แกะรอย...เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า

โดย จันลอง ฤดีกาล

......................................................................................................................................

 

ตอน 1  Karen River Watch :

การรวมตัวของกะเหรี่ยงพลัดบ้านก่อนเขื่อนมาเยือน

 

 

...สายัณห์หนึ่งในฤดูร้อนแล้ง

ข้าก้มลงเก็บปลอกกระสุนปืน

ณ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน

ข้าเห็น...แผ่นดินกำลังจะลุกเป็นไฟ

จากหนึ่งนัดสู่สิบแสนนัด

ชีวิตของชนกลุ่มน้อยปลิดปลิวหายไป

แตกสลายลงในสงครามกู้ชาติ

. . .

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร (ลำนำหงสาวดี)

 

28 มิ.ย. 46 การรวมตัวขององค์กรกะเหรี่ยง 6 องค์กร ที่ทำงานด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เยาวชน ผู้หญิง แรงงาน สิทธิมนุษยชน เพื่อติดตามการสร้างเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าในนาม กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen River Watch:KRW) ได้เกิดขึ้นหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนผืนดินเกิด

 

ต้นเดือนตุลา 47 ข้าพเจ้าได้พบกับ ลอแอะ และพอเกว หนุ่มสาวกะเหรี่ยงจากฝั่งพม่า ที่กำลังเตรียมปิดต้นฉบับงานวิจัยในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน  หนึ่งในกิจกรรมของ KRW ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ส.ค. 46 โดยรวบรวมข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่ การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสาละวิน  พื้นที่การเกษตร พื้นที่กองกำลังพม่า สอบถามถึงสิ่งที่ชาวบ้านคิดหากมีการสร้างเขื่อน และจะสามารถทำอะไรได้ จะร่วมมือกันอย่างไร รวมทั้งจัดทำ CD  โดยจะนำไปเผยแพร่ในประเทศต่างๆเพื่อไม่ให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว

โดย KRW จะส่งคนเข้าไปในพื้นที่เพื่อไปเก็บข้อมูล และไปให้ข้อมูลกับชาวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่ก็เป้นไปด้วยความลำบากเพราะมีทหารพม่าอยู่จำนวนมาก ตอนนี้รัฐบาลพม่าไม่รู้ว่ามีกลุ่ม KRW ติดตามเรื่องนี้ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก KNU ในการดูแลความปลอดภัยและนำทางไปในหมู่บ้าน

 

สิ่งที่พบและเป็นความกังวลในขณะนี้ ลอแอะบอกว่าชาวบ้านกลัวมากเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำ  โดยเขื่อนตอนบนจะกระทบพื้นที่ในรัฐคะเรนนีมากกว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ แต่รัฐกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นภูเขา ส่วนเขื่อนตอนล่างอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง

 

นอกจากนี้สงครามจะรุนแรงขึ้น เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จสิ่งที่ชาวบ้านกลัวว่าจะตามมาคือการเข้ามายึดพื้นที่โดยทหารพม่า รวมทั้งการเกณฑ์แรงงานก็จะมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การสร้างถนน เหตุผลหนึ่งคือเป็นเส้นทางสู่พื้นที่สร้างเขื่อน ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่พื้นที่ของกองกำลัง KNU

 

พอเกว เองเล่าถึงความคืบหน้าตอนนี้ว่าได้ข่าวว่าบริษัทสร้างเขื่อนเริ่มมาอยู่ใกล้เชียงใหม่แล้ว ขณะที่รัฐบาลไทยก็พยายามเชื่อมให้สงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ยุติ และดูเหมือนจะมีการส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่า ซึ่งจะทำให้การสร้างเขื่อนเร็วขึ้น 

 

