Skip to main content
sharethis



 


 



 



 


 


"กลัวที่สุดตอนนี้ คือกลัวไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน ยังไงผมก็ต้องเดินต่อไปให้ถึงกรุงเทพฯ แม้ว่าตอนนี้รู้สึกว่าเริ่มล้า ปวดเมื่อยตามแขน พอถึงช่วงค่ำก่อนเข้านอน ก็จะเอายามานวดที่แขน ครับ คนอื่นนั้นปวดเมื่อยกันที่เท้า แต่ผมปวดที่แขน ข้อพับ เพราะใช้ไม้เท้ายันตลอดทาง"


 


นั่นคือคำพูดของ "ชิ" หรือ "คำ โชคส่งเสริม" หนุ่มวัยกลางคนชาวปวาเก่อญอ จากบ้านห้วยเหียะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในตัวแทนของชาวบ้านที่เดินธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชน ในครั้งนี้


 


เช้าวันนั้น แสงแดดเริ่มแผดร้อนแรงขึ้นทุกชั่วขณะ คนกลุ่มหนึ่งสวมกางเกงขาก๊วยสีดำ ใส่เสื้อผ้าทอพื้นเมืองสีขาวหม่น สวมหมวกสานไม้ไผ่ กำลังย่างเดินเป็นทิวแถวเป็นแนวยาวริมถนนสายหลักบริเวณเขตรอยต่อระหว่าง อ.เถิน จ.ลำปาง กับ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ด้วยอาการสำรวม เงียบ สงบ นานๆ ครั้งยินเสียงฆ้องดัง โมง...โมง ตามจังหวะการก้าวย่างแต่ละก้าว


 


ผู้คนบนรถบัสประจำทางที่แล่นผ่านไปมา ต่างชะเง้อหน้ามองออกมาทางช่องหน้าต่าง ชาวบ้านที่ยืนอยู่ตามชุมชนร้านค้าริมถนน ต่างหยุดชะงักหันมาจ้องมองด้วยความแปลกใจ คนกลุ่มนั้นกำลังทำอะไร กำลังเดินไปไหน และเมื่อเราออกเดินตามหลังของคนกลุ่มนั้น จึงมองเห็นบางสิ่งบางอย่างติดอยู่ด้านหลังเสื้อ เป็นรูปใบไม้สีเขียว มีรูปเสมาธรรมจักรซ้อนทับอยู่ตรงกลาง ข้างในมีรูปคนยืนอยู่กับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง และข้างล่างรูปนั้นมีข้อความว่า "ธรรมชาติยาตรา เพื่อป่าชุมชน ของคนทั้งประเทศ"


 


ที่ทำให้สะดุดตาต่อผู้พบเห็นมากที่สุดในการเดินครั้งนี้ก็คือ ชายหนุ่มพิการวัยกลางคน ตัวผอมบางร่างเล็ก ขาข้างหนึ่งของเขาขาดตั้งแต่โคนขา กำลังใช้ไม้เท้าพยุงร่างจ้ำย่างไปกับพื้นถนนไปอย่างช้าๆ ทว่าเมื่อมองดวงตาของเขานั้นดูกล้าแกร่ง จดจ้องมองทางข้างหน้าที่ทอดยาวไกลเหมือนไม่รู้จักสุดสิ้น ไม่มีใครรู้ว่าเขากำลังครุ่นคิดถึงสิ่งใด จนเมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ทุกคนแวะหยุดพักทานข้าวกันตรงบริเวณทางเข้าสวนป่าสะเลียมหวาน ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง เขตรอยต่อกับ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย


 


หลังทานข้าวมื้อเที่ยง เขานั่งอยู่ใต้ร่มเงาไม้ ก่อนหยิบยาเส้น ใบตองออกมามวนเป็นบุหรี่อย่างคนอารมณ์เย็น สายตาทอดมองไปยังถนนที่จากมา


 


ถ้าใครไม่รู้ว่า ชายขาขาดคนนี้กำลังเดินทางไกลมาจากเชียงใหม่ เป้าหมายคือกรุงเทพฯ ที่หน้ารัฐสภา คงไม่มีใครรู้สึกสงสัยหรือแปลกใจแต่อย่างใด


                                                .......................................


