ตามรอย "เจิ้งเหอ" สู่มหาอำนาจที่แท้จริง

คลื่นความคิด

โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์และทีมงาน

ออกอากาศ เสาร์ 9.00-10.00 น. / อาทิตย์ 8.30-10.00 น.

ออกอากาศซ้ำ (re-run) คืนวันสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 03.00 น.

ทางสถานีวิทยุ FM 101 เมกะเฮิร์ตซ์

(คลื่นความคิดเป็นรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์ในหลากหลายเรื่องราวในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และอนาคต)

 

 

ตามรอย "เจิ้งเหอ" สู่มหาอำนาจที่แท้จริง

(ออกอากาศ  29-30 ตุลาคม 2548)

 

"การเมืองกับการทหาร ดูน่าเป็นทุกข์ ที่ทั้งสองอาชีพนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดของมนุษย์ ที่มีทั้งการเจรจาต่อรองกัน หรือการต่อสู้กันอยู่เสมอ"

                           วอลแตร์

 

สัปดาห์นี้ออกอ่าวออกทะเลกันเลย  ว่าด้วยเรื่องของแม่ทัพเรือจีนที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 600 ปีที่แล้ว ที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ บ้างเรียก  "แต้ฮั้ว"  บ้างเรียก  "เจิ้งเหอ" หรือ "เช็งโฮ"  ว่ากันว่าตอนเด็กๆ อาจมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "หม่าเหอ" อีกด้วย แต่ขอเรียกรวมๆ ว่า "เจิ้งเหอ" ตามที่นิยมกันเป็นส่วนใหญ่

 

ที่หยิบเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนเพราะในปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 600 ปี  การเดินทางท่องทะเลของนายพล

เจิ้งเหอในยุคราชวงศ์หมิง  ที่ออกท่องมหาสมุทรไปในดินแดนต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทั่วมหาสมุทรอินเดีย ไปไกลถึงแอฟริกา ก่อนที่ "วาส โกดา กามา" นักเดินเรือชาวโปรตุเกสจะค้นพบเส้นทางการเดินเรือมายังเอเชียนับเป็นร้อยๆ ปีด้วยซ้ำ

 

จาก "เจิ้งเหอ" ถึง "เสิ่นโจว"

ในวาระครบรอบที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะให้ความสำคัญมากพอสมควร มีทั้งการจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ใหญ่โตในกรุงปักกิ่ง  และที่เมืองนานกิงที่เคยเป็นเมืองหลวงในยุคนายพลเจิ้งเหอ มีการเชิญคณะตัวแทนจากประเทศต่างๆไปร่วมงาน คณะของไทยดูเหมือนว่าจะนำโดย "อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" และสื่อมวลชนอีกบางส่วน สำหรับเราที่ไม่ได้เดินทางไปกับเขาแต่เผอิญสนใจเรื่องของนายพลเจิ้งเหอและการท่องทะเลของจีนมานานแล้วไม่ว่าในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต จึงถือโอกาสร่วมพูดคุยไปกับเขาด้วย โดยนอกเหนือจากเกร็ดประวัติความเป็นมาที่เป็นพงศาวดารที่น่าจะมีสีสัน มีความสนุกสนานอยู่ไม่น้อย ยังเป็นเรื่องที่น่าคิดด้วยว่าเหตุใดเกียรติคุณของแม่ทัพเรือจีนในอดีตท่านนี้จึงถูกนำมาฟื้นฟูเตือนความจำกันอีกครั้ง อย่างเอาจริงเอาจังกันพอสมควรในการหยิบเรื่องราวของนายพลเจิ้งเหอมาป่าวประกาศ มาสร้างความรู้จักให้กับใครต่อใคร ไม่เฉพาะกับเมืองจีน แต่ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้รวมไปถึงชาวโลกด้วย นอกเหนือไปจากนี้ดูเหมือนว่าจะมีการสนับสนุนให้มีการผลิตสารคดีประวัติชีวิตและผลงานของนายพลเรือท่านนี้ออกมาหลายต่อหลายครั้ง ตรงนี้ล่ะที่น่าคิดว่าทำไมประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ของจีนที่เคยถูกทิ้งถูกลืมกันไปนานแล้ว จึงได้ถูกนำมาปัดฝุ่นกันใหม่ หรือในยุคอดีตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือรัฐบาลจีนยังไม่ถึงกับเปิดประเทศกว้างขวางอ้าซ่าเหมือนในขณะนี้  เรื่องราวที่ว่านี้ก็ดูจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก หรือไม่พยายามทำให้เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไหร่ แต่เหตุใดในช่วงหลังๆ หรือในขณะนี้ เรื่องของนายพลเจิ้งเหอ จึงกลายเป็น "ไฮไลท์" สำหรับประเทศจีนที่แทบเรียกได้ว่าพอๆ กับการส่งมนุษย์ไปกับยานอวกาศเสิ่นโจวเมื่อเร็วๆ นี้ก็ว่าได้

 

คือคล้ายๆ กับว่า ไม่ว่าอดีตหรืออนาคตที่เกี่ยวกับจีน จะถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับความเป็นจีนในปัจจุบันอย่างเป็นระบบพอสมควร จึงน่าคิดว่าการนำเรื่องราวเหล่านี้มาใช้ประโยชน์นั้นพอจะสะท้อนจุดมุ่งหมายอะไรกันได้หรือไม่? สำหรับจีนในขณะนี้และในอนาคตข้างหน้า และหากมีเวลาพอก็อาจลองเปรียบเทียบบทบาทกองทัพเรือจีนในยุคนายพลเจิ้งเหอกับบทบาทของกองทัพเรือจีนในยุคนี้ว่าไปๆ มาๆ แล้วมันจะทำให้จีนในยุคนี้กับจีนเมื่อ 600 กว่าปีที่แล้ว มีความผิดแผกแตกต่างกันหรือไม่เพียงใด เรียกว่าแม้จะไม่ได้ตามเขาไปดูนิทรรศการ แต่ก็พอจะอาศัยความรู้รอบโต๊ะนำเรื่องราวที่ว่านี้มาแลกเปลี่ยนกันแบบครบวงจรพอได้เหมือนกัน