สิ่งที่รัฐบาลไทยบอกว่าโครงการสร้างเขื่อนสาละวินเป็นการร่วมมือเพื่อพัฒนาประเทศพม่า แต่สำหรับหนุ่มสาวกะเหรี่ยงที่พลัดถิ่นมาอยู่เมืองไทยนั้น พวกเขามองว่าการสร้างเขื่อนจะสร้างประโยชน์ให้กับคนจำนวนน้อยมาก ซึ่งบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์นั้น แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

"ทหารพม่าเองเขาก็เหนื่อยที่ต้องมาเฝ้าพื้นที่อยู่ตลอดเวลา  ทหารก็บอกชาวบ้านว่าให้ช่วยกันอธิษฐานให้เขื่อนสร้างเสร็จเร็วๆ  แต่ปีที่แล้วชาวบ้านกะเหรี่ยงเขาไปอธิษฐานกันที่ริมแม่น้ำไม่ให้มีการสร้างเขื่อน เขาเชื่อว่าอธิษฐานแล้วจะได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่มีที่ไป ถ้าน้ำท่วมพวกเขาจะไปอยุ่ที่ไหน " พอเกว เล่า

 

ซึ่งหลังจากที่เข้าไปให้ข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อน ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่เริ่มตื่นตัว มีการพูดคุยกัน เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อน ยิ่งกว่านั้นคือไม่รู้จักเขื่อนเพราะในพม่าปัจจุบันก็มีเขื่อนเพียงแห่งเดียว ส่วนการคัดค้านจะทำได้หรือไม่นั้น พวกเขาบอกว่าจากที่ศึกษาประสบการณ์จากหลายประเทศพบว่าส่วนใหญ่คัดค้านไม่สำเร็จ แต่พวกเขาก็จะทำต่อไป พยายามเผยแพร่ข้อมูลให้กลุ่มอื่นๆเพราะกลุ่มเดียวคงทำอะไรไม่ได้มาก

 

"อยากให้รู้ว่าการพัฒนาของพม่านั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือด้านการเมือง หากทำไม่ได้ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับแค่คนที่มีอำนาจ แต่รัฐบาลไทยไม่เคยสนใจไม่กล้าแทรกแซงการเมืองในพม่า เพราะกลัวจะถูกระงับความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ การกดดันเริ่มขึ้นแล้วการจดทะเบียนแรงงานที่พยายามควบคุมคน การปิดศูนย์อพยพ แผนของเขาเริ่มชัดขึ้น  ทุกวันนี้เราเองก็ไม่อยากอยู่เมืองไทย แต่กลับไม่ได้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง"เป็นคำฝากสุดท้ายจาก KRW

 

เสียงเตหน่าดังกังวาลขับกล่อมถึงลำนำชีวิตแห่งเผ่าพันธุ์...ริมฝั่งสาละวิน

 

 

ตอน 2

สู่รัฐกะเหรี่ยง : เขื่อนใต้ปลายกระบอกปืน (DAMMING AT GUNPOINT)

 

10 พฤศจิกายน รายงานสถานการณ์ในเขตภาคเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า  พื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการวางแผนสร้างเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ศึกษาโดยกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง(Karen River Watch)แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม

 

เขื่อนใต้ปลายกระบอกปืน...ความจริงของพม่า


  • รัฐบาลพม่ามีขนาดของกองทัพเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากเดิมที่มี 400,000 คน ตั้งแต่ปี 1998(2531)

  • พม่า (ประชาชน 52  ล้านคน)  มีอัตราส่วนระหว่างทหารกับพลเรือนสูงที่สุดในโลก

  • รัฐบาลพม่าใช้งบ 40% ของประเทศสำหรับกองทัพและใช้เพียง 0.4 % และ 0.5% ของGDP สำหรับสุขภาพและการศึกษา

  • รัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธผลการเลือกตั้งในปี1990(2533) ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD)ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์

  • การดำเนินต่อไปของสงครามในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายใน(IDP)กว่า 600,000  คนในภาคตะวันออกของพม่า และผู้ลี้ภัยกว่า 140,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนพม่า-ไทย เป็นกะเหรี่ยงประมาณ 120,000 คน และประมาณ 2 ล้านคนที่เป็นผู้ลี้ภัยหรือแรงงานข้ามชาติในประเทศใกล้เคียงของพม่า