"ชิ" ชื่อภาษาปวาเก่อญอ หมายถึง คนตัวผอม คือชื่อเล่นของเขา


 


ชื่อจริงชื่อ "คำ โชคส่งเสริม" วัย 41 ปี เป็นชาวบ้านห้วยเหียะ ซึ่งเป็นหย่อมบ้านของหมู่บ้านแม่ลานคำ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เขาบอกเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงยังประหม่า ไม่คุ้นชินกับผู้คนในเมืองเท่าใดนัก แต่บทสนทนาของเขานั้นซื่อและจริงใจ


 


"ครอบครัวของผมมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ตอนนี้พ่อเสียแล้ว เหลือแต่แม่" เขาบอกเล่าชีวิตในครอบครัว


"ขอโทษนะ อยากรู้ว่าทำไมถึงขาขาด..." ผมรู้สึกว่า กำลังตั้งคำถามที่โหดร้ายและเจ็บปวด


 


"ตอนนั้น ผมอายุได้ 12 ปี ประมาณปี 2522 ผมโดนงูกัด ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ช่วยกันหาเชือกมามัดเท้าไม่ให้พิษกระจายไปถึงหัวใจ เมื่อพาไปหาหมออนามัย ได้เพียงแค่ล้างแผลและให้ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด เข้าใจนะว่าบ้านอยู่บนดอย ช่วงนั้นยังไม่มีเซรุ่ม ไม่มียารักษา เวลาผ่านไปได้ประมาณยี่สิบกว่าวัน แผลเริ่มบวมเน่า และลุกลามขึ้นไปเรื่อยๆ หมอจึงตัดสินใจตัดขาขวาตรงบริเวณเหนือหัวเข่าทิ้ง" ชิ เล่าให้ฟังเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น


 


"หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อหมดตรวจดูอาการอีกครั้ง พบว่าพิษงูยังมีเหลืออยู่ และอาจเน่าลุกลามต่อไปอีก จึงตัดสินใจตัดโคนขาทั้งหมด" ชิ เล่าให้ฟังก่อนหยิบบุหรี่ใบตองขึ้นมาสูบช้าๆ


 


"เหนื่อยไหม" ผมเปลี่ยนเรื่องคุย


 


"ไม่เหนื่อยเท่าไรหรอก เดินต่อไปได้ แต่เดินบนดอย กับเดินพื้นราบนี่มันต่างกันนะ เพราะว่าเดินบนดอยนั้น เดินบนดิน มันนุ่ม แต่เมื่อต้องมาเดินข้างล่าง เดินบนถนนลาดยาง ถนนคอนกรีต มันแข็งกระด้าง ทำให้พื้นของไม้เท้ามันสึกเร็ว นี่รู้ไหม ผมเดินมาถึงเขตลำปาง ต้องเปลี่ยนไม้เท้าไปคู่หนึ่งแล้วนะ" ชิ เล่าให้ฟังอย่างคนอารมณ์ดี เหมือนไม่รู้สึกรู้เจ็บ รู้ร้อนรู้หนาวอะไรเลย


 


"แล้วทำไมถึงต้องลงจากดอยมาเดินทางไกลอย่างนี้?" ผมเอ่ยถาม


 


"เห็นพ่อแม่พี่น้องคุยกันว่า ถึงเวลาที่จะต้องลงไปเดินอีกครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลได้รับรู้และเห็นใจพวกเราว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนนั้นมีความสำคัญต่อพวกเรามากเพียงใด"


 


ชิ เล่าให้ฟังด้วยว่า ก่อนนั้น เคยลงจากดอยไปร่วมชุมนุมกับพี่น้องชาวบ้านที่ศาลากลางจังหวัดมาสองสามครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2537 ที่เข้าร่วมโดยเคยเดินไปร่วมชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน และการเดินเท้าครั้งนี้เป็นครั้งแรก และพี่น้องจาก อ.สะเมิง มาร่วมเดินในครั้งนี้ 4 คน


 


