Skip to main content
sharethis

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2005 17:12น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


thumb_1.jpg


การเลือกตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 36 จังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ เป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง แม้จะอยู่นอกเหนือความสนใจของสังคมไทยส่วนใหญ่ เพราะเป็นการเลือกตั้งผู้นำศาสนา ที่มีอำนาจบริหารจัดการกิจการศาสนาอิสลามทั้งหมดในเขตจังหวัดนั้นๆ มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของมุสลิม รวมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมทั้งเป็นฐานในการเลือกตั้งผู้เหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ผู้นำศาสนาอิสลามสูงสุดของประเทศ


 


ที่สำคัญยิ่งและน่าจับตามากที่สุดก็คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เพราะคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัด จะเป็นผู้คัดเลือกประธานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง


 


ไม่นานมานี้ นายนิรันดร์ พันทรกิจ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี แสดงท่าทีเด่นชัดยิ่งว่าไม่พอใจบทบาทของประธานอิสลามทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระบุอย่างชัดเจนว่าควรจะมีการเปลี่ยนตัวประธานอิสลามทั้งสามจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยให้ความร่วมมือกับทางราชการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เลย


 


ด้วยอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการศาสนาอิสลามในจังหวัด ทำให้ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตมุสลิมในจังหวัด โดยเฉพาะต่อบรรดาโต๊ะอิหม่าม ประจำมัสยิด ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาที่ได้รับการยกย่องจากชุมชน ท่าทีของผู้นำศาสนาเหล่านี้ มีผลอย่างมากต่อการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานต่างๆ ของภาครัฐ


 


ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อจัดวางกำลัง ผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการกลาง ก็จะช่วยให้มีความพร้อมอย่างยิ่งต่อการวางตัวผู้มาดำรงตำแหน่งประธาน อันจะทำให้แนวทางมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ ไหลลื่นยิ่งขึ้น


 


จากการสำรวจ พบว่ามีบรรยากาศ "การเตรียมความพร้อม" ในแต่ละพื้นที่กันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของคนใน "สายจุฬาราชมนตรี" และ "สายกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย" ที่เดินสายตระเวนลอบบี้ผู้นำศาสนาที่มากด้วยบารมีในแต่ละจังหวัด เพื่อชี้นำโต๊ะอีหม่ามและกรรมการอิสลามในแต่ละจังหวัดให้เลือกคนของตัวเองเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการประจำจังหวัดและกรรมการกลางฯ


 


อย่างไรก็ตาม การเดินสายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจแตกต่างกับพื้นที่อื่นลิบลับ


 


ด้วยความเฉพาะเจาะจงที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่และกำลังตกอยู่ในวงล้อมของสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ทุกวัน การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่เช่นนี้จึงเป็นที่จับตามองอย่างมาก


 


ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่ต้องการของสายต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จะดึงเข้าเป็นพันธมิตร


 


อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมด้วยว่า คณะกรรมการอิสลามใน 3 จังหวัดชุดปัจจุบันไม่ได้ให้การยอมรับความเห็นและข้อเสนอของจุฬาราชมนตรีในการแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างสะดวกใจนัก เผยให้เห็นได้ว่าผู้นำศาสนาเหล่านี้คงจะกินเส้นกับสายจุฬาราชมนตรีได้ยาก หลายครั้งที่มีท่าทีขัดแย้งเห็นต่างกับสำนักจุฬาราชมนตรีในหลายประเด็น โดยเฉพาะแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของ "จุฬาราชมนตรี" ต่อเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เหตุปะทะที่มัสยิดกรือเซะและจุดอื่นๆ อีกราว 10 แห่งในวันที่ 28 เมษายน และเหตุสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม ปีที่แล้ว ซึ่งมีท่วงทำนองที่คล้อยตามทิศทางที่รัฐบาลต้องการจนเกินงาม ซึ่งฝืนกับความรู้สึกของคนในพื้นที่


 


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเข้าถึงมวลชนชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของสายจุฬาราชมนตรี ในขณะที่สายกรรมการกลางฯ ยังมีเครือข่ายของ "เด่น โต๊ะมีนา" ที่ยังคงเหนียวแน่นเกาะติดพื้นที่อยู่ไม่ขาด


 


จะว่าไปแล้ว ท่วงทำนองของจุฬาราชมนตรีและสำนักจุฬาราชมนตรีในห้วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าสอบตกในทัศนะของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลยทีเดียว


 


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสายจุฬาราชมนตรีจะไม่สามารถต่อสายสัมพันธ์และปักธงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสียทีเดียว เพราะความเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ กับผู้นำศาสนาในพื้นที่บางส่วนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้นำศาสนาที่เคยครองเก้าอี้ในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในวาระที่แล้ว และมีบทบาทสานงานทำความเข้าใจกับโต๊ะอีหม่ามพื้นที่กันในนามของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งกำลังรวบรวมผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาอีกทีมหนึ่งเพื่อสร้างตัวเลือกให้กับบรรดาโต๊ะอีหม่ามในวันเลือกตั้งอีกไม่กี่วันนี้


