Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี อนุกรรมการจัดการปัญหาด้วยสันติวิธี ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ร่วมกับองค์กรประชาชน 53 องค์กร จัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังมีการจัดงาน "มหกรรมสันติวิธี" โดยมีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และถ่ายทอดประสบการณ์การแก้ปัญหาแบบสันติวิธีในแต่ละพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหามาจาก 5 กลุ่มระดมความเห็นประกอบด้วย 1.การศึกษาและการสื่อสารเพื่อสันติภาพ 2.สุขภาพและสุขภาวะ 3.การพัฒนาและการสร้างสรรค์ชุมชน 4.การแก้ปัญหาความขัดแย้ง และ 5.การเยียวยา


 


นางนงเยาว์ แข่งเพ็ญแข นักวิจัยอิสระ ตัวแทนกลุ่มการศึกษาและการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เสนอในการแถลงข่าวขอให้รัฐบาลจัดการศึกษาสันติภาพ เช่น การฝึกทักษะและการสื่อสารเพื่อสันติ การพูดทางบวกสำหรับครูในโรงเรียน จัดให้มีค่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน


 


นางนงเยาว์ กล่าวว่า การจัดการศึกษาเพื่อสันติภาพ เพื่อให้เห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของชีวิต สามารถจัดการได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นศัตรูต่อกัน นอกจากนี้ต้องให้การศึกษาบุคลากรในระบบศึกษา ทั้งครู ผู้บริหาร เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ให้เห็นคุณค่าและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะจะก่อให้เกิดสันติภาพในโรงเรียน อีกทั้งต้องมีการจัดหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถม จนอุดมศึกษา เพื่อให้มีความรู้สันติวิธีตั้งแต่วันเรียน และมีระยะเวลาฝึกฝนการใช้สันติวิธีได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


นางสาวราณี หัสสรังสี คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มสุขภาพและสุขภาวะ เสนอว่า หน่วยงานรัฐต้องรับผิดชอบ และชดเชยให้กับคนที่ได้รับความเสียหาย ทั้งจากการเสียเวลาทำมาหากิน เนื่องจากการถูกจับกุมและถูกปล่อยตัวในภายหลัง ตลอดจนชีวิตที่สูญเสียไป เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปฏิบัติกับชาวบ้านอย่างเป็นมิตร ที่สำคัญรัฐต้องยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่สร้างเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น


 


นางสาวราณี กล่าวต่อว่า จะต้องดูแลความปลอดภัย เช่น การจ้างเวรยามดูแลสถานบริการสาธารณสุข และพิจารณาเรื่องสวัสดิการ เช่น ค่าขวัญกำลังใจ การติดตามดูแลเมื่อมีเหตุรุนแรง  และสร้างกำลังใจ เช่นการติดตามให้กำลังใจซึ่งกันและกันของบุคคลากร การติดตามเยี่ยม รับฟังบุคคลากรผู้ปฏิบัติงานจริงและตอบสนองในสิ่งจำเป็นให้ทันเวลา


 


นายวิศิณ สาเม๊าะ  เครือข่ายชุมชนมุสลิม และตัวแทนกลุ่มการพัฒนาและการสร้างสรรค์ชุมชน กล่าวว่ารัฐควรเน้นการจัดการศึกษาบูรณาการทางร่างกายและจิตใจ คือทางโลกและทางธรรม เพิ่มวิชาบังคับศาสนาตามที่ยึดถือเน้นความหลากหลายสู่นานาชาติ รัฐควรสร้างศูนย์ร่วมในชุมชนแบบองค์กร จัดตั้งสถาซูรอ หรือสภาชุมชน ที่ประกอบไปด้วยผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องถิ่น ผู้รู้ในชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชน แม่บ้าน นักธุรกิจ รัฐควรใช้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางในชุมชน ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบองค์รวม นำไปสู่ความสามัคคี เกิดความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรัฐควรส่งเสริมบทบาทสตรีในการพัฒนาครอบครัวอบอุ่น เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ และรัฐจะต้องปรับปรุงกลยุทธ์การเข้าถึงบทบาทของสตรี


 


นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ตัวแทนกลุ่มการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  กล่าวว่าสำคัญต้องสร้างให้วีวัฒนธรรมในการยอมรับความแตกต่างว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และสร้างกติกาที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมขึ้นมา ทั้งที่เป็นกฎหมาย และไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับร่วมกันและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงทางสังคม ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุนและสร้างหลักประกันที่จะเอื้อให้กับทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการสื่อสารและพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และรัฐจะต้องเอื้อเฟื้อให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาศักยภาพของกลไกนอกภาครัฐทั้งในระดับชุมชนและสถาบันในการจะทำงานควบคู่ไปกับภาครัฐ


 


นางสาวอารยา พยุงพงศ์ คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา ตัวแทนกลุ่มการเยียวยา เสนอว่าให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามข้อเสนอที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เสนอแนะก่อนหน้านี้อย่างจริงจัง และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐมีทัศนคติและท่าทีที่ถูกต้องเป็นกลางต่อผู้ที่มีบทบาทด้านการเยียวยา เช่นนักศึกษาที่เป็นอาสาสมัคร ผู้นำศาสนา และส่งเสริมให้ศาสนิกมีการศึกษาและปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ อีกทั้งจะต้องส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และทำความเข้าใจศาสนาอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net