Skip to main content
sharethis

"ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลดีในแง่จิตวิทยาของคนในสังคม" ดร.วิษณุ วรัญญู รองอธิบดีศาลปกครองกลางคนปัจจุบันกล่าวกับนักศึกษา2 คนที่เข้าไปถามข้อข้องใจ เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์อยู่ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2540


 


เขาพูดประโยคดังกล่าวหลังอรรถาธิบายมายืดยาวว่า รัฐธรรมนูญที่กระแสสังคมขณะนั้นกำลังเรียกร้องต้องการ เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้ว หลายมาตราอาจนำไปสู่ปัญหาในภายหลัง ในขณะที่ภาพรวมข้อดี ข้อเสีย ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมากนัก


 


หลังประโยคนั้นของเขา นักศึกษา 2 คนหัวเราะ มันดูตลกสิ้นดีที่กระแสรัฐธรรมนูญที่กำลังถูกโหมกระพืออยู่นั้นจะส่งผลดีเพียงด้าน "จิตวิทยา" หนึ่งใน 2 คนนั้นจำบรรยากาศได้ และยังจำได้ด้วยว่านักวิชาการคนนั้นเปรยถึงความรู้สึกขมขื่นอย่างไร เมื่อคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของเขาไม่ได้รับการตอบสนองเลยในสื่อต่าง ๆ


 


ในบรรยากาศเขียวปี๋เมื่อปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังใช้อยู่นี้ดูจะเป็นสิ่งวิเศษที่จะเข้ามาเยียวยาทุกปัญหาในสังคมไทย มันได้ให้ความหวัง พร้อมๆ กับที่ถีบใครบางคนกระเด็นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย (พ่อใหญ่จิ๋วคงยังจำรอยเท้าสีเขียวของวันเก่าก่อนได้—ถ้าบังเอิญความจำแกยังดี) แต่เมื่อถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญแสนดีของสังคมไทยกลับกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันเปิดประตูให้กับเผด็จการอำนาจนิยมที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และมวลมิตรในพรรคไทยรักไทยไปเสียแล้ว


 


..............................................................................................................................


เปล่า...ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า อย่าไปแตะต้องอะไร "คุณพ่อรู้ดีแห่งชาติ" เพียงแต่ถ้าแยก "คุณพ่อ" ออกจาก แหล่งที่มาของอำนาจของคุณพ่อแล้ว บางทีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอาจจะไม่ได้น่ารังเกียจชิงชังจนต้องขยำทิ้งในวันสองวันนี้ หรือจะเปลี่ยนอะไรในรัฐธรรมนูญโดยลืมอะไรไปบางอย่าง เพราะถ้าจะไม่ลืมกันง่ายๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ก่อร่างสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้เป็นหลักพิงเมื่อยามเขาลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนบัญญัติรองรับไว้แข็งขันเช่นนี้มาก่อน


 


ในขณะที่ชาวบ้านผู้ถูกกดทับจากโครงการใหญ่ๆ (บางโครงการก็เล็กๆ แต่ส่งผลกระทบใหญ่) ที่บ้านนอก พูดถึง มาตรา 45, 60, 65 กันคล่องปาก (http://www.kodmhai.com/m1/m1-26-65.html) นักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์นาม สนธิ ลิ้มทองกุล ก็กำลังทำหน้าที่เป็นแม่ทัพเคลื่อนขบวนเรื่อง "พระราชอำนาจ" กับการ "ปฏิรูปการเมือง" ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ การแก้รัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็น


 


เอาละ ไหนๆ ก็ไหนๆ เรื่องมันดูยุ่งๆ เข้าใจยากๆ ประชาไทจะลองเล่นเกม "เขากล่าวว่า...." โดยจะลองเลือก "เขา" ที่ไม่ได้ผินหน้าไปทาง "ขวา" ซึ่งดูเหมือนคุณสนธิกำลังจะเดินไปทางนั้น เผื่อบางที อาจจะได้เห็นอะไรเป็น "แนวๆ"


 


นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปีที่แล้ว ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุครบ 7 ปี


 


"ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอายุสั้น เพราะมีหลายอย่างที่ไม่ดี เริ่มจากที่มาของการยกร่าง ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาทางการเมือง และต้องการลดอำนาจของรัฐให้น้อยลง แต่ในการบังคับใช้ กลับเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐให้มากขึ้น


 


และในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับเขียวปี๋ถูกเรียกด้วย "นิคเนม" ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแต่กลับไม่ไว้ใจประชาชน เช่น การบังคับให้ประชาชนต้องไปเลือกตั้ง นครินทร์แจงว่า มี 4 ประเด็น ของรัฐธรรมนูญที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเองคือ 1.รัฐธรรมนูญมุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยการมุ่งให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งมาก ทางปฏิบัติทำให้ฝ่ายบริหารเข้ายึดอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อไม่ให้มีการอภิปรายฯนายกฯ ขณะที่การจะอภิปรายฯทุจริตก็ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น ต้องกำหนดให้มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ก่อน หรือการกำหนดให้ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีห้ามถือหุ้น ก็มีการโอนหุ้นให้กับคนใกล้ชิด จึงเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกับดักมายาคติ ที่คิดไปว่า ประเทศไทยมีรัฐบาลเข้มแข็งจะดีกว่า ทั้งที่เราน่าจะมีรัฐบาลแบบพรรคร่วม


 


2. การกำหนดให้ ส.ว.ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ทางปฏิบัติ ส.ว.กลับกลายเป็นกลุ่มก๊วนของฝ่ายการเมือง หรือ การกำหนดว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติถูกกลุ่มนักธุรกิจการเมืองต้อนเข้าคอก หรือการกำหนดเขตเลือกตั้งทั้งประเทศให้เป็นเขตของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เท่ากับเป็นการหนุนพรรคใหญ่ ทำลายพรรคเล็ก


 


3.การกำหนดให้มีองค์กรอิสระ แต่มีสถานะที่แตกต่างกัน ในบางองค์กรอิสระมีการกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้าไปเป็นกรรมการไว้คลุมเครือ มีการทำซ้ำซ้อนกันเอง และจากที่มุ่งหวังที่จะให้องค์กรนี้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่กลไกลที่สร้างขึ้น กลับทำให้องค์กรเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนผู้มีอำนาจรัฐ


 


4.การกำหนดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่น หากติดคุกโดยไม่ผิดจริง ก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ แต่ในแง่ปฏิบัติมีผลกระทบต่อองคาพยพของฝ่ายบริหารโดยรวม


 


ในปาฐกถาของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมของปีนี้ เขายอมรับเช่นกันว่า รัฐบาลปัจจุบันทำร้ายระบอบประชาธิปไตย ด้วยการจูงจมูกประชาชน ไม่ส่งเสริม ไม่ไว้ใจ ไม่ให้โอกาส แต่กลับทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน....


 


"รัฐธรรมนูญ 2540 มิได้ล้มเหลวอย่างที่มักกล่าวกัน ตรงข้าม กลับประสบความสำเร็จในการลดทอนพลังของทุนท้องถิ่นตามต้องการ แต่ผลที่คาดไม่ถึงคือ กลับเปิดโอกาสให้กลายเป็นระบบรัฐสภาภายใต้อำนาจนำเด็ดขาดของทุนขนาดใหญ่ระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมทางการเมืองต่อการกำหนดนโยบาย การบริหารราชการ และการใช้อำนาจต่างลิบลับกับการเมืองของทุนท้องถิ่น


 


"รัฐธรรมนูญ 2540 ยังประสบความสำเร็จสร้างความมั่นคงแก่อำนาจฝ่ายบริหาร จนอำนาจของทุนใหญ่สามารถยึดครองหรือทำลายอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภาและโดยองค์กรอิสระต่างๆ รัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในประการหลังนี้"


 


อย่างไรก็ตาม ธงชัยตั้งคำถามต่อไปถึงกระแสการดึง "พระราชอำนาจ" ลงมาเป็นทางออกสำหรับวิกฤติรัฐบาลเหลิงอำนาจว่า...


 


"แต่หากเราต่อสู้จนชนะด้วยวิถีทางที่ไม่เห็นหัวประชาชนพอ ๆ กัน เราจะชนะไปทำไม ในเมื่อเราช่วยกันย่ำยีหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย จนไม่เหลืออะไรที่น่าเคารพอีกต่อไป"


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1670&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 


และสำหรับ น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  ส.ว. เสียงข้างน้อยผู้โดดลงมาคลุกวงในกับการดึงเอา พระราชอำนาจลงมาแก้ปัญหารัฐบาลคุณพ่อรู้ดี ก็ยังไม่ลืมจุดยืนของเขา เมื่อเขากล่าวย้ำในตอนเกือบสุดท้ายของเวที "พระราชอำนาจกับการปฏิรูปการเมือง" ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า


 


"ผมเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการแก้ที่ระบบโครงสร้าง แต่ก็ต้องระวังศรีธนญชัย ซึ่งอาจจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองว่าเป็นไปเพื่อลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน"


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1682&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 


ถ้าอย่างนั้น แก่นของเรื่องมันอยู่ที่ตรงไหน


ประชาไทขอสวมแว่นพิเศษชนิดมองโลกแง่ร้ายสุดๆ แล้วแวะไปดูคำจำกัดความ "คำ" บางคำที่ เกษียร เตชะพีระ พูดไว้เมื่อปีที่แล้ว....


 


"ชนชั้นกลางคือ กลุ่มคนที่ไต่เต้าขึ้นมาเงยหน้าอ้าปากอย่างกะทันหันพร้อมคลื่นเศรษฐกิจฟองสบู่ระลอกต่างๆ ชนชั้นกลางพึ่งพาอาศัยให้รัฐอุ้มให้ถูกต่างชาติเอื้อโอกาส พวกเขาจึงดำรงชีวิตอยู่อย่าง Insecure วิตกจริตไม่วายว่า เมื่อไหร่ฟองสบู่จะแตก ว่าดวงตนจะตก ตัวเองจะตกจากสถานะชนชั้นที่เพิ่งได้มา ความตื้นเขินขาดด้อยประสบการณ์ทำให้ง่ายที่พวกเขาจะยกโขยงเข้าแห่ห้อมฟองสบู่การเมืองที่สามารถเป่าเสกความหวัง ความมั่นคงอุ่นอกอุ่นใจให้ยามสิ้นหวังซังกะตาย แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ซื่อกับใคร พร้อมจะหันกลับมาหวาดระแวงแว้งกัดปรักปรำกล่าวโทษคนอื่นต่อสภาวะเลวร้ายที่เกิดขึ้นแทนที่จะโทษตัวเอง


 


"นี่คือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้มาตลอด ก็คือ ออกมาช่วยนักศึกษาตอน 14 ตุลาฯ แล้วกลัวคอมมิวนิสต์ หันมากระทืบนักศึกษาตอน 6 ตุลาฯ เป็นกลุ่มคนที่เข้าพบมอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดีกับรัฐประหาร รสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 แล้วก็ออกมาชุมนุมประท้วงขับโค่นรัฐบาลพลเอกสุจินดาเมื่อพฤษภาคม ปี 2535


 


"นี่คือ กลุ่มคนที่ร่วมเสี่ยงเจ็บเสี่ยงตายเดินขบวนขับไล่รัฐบาลสุจินดาภายใต้การนำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง แต่แล้วก็ปันใจไปเลือก ส.ส.ประชาธิปัตย์แทนพรรคพลังธรรมในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกันยายน 2539 ถึง 9 ที่นั่งจน ชวน หลีกภัย ได้ขึ้นเป็นนายกฯ แทนที่จะเป็นพลตรี จำลอง แล้วต่อมายังโหวตเลือกพิจิตร รัตคกุล เป็นผู้ว่ากทม. แทนพลตรีจำลอง จนฝ่ายหลังอกหักประกาศบอกลาการเมืองกรุงเทพฯ (ชั่วคราว) เทคะแนนกว่าล้านเสียงเลือกคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่า กทม. อย่างไม่เคยมีคะแนนสูงขนาดนี้มาก่อนในปี 2543 โดยไม่แคร์ภูมิหลังทางการเมืองสมัย 6 ตุลา ของคุณสมัคร แต่แล้วก็โอดครวญแสดงความผิดหวังสำนึกเสียใจเมื่อปลายสมัยคุณสมัคร


 


"นี่คือกลุ่มคนที่ไปโหวตให้ทักษิณ เพราะผลกระเทือนจากวิกฤติเศรษฐกิจ นี่คือกลุ่มคนที่มองดูทักษิณควบรวมอำนาจในกลุ่ม Elite เฉยๆ และยืนเอามือกอดอกดูระบอบทักษิณเอื้ออาทรและฆ่าตัดตอนคนชั้นล่าง"


http://www.prachatai.com/news/show.php?Category=sm&No=6


 


จบถ้อยคำอธิบายของเกษียรแล้ว ก็อาจจะต้องเพิ่มในส่วนปฏิกิริยาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งอธิบายโดยธงชัย วินิจจะกูลไปด้วยว่า


 


"สาธารณชนที่มีพลังทางการเมือง ได้แก่ชาวกรุง ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน (สื่อชนชั้นกลาง สื่อชาวกรุง) เกลียดชังประชาธิปไตยบ้านนอกของทุนท้องถิ่นยิ่งนัก จึงผลักดันให้เกิดการ "ปฏิรูปการเมือง" อันนำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีจุดหมายชัดเจนแต่แรกเริ่มเพื่อลดอำนาจหรือขจัดทุนท้องถิ่นหรือประชาธิปไตยแบบบ้านนอก และเพื่อพยายามสถาปนาประชาธิปไตยที่สาธารณชนที่มีการศึกษาเชื่อว่าถูกต้องตามแบบฉบับ"


 


จบกระบวนการเล่นเกมต่อประโยคแล้ว ก็ให้นึกสงสัยว่าตอนนี้ คนพวกนี้ (แบบที่เกษียรและธงชัยพูดถึง) กำลังทำอะไร....


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net