Skip to main content
sharethis

 


....


ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ


ส.ว.นครราชสีมา ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ


ในเวทีรับฟังข้อมูลร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐสภา 11 พฤศจิกายน 2548


 


.......................


 


ผมเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปีแรกจนปีนี้เข้าปีที่หก เราเห็นกระบวนการที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนมากขึ้น และลิดรอนวิธีการตรวจสอบมากมาย ประเด็นแรกที่เห็นก็คือ องค์กรเกือบทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญหรืออะไรก็ตาม ขณะนี้ถูกสลายและกลายไปเป็นองค์กรที่เข้าข้างอำนาจที่บางทีไม่มีความชอบธรรม


 


ประเทศไทยผ่านกระบวนการปฏิวัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 เพื่อที่จะลิดรอนอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นๆ อาจจะมีบางช่วงที่กลายไปเป็นเผด็จการทหาร อย่างไรก็ตามมาจนถึงทุกวันนี้ การต่อสู้ที่ยาวนาน เราได้ประชาธิปไตยเต็มใบแล้วในรูปแบบของกฎหมายที่เราเห็นในรัฐธรรมนูญ


 


แต่ปัญหาก็คือ อำนาจที่ให้กับคน 60 กว่าล้านคนกลายเป็นอุปสรรคของคนกระจุกเดียว จำนวนไม่กี่ร้อยคนที่อยากจะทำธุรกิจให้มันสะดวกขึ้น เพราะที่ผ่านมาว่าเราได้สร้างกฎหมายที่ปกป้องตัวเราเองเยอะมาก กฎหมายที่ดินก็ดี กฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ดี กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งต่างๆ นานา เป็นกฎหมายที่ประชาชนเริ่มที่จะเรียนรู้แล้วก็เอามาใช้ และมันคงจะมากไปสำหรับเขา เขาก็เลยออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษมาเพื่อลิดรอนทั้งหมด คือไม่ต้องมีสิทธิเหล่านั้นแล้ว


 


สิทธิของพวกเขาประกาศที่ไหนก็ได้ กฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อไหร่ ก็คือการรัฐประหาร แล้วจะเพิ่มพูนอำนาจทางการเมืองที่จะมาจากอำนาจทางการเงิน สำหรับอำนาจทางการเงินในสังคมที่ยังด้อยพัฒนาอย่างในจังหวัดของผม (นครราชสีมา) ยังไปเลือกไทยรักไทยกันอยู่เลย ทั้งที่มีนโยบายที่บั่นทอนเกือบทุกอย่าง ทั้งบั่นทอนราคา บั่นทอนสิทธิของเขา ก็ยังไปเลือกอยู่ ซึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร


 


ทุกครั้งในประวัติศาสตร์จะมีคนประเภทอย่างนี้ยังอยู่ในสังคม คนอย่างฮิตเลอร์มันจึงสามารถที่จะเดินเข้าไปได้ในรัฐสภาแล้วยึดไปเลย ออกกฎหมายอย่างนี้บางทีไม่ต้องมีรัฐสภา เพราะว่าให้อำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว เหมือนกับหวนกลับไปสมัยศักดินา ถ้าอ่านวิทยานิพนธ์ของอานันท์ กาญจนพันธ์ เรื่องเกี่ยวกับยุคศักดินา ที่บอกว่าเมื่อศตวรรษที่แล้ว ขี่ช้างไปที่ไหน เหยียบไปที่ไหน เจ้าหน้าที่ 2-3  คนจดเอาไว้ บอกว่าท่านมาเหยียบตรงนี้แล้ว ตรงนี้เป็นของท่านไปแล้ว คล้ายกันเลย


 


วันนี้เรามาพูดกันว่า จะต่อต้านกันอย่างไร วันนี้เป็นวันแรกที่ประกาศศึก ว่าเราจะรวมนักการเมืองส่วนหนึ่ง นักวิชาการส่วนหนึ่ง ผู้แทนส่วนหนึ่ง ผู้แทนประชาชน ตัวแทนประชาชนทั้งที่ได้จากการเลือกตั้ง และที่อยู่ข้างๆ ประชาชนในด้านทางปรัชญา


 


อุทยานแห่งชาติเป็นของเขา ทำทุกอย่างได้หมดแล้ว ตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ น้ำตกเอาไปทำเป็นกาสิโนก็ได้ แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดก็คือว่า คนที่จะโหวตให้คะแนนกฎหมายฉบับนี้เขามีจรรยาบรรณหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าเรื่องคุณหญิงจารุวรรณ เทณฑกาเสียอีก เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพวกเราในที่นี้ ต้องทำให้ผู้รับผิดชอบเป็นตัวแทนของประชาชน ในรัฐสภา ต้องรับผิดชอบจริงๆ และต้องเห็นพ้องด้วยกัน


 


ผมไม่เคยเข้าไปร่วมสัมมนาที่ไหนที่ด่าว่ากฎหมายหนักถึงขนาดนี้ หลายคนถึงกับบอกว่าให้โยนมันทิ้งทั้งฉบับ เพราะมันไม่มีจุดแก้แล้ว ผมจึงไม่คิดว่าในทางยุทธศาสตร์ เราจะเป็นเสียงส่วนน้อยอย่างแน่นอน


 


แต่ที่เราเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่ปัจจุบันนี้ เพราะว่าเราไม่สามารถเผยแพร่แนวการวิเคราะห์ วิธีคิดให้ลึกซึ้งได้เลยว่า ถ้ากฎหมายออกมาเสร็จแน่ๆ จากวันนี้ไป เรามีตัวแทนตั้งแต่ปักษ์ใต้ ไปจนถึงภาคอีสานหลายแห่ง จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องอธิบายให้ประชาชนฟัง มันมีทางเดียวในระยะสั้นเราทำได้แค่นี้ เพราะว่าหากมันออกมาเป็นกฎหมายมันจะไม่มีทางเลือกให้กับประชาชน เราต้องออกมาแสดงกำลังกัน แต่ก่อนแสดงกำลัง เราต้องให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน เพราะว่าอธิปไตยเค้าโดนลิดรอนแน่นอนจากกฎหมายที่ออกมา


 


หวังว่าโอกาสต่อไป เวทีแบบนี้จะย้ายไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อที่จะอธิบายให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถที่จะมีส่วนร่วมแล้วเข้าใจได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net