Skip to main content
sharethis

ประชาไทคัดสรร-- 24 พ.ย. 2548 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ-- ส.ว.-นักวิชาการ ถล่ม'วิษณุ'ข่มเหงเจตนารมณ์ประชาชน ละเมิดรัฐธรรมนูญ แก้กฏหมายโยนกสช.ซุกปีกกทช.จี้แสดงสปิริต ทำผิดซ้ำซากจน'สภาสูง'เสื่อม


 


ภายหลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าจะแก้กฎหมายให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)  ในระหว่างที่รอการสรรหากสช. ปรากฎว่ามีเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางจากนักวิชาการและสมาชิกวุฒิสภา


 


โดย นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ทั้งกทช.และกสช. นั้นได้ลงหลักปักฐานในรัฐธรรมนูญในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ละองค์กรมีภารกิจและที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการกำเนิด กสช. นั้นมาจากการต่อสู้ เสียเลือด เสียเนื้อ ของประชาชนในสมัยพฤษภาทมิฬ เพื่อให้ได้มาซึ่งจิตวิญญาณ สิทธิ เสรีภาพ ในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไม่บิดเบือน เป็นที่มาของหลักการในมาตรา 40 ดังนั้นการสรรหากรรมการ กสช.ไม่ถูกต้อง จึงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะแก้กฎหมาย เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่จะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และข่มเหงเจตนารมณ์ประชาชน


 


"ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้กทช.ทำงานแทน กสช. เพราะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนญ ซึ่งหมายถึงการไม่เคารพสัญญาประชาคม เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน อย่าคิดว่ามีเสียงมากแล้วจะทำอะไรก็ได้โดยไม่เกรงอกเกรงใจประชาชน ผมอยากบอกคนที่กำลังคิดจะแก้กฎหมายให้กลับไปศึกษาที่มาที่ไปของกสช.ให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทำไมถึงต้องเขียนกฎหมาย กสช.อย่างนี้ ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ควรจะทำลายเจตนารมณ์ประชาชนที่ต่อสู้กันมา"นักวิชาการ ผู้นี้ กล่าว 


 


นายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การทำแบบนี้ตามข้อกฎหมายทำไม่ได้หากจะมีการทำจริงคงต้องมีการแก้ข้อกฎหมายเพราะว่าหน้าที่กทช.กับกสช.มันต่างกัน ตั้งแต่การสรรหา กสช.ที่มีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องการสลับตำแหน่งคุณสมบัติของผู้สมัครกสช.ตามสาขาอาชีพ ซึ่งก็มีผู้เตือนไปถึงกรรมการสรรหา กสช.และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตลอดให้ระวังความผิดพลาดทางกฎหมายแต่ก็ไม่มีการฟังกัน รวมทั้งตอนเปิดรับสมัครรอบใหม่ก็ยังใช้บัญชีคุณสมบัติแบบเดิมโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขทั้งที่ตามข้อกฎหมายพรบ.จัดสรรคลื่นความถี่มันผิดชัดเจนโดยเฉพาะผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกรรมการสรรหากับผู้สมัครบางคน ซึ่งก็ไม่มีการฟังจนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว เรื่องนี้ยืนยันว่าต้องมีคนรับผิดชอบกับการทำผิดกฎหมาย แต่ทุกคนปัดตูดหนีความผิดกันหมด


 


"เป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึกชั่วดีโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใส่ใจในการทำให้ถูกกฎหมายมัวแต่ทำงานเอาใจใบสั่งการเมืองจนเสียเวลาในการเลือก กสช.มาห้าปี ดังนั้นหากทำงานไม่ได้ก็ต้องลาออกไปได้แล้ว เพราะรัฐมนตรีชุดนี้รับผิดไม่เป็นดีแต่รับชอบ โดยเฉพาะวุฒิสภามีหน้าที่ต้องกลั่นกรอง ยับยั้งเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่นี่กลับใช้เสียงข้างมากลากไป  ส.ว.ต้องกลั่นกรองไม่ใช่ว่าเขาโยนขี้ โยนขยะมาให้ก็ยกมือรับรองไป วันนี้ส.ว.ต้องรับผิดชอบต่อมติที่ออกมาแต่กลับไม่มีการรับผิดชอบ แต่ละคนหลบลี้หนีหน้ากันไปเฉยๆ โดยเฉพาะนายสุชน ยังออกมาแถลงข่าวไม่รับผิดชอบความผิดพลาดเกิดขึ้น ทั้งที่เขาเป็นหัวโจก ทำตามใบสั่งอย่างเดียวจนวุฒิสภายับเยินไปหมดแล้ว"สว.บุรีรัมย์ผู้นี้ระบุ


 


นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สว.อุบลราชธานี และประธานอนุกรรมาธิการการปฏิรูปสื่อวุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า นายวิษณุทำไม่ถูกต้องเพราะสิ่งที่ผิดพลาดมันไม่เกิดจากกฎหมายแต่มันเกิดจากคนใช้กฎหมายทางแก้ ต้องแก้ที่คน การแก้โดยเอากระบวนการมารองรับคนทำผิดกฎหมายมันไม่เหมาะสม กสช.ที่เกิดปัญหาขึ้นมาไม่ได้เกิดจากข้อผิดพลาดกฎหมาย แต่เกิดจากข้อผิดพลาดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วมาปิดบัง มองว่าการแก้ปัญหาตอนนี้ที่กสช.ต้องล้มไป ควรนำนักวิชาการนักวิชาชีพด้านสื่อมวลชน นักกฎหมายมารวมตัวกันสร้างเป็นโมเดลเพื่อหารือกันว่าจะหาทางออกอย่างไรในช่วงสุญญากาศ กสช.


 


ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กทม.กล่าวว่า ตนเห็นว่าถ้าให้ กทช.มาดูแลงานในส่วนของ กสช.ในระยะสั้นก็สามารถทำได้ แต่ตนไม่เห็นด้วยแน่นอนที่จะให้มีการควบคุมในระยะยาว เพราะอย่าลืมว่าการทำหน้าที่ของ กทช.คือการดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหมายความว่าเป็นการสื่อสารระหว่างคนต่อคนโดยผ่ายเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ และดาวเทียม ส่วน กสช.นั้นหมายความว่าคือการควบคุมกำกับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในเรื่องการกระจายเสียงที่ส่งออกจากจุดหนึ่งไปให้ผู้รับสารอีกเป็นแสนเป็นล้านได้รับฟัง เพราะฉะนั้นถึงจำเป็นที่จะต้องมี กสช.เข้ามากำกับดูแลโดยเฉพาะในเนื้อหาที่มีการกระจายออกไป แต่หลักการการทำงานของ กทช.คือการควบคุมเชื่อมต่อโครงข่าย ทำให้ไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะมากำกับดูแลเนื้อหาสาระในการกระจายเสียงเหมือน กสช.ได้ ซึ่ง กสช.ต้องเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจ กฎหมายและหลักการในการกระจายเสียง


 


ส.ว.กทม.กล่าวต่อว่า การทำงานของ กสช.กับ กทช. จะทำพร้อมกันก็ต่อเมื่อในการจัดสรรคลื่นความถี่ ว่า กทช. หรือ กสช. จะใช่ช่องไหนของคลื่น และให้ไปกำกับดูแลกันเองเองดังนั้นถ้าจะให้ กทช.มากำกับดูและเนื้อหาที่เป็นส่วนรับผิดชอบของ กทช.ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ นอกจากนี้ กิจการโทรคมนาคมที่ กทช. ดูแลในปัจจุบันมีมูลค่านับแสนล้าน ซึ่งในส่วนที่เป็นกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่ กสช.ดูแลก็มีมูลค่าไม่ต่างกัน ดังนั้นหากนำกิจการทั้งสองมารวมกันจะมีมูลค่ามหาศาล เราจะปล่อยให้องค์กรเดียวมาดูแลผลประโยชน์มากขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะเจตนารม ในการปฏิรูปสื่อ ต้องการให้มีสองหน่วยงานนี้ขึ้นมาทำงาน


 


"แนวคิดของรัฐบาลแบบนี้เป็นแนวคิดแบบคนเรียนลัด รวบรัด และอยากรวยลัดมากกว่า ผมเห็นว่าการที่รัฐบาลเสนอให้แก้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่  ในมาตรา 80 ที่เป็นบทเฉพาะกาล ไม่มีความจำเป็นต้องแต่อย่างใดเพราะในมาตราดังกล่าว ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ในระหว่างที่ไม่มี กสช. ก็ให้รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์ดูแลไปก่อน โดยไม่จำเป็นต้องให้ กทช.มาดุแลแต่อย่างใด ทางที่ดีรัฐบาลเองควรจะทำอะไรให้ถูกกฎหมายจะดีกว่า ไม่ใช่ปล่อยให้เละเทะเหมือนที่ผ่านมา"นายเจิมศักดิ์กล่าว


 


………………………………………..


ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/2005/11/24/w001l2_55394.php?news_id=55394


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net