Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—8 พ.ย. 48 เช้ามืดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ครูจากหลายจังหวัดนัดชุมนุมประท้วงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อคัดค้านการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยบ่ายวันเดียวกัน ครม.สรุปยืนยันให้ อปท.ดูแลโรงเรียนให้เรียบร้อยภายใน 2 ปี หากครูคนใดไม่พอใจสามารถย้ายโรงเรียนได้


ทั้งนี้ การกระจายอำนาจการศึกษาให้แก่ อปท.ดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในมาตรา 43 ซึ่งนอกจากจะระบุให้บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า12 ปีโดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายแล้ว ยังระบุให้การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นและเอกชนอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม วันนี้คณะรัฐมนตรีได้นำเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าที่ประชุม โดย ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.เสนอ ทั้งนี้ การดำเนินการถ่ายโอนจริงให้เป็นไปตามหลักความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งต้องคำนึงถึงความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษาและประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ


 


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ว่าได้ข้อยุติเรื่องการโอนย้ายครู ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วโดยให้เป็นไปในลักษณะของความสมัครใจ มี 2 ระดับ คือ ระดับสถาบัน หรือตัวโรงเรียนนั้นๆ กับระดับผู้บริหาร หรือครู ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจ และ อปท.พร้อมจะรับ โดยผ่านการประเมินจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็ให้ไป ถ้าโรงเรียนไหนยังไม่พร้อมจะไม่ไปก็ได้


โดยนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะเป็นแผนการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งสามารถปรับได้ ช่วงแรกให้เป็นเรื่องความสมัครใจไปก่อน ถ้ามีความสมัครใจ รัฐบาลพร้อมโอนงบประมาณให้ท้องถิ่นนั้น ๆ จากนั้นท้องถิ่นก็จะหางบประมาณมาสมทบ เพื่อใช้ในการบริหารโรงเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งเวลานี้หลายเทศบาลก็มีความพร้อม


 


ทั้งนี้ มติของที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ครั้งที่ 9/2548  เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2548 ได้พิจารณาเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษา (เฉพาะสถานศึกษาที่ถ่ายโอน) ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ 


 


1. ให้มีองค์กรกำหนดนโยบาย  แผน มาตรฐาน และสนับสนุนงบประมาณในที่เดียวกัน  และโดยที่เรื่องนี้เป็นบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ  จึงให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในการจัดสรรให้แก่ อปท. และให้คำนวณเข้าไว้ในส่วนของงบประมาณร้อยละ 35 ตามกฎหมาย


 


2. ให้มีคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่นระดับจังหวัด  โดยพิจารณารูปแบบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมต่อไปอีกครั้งหนึ่ง


 


3. โรงเรียนใดที่มีความสามารถและมีศักยภาพ  ควรให้อำนาจและอิสระในการบริหารโดยเฉพาะทางวิชาการ และควรมีฐานะเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งอาจต้องแก้ไขกฎหมายในอนาคต


 


4. ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ให้งบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าใช้จ่ายด้านวิชาการอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยผ่านระบบ GFMIS ส่วนงบประมาณอื่นๆอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท.


 


5. การจัดการศึกษาของ อปท. ควรรับผิดชอบทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาตลอดชีวิตซึ่งคาดว่าน่าจะมีความพร้อมตั้งแต่ พ.. 2550 เป็นต้นไป


 


6. การถ่ายโอนบุคลากรด้านการศึกษาให้อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจของบุคลากร  ดังนี้


 (1)  กรณีบุคลากรสมัครใจ  ให้ตัดโอนทั้งอัตราและตัวบุคคลไปสังกัด อปท.


 (2)  กรณีบุคลากรไม่ประสงค์โอนไป อปท.  ให้สามารถช่วยราชการในสถานศึกษานั้นต่อไปได้ 


แต่ไม่เกิน 2 ปีการศึกษา เมื่อไม่ประสงค์จะโอนไปก็ให้กลับไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ในกรณีมีอัตราที่ขาดอันเนื่องมาจากการถ่ายโอน รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณหรืออัตราเพื่อบรรจุทดแทนให้แก่ อปท.หรือกระทรวงศึกษาธิการแล้วแต่กรณี


 


7. ปีการศึกษา 2549 ให้แบ่งระดับสถานศึกษาที่จะถ่ายโอน ดังนี้


(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด  รับโอนได้ไม่เกิน 3  โรง  โดยแบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่เกิน1 โรง และอีก 2 โรง อาจเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาหรือโรงเรียนขยายโอกาส (2) เมืองพัทยา และเทศบาลที่เคยจัดการศึกษา รับโอนได้ไม่เกิน 2 โรง ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาหรือโรงเรียนขยายโอกาส (3) เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ไม่เคยจัดการศึกษารับโอนได้ไม่เกิน1 โรง  ในระดับประถมศึกษา


 


(4) กรุงเทพมหานคร ให้กระทรวงศึกษาธิการและกกถ.ร่วมกันพิจารณาจำนวนสถานศึกษาที่จะรับ


ถ่ายโอน โดยให้คำนึงถึงคำนิยามสถานศึกษาพิเศษที่ได้กำหนดไว้แล้วด้วยกรณีที่สถานศึกษาใดมีความพร้อมและสมัครใจโอนไปอยู่ อปท.และ อปท.ยินดีรับโอนสถานศึกษาดังกล่าว


 


นอกเหนือจากจำนวนดังกล่าวข้างต้น ให้สถานศึกษา และ อปท.ทำความตกลงเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันและเสนอให้ กกถ.พิจารณาเป็นราย ๆ ไป


 


8. สถานศึกษาลักษณะพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นสถานศึกษาตัวอย่างหรือต้นแบบที่จัดการศึกษาระดับภาค ระดับจังหวัด หรือระดับเขตพื้นที่การศึกษา เช่น โรงเรียนในฝัน ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะของรัฐบาลให้เป็นไปตามคำนิยามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความตกลงเป็นกรณีๆไป


 


สำหรับสถานศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ(สมศ.)ที่ยังขาดความพร้อมด้านบุคลากร หรือขาดระบบบริหารซึ่งต้องพัฒนามาตรฐานและความพร้อม เห็นสมควรถ่ายโอนให้ อปท.รับไปดำเนินการ โดยกำหนดเงื่อนไขว่า อปท.ที่รับโอนต้องมีแผนการพัฒนาสถานศึกษาที่ชัดเจน และมีการติดตามประเมินผลเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ มาตรฐานของ สมศ.ต่อไป


 


9.ให้มีคณะกรรมการและระบบติดตามและประเมินผลการโอนสถานศึกษาตามแนวทางนี้ และเสนอ กกถ.ต่อไป หากปรากฏว่าการจัดการศึกษามีปัญหาหรือด้อยคุณภาพลง อาจมีการทบทวนการโอนได้เป็นราย ๆ ไป


 


ด้านแกนนำครูผู้ชุมนุมกล่าวว่า  การถ่ายโอนการศึกษาให้ หากมีการกระจายอำนาจการศึกษาไปอยู่ อปท.จะเกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษาขึ้น ส่งผลกระทบต่อเด็ก สถานศึกษาจะมีมาตรฐาน 7,000 มาตรฐาน ตาม อปท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และจะไม่สามารถควบคุมมาตรฐานได้ เด็กจะเสียประโยชน์ ขณะที่เด็กที่ได้ประโยชน์ก็จะเป็นเด็กกลุ่มน้อยที่อยู่ในเมือง ซึ่งมีอุปกรณ์การเรียนการศึกษาที่ดีพร้อม โดย อปท.ก็จะเข้าไปทำหน้าที่หนุนเท่านั้น แต่ก็จะได้หน้าไป ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า อบต.ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถดูแลสถานศึกษาได้ และตามกฎหมายรัฐระบุว่าจะโอนงบประมาณพัฒนาการศึกษาส่วนหนึ่งให้กับ อปท.35%แต่ขณะนี้รัฐบาลก็ยังทำไม่ได้ กระจายให้ได้เพียง 24% ซึ่งยังขาดอีก 11%


 


ด้าน นายพิษณุ ตุลสุข นายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมหารือของแกนนำครูที่คัดค้านการถ่ายโอนว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ตามระดับความเข้มข้นของสถานการณ์ คือไม่พอใจต่อท่าทีที่รัฐบาลปฏิบัติต่อครูในวันนี้ จะต้องใช้หนี้ต่อความรู้สึกของครูทั่วประเทศ โดยให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาจัดชุมนุมเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่คณะครู และผู้ปกครองให้ชัดเจนเข้าใจทั่วถึง พร้อมประสานกับสื่อมวลชนท้องถิ่น


 


นอกจากนี้ยังให้มีการเตรียมรายชื่อของครู ผู้ปกครองและประชาชน ภายในวันที่ 9-14 พ.ย.2548 เพื่อนำทูลเกล้าฯถวายฏีกาคัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษาแก่ อปท. ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหากมีเหตุอันจงใจของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการถ่ายโอนการศึกษาจะนัดชุมนุมใหม่ที่กรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนคน  โดยจะทำการหยุดสอนจนกว่าจะประสบความสำเร็จในการคัดค้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net