  • รัฐบาลมีรายได้ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี จากการขายก๊าซธรรมชาติให้นักลงทุนต่างประเทศ และปัจจุบันรัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขาย ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้แรงงานโดยทหารพม่าเพิ่มมากขึ้น

 

สู่รัฐกะเหรียง

ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่า มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน หรือร้อยละ 13 ของพม่า ซึ่งมีประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน ส่วนมากอาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง เขตเพกู เขตเทนเนสซาริม และทางตะวันตกของตอนกลางพม่า

 

เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าทั้งสองแห่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนทิศตะวันออกของอำเภอพะปุนในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเคยเป็นเขตปกครองอิสระของชาวกะเหรี่ยง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอำเภอแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงเป็นสถานที่ที่กองกำลังทหารพม่าใช้โจมตีกองกำลังกะเหรี่ยงมาก่อน

 

ตั้งแต่ปี 1992  ทางเข้าออกของอำเภอพะปุนในเขตชายแดนไทย-พม่าอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) โดยอำเภอพะปุนมีพื้นที่ประมาณ 6,722.540 ตารางกม. แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เมืองใหญ่ๆ คือ ลูทอว ดเวโล และบูทอว ซึ่งเป็นชื่อของเทือกเขา 3 ลูกที่ทอดยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ของอำเภอพะปุน

 

อำเภอพะปุนเป็นเขตลุ่มน้ำสาละวินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าสักทองที่ให้สัมปทานมาตั้งแต่สมัยพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หญิงชาวกะเหรี่ยงวัย 90 ปี คนหนึ่งเล่าว่า "สมัยพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น พวกเขามาตัดไม้ในเขตพื้นที่ของพวกเรา แล้วปล่อยไม้ไหลไปตามแม่น้ำสาละวิน และคนไทยก็ทำเหมือนกันในฝั่งไทย"   นอกจากนี้ยังมีไผ่และกระวานในเขตนี้ด้วย

 

KNU ได้ออกกฎในการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เกี่ยวกับเรื่องการตัดไม้รอบๆหมู่บ้าน การเผาซากพืช เขตป้องกันไฟป่า การปลูกต้นสักและต้นไม้อื่นๆเพิ่มขึ้น การห้ามล่าสัตว์ การสงวนสัตว์หายาก และการห้ามล่าสัตว์ในฤดูผสมพันธุ์  แต่การเข้ามาของทหารพม่าทำให้ยากในการปฏิบัติตามกฎดังกล่าว และทหารพม่ายังทำลายป่าและสัตว์เพื่อไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนและแหล่งอาหารของชาวบ้าน

 

นอกจากนี้ KNU ยังได้สงวนป่าให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง คือ ดากวินติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และ เลกวอ ที่เมืองดเวโลทางทิศตะวันตกของเขตอำเภอพะปุน ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่า

 

ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกะเหรี่ยงเคารพคือ "ทีพอ กาคาซา" ที่ดูแลการจัดสรรที่ดินให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติสอดคล้องกับความต้องการใช้งาน เคารพธรรมชาติ โดยพื้นที่ป่าบางส่วนจะถูกจัดสรรเป็นป่าชุมชน

 

สิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญ

ก่อนหน้าปี 2535 ในรัฐกะเหรี่ยงมีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าเพียง 10 กองพัน แต่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 54 กองพัน ซึ่งในจำนวนนี้ 12 กองพัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน โครงการต่างๆของรัฐบาลพม่าทำให้ประชาชนท้องถิ่นถูกสังหาร หมู่บ้าน 210 แห่งถูกทำลายและชาวบ้านถูกบังคับให้ย้ายถิ่นไปยังแปลงอพยพ 31 แห่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆของชาวบ้านจะถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด

 

นอกจากนี้ชาวบ้านยังถูกบังคับใช้แรงงานและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ  ในปี  2535อำเภอพะปุนมีประชากรประมาณ 107,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง บางส่วนเป็นไทใหญ่และอื่นๆ  แต่ปัจจุบันประชากรเหล่านี้ถูกแบ่งเป็น 2  ส่วน ส่วนละ54,000 คน ร้อยละ 60 ของประชาชนเหล่านี้คือประมาณ 35,000 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ(IDP) ที่อาศัยอยู่ในป่า ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว ว่าจะถูกพบเจอ ทรมาน และเข่นฆ่า ส่วนที่เหลือได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยและพื้นที่อื่นๆในประเทศพม่า

 

ในอดีตหมู่บ้านบนภูเขาสูงทางทิศตะวันออกของอำเภอพะปุน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับจุดสร้างเขื่อนเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน 85 หมู่บ้าน ปัจจุบันเหลือเพียงหนึ่งในสี่ที่ยังมีประชากรอาศัยอยู่ ชุมชนส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกและค้าขายตามแม่น้ำสาละวินได้หลบหนีเข้ามาในเมืองไทย พื้นที่เกษตรกรรมซึ่งอุดมสมบูรณ์ตามหุบเขาจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมานานนับ 10 ปี

 

ชาวบ้านที่เหลือกว่า 5,000 คน ต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า และเผชิญกับภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรงและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ส่วนถนนไปยังพื้นที่สร้างเขื่อนถูกสร้างขึ้นโดยการบังคับใช้แรงงาน และมีการวางกับระเบิดตามแนวถนนด้วย การสร้างถนนนั้นเป็นงานหนักที่ชาวบ้านต้องแบกรับและยังต้องคอยเป็นเสมือนโล่คอยกวาดทุ่นระเบิดให้ทหารด้วย

 

เสียงเพรียกจากสาละวิน...

"การพัฒนา" เป็นเรื่องหลักของรัฐบาลทหารพม่าที่นำเสนอทุกครั้งที่มีการเซ็นสัญญาหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันุ์ต่างๆ และเป็นเรื่องหลักในการโฆษณาชวนเชื่อในการเข้าควบคุมประชาชน กระบวนการนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นในการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศ ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน(BAD)เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ของกองทัพรัฐบาลทหารพม่าเพื่อให้เป็นไปตามแผนในการเข้าถึงและควบคุมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์

 

พล.อ.หม่องเอ พูดไว้ว่า"การสร้างเป็นเรื่องพื้นฐานทั้งหมดของประเทศที่จะส่งเสริมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวได้"

 

ด้านพล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2545 ว่า "  การร่วมมือกันพัฒนาจะทำให้พื้นที่ชายแดนเปิดมากขึ้น และจะช่วยขจัดคนกลุ่มน้อยที่เลวๆ และสิ่งเลวๆที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวชายแดนทิ้งไปและทำให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น"

 

"ตอนนั้น มีกองพันทหารราบเบาที่ 48 ไคออง เข้ามาในหมู่บ้าน เรียกชาวบ้านและพูดว่ามาร่วมมือกับพวกเราเถอะ เพราะพวกเราจะสร้างเขื่อนที่เจ๊อะย๊ะ(เขื่อนสาละวินตนบน) แล้วพวกเราจะให้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าฟรี"

สัมภาษณ์ชาวบ้าน หมู่บ้านโฮ พุย เดอ กันยายน 2546

 

"พวกเราเขียนลงป้ายว่า พวกเราไม่ต้องการเขื่อน เป็นการปกป้องบ้านของพวกเรา และมีเจ้าหน้าที่ไทยคนหนึ่งเข้ามาและบอกให้พวกเราเอามันลง เขาบอกว่ามันไม่ดีแน่ถ้าทหารพม่ามาเจอ และผมก็ไม่อนุญาตให้พวกคุณหนีข้ามมาฝั่งไทยด้วย"