 

มหาขันทีแห่งราชวงศ์หมิง

เริ่มกันที่เทือกเถาเหล่ากอของนายพลเจิ้งเหอ ซึ่งขออนุญาตนำสิ่งที่ผู้สื่อข่าว กรุงเทพธุรกิจ และ    ผู้จัดการ ที่เข้าร่วมชมนิทรรศการและถ่ายทอดเป็นบทความมาผสมผสานกับหนังสือประวัติศาสตร์จีนที่เคยพูดถึงเรื่องนี้ เช่น หนังสือ  ประวัติวัฒนธรรมจีน ของท่านอาจารย์ ล. เสถียรสุต หรือหนังสือ อู่อารยธรรมตะวันออก ของนักประวัติศาสตร์อเมริกันอย่าง เอ็ดวิน โอ. ไรส์เชอร์ และ ยอห์น เค. แฟร์แบงค์  สรุปความได้ว่าแม้นว่าชื่อและตัวตนของนายพลเจิ้งเหอน่าจะต้องถือว่าเป็นคนจีน แต่มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ลักษณะท่าทางของท่านน่าจะมีส่วนของความเป็น"แขก" หรือไม่ถึงกับเป็นจีนแท้ๆ อยู่พอสมควร

 

ในหนังสือของอาจารย์ ล. เสถียรสุต  บอกว่านายพลเจิ้งเหอน่าจะมีเชื้อสายมองโกล หรือไม่ก็อินเดีย หรือไม่ก็อาหรับ โดยท่านให้น้ำหนักไปทางแขกอาหรับมากเป็นพิเศษ เหตุผลคือผู้ที่มีความสามารถในการเดินเรือทะเลลึกในยุคอดีตนั้นมักเป็นชาวอาหรับ แต่ไม่ว่าเชื้อสายหน้าตาของท่านจะออกไปแนวไหนก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ คือ ท่านนับถือศาสนาอิสลามตลอดชีวิต แม้ว่าประวัติชีวิตในตอนหลัง อาจมีการโยงมาถึงศาสนาพุทธอยู่บ้างก็ตาม  อาจารย์ ล. เสถียรสุต บอกว่า เชื้อสายของนายพลเจิ้งเหอนั้นเป็นอิสลามมาตั้งแต่รุ่นปู่ อพยพมาตั้งรกรากอยู่แถบมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน จนกระทั่งได้รับพระราชทานแซ่จากพระจักรพรรดิจีนคือ แซ่เบ๊ หรือกลายเป็นตระกูลเบ๊ สืบต่อกันมา โดยสันนิษฐานว่าเหตุที่ได้รับพระราชทานแซ่เบ๊นั้น อาจเป็นการตั้งตามแซ่ของแม่ทัพจีนชื่อ "เบ๊เอี๋ยง" ที่ถูกส่งเข้าไปยึดดินแดนทางตอนใต้ของจีนและได้นำวัฒนธรรมจีนเข้าไปเผยแพร่ ณ ดินแดนแถบนั้นเป็นเวลานาน

 

แต่ในข้อเขียนของคุณศิริญญา มงคลวัจน์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" ที่ได้รับการบอกเล่าประวัตินายพลเจิ้งเหอจากไกด์ชาวจีนโดยตรงบอกว่า "ไกด์ท้องถิ่น ได้เล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า เดิมทีเจิ้งเหอมีชื่อว่า ซานเป่า แซ่หม่า หรือ หม่าซานเป่า  เกิดที่มณฑลยูนนาน พื้นเพเดิมของครอบครัวเป็นมุสลิม แต่ก่อนแซ่หม่าเรียกหม่าเหอ  มีพี่น้อง 5 คน เป็นชายหนึ่งคน หญิงสี่คน  เมื่อหม่าเหออายุได้ 12 ปี  ตรงกับช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิหงอู่ หรือจูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง  ได้นำกำลังทัพขับไล่พวกมองโกลที่มาตั้งราชวงศ์หยวนออกจากประเทศจีน ทำการยึดยูนนานเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหมิงได้สำเร็จ ในเวลานั้น หม่าเหอได้ถูกจับตอนเป็นขันที มีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้ "

 

น่าจะพอสรุปรวมความได้ว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่งประมาณ 600 กว่าปีที่แล้ว หลังจากที่แผ่นดินจีนถูกพวกมองโกลที่นำโดยจอมจักรพรรดิเจงกิสข่านและกุบไลข่าน บุกเข้ายึดแล้วตั้งราชวงศ์ง้วน หรือหงวน  หรือหยวน สืบต่อเนื่องกันมาถึงร้อยกว่าปี อำนาจของพวกมองโกลก็เสื่อมลง เกิดการทะเลาะแย่งชิงอำนาจกันอยู่ในกรุงปักกิ่ง ชาวจีนแท้ๆ รายหนึ่งชื่อ "จูง่วนเจียง" หรือ "จูหยวนจาง" ลูกกำพร้าที่ดิ้นรนสู้ชีวิต เคยเป็นขอทานมาก่อน แต่มีมานะอุตสาหะสูงมาก ได้บวชเป็นพระ และศึกษาเล่าเรียนจนมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของผู้คน จึงได้รวบรวมผู้คนก่อการกบฏต่อมองโกล จนได้ชัยชนะสามารถยึดแผ่นดินจีนกลับคืนมาได้จึงตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ ตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองเรียกว่าราชวงศ์หมิง หรือ เหม็ง  มีเมืองหลวงอยู่ที่นานกิง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกและอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงแทนที่จะเป็นกรุงปักกิ่งเช่นเดิม

 

เมื่อขึ้นครองราชย์  จูง่วนเจียงหรือจูหยวนจางได้เปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองใหม่ว่า "หงอู่" หรือ "หุงอู่" บางทีก็เรียกตามสมัญญานามว่ากษัตริย์ "ไถ้จู่" หรือ "ไทโจ๊ว" แล้วแต่จะออกเสียงกันไป แต่มีความหมายว่า "บรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่" ทรงครองราชย์ได้สิบกว่าปีก็สวรรคต พระราชนัดดาชื่อว่า "ฮุ่ยตี่" หรือ "เฉียนเหวิน" หรือ "จูยุ่นเหวิน" ได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ ซึ่งย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับโอรสของกษัตริย์ไทโจ๊ว โดยเฉพาะโอรสองค์ที่ 4 ที่ชื่อ "เจ้าชายจูตี้" หรือที่อาจารย์ ล. เสถียรสุต เรียกว่า"เจ้าชายเอียง" ซึ่งถูกส่งคุมปักกิ่ง และเป็นที่รักใคร่ของแม่ทัพนายกองในขณะนั้น จึงก่อการกบฏ ปฏิวัติหลานชายของพ่อหรือกษัตริย์ฮุ่ยตี่ แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ทรงพระนามว่ากษัตริย์ "เซ่งโจ๊ว" หรือบางทีก็เรียกว่ากษัตริย์ "หยุ่งเล่อ" หรือ "หย่งเล่อ" ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้นี่เองในขณะที่เป็นเจ้าชายไปรบได้เมืองยูนนาน ก็ได้จับหม่าเหอ หรือเจิ้งเหอ ตอนเป็นขันที เพื่อให้รับใช้ตนเองในราชสำนักมาโดยตลอด

 

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีอำนาจเป็นถึงจักรพรรดิ จึงได้มอบหมายให้เจิ้งเหอ คุมกองทัพเรือนับเป็นร้อยๆ ลำ มีทั้งเรือขนาดใหญ่ ความยาวระดับ400 ฟุต ถึง 60 ลำ เรือรบขนาดเล็ก 286 ลำ ประกอบไปด้วยกำลังพลไม่น้อยกว่า27,870 คน หรือเกือบ 30,000 คน ออกท่องทะเลไปๆ กลับๆ ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ถึง 7 ครั้ง 7 เที่ยว กินระยะเวลาร่วม 28 ปี คิดเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 50,000 กิโลเมตร จนกลายเป็นประวัติศาสตร์การเดินเรือที่ถูกหยิบยกมาเล่าขานกันอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 600 ปี

 

ปมปริศนาอันลึกลับ

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้กษัตริย์หย่งเล่อ สร้างกองเรือขนาดมหึมา ให้ขันทีคนสนิทเป็นแม่ทัพเรือออกท่องมหาสมุทรกันถึง 7 ครั้ง 7 เที่ยว สิ่งนี้ยังเป็น "ปมปริศนา" อันลึกลับที่นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันยังตีความกันไม่เสร็จว่าอะไรคือเหตุผล หรือแรงบันดาลใจกันแน่ และการตีความเบื้องหลังแรงผลักดันเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้ประวัติศาสตร์ 600 ปี การท่องทะเลของนายพลเจิ้งเหอ กลายเป็นปริศนาต่อกองทัพเรือจีนในยุคปัจจุบันหรือในอนาคต ที่ทำให้นักการเมือง นักการทหารต้องหยิบมาตีความกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนในปัจจุบันได้พยายามรื้อฟื้นเรื่องราวของนายพลเจิ้งเหอ มาโปรโมตประเทศจีนกันอย่างเอิกเกริก พร้อมๆ กับการพัฒนาแสนยานุภาพกองทัพเรือจีนกันอย่างรีบเร่ง

 

ถ้าว่ากันในแบบ "เกร็ดพงศาวดาร" หรือ เกร็ดประวัติศาสตร์  ส่วนใหญ่มักเล่าว่าสาเหตุที่กษัตริย์เซ่งโจ๊ว

หรือ หย่งเล่อ มอบหมายให้นายพลเจิ้งเหอ คุมทหารราว 30,000 นาย ท่องทะเลนั้น ก็เพื่อไล่ล่าอดีตกษัตริย์ฮุ่ยตี่ ที่ถูกพระองค์ปฏิวัติชิงบัลลังก์ แล้วเสด็จหลบหนีออกจากนานกิง ลงเรือออกทะเล ลัดเลาะไปตามหมู่เกาะทะเลใต้ หรือในแถบ "หนานหยาง"  ซึ่งจะหลบหนีไปอยู่ในเกาะแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยังไม่มีใครรู้จนถึงบัดนี้ ซึ่งข้อเขียนของ คุณศิริญญา มงคลวัจน์ ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ บอกว่า  "ไกด์หนุ่มยังคงเล่าต่อไปว่าภายหลังจักรพรรดิหย่งเล่อขึ้นครองราชย์  ได้โปรดให้สร้างกองเรือขนาดใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกติดตามจักรพรรดิเฉียนเหวิน หรือฮุ่ยตี่  ซึ่งบ้างก็เชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ บ้างก็ว่าตายแล้ว บ้างว่าบวชเป็นพระ บ้างว่าหนีไปต่างประเทศ" ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้สามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกกลับมาเล่นงานกันได้ง่ายๆ

 

ถ้าว่ากันตามเกร็ดประวัติศาสตร์ก็จะหนักมาแนวนี้ ว่าไปแล้วดูแปลกๆ อยู่เหมือนกัน ว่าทำไมต้องใช้กำลังคนมากถึง 3 หมื่น ไล่ล่ากันยาวนานถึง 28 ปี   ไปไกลถึงทวีปแอฟริกา   ซึ่งทำให้มีการมองไปในแนวอื่นบ้าง  เช่น ข้อเขียนของ คุณยุวดี มณีกุลใน กรุงเทพธุรกิจ ที่บอกว่า "อย่างไรก็ดี ในวงวิชาการมีข้อถกเถียงกันมากมายหลายประเด็นถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของพระบรมราชโองการในการเดินทัพทางทะเลตลอดระยะเวลา 28 ปี ว่าเป็นการสำรวจทางทะเล หรือเป็นการเปิดการทูตแบบสันถวไมตรี หรือเป็นการจะใช้นโยบายเพื่อกดขี่บีฑา…"

 

ข้อเขียนนี้บอกต่อว่า "วุฒิชัย มูลศิลป์  ผู้เขียนหนังสื่อเรื่อง  เมื่อประวัติศาสตร์โลกเกือบเปลี่ยนโฉมหน้า - การสำรวจทางทะเลของจีนสมัยต้นราชวงศ์หมิง   ได้อ้างถึงคำกล่าวของ ศาสตราจารย์พอล เคเนดี้ ไว้ว่า  การที่กองเรือเจิ้งเหอ สามารถแล่นอ้อมแอฟริกาใต้ และค้นพบโปรตุเกสได้ก่อนที่โปรตุเกส หรือ วาส โกดา กามา จะค้นพบเอเชียโดยเส้นทางเรือ  รวมทั้งการที่กองเรือของวาส โกดา กามา ที่มาถึงอินเดียเป็นเที่ยวแรก เมื่อปี ค.ศ. 1498 มีเรือเพียง 4 ลำ ลูกเรือไม่ถึง 200 คน เทียบไม่ได้เลยกับกองเรือของเจิ้งเหอ ไม่ว่าในการเดินทางครั้งใดก็ตาม …" หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการมองในแง่ดีว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการสำรวจทะเลเป็นสำคัญ

 

ข้อเขียนนี้ยังมีต่อไปว่า…  แม้ในวงวิชาการส่วนใหญ่ จะชื่นชมกับแสนยานุภาพทางทะเลของเจิ้งเหอ แต่ก็มีทัศนะทวนกระแสของ "เจฟ เวด" ในเอกสารเรื่อง   เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรีหรือเพื่อกดขี่บีฑา แปลโดย อาจารย์ทรงยศ  แววหงษ์  ที่เสนอว่า พฤติกรรมของจีนที่ต่อเนื่องในระยะนั้น มี 3 กรณีที่น่าสนใจ คือ มีการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนทางด้านเหนือของยูนนาน เริ่มตั้งแต่สมัยของพระจักรพรรดิจูหยวนจาง  นั่นก็คือตั้งแต่ปฐมราชวงศ์หมิงคนแรกแล้ว จีนได้เริ่มแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแผ่ขายอิทธิพล ทั้งทางบก ที่เห็นได้จากการแผ่อิทธิพลเข้าไปทางตอนเหนือของยูนนาน  ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลจักรพรรดิหย่งเล่อ ก็ได้ส่งทหารจีนเข้าไปรุกรานไดเวียดหรือเวียดนาม  นอกจากนั้น การเดินเรือ 7 ครั้ง ไปยังน่านน้ำคาบสมุทรทั้งตะวันออกและตะวันออกกลางของเจิ้งเหอ  จึงเข้าข่ายลักษณะของการทหารมากกว่าจะเป็นการทูตแบบสันถวไมตรี เพราะในหลายกรณีมีการใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับประเทศ ต่างๆ เช่น ส่งทหารที่นำมากับกองเรือเข้าจัดการกับโจรสลัดในบางพื้นที่แล้วแต่งตั้งตัวแทนของราชวงศ์หมิง เป็นผู้ดูแลพื้นที่นั้นแทน เข้าแทรกแซงการเมืองของอาณาจักรชวา หรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน กดดันอังวะหรือพม่า บุกศรีลังกา นำตัวกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ของลังกาไปจีน แล้ววงเล็บว่า…มีข่าวลือว่า มีการอัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วไปจีนด้วย  และที่เกี่ยวกับสยามหรือประเทศไทยของเรา มีบันทึกว่าเจิ้งเหอออกคำสั่งให้รื้อสถูปในอยุธยาจนราบเป็นหน้ากลอง (จริงหรือไม่ คงต้องไปค้นประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช แห่งราชวงศ์อู่ทอง หรือยุคอยุธยาที่เชื่อกันว่าเป็นช่วงที่เจิ้งเหอเดินทางมาถึงประเทศไทยมาเทียบเคียงดู)  เอกสารของ "เจฟ เวด" มีต่อไปว่า…" กองทัพเรือของเจิ้งเหอ ในช่วงนั้นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับมหาอำนาจตะวันตกที่ข่มขู่ชาติที่อ่อนแอกว่า ถือเป็นการใช้นโยบายการทูตแบบ…เรือปืน…จึงน่าจะถือเป็นต้นแบบของการล่าอาณานิคมทางภาคพื้นทะเลของจีน หรือเป็นจุดประสงค์เพื่อแผ่อำนาจของจีนเป็นสาเหตุสำคัญ…"

 

มุมมองที่ผ่านสายตาฝรั่งเช่นนี้อาจทำให้ภาพของเจิ้งเหอ ค่อนข้างน่ากลัว น่าระแวงพอๆ กับพวกฝรั่งนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย  เช่นเดียวกับฝรั่งอเมริกันอย่าง เอ็ดวิน โอ. ไรเชอร์ส กับ ยอห์น แฟร์แบงค์  ที่เขียนเรื่อง อู่อารยธรรมตะวันออก ก็มองในมุมนี้เช่นกัน  คือกล่าวว่า "อนึ่ง นอกจากบรรดารัฐซึ่งเคยเป็นผู้สวามิภักดิ์ มาก่อนอย่างเช่นญวณและสยามแล้ว กองเรือของเจิ้งเหอ ยังแวะที่ใหม่ๆ อีก 50 แห่ง ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบนี้ ถ้าไม่กลัวจนเกินไป ก็ย่อมต้องเลื่อมใสในกองเรือจีนอย่างไม่มีปัญหา และบรรดาประมุขของดินแดนดังกล่าวจึงถูกจีนรวมไว้ในฐานะผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อจีนด้วย คณะผู้แทนจากฮอร์มุซและฝั่งแอฟริกาได้เดินทางมายังประเทศจีนหลังจากนั้นอีก 4 ครั้ง คณะผู้แทนจากเบงกอล 11 ครั้ง  ผู้ปกครองของเมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตราและซีลอนถูกบังคับนำตัวไปเมืองจีน และกษัตริย์เมกกะไปนานกิง 4 ครั้ง…"

