Skip to main content
sharethis


สืบเนื่องจาก การจัดอันดับเสรีภาพของสื่อไทยโดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporter sans frontieres-RSF) ในปารีส จัดอันดับให้ปี 2005 ไทยหล่นไปอยู่ที่อันดับ 107 (ในปี 2004 อยู่อันดับ 59) จนเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจของนายกรัฐมนตรีไทยในเวลาต่อมา และทำให้องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนต้องส่งหมายอย่างเป็นทางการถึงนายกรัฐมนตรีไทย ยืนยันการจัดอันดับดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 


คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ


(Unofficial Translation)


 


 


                                                                                   7 พฤศจิกายน 2548


 


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี


 


เมื่อไม่นานมานี้ นักข่าวได้เรียนถามท่านนายกฯ เกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนไทยที่ถดถอยลงตามรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2548 ที่เผยแพร่โดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ซึ่ง ฯพณฯ ได้กล่าวตอบว่าในทัศนะของท่านนั้น "นักข่าวไทยมีเสรีภาพมากที่สุดในการทำงานแล้ว" และ ฯพณฯ ยังได้กล่าวเสริมว่า ฯพณฯ ยินดีที่จะพาองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนเยี่ยมชมสำนักงานของหนังสือพิมพ์ต่างๆเพื่อที่ทางองค์กรของเราจะได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่านักข่าวไทยมีเสรีภาพอย่างแท้จริงในการทำงาน


 


ทางเราใคร่ขอขอบพระคุณ ฯพณฯ ในคำเชิญดังกล่าวซึ่งคงจะทำให้เราได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง ฯพณฯ กับหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทางองค์กรของเราใคร่ที่จะสอบถามนักข่าว บรรณาธิการและนักรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชนด้วยตัวของเรา อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าทางเราจะรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้เข้าพบ ฯพณฯ เพื่อเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ขององค์กรของเราต่อ ฯพณฯ โดยตรงรวมทั้งข้อเสนอของเราในการที่จะประกันว่าสื่อมวลชนในประเทศไทยมีเสรีภาพจริง


 


เราเชื่อว่าในขณะนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ จะมีมาตรการต่างๆเพื่อให้อันดับของประเทศไทยในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกสำหรับปี 2549 กระเตื้องดีขึ้น มาตรการเหล่านี้คือ


 


1. ถอนคดีหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและทางแพ่งใดๆทั้งปวงที่ทนายของ ฯพณฯ หรือบุคคลในรัฐบาลหรือครอบครัวของฯพณฯ หรือที่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อันเป็นบริษัทที่บุคคลที่มีความใกล้ชิดกับท่านเป็นเจ้าของได้ฟ้องนักหนังสือพิมพ์และนักรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่ผู้บริหารประเทศระดับสูงและบุคคลที่ใกล้ชิดจะฟ้องคดีนักหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดเช่นนี้


 


2. ยกเลิกโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ประเทศต่างๆหลายประเทศ เช่น ศรีลังกาและกานาต่างได้ยกเลิกโทษอาญาสำหรับการหมิ่นประมาทแล้ว ทั้งนี้ก็ไม่พบว่าคุณภาพของสื่อมวลชนในประเทศเหล่านี้ได้ตกต่ำลงแต่อย่างไร


 


3. ให้หลักประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างไม่มีการเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและอย่างถ้วนถี่สำหรับการเสียชีวิตของนายสันติ ลำมณีนิลบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่นพัทยาโพสต์ และเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และของหนังสือพิมพ์ข่าวสดและคม ชัด ลึกอีกด้วย และการเสียชีวิตของนายพงษ์เกียรติ แซ่ตั้งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายปักษ์หาดใหญ่โพสต์ สำหรับผู้บงการและผู้กระทำการพยายามฆ่านายมานพ รัตนจรุงพรของหนังสือพิมพ์มติชนก็ควรต้องได้รับการลงโทษด้วยเร็ว


 


4. ถอนคำฟ้องใดๆทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องผู้ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนและวิทยุเชิงพาณิชย์อื่นๆ และอนุญาตให้สถานีวิทยุเหล่านี้ออกอากาศกระจายเสียงต่อไปโดยในขณะเดียวกันก็ควรหาทางแก้ไขที่แน่ชัดในการจัดสรรคลื่นวิทยุ


 


5. ยุติการกดดันเจ้าของสื่อที่เสนอรายการข่าวสารทั้งในด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการเลิกจ้างนักจัดรายการหรือนักข่าวหรือให้มีการถอนรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับรายการ "เมืองไทยวันนี้" ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9


 


6. ให้หลักประกันว่าเงินงบประมาณค่าโฆษณาของหน่วยงานของรัฐสำหรับรายการข่าวสารต่างๆจะได้รับการจัดสรรอย่างยุติธรรมและโปร่งใสอย่างแท้จริง


 


สำหรับดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนที่เผยแพร่โดยองค์กรนักข่างไร้พรมแดนซึ่ง ฯพณฯ ได้ตั้งข้อสงสัยต่อสาธารณะนั้น เป็นมาตรวัดสถานภาพเสรีภาพสื่อมวลชนของประเทศต่างๆทั่วโลก ดัชนีนี้สะท้อนถึงระดับของเสรีภาพที่นักข่าวและองค์กรข่าวต่างๆได้รับในแต่ละประเทศและความพยายามของรัฐบาลในประเทศนั้นๆที่จะเคารพและจัดให้มีหลักประกันว่าจะมีการเคารพเสรีภาพนี้


 


แน่นอนว่าองค์กรของเราตระหนักว่ามิใช่แต่ว่ารัฐบาลซึ่งนำโดย ฯพณฯ และบุคคลที่ใกล้ชิดกับ ฯพณฯ จะสามารถข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนได้เท่านั้น ดัชนีซึ่งองค์กรของเราจัดทำขึ้นมิได้สะท้อนแต่เพียงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาลเท่านั้น แต่หากยังสะท้อนถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของกลุ่มติดอาวุธ องค์กรลับและกลุ่มกดดันต่างๆด้วย สำหรับประเทศไทยนั้น เครือข่ายอาชญากร นักการเมืองท้องถิ่นที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงและกลุ่มติดอาวุธมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสื่อมถอยของสถานการณ์สำหรับนักข่าวด้วย


 


เรายืนหยัดว่าการจัดอันดับระดับเสรีภาพสื่อมวลชนโลกนี้ซึ่งอันดับของประเทศไทยได้ตกจากอันดับที่ 59 ในปี2547 มาอยู่อันดับที่ 107 ในปี 2548 นี้มีพื้นฐานจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นจริงมิใช่มาจากการตีความตามความเข้าใจของเราเอง


 


เราใคร่ขอชี้แจงต่อ ฯพณฯ ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่สำหรับสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย รวมถึงการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่ผ่านมาเพื่อจัดทำเป็นรายงาน องค์กรของเราจะมอบสำเนารายงานนี้แด่ ฯพณฯ เพื่อที่ ฯพณฯ อาจจะมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการประเมินสถานการณ์ของเรา


 


ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทยสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้โดยมาตรการที่ไม่ยากลำบาก และ ฯพณฯ มีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งการเสื่อมถอยอย่างมากของเสรีภาพสื่อมวลชนนี้ โปรดกรุณาอย่าละโอกาสนี้ที่จะทำให้ประเทศของ ฯพณฯ อยู่ในแนวหน้าของการรณรงค์เพื่อการมีประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ซึ่งก็มีปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนมากเพียงพออยู่แล้ว


 


 


      ด้วยความเคารพ


 


 


      (นายโรแบร์ เมนาร์)


เลขาธิการนักข่าวไร้พรมแดน


       กรุงปารีส ฝรั่งเศส


 


 


            ล่าสุด หรือเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2548 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนท่าที และจุดยืนดังกล่าวขององค์กรนักข่าวไร้พรหมแดน และเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรตอบจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังองค์กรดังกล่าว และหยุดยั้งพฤติกรรมในการคุกคาม แทรกแซงสื่อ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะผลเสียนั้นเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งต่อการทำงานของสื่อ ผลกระทบต่อประชาชน ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและสังคมไทยที่จะเข้าสู่ยุคเผด็จการมากขึ้นทุกขณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net