Skip to main content
sharethis


นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ เจ้าของบ่อโชนรีสอร์ท อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง กล่าวถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทยว่า นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาด้วยการกั้นเขื่อน ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันได้ผลในพื้นที่เฉพาะ จากนั้นคลื่นจะขยับไปกัดเซาะบริเวณชายฝั่งใกล้เคียง ประเทศไทยมีนักวิชาการทางด้านสมุทรศาสตร์น้อย การแก้ปัญหาจากคนที่ไม่รู้ธรรมชาติของทะเล จึงไม่ประสบความสำเร็จ

 


ด้าน ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้ ด้านอ่าวไทย เป็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤต สืบเนื่องมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายฝั่ง ส่งผลให้สิ่งก่อสร้างชายฝั่งไปเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของตะกอน เปลี่ยนแปลงระดับพลังงานคลื่นที่เข้าสู่ฝั่ง เปลี่ยนแปลงอัตราและกระบวนการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง เช่น การสร้างเขื่อนในลำน้ำทำให้ขัดขวางการไหลของตะกอนลงสู่ทะเล ชายฝั่งจะขาดแคลนทรายที่มาหล่อเลี้ยง เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทรายและคลื่น และคันดักทราย จะขัดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง ทำให้ชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง


 


ดร.สมบูรณ์ กล่าวว่า การควบคุมการกัดเซาะและป้องกันการตกตะกอนชายฝั่ง นับเป็นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วไป การเปลี่ยนแปลงของรูปร่างชายหาดในระยะยาว ต้องได้รับการศึกษาไว้ก่อนที่จะออกแบบ หรือก่อสร้างโครงสร้างวิศวกรรมชายฝั่ง โดยเฉพาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีชายหาดทรายเป็นแนวยาวและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงจากคลื่น ลม และกิจกรรมของมนุษย์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ของตะกอนกับโครงสร้างชายฝั่งต่างๆจะต้องได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียด และมีติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาสรุปเป็นมาตรการป้องกันการกัดเซาะและรักษาชายฝั่ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป


 


ดร.สมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาที่ถูกวิธี ต้องเข้าใจธรรมชาติของทะเล ชายฝั่งจัดเป็นบริเวณเขตน้ำตื้นที่พฤติกรรมของคลื่น สามารถส่งผลกระทบต่อท้องทะเล อิทธิพลของคลื่นในบริเวณนี้ จะทำให้ตะกอนพื้นทะเลเกิดการฟุ้งกระจายและเคลื่อนย้าย กระแสน้ำที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของคลื่น ลม และน้ำขึ้นน้ำลง ที่กระทำต่อชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชายฝั่งอยู่ในสภาพสมดุล เรียกว่าสภาวะสมดุลพลวัต ซึ่งหมายถึงสมดุลบนความเปลี่ยนแปลง


 


"ส่วนใหญ่คนที่ออกมาแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่ได้มีความรู้ทางนี้โดยตรง คนที่จบทางด้านสมุทรศาสตร์มีน้อยมาก ที่มีอยู่เป็นนักวิชาการที่จบมาทางวิศวกรรมชายฝั่ง หรืออุทกศาสตร์ เพราะฉะนั้นการใช้วิธีสร้างสิ่งกีดขวางกระแสคลื่น เพื่อลดแรงกระแทกของคลื่น ตามหลักวิศวกรรมอาจจะถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเหล่านั้นเข้าใจธรรมชาติของทะเล" ดร.สมบูรณ์ กล่าว


 


สมบูรณ์ กล่าวว่า จากเอกสารของโครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อเสนอที่ดีหลายอย่าง แต่บางอย่างไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เช่น การเสนอให้ถมทรายบริเวณชายหาดที่ถูกกัดเซาะ บริเวณบ้านเก้าเส้ง - บ้านทุ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว ถึงแม้ข้อดีของการถมทรายบริเวณชายหาด จะไม่เป็นอันตรายกับชายหาด แต่ต้องเติมทรายสม่ำเสมอ พร้อมๆ กันไปกับก่อสร้างคันดักทราย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะเท่ากับนำงบประมาณ 120 ล้านบาททิ้งทะเล ถมไปแล้วคลื่นก็ยังคงกัดเซาะชายฝั่งเหมือนเดิม ถึงจะมีงบประมาณมากแค่ไหน ก็แก้ปัญหาไม่ได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net