Skip to main content
sharethis

ประชาไท - อภิมหาโครงการขุดคลองแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ มูลค่าหมื่นกว่าล้านยังวุ่นไม่เลิก เจอข้อเสนอชาวบ้าน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคัดค้านไม่ให้ขุด อีกกลุ่มเสนอให้ย้ายแนวคลอง กลุ่มใหญ่สุดเรียกร้องค่าทดแทนเพิ่ม กรมชลฯ เสนอใช้มาตรการกฎหมายแก้ปัญหา ยกเว้นพื้นที่ชุมชนหนาแน่นให้ใช้วิธีเจรจา


 


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมกรณีชาวบ้านในอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา คัดค้านการขุดคลองระบายน้ำ ร. 1 และเรียกร้องขอเพิ่มค่าทดแทนที่ดิน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2548 จนทำให้ไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 19 คน


 


นายสมพร เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติจะใช้วิธีเจรจา และทำความเข้าใจกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ให้เข้าใจว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่อื่นก็ได้อนุญาตให้ก่อสร้างแล้ว เหลือเพียง 3 จุด ระยะทาง 2 กิโลเมตร ที่ยังเป็นปัญหา หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มาก


 


นายสมพร เปิดเผยว่า ที่ประชุมจึงมอบหมายให้นายอำเภอบางกล่ำไปเจรจากับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวประมาณ  20 ราย โดยจะใช้วิธีการเจรจาต่อไปเรื่อยๆ เพราะราคาทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาทดแทน โครงการขุดคลองระบายน้ำ ร. 1 กำหนดจ่ายให้ชาวบ้าน เป็นราคาที่สูงมากแล้ว ส่วนกรณีชาวบ้านรียกร้องให้ย้ายแนวคลอง คงย้ายไม่ได้แล้ว เพราะการขุดคลองสายนี้ ได้ดำเนินการไปมากแล้ว


 


นายธีระวัฒน์ สิงห์หนู หัวหน้าโครงการก่อสร้าง 11 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เจ้าของโครงการ เปิดเผยว่า ตามแผนการขุดคลอง ร. 1 จุดที่ชาวบ้านคัดค้าน จะต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เพื่อให้ทันรับน้ำในช่วงหน้าฝนปีนี้ ถ้าฝ่ายชาวบ้านไม่พอใจในค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่กำหนด สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลาที่กำหนด ตามกฎหมายเวนคืนที่ดิน สำหรับบริเวณที่มีปัญหาทั้ง 3 จุด ประกอบด้วย ชุมชนบ้านโคกเมา หมู่ที่ 15, 16 บ้านดินลาน และหมู่ที่ 4 บ้านบางหยี อำเภอบางกล่ำ รวมที่ดินทั้งหมด 54 แปลง


 


สำหรับโครงการขุดคลองระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เริ่มดำเนินการภายหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ เมื่อปี 2543 โดยกำหนดขุดคลองระบายน้ำทั้งสิ้น 6 สาย ภายใต้การดำเนินงานของกรมชลประทาน มูลค่าโครงการ 10,000 กว่าล้านบาท


 


ทั้งนี้ ในเอกสารประกอบการประชุมของฝ่ายราชการครั้งนี้ ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ดังนี้ ชุมชนบ้านโคกเมา มีนายสำแอ หวังเบญหมูด เป็นแกนนำสำคัญ มีหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน โดยอ้างราคาทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดให้ไม่เป็นธรรม กำหนดราคาทดแทนฝ่ายเดียว ไม่เคยปรึกษาหารือกับราษฎรในพื้นที่


 


เอกสารฉบับนี้ ระบุว่าในการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนที่ดิน ในพื้นที่อำเภอบางกล่ำ มีการเชิญตัวแทนราษฎร และตัวแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่เข้าร่วมประชุม รับฟังคำชี้แจงผลการดำเนินการก่อสร้าง และประชุมชี้แจงราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ร่วมกับตัวแทนนายอำเภอบางกล่ำ ในทุกหมู่บ้านที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้สอบถามข้อมูลราคาที่ดิน จนกำหนดค่าทดแทนได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยจัดแบ่งโซนพื้นที่ต่างๆ ตามสภาพการใช้ที่ดิน


 


ที่ผ่านมา ทางอำเภอบางกล่ำ และฝ่ายจัดหาที่ดิน พยายามประชุมชี้แจงเพื่อแก้ไขปัญหามาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งยื่นข้อเสนอทดแทนด้วยวิธีอื่น แต่ทางกลุ่มยังคงยืนยันราคาค่าทดแทนตามที่ทางกลุ่มต้องการ


 


การแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินในโซนนี้ คาดว่าอาจใช้เวลามากที่สุด เนื่องจากเป็นเขตชุมชนมุสลิมดั้งเดิม ที่เคยต่อต้านโครงการนี้ มาตั้งแต่สมัยริเริ่มโครงการ เมื่อปี 2532 รวมทั้งเป็นเขตก่อสร้างคลองระบายน้ำ ร. 1 ที่ผ่านชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่นที่สุด หากการแก้ไขยึดหลักกฎหมายมากเกินไป อาจโยงไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาได้


 


สำหรับพื้นที่หมู่ที่ 15, 16 บ้านดินลาน อำเภอบางกล่ำ เอกสารประกอบการประชุมฉบับเดียวกันนี้ ระบุว่ามีสภาพเป็นทุ่งนารกร้าง พื้นที่นี้มีนายเดื่อม สุวรรณชาตรี เป็นแกนนำคนสำคัญ อ้างว่าเป็นหัวคะแนนนักการเมือง สามารถเรียกร้องค่าทดแทนให้สูงขึ้นได้ ทางโครงการจึงเข้าพบนักการเมืองที่ถูกอ้างถึง พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบแล้ว การแก้ไขปัญหาค่าทดแทนโซนนี้ คาดว่าจะสามารถใช้กฎหมายเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นทุ่งนารกร้าง แต่ได้รับค่าทดแทนสูงกว่าความเป็นจริงมาก


 


ส่วนพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านบางหยี ในเอกสารระบุว่า มีนางขนิษฐา มุสิกุล และนางสุขใจ บุญประเสริฐ เป็นแกนนำเรียกร้องย้ายแนวคลองระบายน้ำ ร. 1 โดยพยายามหาแนวร่วมจากคณาจารย์บางกลุ่มในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน ข้อเรียกร้องปัจจุบัน ยังคงต้องการค่าทดแทนเพิ่ม โดยฝ่ายจัดหาที่ดินได้ชี้แจงหลายครั้งแล้ว การแก้ปัญหาในโซนนี้ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการได้กำหนดค่าทดแทน พร้อมกับได้วางทรัพย์ต่อศาล และครบกำหนดการเข้าใช้พื้นที่ตามกฎหมายเวนคืน ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 24548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net