยายเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร มันก็ส่งผลให้คนบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามซึ่งเป็นสาเหตุของความวุ่นวายทั้งหมดที่เป็นอยู่ยอมหันมารับรู้และหาทางแก้ที่แท้จริงเสียที


           


ผลพวงจากสงครามต้านก่อการร้าย


เนื้อหาของหนังสือ นิยาย เล่มนี้ พูดถึงผลกระทบจากการแทรกแซงที่เกิดขึ้นมากมายในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และเป็นการแทรกแซงที่สหรัฐอเมริกามีต่อประเทศในโลกอาหรับ และนับรวมไปถึงข้อกล่าวหาเก่าๆ ที่กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช พยายามปลุกปั่นให้เกิดสงครามในตะวันออกกลาง เพื่อที่บริษัทค้าน้ำมันของอเมริกาจะได้มีลู่ทางหารายได้เข้าประเทศและเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างเป็นกอบเป็นกำด้วย


 


แต่สิ่งที่คลาร์กจินตนาการ (หรือคาดการณ์) ต่อจากนั้นก็คือบทสรุปของสงครามต่อต้านก่อการร้ายที่ผ่านมาว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกในอนาคต


 


โลกในปี ค.ศ. 2010 ที่ปรากฏในนิยาย "เดอะ สกอร์เปียน"ส เกท" ของคลาร์ก พูดถึงความล่มสลายของประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งเกิดการปฏิวัติรัฐประหารจนกลายสภาพมาเป็นสาธารณรัฐ "อิสลามิยาห์" แทน กลุ่มนายทุนผู้ค้าน้ำมันซึ่งเป็นขั้วอำนาจเก่าในซาอุต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา (รวมตระกูลบิน ลาเดนด้วย) ในขณะที่ประเทศอิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และประเทศจีนผลิตอาวุธส่งไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กระหายน้ำมัน ประเทศเหล่านี้จึงพุ่งเป้าหมายไปยังการครอบครอง บาห์เรน ที่ได้ชื่อว่ายังมีแหล่งน้ำมันดิบอยู่มาก และการลักพาตัว ระเบิดพลีชีพ รวมถึงการก่อการร้ายคือเรื่องที่เกิดขึ้นได้รายวันในยุคนั้น


 


ก่อนหน้าที่คลาร์กจะเขียนนิยายเล่มนี้ออกมา เขาเคยเขียนบทความขนาดยาวชื่อ Against all Enemies ออกมาในปี 2547 และเป็นหนังสือที่ถูกกล่าวขวัญในวงกว้าง เพราะเนื้อหาในนั้นคือการวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ไม่สนใจรายงานของหน่วยงานรักษาความมั่นคงของประเทศที่ระบุว่า อาจมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ และผลก็ออกมาอย่างที่รู้กันว่าบุช (หรือรัฐบาลของบุช) เลือกที่จะเพิกเฉยต่อรายงานดังกล่าวจนนำไปสู่เหตุการณ์วินาศภัยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 และบทความชิ้นนี้ก็พูดถึงสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรักในฐานะ "ความล้มเหลว" ที่รัฐบาลไม่ยอมแก้ไขด้วย


 


ญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 รวมถึงทหารที่ไปรบในสงครามอัฟกันและอิรักส่วนใหญ่ให้ความสนับสนุนแนวคิดของคลาร์ก แต่ ไมเคิล ชูเออร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของสหรัฐออกมาโต้แย้งว่า รัฐบาลบุชทำสงครามกับอิรักเพราะคลาร์กเองก็เคยสงสัยว่าอิรักอาจให้ความช่วยเหลือผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์จริงๆ โดยชูเออร์อ้างอิงถึงบันทึกที่คลาร์กส่งให้เลขานุการของเขา


 


บันทึกนั้นมีข้อความว่า "โอซามา (บิน ลาเดน) เจ้าเก่าของเราคงไปกบดานอยู่ที่แบกแดดแน่ๆ" คลาร์กไม่ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งของชูเออร์ แต่เสริมว่าข้อมูลหลักฐานที่เขารวบรวมเพิ่มเติมภายหลังบ่งชี้ว่าโอซามา บิน ลาเดน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิรักเดิม และคลาร์กยังกล่าวอีกด้วยว่าเขาได้รายงานประธานาธิบดีบุชก่อนที่จะลาออกจากราชการในปี 2547 แล้วว่าการทำสงครามในอิรักคือความสูญเปล่าทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคล


 


นักการเมืองสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมบางคนโจมตีว่าคลาร์กคือนักลวงโลกที่อาศัยความผิดพลาดของคนอื่นมาสร้างภาพให้ตัวเองดูดี โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนที่นิยมพรรคหัวอนุรักษ์ด้วยว่า คลาร์กเขียนบทความเล่มก่อนหน้าและเขียนนิยายเรื่องนี้ออกมาเพื่อ รับใช้ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์ชื่อดังของนิวยอร์กไทม์มองว่าการกระทำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นเพียงการดิสเครดิตหรือพยายามทำลายชื่อเสียงของคลาร์กเท่านั้น แต่แก่นแท้ของสิ่งที่คลาร์กพูดไม่อาจบิดเบือนได้


 


คลาร์กชี้ให้เห็นในนิยายเรื่องนี้ว่าการแทรกแซงประเทศในโลกอาหรับและความพยายามจะยัดเยียดความเป็นประชาธิปไตยให้ประเทศเหล่านั้นโดยไม่คำนึงถึงความเชื่อของประชากรส่วนใหญ่และไม่ศึกษาโครงสร้างสังคมเดิม คือการกระตุ้นให้ความรุนแรงแพร่กระจายออกไปในวงกว้างกว่าเดิม หากว่าสหรัฐอเมริกา (และประเทศที่เป็นแนวร่วม) ไม่หันกลับมาทบทวนบทบาทของตน ก็จะไม่มีทางยุติการก่อการร้ายได้เลย เพราะผลกระทบจากสงคราม ต้าน ก่อการร้ายจะแผ่กว้างไปสู่เวทีโลกจนเกินเยียวยา และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ใกล้เคียงกับเรื่องในนิยายของคลาร์กเข้าไปทุกทีแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดถึงคุณสมบัติของนิยายเล่มนี้เฉพาะเรื่องที่มันมีฐานะเป็นเพียง งานเขียน ชิ้นหนึ่งของนักเขียนมือใหม่ นักอ่านจากอะมเซอนและนักวิจารณ์จากพับลิชเชอร์วีคลี่ย์ลงความเห็นว่า เรื่องแต่งเรื่องแรกของเขาเต็มไปด้วยบทสนทนาอันแห้งแล้ง ซ้ำยังอุดมไปด้วยข้อมูลและรายละเอียดของสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกใส่มาเพียบแปล้ (จนออกจะเกินพอดี) แต่ก็สามารถทำให้คนอ่านคล้อยตามได้อย่างน่าเชื่อถือ


 


สรุปคือคลาร์กเอาดีทางด้านการเขียนนิยายได้แน่ๆ


 


ที่ต้องรอดูต่อไปก็คือว่าความสามารถในการ ทำนายอนาคต ของเขาจะแม่นยำแค่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net