แทนคำอำลา : คุณภาพ "บีบีซี" เราสร้างได้

 

"ดิฉันทำงานบีบีซีมาเกือบ 15 ปี เราไม่เคยแน่ใจว่ามีคนฟังบีบีซีมากน้อยขนาดไหน ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่เคยมีการทำสำรวจกันอย่างจริงจัง มีคนอธิบายว่า เพราะคนไทยเป็นผู้ฟังที่เงียบ แต่บางทีก็เงียบจนน่าใจหาย และไม่แน่ใจ จนหวั่นไหวว่าอาจจะจริงที่ว่าไม่มีใครฟังเรา แต่เมื่อมีความเคลื่อนไหวหลังจากมีข่าวว่าบีบีซีภาคภาษาไทยจะปิดลง เราก็เริ่มใจชื้นขึ้นว่า มีคนเห็นว่าบีบีซีภาคภาษาไทยมีคุณค่า มันได้สร้างให้เกิดกำลังใจกับคนทำงานว่า สิ่งที่เราทำ ไม่ได้สูญเปล่า"

 

นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวของบีบีซี เปิดใจพูดเป็นครั้งแรกท่ามกลางผู้ฟังที่นั่งอยู่เต็มห้องประชุมคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในการสัมมนาหัวข้อ "บทบาทวิทยุบีบีซีต่อสังคมไทย: มองย้อนก่อนปิดฉาก 64 ปี ของบริการภาคภาษาไทย" ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะวารสารฯ มธ. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 พ.ย. 2548)

 

เธอกล่าวกลั้วหัวเราะว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอพูดในเวทีสาธารณะ และอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายด้วยก็เป็นได้

 

ไนเจล แชปแมน ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก ยืนยันปิดบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อ 25 ต.ค. ที่ผ่านมาโดยเหตุผลว่า บีบีซีภาคบริการโลกซึ่งใช้งบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ต้องผันงบประมาณไปใช้กับการพัฒนาสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอาหรับ เนื่องจากบีบีซีเห็นว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า "ข่าวสาร" ของบีบีซีจะต้องผลิตขึ้นมารองรับกับโลกอาหรับ ซึ่งเพียงเว็บไซต์และสถานีวิทยุคงไม่เพียงพอเสียแล้ว

 

เขายืนยันว่าการปิดบีบีซีภาคภาษาไทยไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด พร้อมระบุเหตุผลรองรับว่า ผู้ฟังบีบีซีภาษาไทยนั้นมีเป็นจำนวนน้อย พร้อมกันนี้บีบีซียังตัดสินใจปิดการบริการในภาษาอื่นๆ ด้วยอีก 10 ประเทศ

 

แม้ว่าจะยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่รุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้เคยผ่านการทำงานกับบีบีซีก็บอกว่า ข้อมูลที่บีบีซีได้มาว่าคนฟังมีน้อย เนื่องจากบีบีซีใช้ข้อมูลของวีโอเอ (สถานีวิทยุกระจายเสียงของสหรัฐ)

 

"มีเรื่องเล่าว่า มีการสำรวจความคิดเห็นของวีโอเอ เขาชวนบีบีซีสำรวจด้วย ปรากฎว่าบีบีซีบอกว่าไม่มีงบ วีโอเอก็สำรวจไป ปกติเวลาสำรวจนั้น เราก็พอจะรู้ว่าผลการสำรวจมันจะออกมาเป็นยังไง ผลก็เลยออกมาว่าผู้ฟังบีบีซีมีจำนวนน้อยกว่าวีโอเอ"

 

ออกจะดูเป็นตลกร้ายไปสักหน่อยหากบีบีซีจะปิดบริการภาคภาษาไทยเพราะข้อมูลที่ผิดพลาด ทั้งๆ ที่ บีบีซีเป็นสำนักข่าวที่มีเครดิตเรื่องความถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกก็ได้ยืนยันไปแล้ว

 

"นี่คือสิ่งที่ไม่ยุตธรรมต่อบีบีซีภาคภาษาไทย และไม่ยุติธรรมต้อผู้ฟังภาษาไทย ดิฉันไม่ได้หวังอะไรมากว่าจะมีการทบทวนและมีเหตุผลให้บีบีซีอยู่ยั้งยืนยงไปตราบนานเท่านาน แต่อย่างน้อยถ้าเกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางประการ มันก็น่าจะมีการทำสำรวจใหม่ได้ไหม" รุ่งมณียังคงตั้งคำถามที่แฝงด้วยความหวัง

 

"บีบีซี" สัญลักษณ์แห่งความถูกต้องและเป็นกลาง

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อธิบายว่า บีบีซีภาคบริการในประเทศ (อังกฤษ) นั้นได้รับเงินงบประมาณจากประชาชนโดยตรง นั่นคือ เมื่อประชาชนซื้อโทรทัศน์เขาจะต้องจ่ายสมทบให้กับบีบีซีด้วย สถานะการเสนอข่าวของบีบีซีจึงกลายเป็นมาตรฐาน ไม่เหมือนกับสถานีอื่นๆ ที่มีโฆษณาที่ใช้งบประมาณจากด้านพาณิชย์ และบีบีซีก็ไม่ได้ใช้เงินของรัฐ เพราะฉะนั้นมาตรฐานบีบีซีจึงเป็นมาตรฐานที่คนเชื่อถือ เนื่องจากการทำข่าวของบีบีซีต้องตอบสนองผู้บริโภคอย่างแท้จริง อย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องแม่นยำ และไม่ลำเอียงเข้าข้างรัฐบาลมากเกินไป

 

"บางครั้งถูกรัฐบาลตำหนิเอาเหมือนกัน แต่รัฐบาลก็ทำอะไรบีบีซีไม่ค่อยได้ เพราะอะไร เพราะบีบีซีไม่ได้ขึ้นกับงบประมาณรัฐบาล ถามว่าใครดูแลความถูกต้องเที่ยงตรงของบีบีซี ก็มีคณะกรรมการ มี "Board of director" ซึ่งเป็นตัวควบคุมการทำงานของบีบีซี แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แต่ในการทำงานนั้นเป็นอิสระจากรัฐบาลโดยสิ้นเชิง"

 

จากการกระจายเสียงภายในประเทศที่เรียกว่าภาคบริการภายในประเทศ เมื่อขยายไปสู่การกระจายเสียงเป็นภาษาต่างประเทศ (ภาคบริการโลก) คนทั่วโลกก็เชื่อมั่นในบีบีซีเพราะแม้แต่ข่าวในประเทศนั้นก็ยังเชื่อถือได้

 

แต่สำหรับการเสนอความเป็นอังกฤษ ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะถ่ายทอดไปทั่วโลกนั้น บีบีซีภาคบริการโลกไม่ได้ใช้เงินจากประชาชนที่จ่ายให้กับโทรทัศน์มาใช้ แต่ใช้เงินของภาครัฐมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐนั่นเอง

 

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อการตั้งภาคบริการภาษาไทย ก็ใช้สนับสนุนการทำงานของเสรีไทย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณของภาครัฐ เพราะรัฐจะใช้ประโยชน์จากบีบีซีในการให้บริการภาคภาษาต่างประเทศ

 

"จนประทั่งปัจจุบัน บีบีซีก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ แต่อังกฤษก็แฟร์พอสมควรที่จะไม่ให้บีบีซีกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอังกฤษ เพราะบีบีซียังมีความเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพราฉะนั้นจะทำให้บีบีซีกลายเป็นสถาบันโฆษณาชวนเชื่อคงจะไม่ได้ การนำเสนอข่าวในภาคบริการโลกจึงมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับการนำเสนอข่าวในประเทศ

 

"ดังนั้น บีบีซีถึงแม้จะเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของอังกฤษแต่ก็เป็นเครื่องมือที่เราเชื่อถือได้"

 

ดร.สรจักร กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัจจุบัน ประเทศเหล่านั้นรัฐบาลอังกฤษเห็นว่ามีความจำเป็นเนื่องจากได้ข้อมูลจากประเทศเขาไม่เพียงพอ มาปัจจุบันเห็นว่าประเทศเหล่านั้นได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอแล้วเขาก็จำเป็นต้องตัดเงินนี้ไปใช้ทำอย่างอื่น และนั่นก็เป็นที่มาว่า ทำไมบริการที่จะถูกปิดลงนั้น 8 ใน 10 เป็นยุโรปตะวันออก ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่คอมมิวนิสต์อีกแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่รัฐบาลอังกฤษจะต้องไป Propaganda หรือไปเสนอข้อมูลข่าวสารอะไรเพิ่มเติม และประเทศไทยเองก็ถือเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยค่อนข้างจะดีมาก เช่นเดียวกับอีกประเทศที่ถูกปิดบริการพร้อมกับเราก็คือคาซัคสถาน

 

บีบีซีให้อะไรกับสังคมไทย

ชื่อรุ่งมณี เมฆโสภณ อาจเป็นที่คุ้นหูผู้ฟังชาวไทยที่ผ่านช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เนื่องจากเป็นผู้สัมภาษณ์การรายงานสดบรรยากาศบนถนนราชดำเนินในคืนวันหฤโหด ที่คนไทยในประเทศ และคนที่ไม่ได้ฟังบีบีซีภาคภาษาไทยไม่มีโอกาสได้ยิน

 

เธอออกตัวว่า ไม่ใช่เพียงเธอคนเดียวเท่านั้น แต่ทีมงานบีบีซีภาคภาษาไทยทุกคนช่วยกันทำงานหนักเพื่อให้คนไทยได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันว่า เธอคือผู้เปลี่ยนบทบาทบีบีซีภาคภาษาไทย เพราะหลังจากนั้นมา บีบีซีภาคภาษาไทยก็มีความอิสระมากขึ้นในการทำงาน นั่นหมายถึงการหาข่าวเอง และเป็นแหล่งข้อมูลให้กับบีบีซีภาคบริการโลกสำหรับภาษาอื่นๆ ด้วย

 

นั่นคือประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ถ้าย้อนถอยไปจากนั้น บีบีซีอยู่กับสังคมไทยมาตลอดระยะเวลา 65 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น หน้าที่หลักของบีบีศีก็คือเป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายสมพันธมิตร และบีบีซีภาคภาษาไทยก็คือเครื่องมือของขบวนการเสรีไทย

 

14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสื่อมวลชนไทยถูกเซนเซอร์ ข้อมูลจากบีบีซีคือช่องทางให้คนไทยในประเทศไทยได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านของตัวเอง

 

นวลน้อย คนทำข่าวรุ่นปัจจุบันของบีบีซีกล่าวว่า ถึงวันนี้แล้วบีบีซีภาคภาษาไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากยุคเริ่มต้น เทคโนโลยีทันสมัย ผู้คนมากขึ้น รูปแบบรายการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

 

"ในเชิงเทคโนโลยีก็ทันสมัยมากขึ้น เปลี่ยนจากจัดรายการคนเดียวเป็นพุดคุยกัน 2 คน เราคล่องตัวในการทำรายการ และคล่องตัวในการทำข่าวด้วย

 

"หลังจากพฤษภาทมิฬ ตั้งแต่นั้นก็มีผู้สื่อข่าวมาประจำที่เมืองไทยเป็นระยะๆ เศรษฐกิจสังคม ไทยกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง ไทยกับประชาคมโลก"

 

นวลน้อยกล่าวว่า สิ่งที่สังคมไทยต่างจากประเทศบานใกล้เรือนเคียงก็คือ คนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง การรับรู้เกี่ยวกับประชาคมโลกของไทยจึงน้อยกว่าเพื่อนบ้านไปโดยปริยาย

 

"ดูอย่างเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซีย เขาพูดมาเลย์กับอังกฤษ หรือมลายู จีน อังกฤษ เขาเปิดกว้างกว่า เขารับรู้เรื่องโลกภายนอกมากกว่าคนไทย" เธอกล่าวพร้อมกับอธิบายต่อไปว่า สื่อไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาพึ่งพาเอเจนซี่ต่างประเทศค่อนข้างมาก คนทำงานบีบีซีภาคภาษาไทยจึงพยายามพัฒนาในส่วนที่เป็นช่องว่าง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ปีกในอินเดีย เนเธอร์แลนด์ ในส่วนที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยในสถานการณ์ไข้หวัดนก ข่าวคนไทยที่ไปถูกหลอกให้ไปทำงานที่อิสราเอล ฯลฯ

 

"เราพยายามที่จะถมเรื่องเหล่านี้เรื่อยๆ เพื่อให้เป็นหน้าต่างสำหรับคนไทยที่ติดต่อกับคนต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำได้ในทุกสถานการณ์ แต่การพยายามทำเรื่องเหล่านี้ก็พัฒนาคนทำงานด้วย"

 

เธอบอกว่า ระยะหลัง ๆ บีบีซีภาคภาษาไทยเราสามารถที่จะเลือกข่าวเองได้ และได้รับฉันทานุมัติให้เขียนข่าวเอง และให้วัตถุดิบกับเพื่อนร่วมงานบีบีซีภาคภาษาอื่นด้วย

 

"บทบาทบีบีซีภาษาไทยเป็นอิสระมากขึ้น และสามารถส่งผ่านไปยังภายนอกได้ ยกตัวอย่างการสัมภาษณ์เลขาธิการโอไอซีเกี่ยวกับประเทศไทย ผลกระทบการทำเอฟทีเอ แม่น้ำโขง รายงานข่าวความเคลื่อนไหวชาวบ้านเกี่ยวกับการประท้วงโครงการใหญ่ ๆ พยายามสะท้อนเสียงของคนทีไม่มีเวที หรือเสียงส่วนน้อยเพื่อสะท้อนกลับไปยังสังคมว่าพวกเขามีหน้าที่ดูแลตรงนี้ด้วย"

 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น นวลน้อย กล่าวว่าสิ่งที่เป็นความท้าทายมากที่สุดของนักข่าวในประเทศไทยก็คือ สถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งนักข่าวต่างประเทศรวมถึงบีบีซีเองถือเป็นพื้นที่พิเศษที่จะต้องมีการอบรมนักข่าวก่อนลงพื้นที่

 

"ทำอย่างไรจึงจะไม่หลงไปกับความรู้สึกอยากเป็นพวก ผู้สื่อข่าวหลายคนอยากจะเป็นกลางแต่นั่นไม่สามารถจะทำได้ ถ้าหากผู้สื่อข่าวถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียแล้ว"

 

ถ้าไม่มีบีบีซี

กว่า 3,000 ชื่อที่ลงนามไว้ในจดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยภายในระยะเวลา 1 เดือนเต็มที่ผ่านมา อาจจะไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจปิดบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อเทียบกับจำนวนนับล้านคนที่จะกลายเป็นผู้ชมโทรทัศน์บีบีซีภาคภาษาอาหรับที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ เสนอว่า ทางออกที่น่าจะได้ผลมากที่สุดก็คือการส่งจดหมายถึง ส.ส. ของอังกฤษโดยตรง เพราะเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการต่างประเทศของอังกฤษ

 

"เรา คนทำบีบีซีภาคภาษาไทยที่ผูกพันกับสังคมไทย ผู้ฟังบีบีซีภาคภาษาไทยในสังคมไทย ผู้ฟังบีบีซีภาคภาษาไทยที่อยู่ทั่วโลกผูกพันกับบีบีซีภาคภาษาไทย แต่ในแง่ประโยชนขององค์กรเขาคงเป็นเรื่องที่เขาจะต้องมาวัด และต้องมาตัดสิน และไม่ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเคารพเขา แต่ถามว่าต้องสู้ไหม เราต้องพยายามสู้ให้ถึงที่สุด แต่ท้ายที่สุดไม่มีใครบอกได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่การยอมจำนนแต่เนิ่น ๆ โดยไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย ไม่เอาอะไรเลย ไม่แสดงออกอะไรเลย ดิฉันก็ว่าใจร้าย" รุ่งมณีพูดก่อนที่จะหัวเราะเกลื่อนเสียงสะอื้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอกลืนก้อนสะอื้นนั้นลงไปแล้ว สิ่งที่ตั้งคำถามต่อไปก็คือ แม้ไม่มีบีบีซีแล้ว ก็ควรจะคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดสื่อมวลชนที่มีคุณภาพแบบบีบีซีได้

 

เธอให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาจากการฝึกอบรมไม่วาจะเป็นการอบรมให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อสมท. ก็ตาม ผู้เข้าอบรมกับบีบีซีได้เรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานที่งดงามได้ในระหว่างนั้น แต่เมื่อกลับไป พวกเขาก็กลับไม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือเท่าที่ควร อีกทั้งสิ่งที่บีบีซีถูกอ้างอิงถึงอย่างสำคัญคือ ฐานข้อมูล เพื่อการเสนอข่าวอย่างถูกต้องนั้น เธอกล่าวว่าสิ่งนี้ยังไม่เกิดมีในสังคมข่าวของไทย

 

"ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าคุณภาพมันสร้างได้ และอยากให้คุณภาพของบีบีซีมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ บีบีซีภาคภาษาไทยอาจจะปิดตำนานในที่สุด แต่คุณภาพแบบบีบีซีไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องกับบีบีซีต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องจากวีโอเอ วิทยุชุมชนกำลังเกิดเป็นดอกเห็ด สิ่งเหล่านี้เราก็มีความหวัง"

 

คำถามและความหวังสุดท้ายของการสัมมนาในวันนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาคิดกันต่อไปว่า ทำอย่างไรสื่อมวลชนที่เราเชื่อถือได้ในความถูกต้อง และเป็นกลางจะเกิดขึ้นในสังคมไทย และคงไม่ใช่เพียงรายใดรายหนึ่ง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องอาลัยหาการนำเสนอข่าวที่เป็นกลาง ถูกต้อง และเที่ยงตรง  เมื่อสื่อใดสื่อหนึ่งปิดตัวลงไปอีก

 

...........................................................................................

 

การสัมมนาหัวข้อ "บทบาทวิทยุบีบีซีต่อสังคมไทย:  มองย้อนก่อนปิดฉาก 64 ปี ของบริการภาคภาษาไทย" จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พ.ย. 2548 โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แก่ ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย อุปนายกมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี, คุณวีรวรรณ วรรุตม์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน,) คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, และ คุณนวลน้อย ธรรมเสถียร ศูนย์ข่าวบีบีซี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท