Skip to main content
sharethis

 



 


 สมิหลาเละ - สภาพหาดสมิหลาที่เคยสวยงามในอดีต วันนี้พังยับเยิน จากสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลงไปในทะเล กีดขวางการเคลื่อนตัวของทราย และทิศทางกระแสคลื่น สภาพเช่นนี้ปรากฏตลอดแนวชายทะเลภาคใต้ ด้านอ่าวไทย


 


 



ประชาไท - "กรมทรัพย์" ยอมรับหมดปัญญาแก้ปัญหาชายฝั่งอ่าวไทยพัง แนะรัฐบาลยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ระดมทุกสรรพกำลังแก้ไขด่วน "นายกฯ นครสงขลา" กุมขมับ "หาดสมิหลา" พินาศ ศึกษาพบเขื่อนกันคลื่นรูปตัว T ต้นเหตุ "สมิหลา" เละ


 


นายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลภาคใต้ ด้านอ่าวไทย ซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤติว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะกำหนดเรื่องนี้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นปัญหาที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ของกรมทรัพยากรธรณี ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2518 ทางกรมทรัพยากรธรณีแจ้งว่า ไม่มีงบประมาณในการแก้ปัญหา เนื่องจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลภาคใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดนราธิวาสขึ้นไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


 


นายอุทิศ เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่เทศบาลนครสงขลา มีการกัดเซาะอย่างรุนแรงตรงบริเวณชายหาดชลาทัศน์ (หาดสมิหลา) ชายหาดพังเสียหายยาวประมาณ 400 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร โดยการกัดเซาะในเขตเทศบาลนครสงขลา เริ่มตั้งแต่ชุมชนเก้าเส้งถึงบริเวณหน้าฐานทัพเรือจังหวัดสงขลา ทำให้ต้นสนล้มลงหลายแถว ทางเทศบาลนครสงขลาได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเตรียมกระสอบทราย 50,000 กระสอบ และสั่งซื้อทรายมาจากแหล่งทรายเอกชน มาถมกันคลื่นในบริเวณดังกล่าว


 


"ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงมรสุม เกรงว่าการกัดเซาะจะรุนแรงมากขึ้น คาดว่าอาจต้องใช้ทรายอีกมาก ตอนนี้ยังไม่ได้คำนวณว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ส่วนข้อเสนอของที่ให้ซื้อทรายมาถมในจุดที่ถูกกัดเซาะนั้น สามารถทำได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือยังไม่สามารถหาแหล่งทรายได้อย่างเพียงพอ สำหรับข้อเสนอให้ถมหาด จากผลการศึกษาของโครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแม้จะทำได้ แต่ปัญหาก็คือไม่สามารถหาแหล่งทรายได้มากเพียงพอ" นายอุทิศ กล่าว


 


ก่อนหน้านี้ ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ "ประชาไทออนไลน์" ว่า โครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีข้อเสนอที่ดีหลายอย่าง แต่บางอย่างไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เช่น การเสนอให้ถมทรายบริเวณชายหาดที่ถูกกัดเซาะ บริเวณบ้านเก้าเส้ง - บ้านทุ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว ถึงแม้ข้อดีของการถมทรายชายหาด จะไม่เป็นอันตรายกับชายหาด แต่ต้องเติมทรายสม่ำเสมอ พร้อมๆ กันไปกับก่อสร้างคันดักทราย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะเท่ากับนำงบประมาณทิ้งทะเล ถมไปแล้วคลื่นก็ยังคงกัดเซาะชายฝั่งเหมือนเดิม ถึงจะมีงบประมาณมากแค่ไหน ก็แก้ปัญหาไม่ได้


 


ทั้งนี้ จากการศึกษาของโครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า ชายหาดชลาทัศน์ บริเวณบ้านเก้าเส้ง - บ้านทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ความยาว 7 กิโลเมตร เป็น 1 ใน 12 พื้นที่ ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ด้านอ่าวไทย ที่ถูกกัดเซาะเสียหายรุนแรง และเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ชายฝั่งวิกฤติเสี่ยงภัย ที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วน


 


รายงานการศึกษาของโครงการฯ ระบุว่า การกัดเซาะอย่างรุนแรงในพื้นที่นี้มีอยู่ 2 บริเวณ คือ บริเวณชายฝั่งบ้านเก้าเส้งไปจนถึงฐานทัพเรือจังหวัดสงขลา ยาวประมาณ 400 เมตร ชายหาดบริเวณนี้ถูกกัดเซาะออกไปจนเหลือความกว้างเพียง 4 เมตร บริเวณที่มีกองหินทิ้งป้องกันการกัดเซาะ ทรายจะถูกพัดพาออกไปทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่าปากคลองสำโรงถูกปิดด้วยสันทรายชายหาด และน้ำในคลองเน่าเสีย ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านบริเวณนี้มีปัญหาเรื่องที่จอดเรือ


 


สำหรับการสร้างรอหินทิ้งป้องกันคลื่นรูปตัว T 3 ตัว ความยาว 50 เมตร สันกว้าง 45 เมตร และช่องระหว่างตัวทีห่างกัน 20 เมตร และการถมหาดบ้านเก้าเส้ง ทำให้หาดมีเสถียรภาพกลับคืนมา แต่ทำให้เกิดการกัดเซาะบริเวณด้านเหนือบ้านเก้าเส้ง หรือหาดชลาทัศน์ขึ้นมาแทน เทศบาลนครสงขลาจึงนำหินมาถมหาด เพื่อป้องกันการกัดเซาะยาว 250 เมตร ก็เกิดการกัดเซาะบริเวณด้านเหนือกองหินขึ้นไปอีก


 


บริเวณที่ 2 คือ ชายฝั่งด้านใต้สุดรั้วของสถาบันวิจัยประมงทะเล จนถึงชายฝั่งบริเวณสถานีอนามัยบ้านทุ่งใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้มีการถอยร่นของทะเลเซาะมาจนติดขอบถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3044


 


จากการศึกษาของโครงการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ได้เสนอให้แก้ปัญหาการกัดเซาะบริเวณนี้ ด้วยการถมหาด เพราะเป็นชายฝั่งที่ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว การสร้างโครงสร้างชายฝั่งเพื่อสลายพลังงานคลื่น จะบดบังทัศนียภาพชายหาดท่องเที่ยว นอกจากนี้บริเวณเก้าเส้ง ยังมีปัญหาการกัดเซาะ การถมหาด ขาดที่จอดเรือ และการระบายน้ำเสียจากคลองสำโรงด้วย


 


ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ทางโครงการฯ จึงเสนอให้สร้างท่าเรือขนาดเล็ก สำหรับเรือประมงพื้นบ้านบริเวณเก้าเส้งครอบคลุมคลองสำโรง และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ลักษณะโครงสร้างเป็นเขื่อนหินทั้งสองด้าน รวมทั้งสร้างเขื่อนที่ปากคลองสำโรง เพื่อให้คลองสำโรงมีเสถียรภาพ สำหรับบ้านทุ่งใหญ่และด้านเหนือของบ้านเก้าเส้ง ทางโครงการฯ ได้เสนอให้ถมหาดและติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งข้างเคียง ค่าใช้จ่ายประมาณ 120 ล้านบาท


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net