"บ้านห้วยเหียะที่ผมอยู่ มีทั้งหมด 15 ครัวเรือน ถือเป็นหย่อมบ้านของหมู่บ้านแม่ลานคำ หมู่บ้านทางการ มีทั้งหมด 5 หย่อมบ้าน รวมกันแล้วมีประมาณ 200 กว่าครัวเรือน เราอยู่กันมานานหลายร้อยปีมาแล้ว แต่รัฐเพิ่งจะเข้าไปประกาศเขตหน่วยจัดการต้นน้ำเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง" ชิ เล่าให้เห็นภาพของชุมชนที่อาศัยอยู่


 


"เราทำไร่หมุนเวียน มีการปลูกข้าวไร่ ร่วมกับพี่ชายประมาณ 10 ไร่ ใช้ข้าวปลูกประมาณ 10 ถัง นอกจากนั้นก็จะทำสวน เป็นสวนผสมผสาน ปลูกทุกอย่างเอาไว้อย่างนั้น"


 


"เคยมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ไหม" ผมถาม ชิ เพราะได้ข่าวว่าพื้นที่หมู่บ้านบนดอย มักจะมีเรื่องแบบนี้อยู่เนืองๆ


 


"สองสามปีก่อน เคยมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำ เข้ามาก่อกวนชาวบ้านในเรื่องการทำมาหากิน ขณะกำลังทำการเผาหญ้าในไร่ก่อนจะปลูกข้าว ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว แต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ล่าสุด ได้ข่าวว่ารัฐกำลังเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ชาวบ้านต้องโดนอพยพทั้งหมด" ชิ บอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นๆ


 


เมื่อถาม ชิ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร กับกรณีกรรมาธิการร่วม 2 สภา ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยมีการเพิ่มเติม เขตพื้นที่ "อนุรักษ์พิเศษ" เข้าไป ซึ่งหมายความว่า ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนได้ และจะทำให้ชุมชนจำนวนมากต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ป่า


 


"นี่คือสิ่งที่ผมและทุกคนเป็นห่วง อยู่บ้านไม่ได้ ต้องออกเดินธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชนในครั้งนี้ อยากจะบอกให้คนข้างล่างรู้ ให้คนที่มีอำนาจรู้ ว่าคนอยู่กับป่าได้ รักษาป่าได้จริงๆ ไม่เชื่อขึ้นไปดูหมู่บ้านของเราดูได้ เราอยากได้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ประชาชนร่วมกันร่างขึ้นมา" ชิ พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและจริงจัง


 


"ตกลงจะเดินไปจนถึงกรุงเทพฯ เลยหรือ" ผมอดไม่ได้ที่จะถาม


 


"ยังไงก็ต้องเดินต่อไปให้ถึงกรุงเทพฯ แต่พยายามจะเดินไปให้ได้ครึ่งวัน เพราะตอนนี้รู้สึกว่าเดินช่วงบ่ายเริ่มล้า ปวดเมื่อยตามแขน ข้อพับ ขานี่ไม่ปวด คนอื่นอาจจะปวดเท้า ปวดขา แต่ผมปวดแขนปวดไหล่ ตอนค่ำก่อนเข้านอน ก็จะเอายามานวดที่แขน" ชิ บอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ แต่หลายคนที่นั่งฟังรู้สึกเศร้า


 


ก่อนที่ผมจะขอตัวกลับ ผมถาม ชิ ว่า กลัวอะไรมากที่สุดในตอนนี้


 


"กลัวไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน"


 


ล่าสุด มีรายงานแจ้งว่า ธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชน ของคนทั้งประเทศ กำลังเดินทางเข้าเขต จ.สุโขทัย โดยจะพักแรมกันที่วัดเชตุพน บริเวณเมืองเก่า และจะมีเวทีกิจกรรมใหญ่ขึ้นที่ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ โดยจะมีการเชิญนักคิดนักวิชาการ องค์กรอิสรา และ ศิลปิน เข้าร่วมกิจกรรม โดยใช้ชื่อกิจกรรม "ชำแหละ พ.ร.บ.ป่าชุมชน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net