 


มองในแง่ดี ก็อาจเป็นประโยชน์กับบรรดาโต๊ะอีหม่ามและชาวมุสลิมในพื้นที่ที่มีตัวเลือกให้เข้ามาพิจารณามากกว่ามีเพียงตัวเลือกเดียวที่อาจจะไม่มีอะไรแนวนโยบายหรือพลังผลักดันแตกต่างกับคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เพราะปัญหาในพื้นที่ยังคงไม่ยุติและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูยังคงเป็น "ความต่าง" ที่ต้องอธิบายกับสังคมไทย


 


อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่า ด้วยโครงสร้างการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามซึ่งอยู่ในฐานะตัวแทนของมุสลิมทั่วทั้งประเทศ มาจากคะแนนเสียงของบรรดาโต๊ะอีหม่ามในแต่ละมัสยิด หาใช่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงไม่ จึงทำให้ "เกณฑ์" ในการตัดสินใจ "เลือก" หรือ "ไม่เลือก" ตกอยู่ที่ดุลพินิจของโต๊ะอีหม่ามแต่ละคนเท่านั้น ซึ่งกล่าวให้ถึงที่สุดก็มีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะความเป็นพวกพ้อง ความเป็นศิษย์ หรือแม้แต่เรื่องผลประโยชน์จาก "ปัจจัย" ที่ไหลเวียนอยู่ก่อนการเลือกตั้ง


 


ควรพิจารณาด้วยว่าทุกวันนี้โครงสร้างของคณะกรรมการอิสลามใน 3 จังหวัด เป็นผู้นำทางศาสนาที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ "กลุ่มวาดะห์ดั้งเดิม"  ในปีกของ "เด่น โต๊ะมีนา" ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้นำศาสนาทั่วทั้ง 3 จังหวัดเหนียวแน่น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มาโดยตลอด


 


thumb_2.jpg


 


 


 


 


(แวดือราแม มะมิงจิ)


 


ฉายภาพพื้นที่แต่ละจังหวัด เริ่มจากปัตตานี แม้ว่า "แวดือราแม มะมิงจิ" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคนปัจจุบันจะได้รับการยอมรับจากผู้นำศาสนาล้นเหลือ จากบทบาทที่อยู่ในตำแหน่งมา 4 ปี โดยเฉพาะบทบาทการนำอันโดดเด่นในเกือบ 2 ปีให้หลังที่พื้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีตัวเลือกที่โดดเด่นเช่นกัน


 


thumb_6.jpg


 


 

(นิเดร์ วาบา)



ในขณะที่ "นิเดร์ วาบา" นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ อดีตดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานี ที่จับมือกับ "อับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ" อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ก็จัดทีมเพื่อเสนอตัวเป็นทางเลือกให้โต๊ะอีหม่ามในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเช่นกัน


 


ต้องไม่ลืมด้วยว่า "นิเดร์ วาบา" ผู้นี้ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญ ในการร่วมทำงานความคิดเพื่อคลี่คลายสถานการณ์สงครามความคิดในพื้นที่ โดยเป็นผู้ประสานงานหลักใน "โครงการดาอี" หรือ "โครงการอบรมนักเผยแพร่ศาสนา" ของสำนักจุฬาราชมนตรี และถือว่ามีบทบาทไม่แพ้ "แวดือราแม มะมิงจิ" เลยทีเดียว


 


และต้องไม่ลืมด้วยว่า ทั้ง "นิเดร์ วาบา" และ "อับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ" ต่างเป็นแกนนำในสมาคมโรงเรียนสอนเอกชนสอนศาสนาอิสลามฯ ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวาง และที่สำคัญบรรดาโต๊ะอีหม่ามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างจบการศึกษาจากโรงเรียนเหล่านี้และมีความเป็นพวกพ้องน้องพี่แน่นแฟ้น เรียกได้ว่าหากเรียกร้องกันจริงจัง คงทำให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันของ "แวดือราแม มะมิงจิ" เหนื่อยหนักไม่น้อย


 


ยิ่งถ้าว่าสายของ "นิเดร์ วาบา" มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ต่อรัฐบาลที่ก้าวกระโดดและโดนใจโต๊ะอีหม่าม ดังท่วงทำนองของแกนนำอย่าง "นิเดร์ วาบา" ที่ผ่านมา ก็จะยิ่งจะมัดใจโต๊ะอีหม่ามได้มากขึ้น


 


ในทางกลับกัน หากเกมในเขตจังหวัดปัตตานี ยังคงไม่พลิกจากชุดเดิมในวาระหน้า ก็อาจเป็นการลงจากหลังบัลลังค์ที่ไม่สวยงามนักของผู้นำในสายของ "นิเดร์ วาบา" ที่สั่งสมบารมีมาทั้งชีวิต จึงประเมินได้ไม่ยากว่าการประชันในครั้งนี้ "นิเดร์ วาบา" เป็นต้องทุ่มสุดตัว


 


 thumb_7.jpg



 


(อับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด)


 



สำหรับนราธิวาส "อับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส จะมีความโดดเด่นในจุดยืนการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เขาเป็นผู้ยืนในที่แจ้ง แสดงความเห็นต่อกรณีปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบของรัฐบาล ผ่านการสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ อย่างตรงไปตรงมาโดยตลอด ที่สำคัญเขายังได้รับการยอมรับจากปัญญาชนมุสลิมคนรุ่นใหม่จากในพื้นที่อีกไม่น้อย


 


แต่ก็ใช่ว่า ฐานเสียงของโต๊ะอีหม่ามในเขตนราธิวาสจะเป็นฐานเสียงอันมั่นคงหนักแน่นของเขาเองทั้งหมด เพราะฐานเสียงจำนวนไม่น้อยที่มีท่าทีเพียง "สนับสนุน" การดำรงอยู่ของ "อับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด" ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการเท่านั้น นอกจากนี้ บทบาทที่โดดเด่นชุดปัจจุบันจะยังสร้างการยอมรับให้กับโต๊ะอีหม่ามกว่า 600 คน ในกว่า 600 มัสยิดในนราธิวาสได้เหมือนเดิมหรือไม่ยังเป็นโจทย์ที่ตอบยากอยู่ เพราะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง "นิแวอาลี หะยีดอเลาะห์" ดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดนราธิวาส ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกับ "นิเดร์ วาบา" และกำลังมาแรงเช่นกัน


 


 thumb_5.jpg


 


 (นิมุ มะกาเจ) 


 


 


ส่วนที่ยะลาก็ยังมีการนำของ "อับดุลรอแม เจ๊ะแซ" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาคนปัจจุบันที่เกาะกลุ่มเหนียวแน่น จะมีเพียง "นิมุ มะกาเจ" รองประธานคณะกรรมการฯ ที่ขอแยกจากกลุ่มมาลงอย่างอิสระ แต่ก็ยังมีการเข้ามาเสริมทัพให้ "อับดุลรอแม เจ๊ะแซ" จาก "ไพศาล ยิ่งสมาน" อดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ สะท้อนสายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างกลุ่มการเมืองกับองค์กรศาสนาชัดเจน ในขณะที่ "อิสมาแอ ฮารี" อดีตประธานคณะกรรมการประจำจังหวัดยะลาเอง ก็ยังให้การสนับสนุน "อับดุลรอแม เจ๊ะแซ" เช่นกัน 


thumb_4.jpg


 


 


 


 


(อับดุลรอแม เจ๊ะแซ)


 


 


อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตานักการศาสนารุ่นใหม่อีก 4 - 5 คนที่เสนอตัวและเป็นอิสระจากกลุ่มของ "อับดุลรอแม เจ๊ะแซ" ว่าจะสามารถพิสูจน์การยอมรับให้กับโต๊ะอีหม่ามได้หรือไม่


 


 thumb_3.jpg


 


 


 


(อาซิส เบ็ญหาวัน)


 


ส่วนกลุ่มผู้นำศาสนากลุ่มเก่าในจังหวัดยะลา ที่เคยมีบทบาทเป็นคณะกรรมการฯ ในวาระก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วแต่ปลดวาระตัวเองด้วยวัยชรา แต่ก็ต้องจับตานักการเมืองท้องถิ่นอย่าง "อาซิส เบ็ญหาวัน" อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ซึ่งยังอยู่ในวาระนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาอยู่ในขณะนี้ เพราะมีกระแสข่าวว่าอาจจะลงอิสระอีกทีมด้วยเช่นกัน


 


กล่าวได้ว่า พื้นที่ยะลาน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะฐานเดิมยังคงเหนียวแน่นและไร้ตัวเลือกชัดเจนเหมือนในนราธิวาสและปัตตานี ซึ่งยังคงต้องจับตากันต่อไป


 


หลังจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งอีกไม่ถึง 10 วัน คงต้องจับตาการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ของแต่ละสายเพื่อช่วงชิงพันธมิตรและแรงสนับสนุน เป็นที่แน่นอนว่ากระบวนยุทธที่หลายครั้งเคยใช้กันในเวทีเลือกตั้งทั่วไประดับชาติ หรือแม้แต่ในระดับท้องถิ่น ถูกเก็บเกี่ยวนำมาใช้ในการเลือกตั้งในองค์กรศาสนาครั้งนี้อย่างเต็มรูปแบบ


