Skip to main content
sharethis

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2005


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสื่อพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมายังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา


 


พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ต้องการปรับความเข้าใจเข้าหากัน ยืนยันว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบที่จะยึดถือแนวทางสันติวิธี ระบุประเด็นศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่ก็ต้องคิด


 


"ข่าวแต่ก่อนที่ออกมาว่า อาจารย์อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันไป แต่ผมเองก็เข้าใจดี และเคยมาเยี่ยมให้กำลังใจอาจารย์แล้ว ข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรแต่ผมเองเข้าใจ" พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าว


 


ด้านนายอิสมาแอ อาลี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีกรณีที่นักศึกษาถูกบุกค้นหอพัก ถูกยิง และถูกจับกุม ทำให้เห็นว่านักศึกษา มอ.ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยเฉพาะนักศึกษามุสลิม จะโดนเพ่งเล็ง ว่าเป็นแนวร่วม ทั้งที่นักศึกษาที่นี่มีจิตใจเดียวกันที่จะสร้างสันติวิธีด้วยกันทั้งนั้น แต่ละคนสามารถเป็นพลังที่เข้มแข็งได้หากได้รับการสนับสนุน จึงเห็นว่าควรมีโครงการ "แผนงานเสริมสร้างพลังนักศึกษา" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ระดมพลังนักศึกษา ผู้นำศาสนา มาเป็นพลังมวลชน เสริมสร้างสันติสุข


 


นายอุสมาน ราษฏร์นิยม  อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมมุสลิมกล่าวว่า ความระแวงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำลายพลังนักศึกษา  จากผู้ก่อการดี กลายเป็นถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อยากให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาออกไปทำกิจกรรมช่วยสังคม และทำงานได้อย่างมีความสุข เชื่อว่านักศึกษารักประเทศชาติ รักความเป็นไทย ยอมอุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์สังคม


 


นายไซฟุดดีน เบนอะ กรรมการบริหารองค์การนักศึกษา กล่าวว่า ทำไมทุกคดีที่เกิดขึ้นจึงต้องเพ่งเล็งมาที่กลุ่มนักศึกษา ที่ผ่านมามีทั้งการบุกรุกตรวจค้น ทั้งที่นักศึกษาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ก็ต้องมาเสียเวลาตอบคำถามเจ้าหน้าที่


 


"ตัวผมเองก็ถูกดักฟังโทรศัพท์ ซึ่งทุกวันนี้อยู่ด้วยความระแวง ว่าตัวเองถูกเพ่งเล็งว่าอยู่ร่วมในขบวนการก่อความไม่สงบ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" นายไซฟุดดีนกล่าว


 


ส่วน น.ส.รุสนา  บูนำ นักศึกษาวิทยาลัยอิสลามศึกษา กล่าวว่าที่ผ่านมารู้สึกหวาดระแวงเพราะข่าวสารการเป็นอยู่ของนักศึกษาหญิงที่ออกไป เป็นในแง่ลบ เช่นมีข่าวออกมาว่า ตั้งแต่มีการส่งกำลังทหารเข้ามารักษาความสงบในพื้นที่ ผู้หญิงสามจังหวัดตั้งครรภ์โดยไม่มีพ่อ ซึ่งยังไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ทำให้นักศึกษาหญิงต้องการความมั่นใจ ในการรักษาความปลอดภัย ทั้งจากทางมหาวิทยาลัยและจากทางรัฐบาลในการอยู่ในพื้นที่และทำกิจกรรม


 


"ขณะนี้ทราบมาว่า แกนนำนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำของทางราชการด้วย ทำให้รู้สึกกลัว และท้อถอยที่จะทำกิจกรรมต่อไป เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง" น.ส.รุสนา กล่าว


 


หลังรับฟังปัญหาจากฝ่ายต่างๆ พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม ลงมาทำงานในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มนักศึกษา เพื่อจะนำเสนอปัญหาเพื่อให้มีการแก้ไขได้เร็วขึ้น


 


บางถ้อยคำฟ้องจากนักศึกษา


 


นายมูฮำหมัด อีแมดือเระ เลขานุการชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวกับ พล.ต.อ.ชิตชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการพบปะกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมของชมรมไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ที่ผ่านมา มีกรรมการชมรมมุสลิม หรือแกนนำนักศึกษา ถูกจับตัวไป ขณะที่บางส่วนก็หายตัวไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมการชมรมมุสลิมชุดใหม่ทำงานยากขึ้น


 


เราถูกสื่อมวลชนมาถามจำนวนมากว่าทำอะไรบ้าง ถูกสังคมตั้งคำถามมากขึ้นว่าทำอะไร การทำกิจกรรมในพื้นที่อื่นนอกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยากมากขึ้น เมื่อตอนผมเรียนอยู่ปี 1 ที่ผมเคยไปทำกิจกรรม จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีมาก แต่เมื่อผมขึ้นมาเป็นกรรมการชมรมมุสลิม ก็ไม่เหมือนเดิม ผมติดต่อไปว่าจะไปทำกิจกรรม ก็ถูกบ่ายเบี่ยงว่าไม่ว่าง เราก็มาคิดว่าทำไม ถึงเป็นอย่างนั้น เราก็พบว่าเขามองผิดไป


 


ชมรมมุสลิม มีตัวแทนของนักศึกษาที่หลากหลาย บางคนไม่มีความรู้ทางศาสนาอิสลามมาเลย เราได้ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในทางศาสนาให้กับเขา บางปีชมรมมุสลิมมีงบมากก็ให้นักศึกษาที่ยากจนได้กู้ยืม  แต่บางปีที่มีงบน้อย ก็จะรวมรวมจากคณะกรรมการด้วยกันมาให้นักศึกษาบางคนกู้เรียน ชมรมมุสลิมไม่ได้ทำหน้าที่เกินกรอบที่มหาวิทยาลัยกำหนดเลย ซึ่งในปีนี้เราพยายามทำกิจกรรมกับคนที่หลากหลายมากขึ้น


 


ในช่วง 2 ปีที่เกิดความรุนแรง ทุกคนรู้สึกลำบากใจในการทำกิจกรรม บางคนไม่อยากเข้ามาเป็นกรรมการ แต่เพื่อนๆก็เลือกมา ซึ่งบางคนก็พยายามบ่ายเบี่ยงเพราะไม่อยากเป็น แต่เมื่อเพื่อนเลือกมาแล้วก็ต้องเป็นเพราะแสดงว่าเพื่อนๆ ให้ความไว้วางใจเราแล้ว


 


เวลาจะทำกิจกรรมเราจะไปขอสนับสนุนงบประมาณจากนอกมหาวิทยาลัยก็ยากมากขึ้น เพราะไม่มีใครอยากให้ ขณะที่เราเองก็ไม่กล้าไปขอ จนบางครั้งก็ต้องเลิกโครงการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net