ถนน 4 เลนจาก ครม. สัญจรตรัง ทิ้งรอยถกไม่จบ

       

ประชาไท—10 พ.ย. 2548   ถนน 4 เลนตามมติครม. สัญจรที่จังหวัดตรังเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2547 เริ่มส่งผล เมื่อชาวบ้านรวมตัวต้าน พร้อมระบุเหตุผลส่งผลกระทบชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม และไม่รับฟังความเห็นคนในท้องถิ่น กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ แต่ยังไม่มีแววจบง่าย ๆ ด้านนายช่างแขวงการทางปัดถ้าไม่ต้องการให้ไปคัดค้านกับคณะรัฐมนตรี

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการประชุมคณะทำงานพิจารณารายละเอียดโครงการถนนทางหลวงหมายเลข 4 ตอนต่อเขตเทศบาลนครตรัง - เขตเทศบาลตำบลห้วยยอด เป็นสี่ช่องจราจร มีนายสุรพล วิชัยดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการประชุม โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมรับฟังด้วย

 

โดยนายวิโชติ ไกรเทพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงต่อคณะทำงานว่า กลุ่มชาวบ้านออกมาคัดค้านโครงการนี้ เพราะการดำเนินโครงการขาดการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน และไม่แน่ใจว่าถนนสี่เลนเส้นนี้ เป็นความต้องการของชาวบ้านจริงหรือเปล่า เพราะการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านสองข้างทาง รัฐขยายถนนสายนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่สัญจรไปมา แต่ลืมคิดไปว่า คนที่อยู่สองข้างทาง จะอยู่กันอย่างไร  นอกจากนี้จะจัดการกับสภาพแวดล้อมเช่น ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ที่ปลูกเป็นป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติที่เคยได้รับรางวัล จะเอาไปไว้ที่ไหน

 

ทั้งนี้ นายวิโชติกล่าวว่า เรื่องทั้งหมด คงจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ ถ้าหากมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านตั้งแต่แรก

 

ด้านนายศุภศักดิ์ นุ่นสังข์ นายช่างแขวงการทางตรัง ชี้แจงว่า การปรับปรุงขยายถนนสายนี้ ได้เสนอของบประมาณและได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 เพื่อรองรับการจราจรที่มีมากขึ้นในอนาคต และส่งเสริมการท่องเที่ยว  ถึงแม้จะมีถนนทางหลวงเพชรเกษมที่ 419 ห้วยยอด - ตรัง ที่เปิดใช้ 4 ช่องจราจรแล้ว แต่ถนนสายดังกล่าว ใช้รองรับรถที่บรรทุกน้ำหนักมาก เพื่อขนส่งสินค้า แขวงการทางจะพยายามให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะใช้พื้นที่เฉพาะในเขตทางหลวงเท่านั้น

 

"โครงการนี้ ทางรัฐบาลนำความเจริญมาให้ท้องถิ่น ถ้าชาวบ้านไม่ต้องการให้ไปยื่นหนังสือคัดค้านกับคณะรัฐมนตรี" นายศุภศักดิ์ กล่าว

 

จากนั้น ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในที่สุดคณะทำงานฯ ได้นัดหมายจะไปประชุมร่วมกับชาวบ้าน ที่โรงเรียนบ้านน้ำพราย ในเวลา 14.00 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548  จากนั้นจะลงพื้นที่เพื่อดูเส้นทางก่อสร้างถนนร่วมกัน

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ได้ยื่นหนังสือขอให้ชะลอและทบทวนโครงการนี้ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยระบุว่า การขยายถนนทางหลวงหมายเลข 4 ตอนต่อเขตเทศบาลนครตรัง - เขตเทศบาลตำบลห้วยยอด เป็น 4 ช่องจราจร ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน ตามหลักการมีส่วนร่วมและการจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนสิทธิของบุคคลในการรับรู้ข้อมูลจากหน่วยราชการ ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์จากชุมชน จึงเป็นโครงการที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในหลักกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

 

นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการฯ ที่ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันมีถนนสี่เลน เส้นทางหลวงหมายเลข 419 ห้วยยอด - ตรังอยู่แล้ว และยังเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับกับแผนพัฒนาจังหวัดตรัง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

ต่อมา ทางกลุ่มชาวบ้านได้มีหนังสือติดตามผลตามข้อเรียกร้อง ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2548 ลงนามโดยนายวรพงษ์ ยอดแก้ว ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ

 

ผลจากการประชุมดังกล่าวทำให้ นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แต่งตั้งคณะทำงาน จำนวน 16 คนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดโครงการถนนทางหลวงหมายเลข 4 ตอนต่อเขตเทศบาลนครตรัง - เขตเทศบาลตำบลห้วยยอด เป็นสี่ช่องจราจร โดยมีนายสุรพล วิชัยดิษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน จำนวน 16 คน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 และแต่งตั้งเพิ่มเติมอีก 9 คน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 โดยคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ภาคประชาชน กรมทางหลวง และตัวแทนจังหวัด ร่วมตรวจสอบข้อมูล และข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาก่อสร้างถนนสายนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท