Skip to main content
sharethis



 


"ผมยื่นคำร้องไปที่อำเภอตั้งแต่ปี 2546 แล้ว แต่ก็เงียบหาย ทางอำเภอยังไม่ยอมพิจารณาการยื่นคำร้อง ไม่มีการดำเนินการใดๆ และยังบอกพวกเราอีกว่า ต้องหาเงินมาจ่ายค่ายื่นคำร้อง 5,100 บาทต่อคน เราจะไปเอาเงินที่ไหน ในเมื่อชาวบ้านบางคนยังไม่มีข้าวกินเลย" ปุ๊ก ลุงที ชาวไทยภูเขาเผ่าปะหล่อง บ.ปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเศร้า


 


เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมวังธารรีสอร์ท อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่า โดย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) องค์กรพันธมิตร และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลในระดับพื้นที่ ซึ่งมีตัวแทนชุมชนจาก อ.แม่สลองใน อ.ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ตัวแทนชุมชน อ.แม่อาย ตัวแทนชุมชน บ.ปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตัวแทนชุมชน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และตัวแทนชุมชน อ.เมือง จ.เชียงราย


 


วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ ก็เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด เพื่อหาทิศทางในการทำงาน และวางแผนยุทธศาสตร์รองรับการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ภายหลังจากที่มติ ครม.ผ่อนผันสถานะบุคคลหมดลง


                       


เสียงเพรียกจากเมืองปาย : คอรัปชั่นที่ไม่เคยเหือดแห้ง


 


สุรัตน์ ดีทองขาว ผู้แทนชุมชน จาก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้บอกเล่าถึงปัญหาด้านสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงในเขตพื้นที่ของ อ.ปาย ว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ทราบขั้นตอนกระบวนการวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐ และยังมีการใช้ระบบเดิม คือมีการเรียกเก็บเงินกันอยู่เหมือนเดิมระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง


 


"จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านพบว่า มีการเรียกเก็บเงินค่ายื่นคำร้อง โดยครอบครัวใดมีพี่น้องจำนวน 8 คน ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 3,000 บาท ครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ต้องจ่ายจำนวน 2,000 คน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ทำให้คนไม่มีเงินกลายเป็นคนเสียสิทธิ์ไม่ได้สัญชาติไปโดยปริยาย"


 


นอกจากนั้น ตัวแทนชุมชน อ.ปาย ยังบอกถึงกรณีปัญหาผู้นำชุมชนที่เป็นทางการทำการทุจริต มีการสวมตัวปลอมแปลงเอกสารไปยื่นกับทางอำเภอ ซึ่งอำเภอที่อยู่ติดชายแดนจะเจอปัญหานี้ ในที่สุดก็กลายเป็นข้ออ้างของฝ่ายทะเบียนบัตรอำเภอว่า มีการปลอมแปลงเอกสาร จึงต้องมีการตรวจสอบทำให้มีความล่าช้า นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการสื่อสารไม่รู้เรื่อง ทำให้มีปัญหาในการติดต่อ รวมไปถึงปัญหาเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอโยกย้ายบ่อย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านงานทะเบียนย้ายเมื่อใด เอกสารการยื่นคำร้องก็ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่


 


แม่สลองใน : ความขัดแย้ง ผลประโยชน์ปกคลุมทั่วดงดอย


 


ในขณะที่ตัวแทนชาวบ้าน ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งไม่ขอเปิดเผยนาม ได้บอกถึงปัญหาในด้านสถานะบุคคลในพื้นที่ว่า ขณะนี้ ยังมีชาวบ้านที่รอลงรายการระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรแก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะเป็นมาตรา 7 ทวิ (การขอสัญชาติ โดยบุคคลสัญชาติอื่น) นอกนั้น ยังมีคนที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลย


 


"ทางอำเภอยังมีความล่าช้าในการพิจารณาคำร้องระเบียบฯ 2543 สาเหตุคงมาจากทัศนคติทางลบกับชนเผ่า เจ้าหน้าที่อำเภอ มีการเลือกปฏิบัติ ปลัดอำเภอมีการโยนลูกหรือเลี่ยงในการรับผิดชอบ ในการให้คำตอบกับชาวบ้าน รวมไปถึงชอบมีการเปลี่ยนแปลงวันเวลาการยื่นคำร้อง โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลให้ชัดเจน จนทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก"


 


