Skip to main content
sharethis


 



 


วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2005 17:51น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่ได้ขีดวงจำกัดอยู่แต่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างมาเลเซียอีกด้วย โดยเฉพาะในระยะหลัง ปัญหาการอพยพของกลุ่มชาวบ้าน 131 คนจากจ.นราธิวาส ที่ข้ามไปขอลี้ภัยอยู่ในรัฐกลันตัน ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างไทยและมาเลเซียถ่างกว้างออกไปอีก


 


ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น มีนักวิชาการมาเลเซียกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจมาโดยตลอด จึงกำลังร่วมกันทำวิจัยปัญหานี้


 


รศ.กามารุลนีซัม อัลดุลเลาะห์ หัวหน้าภาควิชายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (ยูเคเอ็ม) บอกว่าทางคณะจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอุตตาระมาเลเซีย เพื่อศึกษาวิจัยปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ทันได้ลงพื้นที่จริง เนื่องจากสถานการณ์ใน 3 จังหวัดมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ


 


เขาเห็นว่าปัญหาในภาพรวมระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อความไม่สงบ คือรัฐบาลไทยไม่รู้ว่าใครคือผู้ก่อความไม่สงบ เพราะไม่มีการเปิดตัวองค์กรที่ชัดเจน มีแต่เครือข่ายเหมือนกับกลุ่มเจไอ ที่ก่อเหตุแล้วไม่ทราบว่าใครทำ ใครเป็นหัวหน้ากลุ่มหรือผู้บงการ


 


"ผมคิดว่าหากรัฐบาลไทยจะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จจะต้องรู้เขารู้เรา รู้จักผู้ก่อการ รู้จักคนในพื้นที่ 3 จังหวัด หรือไปรับรู้หัวใจของคนในพื้นที่ว่าพวกเขาต้องการอะไร สังคมเขาเป็นอยู่อย่างไร หรือแม้แต่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐก็จำเป็นต้องรู้จักเขาว่าใครเป็นใคร จากนั้นจะต้องให้เขาไปตั้งองค์กรภายในขึ้น แล้วไปหาองค์กรภายนอกมาเป็นตัวกลาง จากนั้นให้รัฐบาลไทยลองขอความร่วมมือกับมาเลเซียเข้าไปแก้ปัญหาด้วยกัน"


 


หัวหน้าภาควิชายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งยูเคเอ็ม เห็นว่า การตั้งโต๊ะเจรจาเป็นทางออกหนึ่ง แต่หากมีการพูดจาตอบโต้จะไม่ได้ผล หรือหากคิดว่าไม่สำเร็จก็สามารถใช้เวทีอาเซียนเพื่อคลี่คลายปัญหาได้ เพราะทุกประเทศในอาเซียนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด เขาคิดว่ายิ่งรัฐบาลใช้วิธีตอบโต้กับเพื่อนบ้าน จะยิ่งทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงจนลดต่ำลงไปอีก


 


รศ..กามารุลนีซัม เสนอว่าทั้งไทยและมาเลเซียไม่ควรนิ่งดูดายปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ควรกล่าวโทษต่อกัน โดยเฉพาะไทยควรเข้าใจความสัมพันธ์เรื่องเชื้อชาติ ที่ทั้งคนไทยใน 3 จังหวัดและคนมาเลเซียมีความผูกพันกัน หากไม่เข้าใจถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว แต่กระนั้นยังเชื่อแนวโน้มในการคลี่คลายปัญหาควรจะเปิดเวทีอาเซียนให้เขามาเสนอแนะหาทางออกจะดีกว่าที่เป็นอยู่


 


ปรากฏการณ์ที่รัฐบาลไทยแสดงออกต่อมาเลเซียแม้จะไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดการแตกหัก แต่ก็เป็นการกระทบกระทั่งกันทางการเมือง แล้วจะยิ่งทำให้คนมาเลย์มีความรู้ว่าชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดถูกกดขี่มากขึ้น และในที่สุดจะมีการหาทางเข้าไปช่วยเหลือ ขณะเดียวกันจะทำให้รัฐบาลไทยเข้าใจว่ามาเลเซียให้การสนับสนุนผู้ต่อต้านรัฐบาลไทย


 


"ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้คนมาเลย์รู้สึกอย่างนี้ และทำให้รัฐบาลไทยคิดอย่างนี้เพราะในอดีตคนมาเลเซียก็เคยให้การสนับสนุนกลุ่มพูโล"


 


หากวิเคราะห์การต่อสู้ของผู้ก่อความไม่สงบ รศ..กามารุลนีซัม เชื่อว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาลไทยมากกว่าเป็นการส่งสัญญาณให้กลายเป็นการก่อการร้ายสากลเหมือนที่กลุ่มเจไอหรืออัลกอร์อีดะห์กระทำอยู่ แต่ที่น่ากลัวก็คือหากรัฐบาลไทยกดขี่มุสลิมในพื้นที่มากขึ้น อาจทำให้กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนา และเมื่อไปถึงจุดนั้นจะเปิดช่องให้กลุ่มก่อการร้ายสากลเข้ามา ในที่สุดการจีฮัดหรือการพลีชีพก็อาจจะเกิดขึ้น...นี่คือสิ่งที่น่ากลัว