สัมภาษณ์นักกิจกรรมหญิงในท้องถิ่นจาก Salween Eyes มีนาคม 2547

 

"ฉันไม่ต้องการอะไรเลย ฉันแค่อยากมีชีวิตอยู่  อยากใช้ชีวิตอยู่ต่อไป อยากให้การสู้รบหยุดลงนั้น อยากให้ทหารพม่ากลับบ้านไปซะ ฉันจะได้อยู่อย่างสบายไม่ต้องวิตกกังวล"

สัมภาษณ์ชาวบ้าน หมู่บ้านโก เก มีนาคม 2547

 

..........................................

คนรวยมักจะสร้างเขื่อน

ทำให้น้ำท่วมไร่นา และคงอยู่ในผืนแผ่นดินของเราไม่ได้อีกต่อไป

คำพูดของบรรพบุรุษกะเหรี่ยง

 

*ถอดความบางส่วนจาก "Damming at Gunpoint" ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.salweenwatch.org

ขอบคุณเพื่อนที่ช่วยแปลโดยไม่ประสงค์จะออกนาม

 

 

 

ตอนจบ

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง( KNU) : เปิดแนวรบผู้พิทักษ์

 

ในประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า นักรบกะเหรี่ยงขึ้นชื่อว่าเป็นสัตรูหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลพม่า และขับเคี่ยวกันมายาวนานที่สุด....

 

...กองทัพกะเหรี่ยงกู้ชาติ หรือ KNU เป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าที่เข้มแข็งที่สุด

หลังมาเนอปลอร์แตกเมื่อปี 2538 กองกำลังกะเหรี่ยงแตกออกเป็นหลายกลุ่ม

อาทิ DKBA หรือกะเหรี่ยงพุทธ ซึ่งหันไปจับมือกับทหารพม่า

กลุ่ม God"s Army หรือกองทัพพระเจ้า นำโดยเด็กแฝด

และกลุ่มเด็กลิ้นดำ สองกลุ่มหลังมีฐานที่มั่นเดียวกันอยู่ที่ภูเขาเคอเซโด

 

ต้นเดือนตุลา ข้าพเจ้าได้สนทนากับนักรบวัยกลางคน พะโด่ หม่า ฉาน ลา เลขาธิการ KNU หนึ่งในระดับนำที่ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวสู่ภายนอก

 

นอกจากเป็นกลุ่มนักรบที่ยืดหยัดสู้รบอยู่อย่างแข่งแกร่งแล้ว  นักรบ KNU ที่เรียงรายอยู่ตลอดแนวชายแดนริมฝั่งสาละวิน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าไปใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการต่างๆ  ขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าเองก็ใช้โอกาสจากโครงการเหล่านั้นในการเข้าสู่พื้นที่และควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งเขื่อนสาละวินก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

จากเดิมที่เคยมีกำลังทหารมากสุดถึงกว่า 30,000 คน แต่หลังจากที่มีการแยกออกไปเป็นกลุ่มอื่นๆในช่วงปี 38 นั่นเอง ทำให้ปัจจุบัน KNU มีนักรบอยู่เพียง 10,000  กว่าคน และในส่วนชาวบ้านที่เข้าร่วมอีกราว 60,000 กว่าคน กระจายอยู่ตลอดแนวชายแดนตั้งแต่อำเภอพะปุน ฝั่งพม่า ตรงข้าม อ.แม่สะเรียงฝั่งไทย ไปจนถึง ตรงข้ามระนอง 

 

พะโด่ หม่า ฉาน ลา พูดถึงโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าซึ่งอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งพม่า ว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่ในฝั่งพม่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น การสร้างเขื่อนระหว่าง 2 ประเทศเขาคิดว่าต้องคำนึงถึงเรื่องนี้

 

"โครงการที่รัฐบาลไทยไปร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลทหารพม่าจะนำเงินที่ได้จากการสร้างเขื่อนไปใช้ซื้ออาวุธ กลับมาทำร้ายประชาชนเหมือนที่เคยทำ แทนที่จะนำเงินไปซื้อสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่เคยซื่อสัตย์ ...เขื่อนจะนำกองกำลังทหารมาเพิ่มในพื้นที่ ซึ่งเราบอกไม่ได้ว่าเขาจะไม่ทำร้ายประชาชน"พะโด่ หม่า ฉาน ลา  กล่าวย้ำ

 

สิ่งที่รัฐบาลไทยและคนไทยควรทำ พะโด่ หม่า ฉาน ลา เองมองว่าควรช่วยประชาชนพม่าโดยตรงมากกว่า การที่มีเงินลงทุนจำนวนมากเข้าไปในพม่า เช่น รัฐบาลไทยไปเปิดธนาคาร สร้างสนามบิน เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะมันเป็นการไปช่วยรัฐบาล  ช่วยการค้าขาย การช่วยประชาชนคือต้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ตอนนี้แหล่งเงินกู้หลายแห่งไม่ให้รับบาลพม่ากู้ การเข้ามาร่วมมือของรัฐบาลไทยจึงกลายเป็นตัวช่วยในเรื่องนี้

 

สิ่งที่ KNU ทำในกรณีเขื่อนสาละวินนั้น เนื่องจาก KNU มีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่จึงคอยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเก็บข้อมูลของ กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง(KRW) นอกจากนี้ในส่วนของ KNU เองก็มีการเก็บข้อมูลและติดตาม ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีการสร้างเขื่อน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก

 

พะโด่อหม่า ฉาน ลา บอกข้าพเจ้าว่าโครงการดังกล่าวเป็นการตกลงของรัฐบาล 2 ประเทศ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทได้ และขณะนี้เริ่มมีแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ไทยมาโดยตลอด เนื่องจากปัจจุบัน ระดับนำของ KNU ได้มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ฝั่งไทย

 

ความพยายามเจรจาหยุดยิงนั้น พะโด่ หม่า ฉาน ลา กล่าวว่า KNU พยายามไม่โต้ตอบ เสียงปืนที่ดังขึ้นเขายืนยันว่าไม่ได้มาจาก KNU ก่อนแน่นอน แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องสู้ด้วยอาวุธ ถ้าเขามาทำร้ายเรา เพราะรัฐบาลพม่ามีอาวุธ

 

"ถ้าคนงานเข้ามาในพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อน เราเองไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ เพราะมีการวางระเบิดไว้ตามแนวชายแดนจำนวนมาก ต่างฝ่ายต่างวาง เราก็รู้ในส่วนที่เราวางไว้เท่านั้น แต่ที่ไม่รู้มีอีกมาก"พะโด่ หม่า ฉาน ลา กล่าว

 

และความจริงข้อนี้เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลในพื้นที่สร้างเขื่อนสาละวินที่ชัดเจนในฟากฝั่งพม่าไม่ปรากฏ ความจริงที่ว่าการเข้าถึงนั้นยากลำบากและเต็มไปด้วยอันตรายในสถานการณ์ที่ยังคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม

 

ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 47 ที่มีความพยายามในการเจรจาหยุดยิง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เสียงปืนยังดังก้องตลอดลำน้ำสาละวินนับร้อยครั้ง และการยกเลิกการเจรจาครั้งล่าสุดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีพม่า จึงยิ่งทำให้สถานการณ์ระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและKNU ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง

 

เห่กล่อมนักรบนิรนามทุกเผ่าพันธุ์

ป่าวประกาศแก่สายลมอิสระว่า

แผ่นดินกำลังจะคืนสู่สันติ

ข้ารู้...วันหนึ่งข้าจะไม่แพ้

ข้าเห็น...วันหนึ่งข้าจะชนะ

.................................................

 

 

ข้อมูลประกอบ : นิตยสารสารคดี

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท