Skip to main content
sharethis


วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2005 16:34น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 "ในที่เกิดเหตุเราพบใบปลิวภาษาไทยตกอยู่ ข้อความในใบปลิวระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการแก้แค้นคนไทยพุทธให้กับคนมุสลิมที่บ้านกะทอง"


 


นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวถึงเหตุการณ์กลุ่มคนร้าย แยกกำลังเป็น 2 ชุด ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงถล่ม-เผาบ้านชุมชนไทยพุทธ 2 แห่งในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 2 คน เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา


 


พ่อเมืองยะลา ระบุว่า ที่เกิดเหตุทั้งสองแห่ง เป็นจุดที่ชาวบ้านไทยพุทธ จาก จ.ปัตตานี เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ ที่หมู่ 4 ต.บ้านแหร มีกลุ่มไทยพุทธมาปลูกบ้านอยู่รวมกันจำนวน 4 หลัง ส่วนที่หมู่ 2 ต.ธารโต มีบ้านไทยพุทธอยู่รวมกัน 8 หลัง


 


"หลังจากได้คุยกับชาวบ้าน เขาบอกว่ามาซื้อที่ทำสวนอยู่กันมานานแล้ว ก่อนหน้านี้มีกำนันมุสลิมคนหนึ่งดูแลอยู่  แม้ว่าพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นบ้าง แต่ไม่เคยมีปัญหาอะไร กระทั่งกำนันคนนี้ถูกยิงตาย เหตุการณ์ก็เริ่มจะรุนแรงขึ้น แต่พวกเขาก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ขณะนี้ชาวบ้านหวาดกลัวมาก ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมก็ได้สั่งนายอำเภอธารโตไปแล้วว่าให้ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับชาวบ้านด้วย"


 


สำหรับใบปลิวที่ระบุว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมุ่งกระทำต่อชาวไทยพุทธ เพื่อแก้แค้นให้กับคนมุสลิม ในพื้นที่บ้านกะทอง ต.บองอ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกสังหารทั้งครอบครัวเสียชีวิตรวม 9 ศพเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ระบุว่า ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทราบแผนการของกลุ่มคนร้ายมานานแล้วว่า ต้องการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนไทยพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกดดันให้อพยพหนีไปจากพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ โดยครั้งแรกเกิดเหตุบุกเผาวัดในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตามมาด้วยการกราดยิงปืนข่มขวัญภายในหมู่บ้าน แม้ไม่มีเป้าหมายเพื่อหวังเอาชีวิต แต่ก็สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านไทยพุทธไม่น้อย


 


"มันเป็นกลวิธีพวกเขาอยู่แล้ว ทำอย่างไรก็ตาม เพื่อให้พุทธและมุสลิมเกิดความหวาดกลัวมากที่สุด เผลอก็ยิง หรือกรณีเผาวัด ฆ่าพระ นำไปสู่ความหวาดระแวง"


 


การสร้างภาวะแห่งความหวาดกลัว เป็นวิธีการที่ขบวนการก่อความไม่สงบ ใช้ในการควบคุมมวลชนในพื้นที่


 


"โจรมันอยู่ในหมู่บ้าน โดยที่ฝ่ายเราแทบจะไม่ได้เข้าไปเกาะติดเลย อุชตาชเป็นแกนนำ ซุมเปาะเด็กๆ เคลื่อนไหวปลุกปั่นอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายราชการอาจจะเข้าไม่ถึง เพราะไปช่วยเหลือ ไปพัฒนาแล้วก็กลับ ไม่ได้เข้าไปเกาะติด คนในหมู่บ้านก็กลัวหมด ใครต้านก็ถูกยิง สายข่าวที่มีอยู่ก็ถูกเก็๋บ คนก็ยิ่งกลัว"


 


ประเด็นสำคัญที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เน้นย้ำให้เห็นปัญหา "ภาวะแห่งความกลัว" ก็คือ กระบวนการสร้างข่าวลือ ปล่อยข่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ  ป้ายสีให้ชาวบ้านมองภาพเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ลบ กระบวนการตอบโต้ข่าวลือไม่อาจทำได้  ไม่มีใครกล้าโต้ตอบ ชาวบ้านไม่เห็น แต่ด้วยความกลัว ก็ไม่กล้ามีปากเสียงตอบโต้ แม้แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนของรัฐในพื้นที่ ก็ไม่อาจที่จะดำเนินการเพื่อตอบโต้ หรือสกัดกั้นขบวนการสร้างข่าวลือนี้ได้


 


"เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าทำอย่างไรจะลดความกลัวของชาวบ้านลง  คงไม่มีใครรู้เรื่องราวในหมู่บ้านดีเท่ากับผู้นำชุมชนอย่างกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพราะฉะนั้นทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านควรมีกองกำลังของตัวเอง เช่นมีกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนในหมู่บ้านละ 5-10  คน มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.)  เชื่อมโยงกำลังเข้าด้วยกัน ลงเกาะติดอยู่ในหมู่บ้าน  ใช้คนเหล่านี้แก้ปัญหา หากกำลังยังไม่เข็มแข็ง ก็ให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง เมื่อผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ไม่หวาดกลัวกลุ่มโจร ก็ค่อยเรียกความเชื่อมั่นของรัฐจากชาวบ้าน เช่นการตอบโต้ขบวนการข่าวปล่อยข่าวลือในร้านน้ำชาตามหมู่บ้าน เราจะรู้จุดอ่อน จุดแข็งต่างๆ "


 


เป็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่น่าสนใจ เพราะหากขบวนการก่อความไม่สงบใช้ยุทธศาสตร์ ยึดหมู่บ้าน ด้วยการปลุกระดม บ่มเพาะแนวคิดต้านอำนาจรัฐ จัดตั้งแนวร่วมขึ้นในหมู่บ้าน และฝ่ายรัฐเองก็เพลี่ยงพล้ำในการได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ การแย่งชิงมวลชนคืนมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ


 


แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งหามาตรการป้องกันโดยด่วนก็คือ  การป้องกันการก่อเหตุโดยหวังผลให้สายสัมพันธ์อันเปราะบางอยู่แล้วของชาวบ้านไทยพุทธและมุสลิม ต้องหวาดระแวงกันมากยิ่งขึ้นไปอีก !!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net