Skip to main content
sharethis


 


 



ฮัสรม บิน ฮารน


 


ฮัสรม บอกว่านโยบายของสำนักพิมพ์ที่เขาเป็นผู้อำนวยการ ต้องการศึกษาเกี่ยวกับโลกมลายู จึงเสาะหาความจริงในรูปแบบต่าง ๆ นำมารวบรวมและตีพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจของคนในโลกมุสลิมด้วยกัน เพราะยอมรับความจริงว่าการก่อความรุนแรงในหลายแห่งของโลกมีการบิดเบือนความจริงอยู่ไม่น้อย


 


 


 


 



หนังสือเกี่ยวกับปัตตานี 11 เล่มที่จัดพิมพ์ขึ้น


 


 



วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2005 14:49น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


สัมภาษณ์พิเศษ - ฮัสรม บิน ฮารน ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ Penerbit มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (UKM)  ผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ "ปัตตานี" จนถูกทางการไทยมองในแง่ลบว่า โฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมให้มีการต่อต้านรัฐบาลไทย


 


"ความจริง" จะเป็นปัจจัยในการแก้ปัญหาความรุนแรงในทุกสถานการณ์ เพราะอย่างน้อยจะสร้างความเข้าใจร่วมกันจากความจริงที่เกิดขึ้น ฮัสรม เชื่อในหลักคิดการใช้ความจริงเพื่อจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เขาบอกว่ารัฐปาตานีก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายูที่จำเป็นต้องได้รับการอธิบายทั้งด้านการเมือง วัฒนธรรม ประเพณีของผู้คนที่นี่ โดยเมื่อไม่นานมานี้เขาเดินทางมาเปิดตัวหนังสือของสำนักพิมพ์จำนวน 11 เล่ม ว่าด้วยเรื่องราวปัตตานีในแง่มุมต่าง ๆที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.)


 


แต่ก็ถูกมองในแง่ลบจากทางการไทย หาว่าการพิมพ์หนังสือเพื่อจำหน่ายเหล่านี้มีเจตนาแอบแฝงในการปลุกระดมให้คนมุสลิมในพื้นที่ฮึกเหิมและอาจเป็นเหตุผลในการลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทยหรือก่อเหตุรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่มากขึ้น


 


ฮัสรม บอกว่าการศึกษาและรวบรวมข้อมูลมาจัดพิมพ์หนังสือนั้นจะใช้ประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์กลาง แล้วตั้งคำถามว่ามาเลเซียไปผูกพันหรือเชื่อมโยงอยู่กับโลกมุสลิมทั่วโลกอย่างไร


 


ดังนั้นหนังสือจำนวน 11 เล่มที่ตีพิมพ์ออกมาจึงมีการเชื่อมร้อยแต่ละแง่มุมในแต่ละเล่มแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ปัตตานีได้มีการพิมพ์ออกเป็นภาษาอังกฤษมาแล้วหลายเล่ม ทางสำพิมพ์จึงต้องการทำเป็นภาษามลายู สำหรับคนเชื้อสายมลายูจะได้รับทราบความจริง


 


"ผมยอมรับว่าหลังจากพิมพ์หนังสือบางเล่มออกจำหน่ายก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะถูกมองว่าหนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือต้องห้าม แต่ในฐานะสำนักพิมพ์ทำหน้าที่เป็นแหล่งวิชาการก็จำเป็นต้องทำหน้าที่"


 


ฮัสรม เล่าว่าหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ออกมาชื่อ ลากู โดโด มลายูปาตี เป็นบทกลอนกล่อมเด็กของคนมลายูในสามจังหวัด เล่มต่อมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนปอเนาะ ว่ามีระบบการศึกษาอย่างไร เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีการเปรียบเทียบการศึกษาในโรงเรียนปอเนาะในอาเจ๊ะห์กับที่อื่นไว้ด้วย


 


เขารู้สึกแปลกใจไม่น้อยที่หลังจากไปเปิดตัวหนังสือที่ มอ.ปัตตานีแล้ว มีเสียงสะท้อนว่าเขาเป็นผู้มีส่วนในการปลุกระดมหรือก่อให้เกิดการเข้าใจผิดต่อพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยมีการกล่าวหาว่าหนังสือเกี่ยวกับปัตตานีดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี


 


"เราไม่ได้มีเป้าหมายอย่างนั้น แต่หากมีคนอ่านแล้วเกิดความรู้สึกร่วมกับประวัติศาสตร์ของตัวเองก็เป็นเรื่องปกติ เพราะการได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่มก็ธรรมดาที่จะมีความรู้สึกอย่างนั้นได้ เหมือนอ่านหนังสือเกี่ยวกับความรัก หรือเป็นบทละครที่ง่ายต่อการคล้อยตามได้ ที่สำคัญการพิมพ์หนังสือออกมาก็ต้องสร้างแรงดึงดูดใจคนอ่านด้วย แต่ไม่ใช่การบิดเบือน เพียงอ่านแล้วคนอ่านจะรู้สึกอย่างไรเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุมของเรา"


 


"ผมคิดว่าหากคนปัตตานีอ่านหนังสือที่เราพิมพ์แล้วเกิดความรู้สึกบางอย่าง ก็เป็นเพราะเขาเพิ่งได้ทราบความจริงบางอย่างเพิ่ม เพราะไม่เคยได้อ่านมาก่อนว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ถูกต้องเป็นอย่างไร นั่นเท่ากับเป็นความรู้ใหม่ของเขา นี่เป็นวัตถุประสงค์ในการพิมพ์ของเราที่ต้องการนำเสนอข้อมูลใหม่ให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง"


 


"หลังจากที่ผมกลับจากเมืองไทย ทราบว่ามีสันติบาลไทยต้องการพบตัวผู้เขียนหนังสื่อเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชาติมลายูปัตตานีเพื่อขอทราบว่าไปเอาข้อมูลจากไหนมาเขียน ซึ่งผมไม่ได้สนใจมาก แต่เราเองก็ได้คำนึงเรื่องความไม่เข้าใจระหว่างประเทศเหมือนกันว่าจะเกิดการเข้าใจผิดได้ เราจึงใช้นักเขียนที่เป็นอาจารย์และนักวิชาการที่ได้ทำการศึกษาและวิจัยมาจริง ๆ"


 


ฮัสรม บอกว่าหนังสือเกี่ยวกับปัตตานีไม่ใช่เรื่องสนุกเหมือนอ่านนิยาย แต่ยอดขายก็ไปได้ดีทีเดียว แม้ไม่ใช่เป้าหมายหลัก รวมถึงมีการพูดถึงเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้นพอสมควร เขาเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดรายวันใน 3 จังหวัดภาคก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนหันมาหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานีอ่านมากขึ้น เพราะอยากรู้ประวัติที่ถูกต้องของตนเอง


 


เขายกตัวอย่างประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เขียนโดย ศ.ดร.นิคอันวาร์ นิคมัฮหมูด ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ปัตตานี ว่า ศ.ดร.นิคอันวาร์ ไม่ใช่โนเนม ไม่ได้เป็นผู้ที่ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ยังศึกษาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียอีกด้วย


 


"ผมคิดว่าการได้นำเสนอในสิ่งที่เป็นความจริงที่ถูกต้องจะเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ดีกว่าปล่อยให้ผู้คนเข้าใจในสิ่งผิดๆต่อไปอย่างยาวนาน ไม่ว่าที่ใดในโลกความจริงจะทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงความคิดคนในสังคมให้เข้าใจกันมากขึ้น"


 


"ความจริงบางอย่างถูกบิดเบือน เช่น ประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่าหรืออยู่ในฐานะผู้ปกครองมักให้ข้อมูลที่หลอกลวง เช่น บอกว่าคนมลายูใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ใช่คนที่นั่น นี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเขาอยู่กันมายาวนาน ผู้ที่ชนะสงครามควรทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของผู้แพ้ด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุลในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ชนะแล้วไปเปลี่ยนประวัติศาสตร์เขา หากทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งตามมา"


