Skip to main content
sharethis



 


 



 



 


คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ เป็นวันพุธ ที่ 19 เมษายน 2549 และจะจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งจริงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งก็อาจจะเป็นวันที่ 12 เมษายน 2549 หรืออาจกำหนดให้อยู่ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์


             


ในเมื่อการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่ง จึงขอมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ว. ดังต่อไปนี้


 


1. สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 21 มีนาคม 2549 และกฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 30 วัน


 


หมายความว่า กกต. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ภายในช่วงวันที่ 22 มีนาคม 20 เมษายน 2549 ส่วนจะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันใด กกต. ก็ควรจะต้องเลือกวันที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด


 


พูดง่ายๆ ว่า ให้ถือฤกษ์สะดวกของประชาชน


 


ที่ผ่านมา นิยมกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ก็เพราะว่าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้หยุดพักจากการงาน จึงคิดกันว่า หากกำหนดเลือกตั้งในวันหยุดเช่นนี้ ก็จะมีประชาชนออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก


 


นั่นเป็นเพราะว่า วันอาทิตย์เป็นวันหยุดอยู่แล้ว ประชาชนไม่ต้องทำงาน ทำให้การไปเลือกตั้งไม่มีค่าเสียโอกาสในการทำงาน ซึ่งต่างกับวันทำงานทั่วไป เพราะประชาชนย่อมคิดเปรียบเทียบได้ว่า หากไปเลือกตั้งในวันทำงาน ก็จะทำให้เสียโอกาสได้รับค่าตอบแทน เกิดความลังเล เพราะตระหนักถึงต้นทุนของการออกไปเลือกตั้ง


 


การกำหนดวันเลือกตั้ง จึงควรกำหนดวันที่ประชาชนมีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุด และมีต้นทุนในการไปใช้สิทธิลงคะแนนต่ำที่สุด


 


2. พิจารณาในช่วงระหว่างวันที่ 22 มีนาคม - 20 เมษายน 2549 นั้น จะมีเทศกาลประเพณีวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในวันที่ 13-15 ซึ่งปกติจะเป็นวันหยุดราชการ และที่สำคัญ ประชาชนทั่วประเทศ ก็นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดในช่วงวันหยุดสงกรานต์อยู่แล้ว


 


ช่วงตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน - วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2549 จึงเป็นช่วงที่ประชาชนมีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุด เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว ราชการก็หยุด ห้างร้านเอกชนก็หยุด โรงงานต่างๆ ก็ปิด ฯลฯ


 


ที่สำคัญ ช่วงวันดังกล่าว เป็นช่วงที่ประชาชนมีต้นทุนในการเดินทางไปเลือกตั้งต่ำที่สุด เพราะประชาชนส่วนใหญ่ นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน ประชาชนที่เดินทางกลับบ้านตามประเพณีอยู่แล้ว ก็จะถือโอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งตามภูมิลำเนาได้โดยต่อเนื่อง


 


เรียกว่า เสียค่าเดินทาง เสียเวลา กลับบ้านครั้งเดียวได้ทั้งงานราษฎร์และงานหลวง


 


3. หากกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันพุธที่ 19 เมษายน 2549 ก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้ประชาชนต้องเดินทางกลับบ้านอีกรอบ ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าเสียโอกาส ค่าเสียเวลา จึงต้องคิดหนักว่าจะกลับไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งดีไหม ใครบ้างจะเสียสละวิ่งกลับไปกลับมา เพื่อมาทำงานเพียงสองวัน คือวันที่ 17 และ 18 เมษายน


 


บางคนอาจคิดว่า ถึงไม่ไปเลือกตั้งครั้งนี้ เดี๋ยวเลือกตั้งครั้งหน้าค่อยกลับไปใหม่ สิทธิต่างๆ ที่เสียไปก็จะได้กลับมาเหมือนเดิม


 


ในที่สุด เชื่อว่าวันเลือกตั้ง 19 เมษายน 2549 ก็จะมีคนไปใช้สิทธิไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น  


 


4. การที่จะขอให้ราชการและเอกชนต้องหยุดงานในวันพุธที่ 19 เมษายน เพื่อให้พนักงานราชการได้ไปเลือกตั้งเพิ่มอีกวันจากการหยุดยาว 12-16 เมษายนแล้ว ย่อมทำให้ทั้งราชการ ธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เสียหายมูลค่ามากมาย


 