 

มาถึงตรงนี่คงต้องบอกว่า เรื่องราวของนายพลเจิ้งเหอ แทนที่จะกลายเป็นการโปรโมตความสามารถในการสำรวจทางทะเลเป็นชาติแรก ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่นำไปสู่การสร้างความหวาดระแวงให้กับจีนได้ง่ายๆเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพเรือจีนในยุคนี้ชักจะใหญ่โต ทำท่าจะมีแสนยานุภาพเทียบเคียงกับอำนาจทางทะเลในยุคนายพลเจิ้งเหอ แต่ก็ยังมีคำถามต่อไปอีกนั่นแหละว่า ถ้าหากเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ในเมื่ออำนาจทางทะเลของจีนใหญ่โตถึงขั้นนั้น เหตุใดจีนจึงไม่ใช้นโยบายเรือปืนออกไปยึดบ้านยึดเมืองใครเป็นอาณานิคมแบบเดียวกับฝรั่งที่เพิ่งจะมามีอำนาจทางทะเลกันในยุคหลังๆ คือแทนที่จะไปยึดโปรตุเกสได้เมื่อ600 ปีที่แล้ว แต่เหตุใดจึงปล่อยให้โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือใครต่อใครใช้เรือปืนมายึดบ้านยึดเมืองจีนกันได้ง่ายๆ ในอีกแค่ไม่กี่ร้อยปีหลังจากนั้น หรือเหตุใด กองทัพเรือจีนที่เคยออกทะเลต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี จึงหยุดชะงักไปดื้อๆ สูญหายไปจากท้องทะเลยาวนานถึง 500 ปี จึงเพิ่งจะมาเริ่มรื้อฟื้นกันในสมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในขณะนี้

 

กองเรืออันเกรียงไกร…กลับหายวับ!

ในเรื่องนี้ ทั้งคุณยุวดีและคุณศิริญญา  นักข่าวของ กรุงเทพธุรกิจ และ ผู้จัดการ ไม่ค่อยได้กล่าวถึงเท่าไหร่นัก จึงต้องไปเปิดตำราประวัติศาสตร์ตรวจสอบดู ซึ่งเท่าที่ดูจากหนังสือ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน ข องอาจารย์ ล. เสถียรสุต กับ อู่อารยธรรมตะวันออก  ของไรส์เชอร์กับแฟร์แบงค์ ก็พอจะเห็นเหตุการณ์บางอย่างที่อาจมีส่วนทำให้กองทัพเรือของเจิ้งเหอ หรือแสนยานุภาพของกองทัพเรือจีนเมื่อ 600 ปีที่แล้ว หายวับไปแบบฉับพลันทันที

 

แม้หนังสือของท่านอาจารย์ ล. เสถียรสุต จะไม่ได้สรุปสาเหตุไว้ชัดๆ แต่ได้หยิบยกเหตุการณ์ในช่วงระยะนั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ภายในประเทศจีนมานำเสนอให้เห็นเป็นขั้นๆ ไม่ว่าปัญหาจากพวกมองโกลที่เคยถูกจีนขับไล่ออกไปตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์หมิง ได้ทำท่าเริ่มฟื้นกลับคืนมามีอำนาจกลายเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับจักรพรรดิเซ่งโจ๊ว จนต้องทุ่มกำลังไปปราบ นอกจากนั้นยังมีการรบกับเวียดนามและพม่าทางตอนใต้ มีการก่อตัวและขยายอิทธิพลของชนชาติแมนจูที่อยู่นอกกำแพงเมืองจีน รวมไปถึงการแย่งชิงอำนาจกันภายในราชวงศ์หมิงที่เป็นเรื่องปกติในราชสำนักจีนอยู่แล้ว  จากสภาพดังกล่าวอาจจะพูดง่ายๆ ว่า คงทำให้ไม่ว่าใครก็ตามคงไม่มีอารมณ์ที่จะออกสำรวจทะเลกันสักเท่าไหร่

 

สำหรับหนังสือของไรส์เชอร์และแฟร์แบงค์นั้น ต้องยอมรับว่าวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบและมีน้ำหนัก มีเหตุผลสนับสนุนกันพอสมควร อันดับแรกเขามองว่า ถ้าจะมองแบบเหตุผลส่วนตัวก็อาจเป็นเพราะตามหาอดีตกษัตริย์ฮุ่ยตี่ไม่พบ จึงทำให้แรงจูงใจที่จะสร้างกองเรือ หรือพัฒนากองเรือต่อ ต้องลดๆ ลงไปบ้าง แต่เหตุผลที่น่าจะมีน้ำหนักจริงๆ จังๆ นั้นน่าจะเป็นเพราะค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินเรือในแต่ละเที่ยวของเจิ้งเหอ น่าจะมีค่อนข้างสูงพอสมควร ซึ่งถ้าหากฐานะของราชวงศ์หมิงในขณะนั้นยังคงมั่งคั่งร่ำรวย ก็อาจจะไม่ถึงกับหนักหนาสาหัสเกินไปนัก แต่เผอิญในระยะนั้นราชสำนักของพระเจ้าเซ่งโจ๊วมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เยอะมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ต้องทุ่มเทให้กับการปกป้องอาณาจักรทางบก เช่น การจะต้องปราบปรามพวกมองโกล ปราบเวียดนาม พม่า หรือปรามๆ อิทธิพลพวกแมนจู ซึ่งล้วนแต่เป็นคู่ต่อสู้บนบกเป็นหลัก และเมื่อต้องสู้กับใครต่อใครมากมายเช่นนี้จึงทำให้เงินของแผ่นดินหรือของราชสำนักร่อยหรอ จนกระทั่งทำให้การเดินเรือของเจิ้งเหอ กลายเป็นสิ่งที่ถูกนำไปตำหนิในราชสำนักอยู่บ่อยครั้งว่า ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการผจญภัยที่ฟุ่มเฟือย ผลตอบแทนมีแค่การนำนิทานแปลกๆ มาเล่าสู่กันฟัง หรือแค่นำสัตว์แปลกๆ อย่างนกกระจอกเทศ ม้าลาย ยีราฟ มาอวดโชว์กันเท่านั้น  และแม้จะได้รับการยอมรับจากบรรดาประเทศต่างๆ ได้รับเครื่องบรรณาการแสดงความสวามิภักดิ์ เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางด้านค้าๆ - ขายๆ อยู่บ้าง แต่ทว่าบรรดาผู้คนในราชสำนักของจีนในขณะนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไม่ค่อยชอบการทำมาค้าขายกันสักเท่าใดนัก หรือดีไม่ดีกลับเป็นประเภทที่ดูถูกอาชีพพ่อค้าอีกต่างหาก  คือมองว่าการค้าขายเป็นอาชีพของราษฎรธรรมดาๆ ที่ไม่ค่อยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าไหร่นัก

 

ไรส์เชอร์กับแฟร์แบงค์ จึงสรุปว่า "จะเห็นได้จากความจริงที่ว่า เจิ้งเหอ เป็นขันทีประจำราชสำนักและเป็นผู้มียศสูงนั้น ยังขาดมูลเหตุชักจูงใจที่แน่นอนในการเดินทางออกสำรวจทะเล ต่างไปจากบรรดาพ่อค้าและนักผจญภัยชาวยุโรปในเวลาต่อมา และในส่วนพลังอำนาจในการพัฒนาศักยภาพทางทะเลของจีนให้รุดหน้าต่อไปหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่องค์จักรพรรดิไม่ใช่อยู่ที่ตัวของเจิ้งเหอ รวมทั้งตัวของเจิ้งเหอเองซึ่งเสมือนเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพเรือจีน เป็นทั้งผู้บัญชาการ เป็นนักการทูต และเป็นข้าราชสำนักที่มีความสามารถ  แต่เขามิได้เป็นพ่อค้าด้วย การสำรวจทางทะเลของเขาจึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลพวงที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจในการจัดการกับกิจการประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังเช่นบริษัทเวอร์จิเนีย หรือ บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้หาอาณานิคมหรือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในโพ้นทะเล อันที่จริง การอพยพของพ่อค้าจีน  กรรมกรจีนและเจ้าของร้านค้าข้าวชาวจีนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มมีขึ้นแล้วในขณะนั้น และจำนวนชาวจีนในบริเวณนั้นก็มากกว่าชาวยุโรปซึ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบนั้น แต่ประเทศจีนในสมัยหมิงและชิง ก็ยังคงไม่สนใจกับโอกาสทางการค้าและการได้อาณานิคมโพ้นทะเลแต่อย่างใด…"

 

ด้วยเหตุนี้ ทั้งๆ ที่ออกสตาร์ทก่อนฝรั่งในเรื่องการเดินเรือหลายต่อหลายช่วงตัว …ในไม่ช้ากองทัพเรือของนายพลเจิ้งเหอ ก็เลยต้อง…เรียบร้อยโรงเรียนจีน หรือถูกยุบเลิกไป และกองทัพเรือจีนได้หยุดการพัฒนานานถึง 500 ปี ด้วยประการฉะนี้

 

ผู้ใดครองทะเล  ผู้นั้นคือ…มหาอำนาจที่แท้จริง

หลังจากเหตุการณ์ผ่านมาได้ 500 ปี  เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาเป็นผู้ปกครองและเริ่มก่อตั้งองทัพเรือมาได้ประมาณ 30 กว่าปี ในปี ค.ศ. 1982 หรือ พ.ศ. 2525 แม่ทัพเรือจีนรายหนึ่งชื่อ นายพลเรือ "ลู่ ฮว่า กิง" จะไปอ่านเจอประวัติศาสตร์ของนายพลเจิ้งเหอ ขึ้นมาหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่ว่ากันว่านายพลผู้นี้ชักจะเริ่มเกิดความคิดขึ้นมาว่า กองทัพเรือจีนเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น อาจจะเล็กไป หรือกระจอกไปอย่างไรก็ไม่ทราบได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่านายพลเรือจีนผู้นี้เป็นผู้ที่มักจะแสดงความชื่นชมต่อแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของแม่ทัพเรือฝรั่ง อย่างเช่นนายพล "กอร์ชกอฟ" ของรัสเซีย หรือ "อัลเฟรด ฮามาน" นักยุทธศาสตร์อเมริกันที่เคยประกาศหลักคิดทางยุทธศาสตร์การทหารเอาไว้ในทำนองว่า "ประเทศใดก็แล้วแต่ ที่จะเป็นมหาอำนาจได้นั้น เลี่ยงไม่ได้จากการที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สมุททานุภาพ หรือ sea power หรือจะต้องเป็นมหาอำนาจทางทะเลด้วย ถึงจะถือได้ว่า เป็นมหาอำนาจที่แท้จริง"

 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง "เติ้ง เสี่ยว ผิง" กำลังเร่งผลักดันประเทศ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ "สี่ทันสมัย"  ด้วยการเปิดประเทศ   เริ่มเซ็งลี้ หรือหันมาหารายได้จากการปรับตัวเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเป็นกิจการ กองทัพเรือจีนจึงเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ นำเอารายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลมาพัฒนากองทัพเรือจีนกันอุตลุด มีการปรับปรุงเรือพิฆาตที่เรียกว่าเรือพิฆาตชั้น "ลูดา" จากที่เคยเป็นเรือรบลาดตระเวนธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเรือพิฆาตที่ติดอาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้น และเพิ่มขีดความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์  ยกระดับความขีดความสามารถของเรือพิฆาตชั้น "เจียงเหวย"  เรือพิฆาตติดอาวุธนำวิถีชั้น "ลูหู"  ปลดระวางเรือดำน้ำรุ่นเก่าทั้งหมด นำเรือดำน้ำโจมตีในระบบขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ชั้น "ฮั่น" และ ชั้น "หมิง" เข้ามาเสริม  เพิ่มเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ ชั้น "เซีย" เข้าไปอีก และยังมีการเพิ่มจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้รองรับเครื่องบินลาดตระเวนโจมตีระยะไกลแบบขึ้นลงในทางดิ่ง พร้อมกับพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือ หรือ "ครุยซ์ มิซไซล์" ที่กองทัพเรือจีนพัฒนาขึ้นมาเองในรุ่น C101 , C 801 ที่สามารถปล่อยจากทั้งทางอากาศ  ภาคพื้น และใต้น้ำ กลายเป็นกองทัพเรือที่มีแสนยานุภาพในระดับที่เทียบได้กับแสนยานุภาพกองทัพเรือนายพลเจิ้งเหอ เมื่อ600 กว่าปีก่อนก็ว่าได้  คือไม่ใช่กองทัพเรือในแบบที่เรียกว่า Coastal Navy หรือเป็นแค่  "กองกำลังป้องกันบริเวณชายฝั่ง" อีกต่อไป  แต่เป็นกองทัพเรือที่มีขีดความสามารถในระดับ Blue Water Navy  หรือกองทัพเรือที่สามารถปฏิบัติการได้ในรัศมีระยะไกลได้ทั่วทั้งทะเลจีนใต้และน่านน้ำสากลทั้งหมด  อย่างน้อย เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของจีนก็เคยโผล่ไปเขย่าขวัญญี่ปุ่นถึงในน่านน้ำญี่ปุ่นมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ และหลุดรอดการโจมตีตอบโต้มาได้อย่างสบายๆ

 

การที่จีนได้หวนกลับมาพัฒนาอำนาจกองทัพเรือครั้งใหม่ในรอบ 500 ปี   ทั้งยังมีทีท่าว่าจะมีศักยภาพพอๆ กับอำนาจทางทะเลของนายพลเจิ้งเหอ เมื่อ600 กว่าปีที่แล้ว ทำให้มีการ "ตีความ" ปัจจุบันและอนาคตกันต่อไปว่า   อำนาจทางทะเลของจีนในขณะนี้ จะนำไปสู่การสำรวจทางทะเลแบบเดียวกับที่จีนกำลังสำรวจอวกาศเพียงเท่านั้นหรือไม่ หรือจะนำไปสู่การสร้างสันถวไมตรีกับประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดทางการเมืองและการค้ายิ่งๆ ขึ้นไป   หรือจะกลายเป็นการวัดอำนาจ "เรือปืน" ระหว่างมหาอำนาจทั้งหลายที่ต่างก็ต้องการเป็น "มหาอำนาจที่แท้จริง" โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "สมุททานุภาพ"  หรือ sea power  เป็นตัววัดตัดสินกันต่อไป

 

ในข้อเขียนของคุณศิริญญา  มงคลวัจน์ ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ฉบับวันอังคารที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงข้อสังเกตถึงกรณีการฟื้นฟูเรื่องราวของนายพลเจิ้งเหอในประเทศจีนความตอนหนึ่งว่า "ประวัติศาสตร์การเดินเรือทางทะเลของเจิ้งเหอ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปน้อยมาก กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองที่ได้มีการรื้อฟื้นเรื่องราวขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในปีนี้ที่เป็นวาระครบรอบ 600 ปีแห่งการเดินเรือทางทะเลครั้งแรกของเจิ้งเหอ ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากท่ามกลางการพัฒนาของจีน ดังที่ กิจ ไกด์หนุ่มได้เล่าให้เราฟังว่า การเฉลิมฉลองครบรอบการเดินทางทางทะเลของมหาขันทีเจิ้งเหอในปีนี้ จีนทำการยกย่องอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการในหลายประเทศเช่นที่สิงคโปร์เป็นต้น…"

 

ข้อเขียนนี้บอกต่อไปว่า "สำหรับ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ   กรรมการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่จีนให้ความสำคัญกับการเดินทางท่องทะเลของนายพลเจิ้งเหอว่า เรื่องเจิ้งเหอถูกโปรโมตจริงๆ คงไม่นานมานี้ ผมเข้าใจว่ามีผู้นำจีนสองท่านที่กล่าวถึงเจิ้งเหอคือ โจว เอิน ไหล (อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก) และเติ้ง เสี่ยว ผิง   ที่บอกว่าเจิ้งเหอ  เป็นบุคคลสำคัญผู้เปิดจีนสู่โลกภายนอก  เป็นการดึงประวัติศาสตร์มาอธิบายว่าในขณะนี้จีนกำลังก้าวไปสู่สากล ผมเข้าใจว่า เจิ้งเหอ สำคัญในแง่ที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จของจีนในอดีตในการออกสู้โลกภายนอก นีคือสิ่งที่จีนกำลังโปรโมตอยู่…"

 

อาจารย์ชาญวิทย์ ยังกล่าวต่อไปว่า "การนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันในช่วงที่จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ เคียงคู่หรือตามหลังไล่มาติดๆ กับอเมริกา สิ่งนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมเจิ้งเหอ จึงได้รับการโปรโมตอย่างมาก  การที่อดีตนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล หรือ เติ้ง เสี่ยว ผิง เคยได้พูดยกย่องเจิ้งเหอ มาก่อนก็เหมือนกับการกรุยทางไว้ เพราะว่าในช่วงหนึ่ง เรื่องราวของเจิ้งเหอ แทบจะเป็นเรื่องที่ถูกฝังดินไปแล้ว เมื่อการเดินทาง 7 ครั้งสิ้นสุดลงในราชวงศ์หมิง หลังจากนั้นแล้ว ราชสำนักจีนก็ดี จักรพรรดิจีนก็ดี ไม่สนับสนุนการเดินเรือในแง่พาณิชนาวี ในแง่ของกองทัพเรือนั้น จีนก็ปิดประเทศมาแต่นั้น คนจีนที่เดินทางไปยังต่างประเทศช่วงนั้นก็มีแต่เอกชน โดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม…"

 

