Skip to main content
sharethis


 


 


 "ถ้าเลือกได้  เราก็อยากเดินในป่า เดินในเมืองมันร้อน แล้วก็มีแต่ควันพิษ"  ปินี  มูแก้ว  หนึ่งในผู้หญิงร่วมขบวนธรรมชาติยาตราที่ตัดสินใจออกจากบ้านมาเข้าร่วมขบวนธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชนของคนทั้งประเทศ     


 


ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของปินีที่ออกจากบ้านมาสื่อสารกับคนในเมืองถึงวิถีชีวิตคนบ้านป่า   ในห้วงเวลา 10 กว่าปีมานี้เธอเคยเดินทางไกลไปถึงกรุงเทพฯมาแล้วหลายต่อหลายครั้งเพื่อร่วมชุมนุมกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ  (คกน.)    เครือข่ายป่าชุมชน  สมัชชาคนจนเพื่อร่วมเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชน  และการแก้ไขปัญหาของคนที่อยู่กับป่าแต่ถูกละเมิดสิทธิจากภาครัฐ  แม้ว่าเธอจะไม่ชอบการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองก็ตามที  หากนับรวมระยะทางที่เธอเดินทางไกลก็ร่วมพัน ร่วมหมื่นกิโลเมตรแล้ว  


 


แต่การเดินทางบนทางสายนี้ไม่เคยสิ้นสุด   เธอเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ดี  การเดินทางของเธอจึงเริ่มต้นครั้งแล้วครั้งเล่า  ไม่ว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นเช่นไร  เธอก็เลือกที่จะเดินทาง  โดยมีความหวังเล็ก ๆ ว่าจะเห็นอะไรดีขึ้นบ้าง


 


 


เธอบอกถึงเจตจำนงค์ในครั้งนี้ว่า เพื่อภาวนาให้กฎหมายป่าชุมชนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ไม่ให้บิดเบือนไปจากกฎหมายที่ประชาชนเคยยื่นเสนอต่อรัฐสภา  และระหว่างทางจะได้ทำความเข้าใจกับผู้คนสองข้างทางเกี่ยวกับป่าชุมชนไปพร้อม ๆ กันด้วย 


 


ธรรมะ และธรรมชาติ


 


ขบวนเดินเพื่อป่าชุมชนคนทั้งประเทศออกเดินทางจากต้นน้ำปิง อ.เชียงดาว  โดยใช้ชื่อขบวนครั้งนี้ว่า "ธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชนคนทั้งประเทศ"  เริ่มเดินเท้าตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. เป็นต้นมา  ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนเมื่อปี  2544 ด้วยเสียงโหวตท่วมท้นถึง  341 เสียง


 


ผู้สมัครใจร่วมเดินธรรมชาติยาตรา  คือผู้ที่เคยเข้าชื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน  เป็นผู้ที่ดูแลจัดการป่าชุมชนอยู่ตามสายน้ำต่าง ๆ   หรือบางคนไม่เคยร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน  แต่ต้องการร่วมขบวนเพราะต้องการสนับสนุนป่าชุมชนก็มาร่วมเดินด้วย


 


สำหรับคนในเมืองที่เห็นขบวนธรรมชาติยาตราผ่านหน้าบ้านตัวเอง  อาจจะคิดอย่างที่ปินีบอกว่า "มาเดินทำไมร้อน ๆ อย่างนี้"    หากไม่ใช่เพราะต้องการสื่อสารกับคนในเมือง  คงไม่ต้องมาเดินกรำแดดที่ร้อนแสนร้อน     สารที่พวกเขาต้องการสื่อถึงคนในเมืองไม่ใช่เรื่องของพวกเขาเพียงกลุ่มเดียว  หากแต่เป็นเรื่องของทุกคน  ของคนทั้งประเทศ  


 


"เราอยากบอกว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่   แต่ทุกวันนี้เราทำลายธรรมชาติกันมามากพอแล้ว  จะเห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น 1-2 ปีมานี้  มันรุนแรงผิดปกติตั้งแต่สึนามิจนถึงน้ำท่วม  เพราะเราทำผิดต่อธรรมชาติ"  ปินีบอกถึงเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร   เธอบอกว่าแม้ว่าคนในเมืองยังคงไม่รับรู้  เธอก็คงทำหน้าที่ต่อไป   เพราะหากเธอกลับไปอยู่ที่บ้าน  สักวันหนึ่งภัยพิบัติก็ต้องมาถึงบ้านเธออยู่ดี     


 