 


อย่างน้อย การประชุมใหญ่โต๊ะอีหม่ามจากทั่วประเทศในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ในงานเมาลิดกลาง ณ สวนอัมพร ซึ่งมี "ไพศาล พรหมยงค์" เป็นประธานจัดงาน อาจหยิบยกเอาประเด็นการปรับองค์กรศาสนาและการเลือกผู้นำขึ้นมาพูดคุยทำนองปรับทุกข์เป็นได้ ๐


 


--------------------------------------------------------------------------------


เลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกันอย่างไร


 


วันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวันสำคัญขององค์กรศาสนาอิสลาม ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 คืออิหม่ามทุกคนในแต่ละจังหวัด จะไปประชุม ณ สถานที่ ซึ่งปลัดจังหวัดจัดให้ โดยปลัดจังหวัดเป็นประธานในการจัดประชุมอิหม่ามให้มีการเลือกบุคคลมาเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


 


กระบวนการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลาม และประธานอิสลามประจำจังหวัด มีขั้นตอนอย่างไร ?


 


หลักการ หรือวิธีการเลือก คืออิหม่ามในที่ประชุม จะเสนอชื่อบุคคลที่ตนรู้จัก จำนวน 1 คนหรือมากกว่า แต่ไม่เกิน 30 คน เสนอให้เป็นกรรมการในสิทธิของตน มีเพื่อนอิหม่ามในที่ประชุมรับรองจำนวนหนึ่งอิหม่ามในที่ประชุมมีสิทธิเสนอชื่อบุคคล และมีสิทธิรับรองชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อไปเขียนในกระดานและให้เลขประจำตัว กำกับที่ชื่อ สำหรับการลงคะแนนต่อไป


 


เมื่อมีการเสนอชื่อ และกำหนดหมายเลขกำกับชื่อมากพอ จนมติที่ประชุมรับว่าพอแล้ว อิหม่ามแต่ละคน ทุกคน จะไปกาหมายเลขของชื่อบุคคลที่ตนต้องการ กา 1 คนหรือมากกว่าก็ได้ แต่ไม่เกิน 30 หมายเลข


 


เมื่อนับคะแนนหมดแล้ว เรียงลำดับคะแนนของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อมากที่สุด และรองลงไปจำนวน 30 คน บุคคลลำดับที่ 1-30 คือคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ อยู่ในวาระ 6 ปี นับแต่ปีพ.ศ.2548 สิ้นสุดวาระในปี 2553


 


คณะกรรมการทั้ง 30 คนจะไปประชุม คัดเลือกประธาน เลขานุการ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในโควตาของจังหวัดส่งไปส่วนกลาง นอกจากนั้นเป็นการบริหารจัดการของประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัด


 


อิหม่ามมัสยิดต่างๆ จะมีผลและได้รับผลจากการเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพราะ จะเป็นคณะกรรมการบริหารกิจการมัสยิด ตามอำนาจ บทบาท ภาระหน้าที่ ที่ระบุในพ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ.2540


 


มุสลิมทุกครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากการบริหารครอบครัวมุสลิม เกี่ยวข้องตั้งแต่การแต่งงาน การหย่า การแบ่งมรดก การพัฒนาระบบสังคมในแนวทางอิสลาม และการประสานสัมพันธ์กับทุกหน่วยงานพัฒนาในทุกระดับ ตามศักยภาพของคณะผู้บริหารองค์กรนี้


 


ประเด็นที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจในบทบาท อำนาจ หน้าที่ และนำพรบ.การบริหารองค์กรอิสลามพ.ศ.2540 มาดำเนินการเป็นรูปธรรม


 


บทบาท อำนาจ หน้าที่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540


 


มาตรา 26 : ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้


 


(1) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด


 


(2) กำกับดูแล และ ตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ในจังหวัด และจังหวัดอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย


 


(3) ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์สัปปุรุษประจำมัสยิด ซึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด


 


(4) กำกับดูแลการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดให้เป็นไปโดยเรียบร้อย


 


(5) พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด


 


(6) สอบสวนพิจารณาให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 40(4)


 


(7) สั่งให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพักหน้าที่ระหว่างถูกสอบสวน


 


(8) พิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้งการย้าย การรวม และการเลิกมัสยิด


 


(9) แต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่าง


 


(10) ออกหนังสือรับรองการสมรส และการหย่าตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม


 


(11) ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดก ตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม เมื่อได้รับการร้องขอ


 


(12) จัดทำทะเบียนทรัพย์สินเอกสารและบัญชีรายรับ-จ่ายของสำนักงาน ให้เป็นปัจจุบันและรายงานทุกปี


 


 ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามในจังหวัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net