นักข่าวพม่าในไทยถูกคุกคาม

 

 

ประชาไท—9 พ.ย. 2548 รายงานขององค์กรพันธมิตรสื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่านักข่าวชาวพม่าพลัดถิ่นในไทยถูกเจ้าหน้าที่ไทยคุกคาม หลังจากที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านของพม่าอีก 3 ประเทศปรับทิศทางความสัมพันธ์กับรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

รายงานดังกล่าวมีขึ้นจากการสัมมนาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. และวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาโดยมีนักข่าวลี้ภัยชาวพม่าประมาณ 50 และสมาชิกของ SEAPA เข้าร่วมประชุม

 

ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยของนักเคลื่อนไหวและนักข่าวชาวพม่าในประเทศไทย บังคลาเทศ อินเดีย และจีน เพื่อนบ้านของพม่า ซึ่งมีแนวโน้มที่เลวร้ายลงหลังจากพม่าได้พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้

 

เนื้อหาตอนหนึ่งของรายงานสรุปกล่าวว่า การเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากับประเทศเพื่อนบ้านงอกงามอยู่บนฐานของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ส่อแสดงถึงนัยที่เลวร้ายสำหรับความเป็นอยู่ของชาวพม่าในประเทศไทย อินเดีย และบังคลาเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักข่าวชาวพม่าซึ่งอยู่ในฐานะที่เรียกร้องสิทธิของตนเองได้น้อยอย่างยิ่ง  และปัจจัยทางการเมืองที่เลวร้ายลงของพม่า ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนในย่างกุ้ง ได้ก่อความกังวลในหมู่ชาวพม่าพลัดถิ่น และความกังวลของพวกเขาก็ถูกเพิ่มน้ำหนักขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายการเมืองในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของพม่า และดูเหมือนว่านักเคลื่อนไหวและนักข่าวชาวพม่าผู้พลัดถิ่นจะตกอยู่ในภาวะที่อันตรายและถูกคุกคาม

 

ช่วงหนึ่งของการสัมมนามีการกล่าวถึงประสบการณ์การถูกคุกคามจากภายในประเทศเพื่อนบ้านของพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยเอง นักข่าวชาวพม่าซึ่งทำงานให้กับสถานีวิทยุเสียงประชาธิปไตยของพม่าที่ตั้งอยู่ในกรุงออสโล (DVB) ถูกเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของไทยบังคับให้ออกจากที่พักของเขาเองในจังหวัดระนองเพื่อข่มขู่ให้กลัว และนักข่าวคนอื่นๆ ของ DVB ที่พำนักอยู่ใน จ.ระนอง ก็เผชิญกับการคุกคามในลักษณะเดียวกัน

 

ปัจจุบัน องค์กรชาวพม่าที่ก่อตั้งใหม่ในช่วง ค.ศ.1990 - 2000 จำนวนกว่า 20 องค์กรมีฐานปฏิบัติการอยู่ตามตะเข็บชายแดนของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่อยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย- พม่า และคนทำงานในองค์กรเล็กๆ นี้ก็ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวด้วย

 

สมาชิกขององค์กรเหล่านี้บางส่วนทำงานให้กับ BBC สถานีวิทยุโทรทัศน์ในอเมริกา และ DVB หลายคนไม่มีเอกสารแสดงตัวตามกฎหมาย มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

 

ความคลุมเครือในสิทธิและสถานะทางกฎหมาย เป็นอุปสรรคที่ก่อปัญหาในการทำงานอย่างเห็นได้ชัดสำหรับผู้สื่อข่าวชาวพม่า การเข้าถึงข้อมูล และการเดินทางเป็นไปได้อย่างจำกัด พวกเขาได้รับกรอนุญาตให้อยู่ในประเทศที่พวกเขาลี้ภัยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ก็ไม่มีสิทธิในการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง

การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างๆ ที่ชาวพม่าลี้ภัยอยู่ เป็นสิ่งเลวร้ายต่อความปลอดภัยและเป็นเงื่อนไขในการทำงานของนักข่าวตามตะเข็บชายแดนของประเทศเหล่านั้น การสัมมนาที่เพิ่งผ่านไปจึงถกกันในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว และการสำรวจเงื่อนไขในทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความแน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถทำงานต่อไปได้โดยได้รับความปลอดภัยที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้จะมีการเจรจากับรัฐบาลในประเทศเพื่อนบ้านของพม่าซึ่งผู้สื่อข่าวเหล่านี้พำนักอยู่

 

"แม้จะไม่มีอะไรแน่นอน แต่ก็น่าจะถึงเวลาที่นักข่าวพม่าพลัดถิ่นได้ขึ้นมาจากใต้ดิน และพูดเรื่องสิทธิของเขาเอง" รอบี้ อาลามเปย์  ผู้อำนวยการ SEAPA กล่าว

 

กวี จงกิจถาวร บรรณาธิกาเครือเนชั่น ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวระบุว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่าอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลไทยก็ต้องเปิดใจกว้างต่อการเคลื่อนไหวในการส่งเสริมประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดยืนของประเทศอื่นๆ ในสังคมโลก

 

เขาเน้นหนักว่าการพบกันครั้งล่าสุดระหว่างประธานาธิบดีจอร์จ บุช กับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวฉาน ในกรุงวอชิงตันถือเป็นสัญญาณของการฟื้นแรงผลักดันในประเทศต่างๆ ที่จะผลักดันการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยในพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท