รายงาน "พลเมืองเหนือ" : การดูแลจัดการโบราณสถานโดยชุมชนท้องถิ่น

 


พื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณสถาน การรักษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น พ..2542 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ..2546 มีผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระในการดูแลโบราณสถานในชุมชน

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 .. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเวทีประชุมโต๊ะกลมเรื่อง การบริหารจัดการแหล่งศิลปกรรมและโบราณสถานโดยท้องถิ่น ในกรณีของเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ และวัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์และการบริหารจัดการแหล่งศิลปกรรมและโบราณสถาน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อความถูกต้องตามหลักวิชาการ ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่น

 

จากรายงานเรื่องการพัฒนาเวียงกุมกามกับความยั่งยืนชุมชนล้านนา โดย สุรีย์ บุญญานุพงศ์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การใช้ที่ดินในเขตเวียงกุมกาม นอกจากเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตรแล้ว ที่เหลือเป็นพื้นที่ว่างโล่ง คติความเชื่อของชาวล้านนาแต่ดั้งเดิมเชื่อว่าไม่ควรขุดรื้อซากวัดร้างเพื่อใช้ทำประโยชน์ใดๆ เพราะถือว่า"ขึด" ผู้ครอบครองจะไม่มีความสุขความเจริญ แต่ประชาชนที่ข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตเวียงกุมกามส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าใต้ดินมีซากโบราณสถานเป็นจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เวียงกุมกามมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม การที่กรมศิลปากรได้รับงบประมาณมากขึ้นเพื่อขุดค้นและบูรณะโบราณสถาน มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคทั้งถนนและทางระบายน้ำ มีการลงทุนเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งในด้านการให้บริการรถลาก รถม้า ช้าง และรถจักรยาน รวมทั้งการก่อสร้างร้านค้าขายอาหารและของที่ระลึก ซึ่งได้ส่งผลกระทบในทางสังคมคือ เกิดการแก่งแย่งที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและชุมชนที่อยู่ในเขตเวียงกุมกาม การที่บริเวณเวียงกุมกามและพื้นที่ข้างเคียงยังมีพื้นที่ว่างเหลืออีกมาก และแนวโน้มที่ว่าการสนับสนุนด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเวียงกุมกามจะยังคงมีต่อไป จึงมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการสร้างบริการใหม่ๆตอบสนองต่อนักท่องเที่ยว และตอบสนองความต้องการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากประชาชนในชุมชนที่เกี่ยวข้องยังละเลยและไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งโบราณสถานแห่งนี้

 

นายอานนท์ สิงห์ตาแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ร้อยละ 80 ของเวียงกุมกามอยู่ในเขตตำบลท่าวังตาล ซึ่งมีอยู่ 13 หมู่บ้าน องค์กรปกครองตำบลท่าวังตาลเป็น อบต.ระดับ 5 และได้มีส่วนรับผิดชอบดูแลจัดการเวียงกุมกามตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นมา มีการจัดกิจกรรมขึ้นที่เวียงกุมกามอย่างต่อเนื่องโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสภาวัฒนธรรมได้เข้ามามีบทบาทโดยการรวมกลุ่มชมรมต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการเวียงกุมกามด้วย ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ และการดูแลความปลอดภัยด้วย มีนายอำเภอสารภีเป็นประธานในการพัฒนาเวียงกุมกาม มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อหารายได้สำหรับการดูแลจัดการโบราณสถาน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล

 

โบราณสถานวัดเกาะกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ..2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ..2535) ประชากรในพื้นที่มีเชื้อสายมอญ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาพชุมชนเป็นชนบทสงบเงียบ อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ 1-2 ชั้น ตั้งต่อเนื่องเป็นแนวยาวริมสองฟากถนน จากการศึกษาค้นคว้าหาหลักฐาน ทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์แหล่งโบราณสถานวัดเกาะกลางและประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนและถูกต้อง อย่างไรก็ตามการที่หน่วยงานรัฐได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานวัดเกาะกลาง จะเป็นผลดีต่อชุมชนทั้งด้านการบูรณะฟื้นฟูแหล่งโบราณสถานเพื่อเพิ่มคุณค่าของพื้นที่ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ รวมทั้งประวัติศาสตร์ชุมชนก็จะได้รับการศึกษาค้นคว้า เพื่อสร้างความกระจ่างและความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันที่ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม

 

นายปกรณ์ ยาวิละ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า พื้นที่ตำบลบ้านเรือนมีประชากรประมาณ 3,000 คน พื้นที่ติดริมแม่น้ำปิง ประชากรมีทั้งคนเชื้อสายมอญ ยอง และคนพื้นเมือง ที่สำคัญคือมีชุมชนคนยองแท้ๆเพียงแห่งเดียวในจังหวัดลำพูนคือบ้านหนองดู่ โดยทั่วไปแล้วความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่ทำให้พวกเขามีความหวงแหนและร่วมกันดูแลรักษาโบราณสถานในชุมชนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในการพัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพในเชิงท่องเที่ยว ลำพังชุมชนคงไม่สามารถรองรับได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยเหลืออย่างจริงจังจนตลอดรอดฝั่ง และในส่วนของการระดมเงินทุนเพื่อดำเนินการในการดูแลรักษาและอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคงไม่มีกำลังเพียงพอ

 

ด้านนายสหวัฒน์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางหนึ่งสำหรับส่งเสริมการระดมเงินทุนเข้าสู่กองทุนเพื่อดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่โบราณสถาน คือการผลักดันกฎหมายให้บุคคลหรือองค์กรที่บริจาคสมทบทุนในกองทุนดังกล่าว สามารถนำหลักฐานการบริจาคเงินไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ หากสามารถสนับสนุนตรงนี้ได้สำเร็จ จะช่วยให้ท้องถิ่นสามารถดูแลจัดการโบราณสถานในพื้นที่ได้โดยพึ่งพาภาครัฐน้อยที่สุด.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท