Skip to main content
sharethis


 



 


ประชาไท - งานมหกรรมเอดส์ภาคประชาชนเปิดตัวเป็นวันแรกที่ท้องสนามหลวง โดยนายมีชัย วีระไวทยะ ส.ว. กรุงเทพมหานคร และประธานสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวเปิดงานว่า สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยกำลังน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรครุนแรงอีกครั้ง ทั้งที่ในช่วง 11 ปี ไทยสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ถึง 90% แต่จากการสำรวจในปี 2547 พบว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น 30% และมีแนวโน้มการเพิ่มสูงมากขึ้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น


 


เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ได้หายไปจากสังคม รวมทั้งการกระตุ้นการป้องกันด้วยการแจกถุงยางอนามัยฟรีก็หายไป โดยรัฐบาลสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลได้ แต่กลับไม่มีเงินในการซื้อถุงยางอนามัยและสนับสนุนการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้แก่ประชาชน
       


"หากไม่ซื้อรถถัง 1 คัน ก็จะมีเงินซื้อถุงยางอนามัยไม่รู้ว่ากี่สิบล้านชิ้น ขอย้ำว่า ขณะนี้โรคเอดส์ได้กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของไทย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนทหารที่ตายไปในสงครามถึง 4 เท่า" นายมีชัยกล่าว
       
ขณะที่รายงานสถานการณ์เอดส์โลกปี 2005 ของยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เปิดเผยก่อนถึงวันเอดส์โลกในวันที่ 1 ธ.ค.ของทุกปี ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกราว 40.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีถึง 2.3 ล้านคน ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 4.9 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 13,500 รายโดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคเอดส์ครั้งแรกเมื่อปี 2524 โดยในปีนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ทั่วโลกราว 3.1 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 5.7 แสนราย


 


วันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าวการรณรงค์วันรวมใจต้านภัยเอดส์ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญไว้ว่า "เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา" (Stop AIDS. Keep the Promise) เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการต่อต้านเอดส์


 


นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 ถึงปี 2548 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอดส์ไปแล้ว 1,100,000 ราย เสียชีวิต 560,000 ราย และเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 540,000 ราย


 


เฉพาะในปี 2548 ปีเดียวมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,000 ราย ซึ่งพบมากสุดในวัยทำงานอายุ 20-39 ปีจำนวน 77% โดยติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์มากถึง 84% ส่วนในกลุ่มชายรักชายในกทม.มีอัตราติดเชื้อ 28% และกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี พบว่าเป็นกลุ่มน่าห่วงที่สุด เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และมีการใช้ถุงยางอนามัยน้อย
       


นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ผู้นำประเทศทั่วโลกและผู้แทนระดับรัฐมนตรีเห็นเอดส์เป็นวิกฤตระดับโลกก็ได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยพันธะกรณีเรื่องโรคเอดส์ตั้งแต่ปี 2544 ในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยพิเศษว่าด้วยโรคเอดส์ โดยในปี 2548 มีแผนที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศที่สังคมไม่ค่อยยอมรับ ส่งเสริมพฤติกรรมความรับผิดชอบ การใช้ถุงยางอนามัยทั้งชายและหญิง ให้มีการถ่ายเลือดอย่างปลอดภัย และให้มีอาสาสมัครที่ให้คำปรึกษาและตรวจเลือดอย่างมีความลับ ตั้งเป้าภายในปี 2548 จะเผยแพร่ข้อมูลและบริการเกี่ยวกับการป้องกันเอดส์ครอบคลุมหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปีทั่วโลกถึง 90% และเพิ่มเป็น 95% ภายในปี 2553
       


ด้านนายแพทย์ธวัช คุ้มพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกทม. กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมทางเพศเด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั่วประเทศ ในช่วงปี 2545-2547 พบว่าเด็กชายมีเพศสัมพันธ์กับแฟน,คนรัก ถึง 15% โดยใช้ถุงยางเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 18% เป็น 25% ตามลำดับ ส่วนในเด็กหญิงมีเพศสัมพันธ์ 5% และใช้ถุงยางเพียง 15% ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะจากการสำรวจกลุ่มเด็กในระดับ ม.1-6 จำนวน 3,000 คน ในเขตกทม.ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2548 ข้อมูลยิ่งน่าตกใจ โดยพบว่า 7.3% เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว และ 6% เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุเฉลี่ย 13-15 ปี


 


โดยแหล่งปลุกอารมณ์เพศสำคัญ ได้แก่ หนังสือการ์ตูน 72% รองลงมาคือ ดูวีซีดี วิดีโอเอ็กซ์ 64% อินเตอร์เน็ตโป๊ 61% เหตุที่ทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์กันเนื่องจาก อยู่ลำพังสองต่อสอง อยากลองอยากรู้ กลัวแฟนไม่รัก โดยมี 11% ต้องการทำสถิติ ที่น่าห่วงมากที่สุดพบว่ามีการใช้ถุงยางป้องกันเพียง 7% เท่านั้น นับว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีเพศสัมพันธ์ที่อายุน้อยลงและไม่มีความพร้อมในการป้องกัน


 


นายแพทย์ธวัชชัยระบุด้วยว่า ในปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขมีแผนในการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยจัดซื้อถุงยางอนามัยคุณภาพดีกว่า 24 ล้านชิ้นราคา 37 ล้านบาท ส่งให้กลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั่วประเทศใช้ฟรี ได้แก่ ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แรงงานอพยพ/ชายแดน เด็กและเยาวชน จำนวน 156,000 ราย และเพื่อการเข้าถึงถุงยางอนามัยง่ายขึ้น


]


รวมทั้งจะมีการติดตั้งตู้จำหน่ายถุงอนามัยแบบหยอดเหรียญทั่วประเทศ ใน 75 จังหวัดจำนวน 4,575 เครื่อง ในราคา แพ็คละ 10 บาทมี 3 ชิ้น เฉลี่ยชิ้นละ 3.33 บาท ซึ่งนับว่าราคาถูกมาก ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อสิ้นปี 2549 นี้ จะเพิ่มการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มวัยรุ่นให้ได้มากกว่า 50% และลดอัตราการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.95% อัตราการติดเชื้อในกลุ่มทหารเกณฑ์ไม่เกิน 0.45%      
       


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net