ตัวแทนชุมชน ต.แม่สลองใน ยังกล่าวถึง ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ากรณีการลอบวางระเบิด ที่บ้านโป่งไฮใกล้รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทำงานด้านสิทธิชนเผ่า ซึ่งตอนนี้กำลังมีการสืบสวนสอบสวนกันอยู่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดกันแน่


 


"ทางรัฐชอบอ้าง คนในพื้นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่สามารถให้สัญชาติได้ พอระยะหลัง เริ่มออกความคิดเห็นกันบ้างแล้ว ว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด แต่จะดูเป็นรายบุคคล การพิจารณายื่นคำร้องก็ยังไม่ไปถึงไหน ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย พยายามเข้าร่วมอบรมกับทางราชการทุกอย่าง อสม. อพปร. ชรบ. หรือ อส. เพื่อแสดงถึงความจริงใจ แสดงถึงการทำคุณงามความดีให้กับประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ยังไม่รับสัญชาติไทย ยังมีอคติอยู่เช่นเดิม"


 


นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งของคนในพื้นที่ มีความขัดแย้งในเรื่องการเสียผลประโยชน์ อย่างกรณีเหตุการณ์บ้านห้วยกระ ต.แม่สลองใน ชาวบ้านมีการยกพวกตีกัน สาเหตุมาจากมีการทุจริตในเรียกเก็บเงินชาวบ้านค่ายื่นคำร้องคนละ 300 บาท อีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอมจ่าย ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน


 


            ชนเผ่าเขต อ.เมือง เชียงราย : การทำงานรัฐ ไม่สอดคล้องกับปัญหา


                                   


ณัฐพล สิงห์เถื่อน มูลนิธิกระจกเงา ได้สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคล ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย ว่าการพิจารณารับคำร้องของรัฐ ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ยังไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างแท้จริง และการยื่นขอพิสูจน์สถานะบุคคลบางกลุ่ม ยังไม่มีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอย่างมาก


 


"บางพื้นที่ ของ อ.เมือง จ.เชียงราย ไม่ยอมรับการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ จนทำให้การทำงานล่าช้า นอกจากนั้น ยังมีปัญหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้อง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาคมหมู่บ้านไม่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมรับรองในคำร้องขอลงรายการสถานะบุคคล รวมไปถึงปัญหาการออกหนังสือรับรองการเกิดมีความซ้ำซ้อน ทำให้ต้องไปหาพยานเท็จมารับรอง ปัญหาที่ต้องเดินทางไปยังภูมิลำเนาที่เกิด ทำให้ยุ่งยากล่าช้า และที่สำคัญ ชาวบ้านขาดความสนใจในกระบวนการทางทะเบียนราษฎร นี่คือภาพรวมของปัญหาทั้งหมด" นายณัฐพล กล่าว


 


                                    ปางแดง : โศกนาฏกรรมที่ไม่รู้จบ


 


ปุ๊ก ลุงที ชาวบ้านเผ่าปะหล่อง บ.ปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ลุกขึ้นกล่าวสรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลในพื้นที่บ้านปางแดงว่า นอกจากชาวบ้านได้ถูกเจ้าหน้าที่อำเภอเรียกเก็บเงินรายละ 5,100 บาทแล้ว ยังมีปัญหาเจ้าหน้าที่อำเภอไม่ยอมดำเนินการพิจารณาคำร้องของชาวบ้าน ไม่ยอมต่ออายุบัตรฯ ให้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก


 


"ทุกวันนี้ เราไม่ได้รับสิทธิใดๆ ไม่ว่า สิทธิในเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย อาชีพ การรักษาพยาบาล การแจ้งเกิด และยังถูกข่มขู่ คุกคาม และจับกุมดำเนินคดีอยู่ตลอดเวลา มันมีผลกระทบทางจิตใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องโหดร้ายทารุณอย่างมากในชีวิต ที่ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมทั้งหมู่บ้านตั้ง 3 ครั้งติดต่อกัน อยากให้ทางราชการยอมรับให้เรามีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปบ้าง ยอมรับดาระอั้ง หรือ ปะหล่อง ว่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิม ไม่ใช่ผลักดันออกนอกประเทศเพียงทางเดียว" ตัวแทนชุมชน ปางแดง กล่าว


                                   


แม่อายยังไม่หายสะอื้น : เสียงสะท้อนของความหวาดระแวง


 


