Skip to main content
sharethis

 


"อานันท์" สมานฉันท์ "มหาเธร์" เคลียร์ปมอ่อนไหวของคนไทยในกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเคยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้โดยใช้คำว่า "เขตปกครองพิเศษ" ด้าน "มหาเธร์" ชี้ เข้าใจความหมายในคนละมุม


 


" ผมบอกกับมหาเธร์ว่า ที่เขาใช้คำว่า Autonomy ในการเสนอเขตปกครองพิเศษ คนไทยฟังแล้วมีความรู้สึกว่าจะเป็นการแยก 3 จังหวัดให้เป็นรัฐอิสระ แต่ความจริงไม่ใช่ มหาเธร์ต้องการให้ปกครองตัวเอง แต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง ก็ขอว่าอย่าใช้คำนี้ ซึ่งมหาเธร์ บอกว่าไม่รู้มาก่อน เพราะถ้าใช้คำนี้กับคนมาลายูจะเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการเป็นรัฐอิสระ" นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวภายหลังการเข้าพบนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เช้าวันที่ 22 พ.ย. ที่โรงแรมพลาซา          แอทธินี


 


นายอานันท์ เปิดเผยอีกว่า การพบกันครั้งนี้เป็นการหารือในฐานะเพื่อนเก่าสมัยที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 15 ปีก่อน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน เนื่องจากมีบางเรื่องที่ต้องการทราบความจริงและมีข้อสงสัยอยู่ เป็นลักษณะต่างคนต่างเล่าสู่กันฟัง และไม่มีการพูดถึงเรื่องที่เป็นทางการแต่อย่างใด เพราะไม่มีหน้าที่ในการเจรจาเรื่องใดๆ


 


ส่วนข้อเสนอของนายมหาเธร์ ที่เคยเสนอให้ใช้รูปแบบของมาเลเซียในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นคงไม่ได้ เพราะมาเลเซียเป็นสหพันธรัฐ มีรัฐต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น กลันตัน ตรังกานู ซึ่งรัฐเหล่านั้นจะมีอำนาจในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง แต่ยังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลกลาง


 


 ส่วนไทยนั้นเป็นเอกรัฐ โดยมีรัฐธรรมนูญบัญญัติในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราเลือกระบบการปกครองได้ อาทิ รูปแบบ กทม. เมืองพัทยา หรือรูปแบบอื่นๆ เพียงแต่จะต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องเป็นไปตามนั้น


 


"ผมไม่รู้ว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร แต่ประชาชนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ซึ่งจะมีส่วนร่วมแบบไหนหรือในทางไหน รัฐบาลต้องไปว่ากันอีกที" ประธาน กอส. กล่าว


 


การพบกันครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว นายอานันท์ได้เดินทางพบกับผู้นำมาเลเซียที่กัวลาลัมเปอร์ เพราะเห็นว่าปัญหาภาคใต้กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียมีปัญหาและไม่เข้าใจกัน โดยสองฝ่ายได้ตอบโต้ไปมาผ่านสื่อหลายครั้ง


 


โดยนายอานันท์ ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่อยากเห็นประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านจึงประสานให้นายมหาเธร์ เป็นแขกพิเศษของไทย เพื่อมาพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเชื่อว่าหลังจากการพบกับนายกฯไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. จะทำให้ปัญหาบางอย่างผ่อนคลายไปในทางที่ดี


 


นายอานันท์ กล่าวอีกว่า นายมหาเธร์ได้พูดถึงประวัติศาสตร์มลายูและความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่ามลายูเองก็มีความขัดแย้งกับชนชาติอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ แต่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกัน


 


 ส่วนกรณีที่มีนักการเมืองไทยระบุว่า มาเลเซียเป็นผู้สนับสนุนความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น นายอานันท์ กล่าวว่า นายมหาเธร์ไม่สนใจเรื่องเล็กๆ เหล่านี้เพราะท่านเป็นรัฐบุรุษ จึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net