ปินีเป็นคนปกากะญอที่บ้านห้วยหอย  กิ่ง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่  เหตุที่เห็นความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า  เพราะเธอเห็นว่าจริง ๆ แล้ววิถีชีวิตของชาวบ้านก็ดูแลรักษาป่าอยู่แล้ว  แต่กฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า   "กฎหมายป่าไม้ให้ชาวบ้านรักษาอย่างเดียว  แต่ไม่ต้องกิน   แต่ของชาวบ้านนั้นรักษาป่าด้วย  และต้องกินด้วย"   


 


เธอยังบอกอีกว่าความจริงเรื่องการดูแลรักษาป่านั้นต้องเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ  ตอนนี้ในเมืองใหญ่แทบไม่มีป่าหลงเหลืออยู่แล้ว    เพราะการจัดการป่าที่ผ่านมาเป็นการจัดการป่าแบบนายทุน  ทำลายไปเพื่อความละโมบ  มันไม่สิ้นสุด  เธอจึงอยากเชิญชวนให้คนในเมืองร่วมรักษาป่าแบบชาวบ้าน  รักษาป่าด้วย  พึ่งพาด้วย  ซึ่งรักษาแบบนี้ป่าก็อยู่ คนก็อยู่  มีความยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน


 


เธอ สะท้อนวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีการจัดการแบบนายทุน  เช่นกรณีทะเลทางใต้  ถ้าเปรียบเทียบชาวบ้านมุสลิมที่จับกุ้ง หอย ปูปลา ในทะเลกับเรือใหญ่ของพ่อค้า (เรืออวนลาก)   จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก  เรือใหญ่ของพ่อค้าจะเข้ามาลากเอากุ้งหอยปูปลาตัวเล็ก ๆ ไปหมดสิ้น  ขณะที่จับปลาแบบชาวบ้านจะเลือกจับ  กุ้ง หอย ปู ปลาตัวเล็ก  และปลาที่มีไข่ก็จะปล่อยคืนสู่ทะเล  เพื่อให้เติบโตและสืบพันธุ์ต่อไป


 


สิ่งที่ปินีพยายามสื่อสารนั้นสะท้อนให้เห็นความคิดที่แตกต่างในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  เรื่องป่า  เรื่องทะเลไม่ต่างกัน   นับวันจะมีช่องว่างมากขึ้นทุกที  คำถามอยู่ที่ว่าสังคมอยากจะเลือกเดินในทางไหน   จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบไหน  แบบพออยู่พอกิน หรือว่าละโมบโลภมาก  ตักตวงจากธรรมชาติไม่รู้จักพอ  และให้ใครเป็นผู้จัดการ  ?


 


ขยายแนวร่วมรักษาป่า       


 


จนถึงวันนี้ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วม (กมธ.)  2  สภาแล้ว  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ถือว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดในบรรดากฎหมายที่มีอยู่   นักวิชาการหลายท่านเองก็เคยกล่าวถึงหลายครั้งว่ากฎหมายป่าชุมชนเป็นกฎหมายส่งเสริม  และสร้างแรงจูงใจให้คนดูแลรักษาป่า   ต่างจากกฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่ที่ "กีดกัน"  คนให้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า   แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวกำลังถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้เพราะเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548  กมธ.ร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน มีการเพิ่มเติม "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ"  ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์พิเศษได้  


 


เครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศมีความเห็นว่าการเพิ่มเติมเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษเช่นนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และผิดต่อเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายป่าชุมชนที่ประชาชนเคยยื่นเสนอต่อรัฐสภา   นั่นเท่ากับว่าทำให้กฎหมายป่าชุมชนไม่ต่างอะไรจากกฎหมายป่าไม้ที่ผ่าน ๆ มา คือกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่า  ซึ่งยังมีคำถามไม่รู้จบว่าแล้วจะให้ใครจัดการ  จัดการอย่างไร ?  มีตัวอย่างบ้างหรือไม่ว่าถ้าจัดการโดยให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้จัดการเพียงฝ่ายเดียว เช่น อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้วประสบความสำเร็จ  ?  


.................................................