 


"ผมเชื่อว่ายังการเป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แต่ไม่ปฏิเสธว่าผู้ก่อการได้รับการฝึกจากต่างประเทศ และมีการประสานกับองค์กรในประเทศ คล้ายๆ กับที่เกิดในบาหลี แต่อาจต่างกันตรงที่ในบาหลีมีการฝึกการรบภายในและไปก่อเหตุเอง ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นมาจากการถูกกดขี่มากขึ้นจากรัฐบาลไทย เหมือนกับกับที่เกิดในปาเลสไตส์ จะเห็นได้ว่าคนที่พลีชีพไม่ใช่คนจน แต่เป็นคนที่มีการศึกษา มีฐานะ ซึ่งที่เขาทำก็เพราะถูกกดขี่มาก จึงต้องการแสดงออก"


 


นักวิชาการมาเลเซียผู้นี้วิเคราะห์ต่อไปว่า การแสดงออกของผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดเกี่ยวพันกับ 3 ปัจจัย นั่นคือ นโยบายทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ต่อการแก้ปัญหาภาคใต้มีแต่ความก้าวร้าว สร้างความกดดันให้กับประชาชนมากขึ้น การจัดตั้งหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบปัญหาในพื้นที่ก็ล้วนใช้ความรุนแรงเป็นตัวตั้ง


 


หากจะมีข้อโต้แย้งสมมติฐานที่เขาวิเคราะห์ เขาบอกว่าทำไมในช่วงปีค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) ถึงไม่เกิดความรุนแรงอย่างในยุคนี้ นั่นเป็นเพราะรัฐบาลในยุคนั้นใช้การเมืองนำการทหารชัดเจน


 


ในแง่นโยบายเศรษฐกิจเขาบอกว่ารัฐบาลไทยสืบทอดนโยบายที่เป็นการละเลยคน 3 จังหวัดมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญการต่อต้านทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีการเชื่อมโยงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ด้วย


 


มุมมองจากภายนอกของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างเทศ ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย สะท้อนให้เห็นอีกว่าหากรัฐบาลไทยยังใช้นโยบายแข็งกร้าวไม่ว่าภายในและภายนอก ซึ่งเป็นเหตุที่เชื่อได้ว่าความรุนแรงจะมีมากขึ้นในอนาคต รัฐบาลไทยควรทบทวนให้นโยบายมีความสมดุล หากเดินหน้าในท่าทีเดิมปัญหานี้จะแก้ไม่ได้


 


ดังนั้นควรที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากภายนอก อย่าคิดว่าเป็นการก้าวก่าย ไม่ว่าจากองค์การการประชุมมุสลิมโลก(โอไอซี) หรือประเทศอื่นๆ แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นรัฐบาลไทยกลับไปโทษคนข้างนอก แต่ไม่เคยโทษตัวเอง


 


"ผมคิดว่าปัญหานี้ที่ไทยมองว่าเป็นปัญหาภายในได้ส่งผลกระทบต่อมาเลเซียด้วย ในฐานะที่ไทยก็เคยเป็นตัวกลางในการประสานการแก้ปัญหาให้ประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน ทำไมพอปัญหาตัวเองจึงไม่ยอมหยิบยกไปพูดในอาเซียน ทำไมถึงกลับปิดหูปิดตา"


 


หลังทิ้งคำถามนี้ รศ.กามารุลนีซัม เสนอแนะต่ออีกว่าหากรัฐบาลไทยมั่นใจในนโยบายการแก้ปัญหาของตัวเองว่ามีทิศทางที่ถูกต้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกลัวการเปิดเวทีเจรจาไม่ว่าเวทีใด การปิดกั้นความร่วมมือในการแก้ปัญหาจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น แล้วในที่สุดเมื่อกลุ่มก่อการร้ายสากลเข้ามา จะทำให้สหรัฐถือโอกาสอ้างตัวเข้ามาจัดการปัญหา ในที่สุดรัฐบาลไทยจะถูกกัดดันจากสหรัฐอีกทอด ปัญหาจะยิ่งแก้ยากเข้าไปอีก


 


"เพราะหากสหรัฐเข้ามาเขาจะมองว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมผู้ก่อการร้าย ถ้าไทยปล่อยให้ถึงเวลานั้น ลองนึกซิว่าจะเกิดอะไรขึ้น"


 


ดังนั้น เขาเสนอไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าหากจะเป็นผู้นำในอาเซียนก็ควรรีบแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งฝันมากเกินไปโดยที่ปัญหายังคลุ้งอยู่ หรือแม้กระทั่งการผลักดันนายสุรเกียรติ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ก็ไม่ง่าย ขอให้คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจที่จะกำหนดชะตา


 


และเมื่อผนวกกับการที่ไทยไม่สามารถแก้ปัญหาในประเทศตัวเองได้ คิดว่ากลุ่มประเทศอาเซียนก็คงลังเลใจ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกโอไอซียิ่งต้องคิดหนักกับปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้


 


คำถามและข้อเสนอแนะจากนักวิชาการมาเลย์นี้สะท้อนหลายแง่มุม...ที่รัฐบาลไทยควรรับฟัง และเริ่มทบทวนการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้เสียแต่เนิ่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net