Skip to main content
sharethis


ผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤศจิกายน 2548 17:29 น. เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวในเวทีแถลงข่าวของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมักจะจัดให้มีขึ้นทุกวันอาทิตย์ว่า จากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ต่อการแปรรูป กฟผ.จากกลุ่มตัวอย่าง 895 คน โดยเป็นข้าราชการของรัฐและพนักงาน 329 คน โดยพบว่า 57.1% ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 40% ไม่เชื่อว่าหลังแปรรูป กฟผ.จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น 66.7% ไม่เชื่อว่าการกระจายหุ้นจะตกอยู่ในมือประชาชนอย่างทั่วถึง 59.6% ไม่เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม 55.7% เชื่อเป็นการขายสมบัติของชาติ ซึ่งโพลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความกังขาในการแปรรูปของ กฟผ.

      


นายเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมถึงวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์อื่นหรือไม่ เพราะ กฟผ.เป็นกิจการขนาดใหญ่มีสายส่งทั่วประเทศ ซึ่งมีโครงข่ายควบคุมมากที่สุดกว่าโครงข่ายอื่น ไม่ว่า กสท โครงข่ายโทรศัพท์อื่น ซึ่งสายส่งไฟฟ้าได้มาจากการลงทุนโดยภาษีของประชาชน โดยการเวนคืนการลิดรอนสิทธิ ซึ่งได้รับเงินชดเชยเพียง 25% ดังนั้น การแปรรูป กฟผ.ซึ่งรวมถึงสายส่งด้วยเป็นเหตุให้บริษัทกิจการโทรคมนาคมบางบริษัทต้องการใช้ประโยชน์จากสายส่งเพื่อเพิ่มกำไรเป็นทวีคูณ และเป็นเทคโนโลยีในอนาคตโดยระบบการส่งผ่านข้อมูลใยแก้วนำแสงที่สามารถส่งผ่านข้อมูลโดยระบบดิจิตอล และสามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถพัฒนาไปถึงขั้นส่งข้อมูลผ่านสายไฟฟ้า หรือเรียกว่า Broadband over power lines (BPL)


      


นายเกียรติ กล่าวว่า การลงทุนดำเนินกิจการดังกล่าวหากต้องพัฒนาสายส่งทั่วประเทศจะต้องลงทุนมหาศาลไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่กรณี กฟผ.ได้ตั้งบริษัทลูกชื่อ กฟผ.โทรคมนาคม หรือ Egat Telecom เพื่อนำเครือข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงดำเนินการติดตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนแปรรูปเพื่อให้เอกชนเช่าข้อมูลสื่อสาร ซึ่งมีช่องสัญญาณขนาด 155 ล้าน bps เชื่อมต่อไปยังภาคเหนือ อีสาน และได้เร่งส่งสัญญาณไปยังภาคใต้ และภาคตะวันออกให้เสร็จก่อนการกระจายหุ้น ทั้งๆ ที่ระบบสายส่งเป็นตัวถ่วงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าไม่ถึง 1 ใน 10 แต่การที่ กฟผ.มีสายส่งทั่วประเทศจึงเป็นไปได้ว่าจะมีธุรกิจด้านโทรคมนาคมมาเกี่ยวข้องด้วยโดยไม่ต้องลงทุนสูง


      


"เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดด้านโทรคมนาคมของไทยได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่อีก 3 บริษัท คือ บริษัทที่ลงท้ายด้วยไวร์เลส คอมมิวนิเคชัน เน็ตเวิร์ก จำกัด บริษัทที่ลงท้ายด้วยไวร์เน็ตเวิร์ก จำกัด และบริษัทที่ลงท้ายด้วยอินเตอร์เนชันแนล เน็ตเวิร์ก จำกัด ซึ่งหลายคนเริ่มสงสัยว่า ทำไมมันจะประจวบเหมาะคล้องจองกันเช่นนี้ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแต่งตัวรอ เพื่อตักตวงผลประโยชน์จาก กฟผ.ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านโทรคมนาคมต้องการเข้าไปใช้สายส่งของ กฟผ.ที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ ดังนั้น กฟผ.และผู้บริหารในบริษัทโทรคมนาคมต้องออกมาชี้แจงข้อมูลทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเข้าข่ายต้องการฮุบกิจการและมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนเกิดขึ้น" นายเกียรติ กล่าว


      


นายเกียรติ กล่าวว่า พรรคอยากถามไปยัง กฟผ.ว่า กฟผ.มีอำนาจในการเดินสายใยแก้วนำแสงคู่กับสายส่งไปทั่วประเทศหรือไม่ และการดำเนินธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงเพื่อการสื่อสารข้อมูลนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะหากระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสงถูกควบคุมโดยเอกชนเพียงรายเดียว ระบบสื่อสารโทรคมนาคมทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตทั้งหมดจะถูกควบคุมโดยบริษัทเดียว เพื่อคนเพียงคนเดียว แล้วเวลานั้นคนไทยจะเหลืออะไร ประชาธิปไตยของคนจะเป็นอย่างไร เพราะคำตอบสุดท้ายของการแปรรูปของกฟผ.คือ ผลประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคมหรือไม่


 


.............................................................................


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000157128

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net