สิงห์ไทย ซอจิ่ง ตัวแทนชุมชน อ.แม่อาย ที่ได้ต่อสู้ในกรณีถูกนายอำเภอแม่อายทำการถอดถอนสัญชาติไทย จนชาวบ้านได้รวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้ มีการฟ้องต่อศาลปกครอง จนในที่สุด ศาลตัดสินให้ชาวบ้านได้รับสัญชาติไทยดังเดิม ได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะได้รับสัญชาติไทยคืนมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ชาวบ้านยังไม่หายสะอื้น ยังจบไม่ลง ยังมีปัญหาอยู่ เพราะว่าถึงแม้ชาวบ้านจะได้สัญชาติ แต่ทางกรมการปกครองยังบอกว่า ไม่ใช่ได้สัญชาติแล้วมันจะจบง่ายๆ แต่ต้องมีการตรวจสอบดูว่าเป็นบุคคลที่ถูกต้องจริงหรือไม่


 


"ตอนนี้ ทุกคนหายกังวลไปบ้าง แต่ก็ยังวิตกกังวลและหวาดระแวงกันว่า จะเจอปัญหาอีกเมื่อไร เพราะทุกคนต่างคิดกันว่า เมื่อเคยเกิดปัญหาขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว มันย่อมเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ได้เป็นบทเรียนว่า เสียงมวลชน พลังมวลชน การรวมกลุ่ม เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลง" ตัวแทนชุมชนแม่อาย กล่าว


 


สิงห์ไทยยังกล่าวถึงกรณีการรวมกลุ่มของชาวบ้านแม่อายว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านยังมีการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ยังไม่ชัดเจน ในความคิดของตน อยากเสนอให้มีการฟ้องกลับกรมการปกครอง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของการเรียกร้องของชนเผ่ากลุ่มต่างๆ ว่าความยุติธรรมยังคงมีอยู่


 


ในตอนท้าย ตัวแทนชุมชน อ.แม่อาย ยังได้สรุปสาเหตุของปัญหาดังกล่าวว่า มาจากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการสวมปลอมเอกสาร เรียกเก็บเงิน ทุจริตคอรัปชั่น มีทัศนคติทางชาติ รัฐมักหยิบเอาเรื่องความมั่นคง ยาเสพติด เป็นข้ออ้างในการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งรัฐควรมีมาตรการรูปแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจน


 


                   ข้อเสนอและทางออกของคนในชุมชนบนพื้นที่สูง


                   จากการตั้งคณะทำงานในพื้นที่ - ตั้งพรรคชนเผ่า


 


ในตอนท้ายของการจัดเวทีสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ตัวแทนชุมชนทั้ง 3 จังหวัด ได้ร่วมกันสรุปหาข้อเสนอและทางออกร่วมกัน โดยได้เน้นย้ำว่า ในระหว่างที่รอมติ ครม. ในกรณีการผ่อนผัน การอาศัยอยู่ในประเทศไทยของคนไร้สัญชาติหมดระยะเวลาผ่อนผัน ในวันที่ 24 พ.ย.2548 นี้ โดยเสนอให้ ไม่ให้มีการจับกุมบุคลบนพื้นที่สูง โดยมาตรการให้ความคุ้มครองในระหว่างรอการพิจารณา


 


นอกจากนั้น ควรให้ความรู้ในเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานด้านสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง รวมทั้งระเบียบ กฎหมายให้แก่ชาวบ้าน มีการผลักดันให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรหน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ระดับอำเภอ โดยอำเภอต้องเปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านรับทราบอย่างทั่วถึง


 


ตัวแทนชุมชน ยังมีการเสนอให้ทุกฝ่ายได้มีการทำงานร่วมกัน ด้วยการตั้งชุดคณะทำงานโดยภาครัฐ ชุมชน องค์กรอิสระ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อจัดทำแผนงาน ติดตามเร่งรัดดำเนินการเรื่องสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการรณรงค์สื่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมรับรู้ปัญหาและการจัดการด้านสถานะบุคคลให้รับรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น


 


ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนชุมชนบนพื้นที่สูง ได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลอีกว่า ควรมีการฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ได้สิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ รวมไปถึงการเสนอให้มีการตั้ง "พรรคชนเผ่า" เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในการสร้างความหลากหลายทางนโยบายการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชาติพันธุ์ หากรัฐยังไม่ให้ความสำคัญและไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net