Skip to main content
sharethis



 


หากกล่าวถึง "เชือง เอก" ถ้าไม่ใช่ชาวกัมพูชาอาจจะไม่คุ้นนักว่า หมายถึงอะไร แต่ถ้าพูดถึง "Killing Field" หรือ "ทุ่งสังหาร" เข้าใจว่าคนเกือบทั่วโลกคงได้ยิน....สถานที่ซึ่งชาวเขมรจะต้องจารึกเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดไม่รู้คลาย....สถานที่ซึ่งมีการสังหารคนมากที่สุดในระหว่างการปกครองของฝ่ายเขมรแดงในช่วงปี 1975-1979


 


นักโทษประหารเหล่านั้นถูกฝ่ายเขมรแดงนำตัวมาจากคุกตุล สเลง  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวกรุงพนมเปญประมาณ 15 กิโลเมตรมาที่นี่ซึ่งบัดนี้ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก นอกจากพื้นดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อ และที่หอแก้วที่ตั้งอยู่ด้านหน้าบรรจุไว้ด้วยหัวกะโหลกจำนวนกว่า 8,000 หัว  


 


นี่คือทุ่งสังหารที่น่าหวาดเกรงที่สุดในบรรดาทุ่งสังหารกว่า 100 แห่งในกัมพูชา ทุกวันนี้ เชือง เอก ได้เปลี่ยนบทบาทเป็นสถานที่แห่งการรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตไปกว่า 1.7 ล้านคนจากการปกครองอันเหี้ยมโหดของระบอบพอลพตในอดีต


 


แต่แล้วชาวกัมพูชาจำนวนมากก็ต้องตกใจเมื่อได้รู้ว่า รัฐบาลของพวกเขาทำสัญญากับบริษัทญี่ปุ่นให้เช่า เชือกเอก ไปเสียแล้ว โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อให้สามารถเอาไปทำผลประโยชน์ได้"


 


 "เอาความทรงจำมาทำการค้า" ยุค ชาง ผู้อำนวยการการจัดเก็บวัสดุ เรื่องราวของเขมรแดงกล่าวพร้อมยืนยันว่า "ความทรงจำจะเอามาขายไม่ได้ ความทรงจำเอามาทำสัญญาธุรกิจไม่ได้"…..กระนั้นก็ตาม การตกลงทางธุรกิจให้เช่าทุ่งสังหารแห่งประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับบริษัทญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


 


บรรยากาศการซื้อ-ขาย ที่ดินทำเลดี และอสังหาริมทรัพย์ของรัฐในกัมพูชาขณะนี้กำลังร้อนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย ศาล โรงพยาบาล สถานีตำรวจ อาคารที่ทำการรัฐมนตรี ก็กำลังนำมาขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นราวกับว่ากัมพูชากำลังล้มละลาย ราคาที่ดินในกรุงปัจจุบันนี้ มีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว


 


นี่ถือเป็นคลื่นลูกล่าสุดในการคอร์รัปชั่นที่มาพร้อมๆ กับภาวะไร้กฎหมายและการอภัยโทษที่ผุดขึ้นในดินแดนแห่งนี้หลังจากยุคเขมรแดง


 


ที่นี่กลายเป็นดินแดนที่ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็เอามาขาย หรือให้เช่าได้ มีทั้ง การสัมปทาน ป่าไม้ การประมง เหมืองแร่ เส้นทางการบิน การขึ้นทะเบียนเรือ ขยะมีพิษ อาวุธ ผู้หญิง เด็กหญิง เด็กชาย เด็กทารก


 


"ดูเหมือนว่ามีความบ้าคลั่งบางอย่าง ที่เป็นแรงผลักให้คว้าอะไรได้ก็คว้าเอาไว้ก่อน" มิลูน โคธารี ผู้ตรวจการพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านที่อยู่อาศัย กล่าวระหว่างไปเยือนกัมพูชาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม " การตัดสินใจดูเหมือนตกอยู่ใต้อำนาจเงินและความฉุกเฉินทางการเมือง"


 


การซื้อขายที่โดดเด่นมากๆ ที่เพิ่งมีการตกลงกันไปก็คือที่ดินในย่านทำเลทองกับบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่ง ในการแลกเปลี่ยนนี้ ผู้พัฒนาที่ดินสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างทดแทนให้ในพื้นที่ชายเมืองที่ที่ดินราคาถูกกว่านี้ แต่รายละเอียดส่วนใหญ่ยังคงเป็นความลับ


 


มหาวิทยาลัยศิลปะ ถูกขายไป แลกกับการก่อสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่รกร้างนอกเมืองไปไกล สำนักงานใหญ่ของตำรวจนครบาลก็ถูกขายออกไป เพื่อแลกกับการมีอาคารใหม่แถวชานเมือง


 


หนังสือพิมพ์ แคมโบเดีย เดลี่ รายงานว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง ได้สิทธิในการครอบครอง อาคารของกระทรวงยุติธรรม ศาลฏีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลจังหวัดพนมเปญ  แลกกับการสร้างอาคารให้ใหม่ที่ชานเมือง


 


"รัฐบาลขาย โรงเรียน โรงพยาบาล และตอนนี้ก็ทะเลสาบ" เค้ก กาลาบรู  หัวหน้าองค์กร LICADHO  (หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของกัมพูชา)  กล่าว "วันหนึ่งเขาคงจะขายแม่น้ำโขง แล้วก็ขายพนมเปญทั้งหมด"


 


สำหรับ เชือง เอก นั้นรัฐบาลให้บริษัทญี่ปุ่นชื่อ เจซี รอยัล ( JC Royal Co.)เช่า เป็นเวลา 30 ปี โดยเริ่มต้นที่ปีละ 15,000 เหรียญ ( 6 แสนบาท) และค่อยๆขึ้นราคาทีละน้อย


 


ตัวเลขจากการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้ดูแล เชือง เอก บอกว่า บริษัทดังกล่าวมีโอกาสทำรายได้ถึงเดือนละ 18,000 เหรียญ จากค่าเข้าชม กำไรที่ได้จะนำเข้ากองทุนและอีกครึ่งหนึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชา อย่างไรก็ตามบริษัทตกลงที่จะทำความสะอาดและรับผิดชอบในการจัดการพื้นที่ของทุ่งสังหารแห่งนี้ด้วย  


 


--------------------------------------------------------


เรียบเรียงจาก  the Seattle Times.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net