Skip to main content
sharethis









งานวิจัยปกากญอ วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้านปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก 50 หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินพรมแดนไทย-พม่า เขตอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวพรมแดนตั้งแต่ผาตั้งลงไปจนถึงสบเมย  โดยศึกษาข้อมูลฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกากญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


 


งานวิจัยปกากญอสาละวินได้นำเอาวิธีการวิจัยไทบ้านที่ดำเนินการที่ปากมูนมาปรับใช้ แต่ยังคงตั้งบนฐานงานวิจัยไทบ้าน นั่นก็คือ ชาวบ้านเป็นนักวิจัยโดยใช้ความรู้พื้นบ้านในการอธิบายข้อมูลด้านต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยประสานงานและช่วยจัดทำเอกสารในฐานะผู้ช่วยนักวิจัย


 


งานวิจัยปกากญอสาละวินได้ใช้วิธีการวิจัยผสมผสานกัน ทั้งการประชุมกลุ่มนักวิจัย การสำรวจภาคสนาม การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖-กันยายน ๒๕๔๗ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๒ ปี ๗ เดือน โดยใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาปกากญอสะกอ เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร


 


ผลการศึกษาพบว่าแม่น้ำสาละวินตลอดเส้นพรมแดน มีระบบนิเวศมากถึง ๑๘ ระบบ อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย และระบบนิเวศย่อยตามลำห้วยสาขาอีก ๑๕ ระบบ ซึ่งความหลากหลายซับซ้อนทั้งหมดนี้ เป็นทั้งบ้านของปลานานาชนิด และแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน


 


การศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวินและลำห้วยสาขาพบพันธุ์ปลา ๗๐ ชนิด โดยชาวบ้านใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน ๑๙ ชนิด ซึ่งสอดคล้องกันกับระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนและฤดูกาล เครื่องมือหาปลาบางชนิด มีไว้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะผู้หญิงมีความสามารถในการใช้เครื่องมือได้ดีกว่า


 


วิธีการหาปลาบางชนิดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และความเชื่อของคนต่อธรรมชาติ เช่น การตึกแค หรือกั้นแควของลำห้วยเพื่อจับปลา ชาวบ้านเชื่อว่าถ้ามีการกั้นแควลำห้วยเพื่อจับปลาแล้วไม่ปล่อยให้น้ำเป็นอิสระดังเดิม ต่อไปก็จะไม่มีปลากินอีก


 


การศึกษาในประเด็นเกษตรปกากญอ พบว่าชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในป่าสาละวินมีวิถีการเกษตรที่แตกต่างกันตามลักษณะภูมิประเทศ โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ


 


๑. เกษตรริมฝั่งน้ำสาละวิน ทุกปีเมื่อแม่น้ำสาละวินเริ่มลดระดับหลังฤดูฝนเกิดเป็นหาดทรายขาวยาวตลอดริมฝั่ง พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุที่พัดพามากับสายน้ำเหล่านี้ คือแปลงเกษตรของชาวบ้านริมฝั่งน้ำ โดยปลูกพืชต่างๆ กว่า ๓๐ ชนิด เช่น ถั่ว แตงโม ยาสูบ เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือนำไปแลกเปลี่ยนในชุมชน เกษตรริมน้ำสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชนริมฝั่งน้ำสาละวินตลอดฤดูแล้ง


 


๒. ไร่หมุนเวียน เป็นหัวใจของการผลิตของชุมชนสาละวิน ชาวบ้านทุกครอบครัวทำไร่บนดอยโดยหมุนเวียนไปประมาณ ๕-๘ ปี ในไร่ของชาวบ้านสาละวินมีพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองถึง ๕๒ ชนิด และพืชอาหารปลูกผสมกันไปอีกกว่า ๑๓๐ ชนิด


 


๓. การทำนา ชุมชนริมห้วยสาขาในป่าสาละวินจะทำนาบนที่ราบลุ่มริมฝั่งลำห้วย โดยมีการจัดการน้ำด้วยวิถีพื้นบ้านในระบบเหมืองฝาย เป็นการ "ขอยืมน้ำ" จากลำห้วยให้ไหลผ่านนาขั้นบันได หล่อเลี้ยงต้นข้าวและไหลกลับคืนสู่ลำห้วยดังเดิม ทุกปี ชาวบ้านที่ใช้ฝายจะร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีฝาย เพื่อขอบคุณสรรพสิ่งที่มอบความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา


 


ตลอดรอบปีของการเกษตรทั้งไร่หมุนเวียนและนา พบว่าชาวบ้านมีพิธีกรรมจัดขึ้นในทุกช่วง เพื่อขออนุญาตผืนดิน แม่น้ำ และป่า ในการทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัว พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่งและธรรมชาติ ซึ่งแนวคิดที่เคารพในธรรมชาติถูกปลูกฝังอยู่ในทุกชีวิตแห่งป่าสาละวิน


 


เนื่องจากพื้นที่ทำการศึกษาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงมีประเด็นการวิจัยเรื่องสัตว์ป่า เพื่อศึกษาถึงความรู้และความเชื่อของชุมชนในการรักษาป่าและสัตว์ป่า


 


โป่ง คือ แหล่งแร่ธาตุที่สัตว์ป่านานาชนิดลงมากิน ชาวบ้านจะไม่ไปซุ่มยิงสัตว์ป่าที่กำลังหากินบริเวณโป่ง เพราะเชื่อว่ามีเจ้าของดูแลปกป้อง ดังคำผู้เฒ่าพร่ำสอนลูกหลานให้จำสืบต่อๆ กันมาว่า "ทุกสิ่งล้วนมีเจ้าของ เรากินเราใช้ แค่พอเลี้ยงชีวิต ไม่ทำลาย เพื่อให้ลูกหลานได้มีกินสืบไป"


 


นอกจากนี้แต่ละชุมชนก็มีกฎเกณฑ์ในการห้ามล่าสัตว์บางชนิดอย่างชัดเจน มีการกำหนดโทษปรับ หลายหมู่บ้านมีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์ปลา และเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน


 


ป่าสาละวินอันอุดมสมบูรณ์มีพรรณพืชมากมายที่ชาวบ้านได้ใช้เป็นอาหานและยาสมุนไพรด้วยความรู้พื้นบ้าน โดยชาวบ้านสามารถเข้าถึงพืชสมุนไพร ๗๗ ชนิด พืชอาหาร ๓๙ ชนิด และพืชที่เป็นทั้งอาหารและสมุนไพร ๒๓ ชนิด พรรณพืชเหล่านี้คือความมั่นคงของชุมชนในผืนป่าสาละวิน


 


สังคมวัฒนธรรมของชาวปกากญอแห่งลุ่มน้ำสาละวิน ชุมชนในผืนป่าสาละวินเกี่ยวเนื่องถึงกันโดยเป็นเพื่อน เป็นเครือญาติ ไปมาหาสู่ช่วยเหลือกัน และร่วมในพิธีกรรมต่างๆ สร้างความแน่นแฟ้นระหว่างคนและชุมชนในลุ่มน้ำ การศึกษาพบว่าชุมชนสองฝั่งสาละวิน เชื่อมโยงกันโดยไม่มีพรมแดนของรัฐชาติเป็นอุปสรรค แม้ในหลายชุมชนจะไม่มีสถานะบุคคล ไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็ยังสัมพันธ์เหนียวแน่น และสืบทอดคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่า


 


"อ่อทีกะต่อที อ่อก่อกะต่อก่อ กินน้ำรักน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า"


 


สายธารแห่งวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ธรรมชาติของชาวปกากญอจึงยาวไกลเหมือนกับการไหลของแม่น้ำสาละวินนั่นเอง.


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net