สันติภาพ หรือ อำนาจ-บารมี

สรุปง่ายๆ ว่า การนำเรื่องราวของนายพลเจิ้งเหอ กลับมาพูดกันใหม่ในยุคนี้ คงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่เรื่องทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดีเพียงเท่านั้น  แต่จะมีจุดมุ่งหมายลึกซึ้งไปถึงขั้นไหน ก็น่าจะเป็น "ปมปริศนา" ต่อไป ซึ่งคงไม่ต่างไปจากการโปรโมตเรื่องราวใน "อนาคต" ของจีนอีกเหมือนกัน เช่น การพัฒนาโครงการด้านอวกาศของจีนที่เพิ่งจะมีการส่งยานอวกาศ เสิ่นโจว 5 เสิ่นโจว 6   ขึ้นไปโคจรบนอวกาศ และมนุษย์อวกาศ "ไท่คง" ของจีนก็เริ่มออกสำรวจอะไรต่อมิอะไรกันแบบครึกครื้นฮือฮาเต็มที่ เรียกได้ว่ามีการโปรโมตพอๆ กัน หรืออาจจะยิ่งกว่าการโปรโมตเรื่องของเจิ้งเหอ หลายต่อหลายเท่า ถึงขั้นที่มีการวางโครงการว่าจีนจะส่งคนไปลงดวงจันทร์ในอีกไม่นานนัก หรืออาจจะไปตั้งสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ หรือยึดดวงจันทร์แข่งกับอเมริกากันไปเลยก็ไม่แน่ ซึ่งเรื่องนี้ ก็ทำให้เกิดการ "ตีความ" กันอีกไม่น้อยเหมือนกัน

 

คือถึงแม้จีนจะประกาศว่าการสำรวจทางอวกาศของจีนนั้นมีจุดมุ่งหมายในแง่สันติภาพ หรืออาจเพื่อการพาณิชย์  เช่น เพื่อทำให้ความก้าวหน้าทางอวกาศของจีนทำให้จีนสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดการเป็นประเทศผู้ผลิตจรวด หรือผู้ยิงดาวเทียมแข่งกับใครต่อใครขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะส่วนแบ่งการตลาดของกิจการประเภทนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่ว่ากันว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสน -6แสนล้านเหรียญสหรัฐกันเลยทีเดียว แต่ก็ยังอดมีคนตีความไม่ได้ว่า อันที่จริงแล้ว  จุดมุ่งหมายทางอวกาศของจีนนั้นคงไม่ใช่แค่การพาณิชย์ธรรมดาๆ เหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา คือต้องการแข่งกันเป็นมหาอำนาจที่แท้จริงนั่นเอง ในประเด็นนี้  ศาสตราจารย์โจอัน จอห์นสัน ฟรีส์ แห่งวิทยาลัยยุทธนาวีของสหรัฐฯ กล่าวว่า "เป้าหมายทางอวกาศของจีนแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่มีเทคโนโลยีไม่ห่างจากกันมากนักตรงที่จีนกลับมีเจตนารมณ์ทางการเมืองเข้าไปปะปนกับโครงการชนิดนี้อย่างชัดเจน"

 

ก็คงเป็นเรื่องแล้วแต่มุมมอง หรือคงจะต้อง "ตีความ" กันต่อไปอีกนั่นแหละ

 

สรุปจึงเป็นว่า ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของจีน กลายเป็นเรื่องที่ต้อง "ตีความ" กันไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดมุ่งหมายในภารกิจท่องทะเลของนายพลเจิ้งเหอว่ามุ่งไปสู่อำนาจบารมี หรือมุ่งไปสู่สันติภาพไมตรีกันแน่  จุดมุ่งหมายในการขยายกองทัพเรือของจีนในปัจจุบัน เพียงเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ใครมากดดันโจมตีเหมือนกับที่เคยเผชิญมาในอดีต หรือมุ่งจะขยายอำนาจ บารมี เพื่อให้ได้เป็น "มหาอำนาจที่แท้จริง" และอาจทำให้ใครต่อใครในย่านนี้ มีสภาพแบบเดียวกับแต่ละประเทศที่เคยเผชิญหน้ากับกองทัพเรือของนายพลเจิ้งเหอในอดีตหรือไม่ ไปจนถึงจุดมุ่งหมายในอนาคตของจีนที่ต้องการพิชิตดวงจันทร์ ว่าเป็นไปเพื่อการสำรวจ เพื่อเหตุผลทางด้านการพาณิชย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือในการป้องกันตอบโต้กับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่คิดจะดัดแปลงอวกาศเป็นฐานทัพ จนอาจจะต้องเกิดการปะทะกันบนอวกาศ เกิดสงครามอวกาศกันต่อไปในภายภาคหน้า

 

ก็เลยต้องเชิญท่านให้ลองนำไปคิดพิจารณา แลกเปลี่ยนกันต่อไปได้ตามสบาย ตามมุมมองของท่านโดยเสรี พร้อมๆ กันนั้น ก็อาจต้องช่วยกันอธิษฐานตามไปด้วยว่า ขอให้สิ่งต่างๆ มีแนวโน้มออกมาในทางสันติภาพให้มากๆ เข้าไว้  มิเช่นนั้น ไม่ว่าประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม มันมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ และท้ายที่สุดมันมักจะนำมาซึ่งความพินาศวอดวายให้กับราษฎรธรรมดาสามัญและบรรดาประเทศเล็กๆ ทั้งหลายเสมอๆ

 

 

บทความที่ออกอากาศฉบับก่อนหน้านี้






จาก "อินโดจีน" ถึง "จินเดีย" การฟื้นชีพจ้าวเอเชีย ?(ออกอากาศ 15 -16 ตุลาคม 2548)


เมื่อธรรมชาติประกาศสงคราม…ทั้งดาวเดือนดินฟ้าก็อาเพศ…(ออกอากาศ 8-9 ตุลาคม 2548)






น้ำมันกับความมั่นคงเชิงป้องกัน (ออกอากาศ 24-25 กันยายน 2548)






โลกทั้งผองพี่น้องกัน (ออกอากาศ 10 -11 กันยายน 2548)




มาตรฐานความดี-ความชั่วที่เปลี่ยนไป?(ออกอากาศ 27-28 สิงหาคม 2548)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท