Skip to main content
sharethis



 


ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ทำให้โลกป่วยไปเรียบร้อย ร้ายกว่านั้น องค์การอนามัยโลกถึงกับคาดการณ์ว่า นี่เป็นแค่สัญญาณของการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัด ซึ่งมักจะเวียนกลับมาเป็นรอบๆ ในช่วงหลายสิบปี ในแต่ละครั้งก็คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้านคน และคาดด้วยว่า การระบาดของไข้หวัดนกครั้งนี้จะคร่าชีวิตผู้คนบนโลกใบนี้ไปไม่น้อยกว่า 1% หรืออย่างน้อย 60 ล้านคน หากไวรัสเกิดการกลายพันธุ์จนสามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอยู่ในระดับ "ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้"


      


60 คนที่เสียชีวิตจากไข้หวัดนกในเอเชียเมื่อปีที่แล้ว และสัญญาณเตือนจากองค์การอนามัยโลก กลายเป็นความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ของโลกเมื่อไวรัสตัวเล็กเสียยิ่งกว่าเล็กเดินทางเข้าสู่ยุโรป และข้ามฝั่งไปถึงทวีปอเมริกา เท่านั้นเอง ชื่อของยา "ทามิฟลู" ก็กลายเป็นชื่อทางการค้าที่คนทั่วโลกรู้จัก ทั้งๆ ที่ยาตัวนี้ควรจะเรียกชื่อมันอย่างกลางๆ ว่า "โอเซลทามิเวียร์"


      


ทามิฟลู เป็นยี่ห้อของยาที่ผลิตโดยบริษัทโรช สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ กระนั้นสรรพคุณของยาตัวนี้ก็ยังเป็นที่น่าสงสัย โดยเฉพาะมันน่าจะชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่ยาที่จะรักษาไข้หวัดนกโดยตรง อย่างมากก็เป็นเพียงการปราบไข้หวัดใหญ่ซึ่งมักจะเป็นอาการตั้งต้นของคนเป็นไข้หวัดนก


      


รายงานชิ้นหนึ่งของ "เว็บข่าวประชาไท" วันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา เผยแพร่บทความของ ดร.โจเซฟ เมอร์โคล่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทางเลือก ที่เผยถึงเส้นสนกลในที่มากับความตื่นกลัวไข้หวัดนกในสหรัฐอเมริกาว่า ยาทามิฟลู ที่เข้าใจกันว่าเป็นยาของบริษัทโรช สวิตเซอร์แลนด์ แต่ที่จริงแล้ว โรชไม่ได้ผลิตเอง แต่จ้างให้บริษัทกิลิแอดซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้พัฒนาและผลิตขึ้น


      


แล้วบริษัทกิลิแอดเป็นใคร คำตอบก็คือ เป็นบริษัทที่โดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งในปี 1987 และเป็นประธานบริษัทในปี 1997


      


ดร.เมอร์โคล่า ยังอ้างถึงบทความของ ดร.ไมเคิล โชสซูดอฟสกี้ จาก Global Research ที่ระบุถึงประธานาธิบดีบุชว่า ทำให้คนตระหนกด้วยการพูดถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่อาจทำให้มีคนเสียชีวิตเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 200,000 คน หรือเลวร้ายที่สุดอาจสูงถึง 2 ล้านคน จนกลายเป็นมูลเหตุของการจัดซื้อยาทามิฟลูจำนวน 80 ล้านชุดโดยทันที "ทั้งที่ยาทามิฟลูไม่ได้มีประโยชน์ในการรักษาไข้หวัดนกเท่าใดเลย เป็นแต่เพียงลดจำนวนวันที่ป่วย ซ้ำร้ายยังทำให้โอกาสการกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดได้มากขึ้นด้วยซ้ำ"


      


แต่ก็อย่างว่า ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน และไม่มียาอะไรที่พิสูจน์อย่างได้ผลว่าจะช่วยต้านไข้หวัดนก จึงไม่แปลกที่โลกทั้งใบนี้จะไม่เหลือทางเลือกอะไร นอกจากจะต้องคว้าและกักตุนยาชนิดนี้สำรองไว้ก่อน นั่นทำให้ ทามิฟลูมีราคาถีบตัวขึ้นถึง 4 เท่าจากราคาปกติ และยิ่งทำให้ประเทศที่ไม่ค่อยมีเงิน หรือมีเงินแต่ไม่มากพอที่จะเสี่ยงสำรองยาที่ไม่รู้จะใช้ได้ผลหรือเปล่าต้องอับจนหนทางเข้าไปอีก


      


แต่จริงหรือที่ไม่มีทางเลือก


      


ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่หาญกล้าละเมิดสิทธิบัตรยา ประกาศผลิตยาเยี่ยงเดียวกับทามิฟลูขึ้น โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากเจ้าของสิทธิบัตร เวียดนามเองก็ดูจะประกาศความพร้อมเช่นนี้ หรือแม้กระทั่งล่าสุดองค์การเภสัชกรรมของไทยก็ประกาศความพร้อมที่จะผลิตยาทามิฟลูรักษาไข้หวัดนกทันทีหากมีการระบาดใหญ่ โดยใช้สารตั้งต้นจากประเทศอินเดีย ซึ่งจะส่งผลให้มีราคาถูกกว่ายานำเข้าหลายเท่า คือตกราวเม็ดละ 70 บาท เทียบกับราคานำเข้า (ในยามปกติ) เม็ดละ 120 บาท ทว่าจำกัดการผลิตอยู่ที่ 1 ล้านเม็ดเพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ 100,000 คนเท่านั้น จะเพราะไม่แน่ใจในสรรพคุณรักษาไข้หวัดนก หรือเกรงใจเจ้าของสิทธิบัตรอันนี้ไม่ทราบ


      


น่าสนใจก็ตรงที่ อะไรทำให้อินเดียมีศักยภาพในการผลิตยาชนิดที่เทียบเคียงกับทามิฟลูได้ แล้วอะไรทำให้อินเดียถึงกับสามารถส่งออกวัตถุดิบยามาแข่งกับเจ้าของสิทธิบัตรได้ ทั้งๆ ที่หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ 13 ปี ในปี 2535 สมัยรัฐบาล รสช. ศักยภาพอุตสาหกรรมยาของไทยกับอินเดียอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันแท้ๆ


      


กล่าวอย่างรวบรัด คงไม่ใช่เพราะคนภารตะเก่งกว่าคนบ้านเรา เพียงแต่มีนักการเมืองและการเมืองที่ดีกว่าบ้านเรา อย่างน้อยในขณะที่เรายอมแก้กฎหมายสิทธิบัตรเปิดให้มีการผูกขาดผลิตภัณฑ์ยาตามข้อตกลงทริปส์ (TRIPs) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ผ่านการกดดันจากสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน อินเดียกลับเลือกที่จะยื้อเวลาตามช่องที่ WTO เปิดไว้อย่างเต็มที่ เหมือนกับที่ รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ในหลายครั้งว่า


      


"เราสนใจแค่ตัวเลขการส่งออก ทำให้เราเสียเวลาที่เป็น Golden Period ไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่อินเดียไม่ได้ทำเช่นที่สหรัฐบังคับ อินเดียสามารถใช้ช่วงเวลาดังกล่าวที่ไทยคุ้มครองสิทธิบัตรล้ำหน้าไป 8-9 ปี รวมกับอีก 5 ปีที่ WTO ได้ขยายเวลาการเตรียมการเพื่อแก้ไขออกไป ทำให้ขณะนี้ อินเดียมีการพัฒนอุตสาหกรรมยามาอยู่ในระดับแนวหน้าถึงขึ้นที่สามารถวิจัยยาใหม่ได้แล้ว ทั้งที่เมื่อปี 2535 อุตสาหกรรมยาทั้งสองประเทศมีศักยภาพทัดเทียมกัน" (สิทธิบัตรยา "สิทธิ" การกีดกันคนจนไม่ให้เข้าถึงยา : ประสบการณ์จากต่างประเทศ)


      


การหยิบยกความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต คงจะมีค่าแค่การกร่นด่านักการเมืองในอดีตของบ้านเราเท่านั้น ซึ่งว่าไปแล้วคงไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากเราไม่คิดจะนำมาเป็นบทเรียน มิให้เราต้องผิดพลาดซ้ำอีก โดยเฉพาะเมื่อภัยคุกคามต่อระบบสุขภาพไทยกำลังเยือนกรายมาถึงหน้าในเวลานี้ อันเนื่องมาจากการกดดันรอบใหม่ ผ่านการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อแน่ว่า ความพยายามที่จะจำกัดแม้กระทั่งสิทธิในการผลิตยายามเผชิญกับภัยคุกคาม อย่างที่ไต้หวัน เวียดนาม และไทยกำลังทำกับยาทามิฟลูในเวลานี้ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป


      


นั่นหมายความว่า บางทีประเทศไทยอาจจะต้องกล้าหาญที่จะใช้มาตรการ "บังคับใช้สิทธิ" ตามข้อตกลงทริปส์ โดยลืมข้ออ้างเรื่องบรรยากาศการลงทุนไปชั่วคราว อย่างน้อยก็ต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็น เพื่อนำไปใช้ต่อรองในเวทีเจรจาสองต่อสองกับสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้น


      


ไม่เช่นนั้น ถ้าสิทธิที่จะเข้าถึงปัจจัยสี่ ยังรักษาไว้ไม่ได้ อธิปไตยก็ไม่มีความหมาย


      


และใครจะรู้ว่า 1% ของประชากรโลกที่จะล้มตายจะอยู่ในบ้านเราสักเท่าไร และเราจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่า ไข้หวัดนกอย่างมากก็ทำลายสุขภาพ แต่ข้อตกลงการค้าเสรีที่ผิดพลาดนั้นอาจจะทำลายถึง "ระบบ"


 


....................................................


ที่มา : ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 8 พฤศจิกายน 2548 คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net