Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—15 พ.ย. 2548 


น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงผลการประชุม ครม.วันที่ 15 พ.ย.ว่า ถึงกรณีขัดแย้งเรื่องการวางจำหน่ายบุหรี่ตามร้านค้าว่า การห้ามวางจำหน่ายบุหรี่ในร้านค้าจะทำให้เอกชนฟ้องร้องเอาผิดได้ และกฎหมายปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายใดกำหนดห้ามวางจำหน่าย ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงให้ 3 หน่วยงานร่วมกันพิจารณาถึงการออกกฎกระทรวง โดยเฉพาะการกำหนดว่า เมื่อวางแล้วไม่สื่อให้เห็นถึงการโฆษณา ไม่ให้เกิดการสะดุดตาหรือเป็นการสื่อส่งเสริมการขายนั้นจะต้องวางในลักษณะใด


 


น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขขอเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ซึ่งกำลังมีข้อขัดแย้งในการตีความบังคับใช้ ซึ่งเกิดจากการตีความพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 8 วรรค 1 ไม่ตรงกัน


 


โดยเนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าวระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ได้โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่อง หมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ หรือใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในการแสดงการแข่งขัน การให้บริการหรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดที่มีวัตถุ ประสงค์ให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อ หรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ


 


ที่ประชุม ครม. จึงสรุปว่า ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลังกับกฤษฎีกาไปประชุมร่วมกัน เพื่อร่างกฎกระทรวงให้ชัดเจน โดยไม่ให้มีการร่างออกมาในลักษณะเกินกว่าที่พระราชบัญญัติกำหนด โดยยืนยันว่าหากมีการดำเนินการให้มีการวาง ณ จุดที่โดดเด่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขาย ถือเป็นเรื่องที่ผิด แต่ถ้าเป็นการวางที่ไม่ได้เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขายก็จะไม่อยู่ในอำนาจตามกฎหมายที่ระบุไว้ ยกเว้นจะมีการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมต่อไป


      


 "หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปนิยามว่าวางตรงไหนถึงสื่อให้รู้ว่าเป็นการห้ามโฆษณา อย่างเช่น วางบริเวณเคาน์เตอร์คิดเงิน ตรงนั้นอาจสื่อถึงการโฆษณา มีผลตอบแทนซึ่งถือว่ามีความผิด แต่ถ้าไปวางตามชั้นขายสินค้าต่างๆ ก็อาจวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณากันให้เกิดความชัดเจน ส่วนระหว่างนี้ หากฝ่าฝืนคงไม่สามารถลงโทษอะไรได้ จนกว่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว


      


ทั้งนี้ ปัญหามาตรการที่เข้มงวดของสาธารณสุขนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยพิจารณาและบันทึกว่า การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย มีทั้งกรณีที่จะเข้าข่ายและไม่เข้าข่ายเป็นการโฆษณาที่ต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2509


 


โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ตำแหน่งที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ง่าย โดยการนำซองผลิตภัณฑ์ยาสูบมาตั้งไว้หรือเรียงไว้ให้เห็นเป็นที่สะดุดตาพิเศษ และการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาเพื่อโฆษณายิ่งกว่าการขายตามปกติ หรือถ้ามีข้อเท็จจริงว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ผลประโยชน์ตอบแทนผู้ขายในการเจาะจงตำแหน่งที่จะแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ อันนี้ย่อมเข้าข่ายโฆษณาอันต้องห้าม ตามมาตรา 8 วรรค 1


      


 แต่ถ้าเป็นกรณีที่เป็นเพียงการนำผลิตภัณฑ์ยาสูบออกแสดงเพื่อขาย ณ สถานที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือการกระทำที่ส่อหรือแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีเจตนาโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือมุ่งเน้นที่จะใช้จุดขายเป็นสถานที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรณีดังกล่าวยังไม่ถือเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรค 1  ดังนั้น ประเด็นจึงเกี่ยวกับจุดแสดงว่า แสดงที่ไหน ณ จุดใดและมีการแสดงที่ให้เห็นโดดเด่นมากเพียงใด


 


ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการเข้มออกมา ก็ปรากฏกรณีขัดแย้งกับบริษัทซีพี เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงสาธารณสุขแจ้งจับ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น 2 สาขา คือสาขานนทบุรี 2 และสาขาเมเจอร์ นนทบุรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย


 


ในขณะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ยืนกรานจะวางโชว์บุหรี่ต่อไปเพราะไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา โดยนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพี เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด(มหาชน) แถลงในวันเดียวกันว่าจะเข้าพบนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งวางผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย ว่าควรตั้งในลักษณะใดจึงจะไม่ผิดกฎหมาย


 


ผู้บริหารของ บ. ซีพี เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวด้วยว่า หากคำสั่งของรัฐมนตรีห้ามไม่ให้มีการวางบุหรี่ ณ จุดขาย ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้ามีผู้บริโภคเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เกี่ยวกับข้อห้ามดังกล่าวว่า เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่ระบุให้แสดงสินค้าแก่ผู้บริโภคเห็น เพื่อป้องกันการหลอกลวง ทางบริษัทก็คงต้องนำข้อร้องเรียนนั้นส่งให้กับรัฐมนตรีต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net