Skip to main content
sharethis


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ที่โรงแรมบี.พี.สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย มีนายสุเทพ โกมลภมร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน มีคณะกรรมการเข้าร่วมประมาณ 30 คน

 


ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่ชาวบ้านจากหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ก่อสร้างโรงแยกก๊าซ และเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อใกล้โรงแยกก๊าซ เรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเสียงดังระหว่างการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ จากบริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือทีทีเอ็ม เจ้าของโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ โดยมีชาวบ้านกว่า 30 คน เข้ามาร่วมประชุมด้วย แต่นายสุเทพ ให้เข้าร่วมประชุมได้เพียง 10 คนเท่านั้น


 


ทั้งนี้ตัวแทนผู้เลี้ยงไก่ให้เหตุผลว่า ไก่ได้รับผลกระทบทางเสียงเช่นกัน เนื่องจากทำให้ไก่ตกใจ ส่งผลให้เติบโตไม่ได้ขนาดเมื่อมีอายุครบกำหนด ทำให้บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ยอมรับซื้อ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนมาก แต่ต้องการให้ทีทีเอ็ม เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุด้วย


 


ในที่ประชุม ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นข้อเสนอให้ทีทีเอ็มจ่ายค่าเสียหายครัวเรีอนละ 50,000 บาท รวมทั้งหมด 990 ครัวเรือน รวมเป็นเงินจำนวน 49,500,000 บาท แต่ตัวแทนของทีทีเอ็ม คือนายสมชาย กูใหญ่ รองผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย กล่าวว่าเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไป ไม่สามารถให้ได้ ทางตัวแทนชาวบ้านจึงขอให้พบกันครึ่งทาง คือครัวเรือนละ 25,000 บาท รวมเป็นเงินเกือบ 25,000,000 บาท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้


 


ต่อมาในช่วงบ่าย นายสุเทพ ได้มอบหมายให้นายประสิทธิ์ วิสุทธิ์จินดาภรณ์ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานในที่ประชุมต่อ โดยนายสมชายกล่าวต่อที่ประชุมว่า ทีทีเอ็ม จะจ่ายให้ชาวบ้านจำนวน 3 ล้านบาท แต่ตัวแทนชาวบ้านไม่ยอม เพราะเมื่อแบ่งกันแล้วตกครอบครัวละ 2,500 บาทเท่านั้น และยังให้เหตุผลอีกว่า ยังไม่ทราบว่าในอีก 30 - 40 ปีข้างหน้าจะเกิดผลกระทบอะไรอีก จึงขอครอบครัวละ 20,000 บาท รวมประมาณ 20,000,000 บาท แต่ตัวแทนทีทีเอ็มไม่ยอม แต่ได้แจ้งว่าจะให้เพิ่มอีก 2,000,000 บาท เท่านั้น เนื่องจากถ้าจะให้จำนวน 10,000,000 บาทขึ้นไป จะต้องนำไปปรึกษาที่ประชุมคณะกรรมการของทีทีเอ็ม ในเดือนธันวามคม 2548 นี้ก่อน


 


อย่างไรก็ตามตัวแทนชาวบ้านจึงลดเหลือ 10,000,000 บาท แต่นายสมชายยังยืนยันที่จะให้เพียง 5,000,000 บาทเท่านั้น ด้านตัวแทนชาวบ้านจึงเสนอให้นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจงหวัดสงขลาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วย


 


สำหรับชาวบ้านกลุ่มนี้ เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย แต่ไม่ใช่กลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาลเซีย และส่วนหนึ่งสนับสนุนการก่อสร้างโครงการมาตั้งแต่ต้น


 


นอกจากนี้นายอาลาวี มะซอ สมาชิกองคืการบริหารส่วนตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดส่งขลาในฐานะกรรมการฯ ได้หยิบยกกรณีทีมีการปล่อยน้ำล้างท่อส่งก๊าซภายในโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ลงในคูน้ำรอบบริเวณก่อสร้างโรงแยกก๊าซ แต่ได้เอ่อล้นเข้าท่วมทุ่งเลี้ยงสัตว์สะกอม หลังจากเกิดฝนตกหนักเมื่อเดือนตุลาคม 2548 จนชาวบ้านร้องเรียนว่า วัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ตายไป 5 ตัว และจากการเข้าไปตรวจสอบพบว่ามีน้ำขังอยู่และมีกลิ่นเหม็นมาก จึงขอให้แก้ปัญหาด้วย


 


ประธานในที่ประชุมจึงขอให้ทางทีทีเอ็มดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว และให้เก็บตัวอย่างน้ำดังกล่าวไปตรวจสอบว่ามีสารพิษปนเปื้อนอยู่ด้วยหรือไม่ โดยจะให้คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ตรวจสอบ รวมกับหน่วยงานอื่นอีก 2 หน่วยงาน


 


นายอาลาวี เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า เสียงดังที่ทำให้เกิดกรณีเรียกค่าชดเชยที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับเสียงเครื่องบินขึ้น - ลง พร้อมกันหลายลำ ซึ่งอาจสร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net