 


ปินีบอกว่า ขบวนธรรมชาติยาตราจะเดินรณรงค์กับคนในเมืองไปจนถึงเดือนธันวาคม อันเป็นวันที่ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง   ระหว่างทางก็จะพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชุมชนกับผู้คนสองข้างทางไปเรื่อย  ๆ เหนื่อยก็พัก อาศัยพักแรมตามวัด  ตามชุมชน   หรือแม้แต่ข้างทางหลวง   ช่วงที่ผ่านชุมชนก็จะเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชน  ช่วงที่ผ่านเมืองก็จะเข้าไปรณรงค์ในเมือง      เมื่อผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละแห่งก็จะเข้าไปเคารพสักการะ   ภาวนาให้กฎหมายป่าชุมชนเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ  และยังหวังว่าจะมีการขยายการดูแลรักษาป่าไปอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่การดูแลรักษาป่าในเมือง


 


วันที่เธอลงมาจากดอยเพื่อมาร่วมสมทบกับขบวนธรรมชาติยาตราที่มาจาก อ.เชียงดาว  เธอและชาวบ้านที่เดินทางมาร่วมสมทบจากหลายพื้นที่ก็ได้ไปสักการะครูบาศรีวิชัย  ที่ดอยสุเทพ  อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวปกากะญอด้วย  


 


เธอยังบอกอีกว่าชาวบ้านหลายคนมีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำให้การเดินเท้าภาวนาครั้งนี้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น  บางคนก็ยอมสละเวลาจากการที่ต้องเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว   แม้เพียงวันสองวันก็ยังดี  เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง     เพราะการเดินครั้งนี้ไม่ใช่การเดินเพื่อเรียกร้องให้กับตัวเองเท่านั้น   ไม่ใช่การเดินเพื่อเป้าหมาย ให้ได้กฎหมายป่าชุมชนแต่เพียงประการเดียว   หากแต่หมายถึงการเดินเพื่อเจริญสติ  ภาวนาให้แก่ป่าที่ยังคงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดของประเทศ ได้คงอยู่ต่อไป   และมีเพื่อนร่วมทาง  มีคนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาเพิ่มขึ้นด้วย


 


เดินเพื่อสังคม เดินเพื่อคนทั้งประเทศ


 


วันแรกที่ขบวนธรรมชาติยาตราเริ่มต้นขึ้น  สุลักษณ์  ศิวรักษ์ก็มาร่วมเดินเท้าให้กำลังใจแก่ชาวบ้านทั้ง 49 คนที่มาเดินเป็นกลุ่มแรกด้วย    สุลักษณ์บอกว่ากิจกรรมที่ชาวบ้านทำในครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ตามแนวทางของพุทธศาสนา คือกลุ่มผู้เดินเท้าถือว่าใช้หลักอิทธิบาท 4 คือมี ฉันทะ  รักในสิ่งที่ถูกต้อง  มี วิริยะ คือความเพียร  ความตั้งใจอันแก่กล้า   มีจิตตะ คือรักและเพียรที่จะทำ  และมี วิมังสา คือทำให้ความถูกต้องดีงามได้ชัยชนะในที่สุด


 


เมื่อขบวนเดินเท้ามาถึงตัวเมืองเชียงใหม่วันที่ 9 พ.ย.  กลุ่มนักวิชาการ  นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ร่วมให้กำลังใจแก่ขบวนธรรมยาตราอย่างอบอุ่นที่วัดศรีโสดา  จ.เชียงใหม่  และอาจารย์บางส่วนก็ร่วมเดินเท้ากับขบวนในบางช่วงด้วย 


 


อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์  นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวกับกลุ่มธรรมชาติยาตราว่า สิ่งที่ขบวนธรรมชาติยาตราทำ คือการต่อสู้เพื่อสมบัติส่วนร่วม ซึ่งมีค่ามหาศาล    เพราะเป็นฐานชีวิตของคนจน   และถือเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของคนทั้งสังคมด้วย  ชนชั้นกลางต้องรับรู้ตรงนี้ว่าชาวบ้านรักษาป่าชุมชนเพื่อคนทั้งประเทศ   


 


การที่ กมธ.ร่วม สองสภาเห็นด้วยกับเขตพื้นที่พิเศษในกฎหมายป่าชุมชนนั้น แสดงถึงความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพต่างกันมาก  ขณะที่คนระดับรัฐมนตรีเข้าใจว่าป่าที่มีความหลากหลาย  อยู่เฉยๆ   ก็มีความหลากหลายต่อธรรมชาติได้     แต่ความจริงความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาของมนุษย์    ความหลากหลายเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติต่างหาก


 


"ป่าชุมชนคือการดูแลทรัพยากรธรรมชาติโดยภาคีที่หลากหลาย ทำอย่างไรเราจะสื่อสารแก่คนที่กว้างขวางมากขึ้น  สาระสำคัญคือการสื่อสารให้พี่น้องในสังคมรับรู้ถึงคุณค่าของคนเล็กๆ ที่ดูแลรักษาป่า   เมื่อชาวบ้านจุดไฟขึ้นมาแล้ว   ทุกส่วนต้องช่วยกันส่งไฟต่อๆ  ไป ไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพื่อสังคมไทยทั้งสังคม"   อรรถจักร์กล่าวย้ำถึงบทบาทของคนในสังคมที่จะทำเพื่อป่าที่เหลืออยู่