5. ข้ออ้างที่ว่า หากให้มีการเลือกตั้งวันที่ 16 เมษายน คนจะกลับบ้านมาก เกรงจะมีการขนคนไปลงคะแนน ก็เท่ากับว่า กกต.ชุดนี้ ยอมรับว่าไม่มีความสามารถป้องกันปัญหาการขนคนไปลงคะแนนได้ จึงต้องการเลือกวันที่มีคนมาลงคะแนนน้อยๆ


 


6. ข้อที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ "การเลือกตั้งล่วงหน้า"


 


หาก กกต.จะยืนยันการเลือกตั้งในวันพุธที่ 19 เมษายน 2549 ก็จะต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 12 เมษายน 2549 อันเป็นวันที่เรียกได้ว่า อยู่ในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์แล้ว ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับบ้าน จะเกิดแรงจูงใจโดยธรรมชาติที่อยากไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้เสร็จๆ ไปเสีย ตั้งแต่วันที่อนุญาตให้มีลงคะแนนล่วงหน้าได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางกลับไปกลับมาให้เสียเวลา ดังนั้น การเลือกตั้งล่วงหน้าในช่วงวันที่ 12 เมษายน (หรือวันที่อยู่ในช่วงสงกรานต์) ก็เชื่อว่า จะมีคนไปเลือกตั้งจำนวนมาก


 


แต่คนในวงการเลือกตั้งจะทราบดี ว่า "การเลือกตั้งล่วงหน้า" มีช่องโหว่ให้คนโกงได้อย่างไรบ้าง!


 


หนังสือชื่อ "เปิดโปงกลโกงเลือกตั้ง" ซึ่งเขียนโดยคุณพรพล เอกอรรถพร ได้ชี้ให้เห็นว่า การลงคะแนนล่วงหน้า เป็นช่องทางหนึ่งที่นักการเมืองนิยมใช้ในการโกงจนชนะเลือกตั้ง


 


ข้อที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ในการเลือกตั้งล่วงหน้านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจแต่งตั้งคนของตนเองเข้าร่วมเป็นกรรมการในหน่วยลงคะแนนล่วงหน้า และกรรมการรักษาหีบบัตรเลย จึงไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อ ในขณะปิดผนึกหีบบัตรลงคะแนน และไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่า ก่อนจะส่งหีบบัตรเพื่อไป ดูแลรักษานั้น หีบมีสภาพอย่างไร


 


โดยในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น จะจัดให้ประชาชนไปลงคะแนนที่หน่วยลงคะแนนกลางของแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยการลงคะแนนล่วงหน้า จะยุติลงในเวลาบ่ายสามโมง เหมือนการลงคะแนนปกติ จากนั้นจะทำการปิดหีบบัตรลงคะแนน และให้ กกต.เขต ทำหน้าที่เก็บรักษาหีบบัตร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรที่รับผิดชอบพื้นที่ตั้งหน่วยลงคะแนนกลางนั้น จนกระทั่งถึงเวลาหลังบ่ายสามโมงของวันเลือกตั้งปกติจริงๆ อีก 7 วันโน่นแหละ จึงจะส่งหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ไปยังหน่วยนับคะแนน เหมือนหีบบัตรที่มาจากหน่วยลงคะแนนปกติหน่วยหนึ่ง


 


ยิ่งกว่านั้น การปล่อยให้หีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เท้งเต้งอยู่อย่างนั้น นานถึง 7 วัน 7 คืน ก็นานพอที่ผู้มีอิทธิพลอำนาจจะสั่งการให้ กกต.เขต ผู้ถือกุญแจ และข้าราชการตำรวจผู้ดูแลหีบบัตร เปิดหีบบัตรออก และทำการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งในหีบใหม่ หรือทำให้บัตรลงคะแนนของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นบัตรเสียด้วยวิธีการต่างๆ เช่น กาเบอร์เพิ่มในบัตรเลือกตั้งอีกหนึ่งเบอร์ ซึ่งบัตรใบนั้นก็จะกลายเป็นบัตรเสีย เป็นต้น


 


เรื่องแบบนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ และก็เคยเกิดมาแล้ว!


 


ยิ่งการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ จะเป็นเดิมพันครั้งสำคัญสำหรับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ต้องการจะยึดประเทศไทย เพื่อยึดกุมอำนาจตรวจสอบ ถอดถอน แต่งตั้งองค์กรอิสระ เอาไว้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด กกต. ก็สมควรจะต้องรอบคอบ ต้องพยายามปิดช่องโหว่ หรืออะไรเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง


 


อยากขอให้ กกต. พิจารณาทบทวนวันเลือกตั้งเสียใหม่ และขอเสนอไปด้วยเสียเลยว่า น่าจะกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ว. ในวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2549 นั่นแหละครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net