 


ฮัสรม ไม่ได้มองรัฐไทยในแง่ร้ายฝ่ายเดียว เขาบอกว่ากลุ่มที่บิดเบือนศาสนาแล้วไปก่อเหตุความรุนแรงในภาคใต้ก็จำเป็นต้องสร้างความจริงกับประชาชนให้เกิดการเข้าใจที่ถูกต้องเช่นกัน


 


เขาระบุว่า การลุกขึ้นสู้ของประชาชนกับผู้ปกครองไม่ว่าที่ใด มีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรมด้วย ไม่ว่าการถูกกดขี่ หรือการไม่ให้สิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต


 


ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าการให้ความจริงด้านประวัติศาสตร์อย่างเดียวจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ทั้งหมด การให้ความจริงในปัจจุบันก็เป็นเรื่องจำเป็น ฮัสรมเห็นว่า การหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยจะต้องแจ้งกับคนในสังคมด้วยว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องการก่อเหตุแต่ละครั้งเพราะประชาชนไม่ว่าไทยพุทธหรือมุสลิมต่างได้รับความเดือดร้อน ที่สำคัญนอกจากไม่อาจหาความจริงของการก่อเหตุแล้ว กลับมีการกล่าวหาประชาชนว่าเป็นผู้กระทำหรือไม่ให้ความร่วมมือ


 


เขาเห็นว่าหากทางการไทยตั้งคำถามต่อตัวเขาในการจัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานี เขาจะตั้งคำถามกลับว่าคนไทย 60 กว่าล้านคนเข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานีมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเข้าใจจริงก็จะร่วมกันแก้ปัญหาได้ หากไม่มีความเข้าใจต่อไปก็เป็นเรื่องยากในการแก้ปัญหา...


 


"ผมว่าหนึ่งในคนที่ไม่เข้าใจมีชื่อทักษิณรวมอยู่ในนั้นด้วย"


 


เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนั้น เขาบอกว่าเหตุการณ์ตากใบจะไม่เกิดขึ้นหากรัฐไทยหรือรัฐบาลไทยเข้าใจคนมุสลิม เพราะคนเหล่านั้นอยู่ในช่วงถือศีลอด จำเป็นอย่างย่างที่เจ้าหน้าที่จะต้องแยกแยะผู้ก่อเหตุกับประชาชนโดยทั่วไปออกจากกันให้ชัดเจน


 


"แต่ถ้ามีความเข้าใจอยู่แล้ว แล้วยังฆ่าคนตายในช่วงถือศีลอดอีก ถือเป็นความโหดร้ายมาก"


 


แม้ถูกตั้งคำถามมากมายกับการจัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ แต่ฮัสรมก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า เขาจะเดินหน้าเขาจะจัดพิมพ์หนังสื่อใหม่ๆ อีก 2-3 เล่ม มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัตตานีเช่นกัน เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา โดยเฉพาะหากความรุนแรงใน 3 จังหวัดยิ่งดำเนินต่อไปหรือรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ ฮัสรมบอกว่ายิ่งจำเป็นที่เขาต้องทำหน้าที่หนักขึ้นหลายเท่าในการหานักเขียนมือดีมาอธิบายความจริงผ่านตัวหนังสือภาษามลายู


 


บทสรุปทิ้งท้ายจากการสนทนากับฮัสรม เขาบอกว่าไม่อยากเห็น 3 จังหวัดของไทยตกอยู่สภาพเดียวกับอิรักและอีกหลายประเทศในโลกที่กำลังเผชิญกับความรุนแรง พร้อมกับเสนอว่าประเทศไหนที่พยายามปิดกั้นความจริงไม่ให้ประชาชนรับรู้ ประเทศนั้นย่อมพัฒนาเป็นประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้


 


เพราะมีแต่คอมมิวนิสต์หรือเผด็จการเท่านั้น...ที่ปกปิดความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ๐

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net