 


อานันท์ กาญจนพันธุ์  นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่าการเดิน


ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ดี  ที่จะทำให้คนในสังคมมาร่วมกันสร้างเสริมให้อำนาจประชาธิปไตยมาอยู่ที่ประชาชนมากขึ้น   พ.ร.บ.ป่าชุมชนคือพ.ร.บ.ที่สะท้อนว่าสังคมมีประชาธิปไตยจริงหรือไม่  และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนในชนบทอีกด้วย  ไม่ใช่มาจากคนในกรุงเทพฯ 


 


กฎหมายป่าชุมชนเป็นกฎหมายแรกที่ประชาชนเป็นคนเสนอ เป็นการสร้างวิธีการจัดการธรรมชาติแบบใหม่  แต่เดิมเรื่องธรรมชาติของเรานั้นปล่อยให้รัฐและข้าราชการจัดการมานาน จนเราแทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว  การที่จะผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการจัดการจะเป็นวิธีการใหม่ อะไรที่ใหม่มักจะยากเสมอ   เพราะว่ารัฐของเราพยายามรักษาอำนาจเก่าๆ  ของตัวเองไว้   และประชาธิปไตยของเราค่อนข้างอ่อนแอ 


 


อย่างไรก็ตาม อานันท์ก็เห็นว่าการเดินครั้งนี้ของชาวบ้านจะทำให้ชนชั้นกลางเข้าใจมากขึ้น  และอาจจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในท้ายที่สุด


 


สมชาย ศิลปปรีชากุล  มีความเห็นต่อขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนว่าปัญหาใหญ่คือเผชิญกับความไม่รู้ของสังคมไทย  แม้ว่าป่าชุมชนถูกผลักดันมาตั้งแต่ปี  2532 แต่ความไม่รู้ในสังคมยังมีอยู่มาก    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่รู้ในหมู่ของตัวแทนของประชาชน    ผู้แทน เช่น สส.  สว.มักไม่สังกัดอยู่ในสถานะเดียวกับประชาชน   การเดินเท้าถือเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะทำให้คนรักษาป่าสื่อสารกับสังคมมากขึ้น


 


นอกจากนี้ สมชายยังเห็นว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พ.ร.บ.ป่าชุมชนถูกแปรเปลี่ยนเจตนารมณ์  เพราะทิศทางของรัฐบาลคือเปลี่ยนเกษตรกรเป็นพ่อค้า  แปลงสินทรัพย์เป็นทุน  ขณะที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนนั้นเป็นเรื่องของวิถีชีวิตนกับกับป่า ไม่ได้มุ่งเน้นความร่ำรวยเป็นหลัก   เรื่องป่าชุมชนถือเป็นทางรอดของสังคม  ซึ่งต้องอาศัยพลังผลักดันจากหลาย ๆ ส่วน ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน  นักวิชาการ  และเผยแพร่สู่สังคมให้มากขึ้น   ก็ขอเป็นกำลังใจให้ขบวนการธรรมชาติยาตราครั้งนี้เดินไปถึงจุดหมาย และทำให้ประเด็นป่าชุมชนกลับมาเป็นญัตติสาธารณะได้อีกครั้งหนึ่ง 


 


 


ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี   นักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่าตนเองมาให้กำลังใจชาวบ้าน  เพราะชาวบ้านสู้กันมาเป็นทศวรรษ   แต่การต่อสู้นั้นยาวนาน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว  ก็หวังว่าเสียงของการเดินครั้งนี้จะไปถึงผู้มีอำนาจ และมีผลกับสภาผู้แทนราษฎรที่จะยกเอาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับเดิมที่เคยผ่านสภาผู้แทนราษฎรกลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง


 


นี่เป็นเพียงแรงใจเล็ก ๆ  ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  หลังจากนี้ขบวนธรรมชาติยาตรายังคงเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ  ไปยังลำพูน  ลำปาง  ตาก กำแพงเพชร  นครสวรรค์   …….  จนถึงกรุงเทพฯ    ระหว่างทางพวกเขาก็จะพูดคุยกับผู้คนสองข้างทาง เพื่อขยายเพื่อน  ขยายมิตรโดยใช้หลักธรรมะเป็นตัวนำทาง ……


 


เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net