Skip to main content
sharethis

 



 


 


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในสังคมไทยมีการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ก็ผุดขึ้นมาทั่วทุกหัวระแหง ทั้งนี้ก็มุ่งที่จะเป็นปากเสียงให้ประชาชนและต่อรองกับอำนาจรัฐ ซึ่งสีสันเหล่านี้ล้วนประดับอยู่นอกกรอบกระบวนการทางรัฐสภาทั้งสิ้น


 


ภายหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาการทุจริตต่างๆ และเป็นช่องทางเรียกร้องของประชาชน ขณะที่ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มาทำหน้าที่แทนประชาชนและตรวจสอบรัฐบาลก็คือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งจากเดิมมีที่มาจากการแต่งตั้งและเปลี่ยนเป็นเลือกตั้งโดยประชาชนครั้งแรกเมื่อปี 2542 จำนวน 200 คน โดย ส.ว.ชุดแรกจะหมดวาระลงใน 21 มีนาคม 2549 นี้ แต่พวกเขาได้ทำหน้าที่สมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตัวในฐานะตัวแทนของประชาชนแล้วหรือยัง


 


"โรงเรียนการเมือง" ของ "พรรคแนวร่วมภาคประชาชน" จึงได้จุดประเด็นคำถามขึ้นมาว่า แท้จริงแล้ว "ส.ว.ของภาคประชาชน" ควรเป็นอย่างไร? แล้วยังได้ตั้งข้อสงสัยตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.ควรออกมาเคลื่อนไหวนอกสภาด้วยหรือไม่? ควรมีการติดต่อประสานกับภาคประชาชนอย่างไร? รวมไปถึงควรใช้ชีวิตอย่างไร? ควรรับเงินเดือนด้วยหรือไม่? เป็นต้น


 


จากคำถามเหล่านี้ จึงเกิดงานเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "การเมืองของภาคประชาชนและ วุฒิสภา" จัดโดย พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.ปัจจุบันและอดีตนักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวเกย์ เจ้าของหนังสือแกะกล่องเกย์ นางสาวรสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย และกรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ผู้เคลื่อนไหวเรื่องทุจริตยาและปัญหาสุขภาพ และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวแรงงาน ดำเนินรายการโดย ร.ศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา


 


รสนา โตสิตระกูล


"การเติบโตของภาคประชาชน คือการเติบโตของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"


 


น.ส.รสนา มองว่า แม้ว่า ส.ว.จะไม่ได้อยู่ในพรรคการเมืองก็ใช่ว่าจะหมดกรอบทางความคิดแบบพรรค แต่ถ้า ส.ว.สามารถสละความคิดของพรรคได้และมีความคิดอิสระเพื่อประชาชนก็น่าจะถ่วงดุลอำนาจในการบริหารได้ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายการเมืองมากขึ้น อำนาจถ่วงดุลจึงแทบไม่มีให้เห็น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ส.ว.น่าจะอิสระและถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างแท้จริง


 


นอกจากนี้ น.ส.รสนา ได้แสดงความเป็นห่วงสำหรับการเลือกตั้ง ส.ว.ในสมัยหน้า โดยเกรงว่าพื้นที่ทั้งหมดอาจถูกพรรคการเมืองใหญ่ยึดครองไป เนื่องจากปัจจุบันประชาชนยังไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ก็ยากที่จะมีประชาธิปไตยทางการเมืองด้วย เพราะถ้ามีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่าไรก็จะมีโอกาสเข้าถึงและใช้อำนาจทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเอง


 


"ระบอบประชาธิปไตยกำลังถูกตั้งคำถามว่าดีที่สุดจริงหรือเปล่า? หรื่อไม่รู้ว่าเลวน้อยที่สุดหรือเปล่า? เพราะเสียงข้างมากไม่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อย  เมื่อมีอำนาจแล้วก็จะหลงอำนาจเหมือนกันหมด ประชาธิปไตยสำหรับประชาชนจึงต้องมีกิจกรรมตลอดเวลา ต้องมีการทำงานตลอดเพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมือง เพราะ ส.ว.ทำงานไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัว โดย ส.ว.ก็สามารถกระตุ้นและปลุกเร้าให้ประชาชนเติบโตได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากวุฒิสภาถือเป็นช่องทางหนึ่งที่อยู่ในระบบ จำเป็นต้องประสานกัน เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยตรงตามเจตนารมณ์ของการต่อสู้ภาคประชาชน" เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าว


 


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องการพูดถึงภาคประชาชน ซึ่งเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทยเห็นว่า การเติบโตของภาคประชาชนคือการเติบโตของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งยังมองว่า ถ้า ส.ว.หรือ ส.ส.เป็นเครื่องมือของประชาชนที่แท้จริง ประชาชนก็จำเป็นต้องตรวจสอบ ทุกวันนี้ในสภานิติบัญญัติการลงมติต่างๆ เป็นเพียงการทำตามพรรคเพียงอย่างเดียว โดยสังคมไม่เคยตั้งคำถาม


 


ดังนั้น น.ส.รสนาจึงเสนอว่า ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องมีโพรไฟล์ (Profile) ให้ประชาชนให้คะแนน เมื่อหมดวาระจะได้นำมาวิเคราะห์ เช่น ส.ว.เจตจำนงพื้นฐานคือการตรวจสอบและตั้งคำถามกับรัฐบาล แต่ไม่เคยถูกตรวจสอบว่าลงมติในเรื่องใด อย่างไร หรือมีการตั้งกระทู้ถามในความต้องการของประชาชนและอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่


 


ทั้งนี้ น.ส.รสนากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ส.ว.ไม่ควรแยกห่างจากประชาชน แต่ที่สำคัญที่สุดคือประชาชนต้องเข้มแข็ง ซึ่ง ส.ว.จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน เราต้องตรวจสอบตลอดและควรมีการเรียกเสียงคืนได้ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจและเป็นการต่อสู้ความเห็นบนกติกา กำหนดให้ประชาชนควบคุมได้บ้างเพื่อกำกับอย่างใกล้ชิดจะทำให้ ส.ว.เป๋น้อยลง"


 


นที ธีระโรจนพงษ์


"สังคมมองว่าถ้าให้เกย์เล่นการเมืองก็พังหมด"


 


"การเกิดเป็นคนกลุ่มน้อยยากที่จะคิดงานด้านการเมือง เราไม่ได้รับความใส่ใจมาตลอด แม้ว่าปัจจุบันเหมือนจะได้รับการยอมรับแล้วก็ตาม แต่ถ้าเมื่อไรเกย์เป็นเรื่องใกล้ตัว สังคมก็ไม่เอาเลย เท่ากับว่าการเกิดเป็นเกย์ต้องยอมจำนนกับความบกพร่อง และในวันนี้แม้ว่ากลุ่มเกย์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไม่มีพื้นฐานความเข้มแข็งด้านสังคมและการเมืองรองรับ ขณะที่เกย์ยังถูกมองเชิงธุรกิจและสร้างสีสัน เช่น ช่างแต่งหน้า เสื้อผ้า ดีไซเนอร์ เป็นต้น สังคมมองว่าถ้าให้เกย์เล่นการเมืองก็พังหมด"


 


คำพูดข้างต้นสะท้อนความในใจของนายนที ที่อัดอั้นและต้องการบอกให้สังคมรับรู้ถึงชีวิตของเขาและเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน


 


โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นายนทีผู้ประกาศตัวว่าเป็นเกย์ได้มายืนอยู่บนเวทีเพื่อสื่อสารกับสังคม ทั้งๆ ที่เขาเชื่อว่าในรัฐสภามีเกย์อยู่ไม่น้อย และก็เชื่อว่านายกรัฐมนตรีของไทยก็เคยมีผู้ที่เป็นเกย์มาแล้วด้วย แต่ไม่มีใครกล้าพอที่จะบอกว่าตัวเองเป็นเกย์


 


"ขนาดเขายังไม่ยอมรับว่าเขาเป็นเกย์เลย แล้วจะหวังทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองได้" เป็นคำพูดเหน็บแนมของนายนทีที่ส่งผ่านถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคนนั้น ผู้ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง


 


นอกจากนี้ นายนทีได้ตั้ง "กลุ่มเกย์การเมืองไทย" ขึ้นมา โดยให้เหตุผลว่าในฐานะประชาชนก็อยากตรวจสอบสังคม ซึ่งจากที่มีข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยมีเกย์ 10% หรือประมาณ 6.4 ล้านคน แต่ทัศนคติของสังคมทำให้บรรดาเกย์ทั้งหลายต้องมีชีวิตเบ้ไปจากความจริงที่ควรเป็น หลายคนมีชีวิตไม่ผ่านช่วงวัยรุ่น หรือการตอกย้ำเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ในครอบครัว ซึ่งขณะนี้การมีชีวิตของเกย์ในสังคมยังมืดมนมากรวมถึงในการเมืองไทยด้วย


 


เมื่อทุกคนอยากเห็นประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ขณะที่รอยต่อทัศนคติยังไม่ก้าวพ้น ประชาชนไม่เคยสนใจไม่รู้เรื่อง ยังมีความคิดทางการเมืองน้อย ส่วนองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวกันอยู่ก็ไม่รู้ว่าเข้มแข็งจริงหรือเปล่า ดังนั้นคนจึงมีความสำคัญมากที่ต้องเชื่อมต่อและขยับพื้นฐานของประชาชน นั่นคือ ส.ว.นั่นเอง


 


"ผมไม่อยากให้ ส.ว.มีเงินเดือน อยากให้ชีวิตที่เป็นปกติ เช่นไม่มีเงินใส่ซองก็ได้ตามงานบุญต่างๆ โดยพร้อมที่จะเสนอตัวตนที่แท้จริงออกมา ต้องตรง ชัดเจน ส.ว.เป็นคนที่อยู่ตรงกลางคอยสะกิดคนที่มีกำลังและแตะมือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่ต้องมาจากภาคประชาชนอย่างเดียว จะเป็นใครก็ได้ที่มีใจเป็นกลาง" ตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวเกย์ กล่าว


 


 


สมยศ พฤกษาเกษมสุข


"ส.ว.ต้องมีจิตสาธารณะก่อนผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าวันนี้จะไม่มีความหวังสักเท่าไร"


 


นายสมยศ เริ่มต้นด้วย "รัฐบาลชุดนี้ถือเป็นชุดที่เลวที่สุด มีแต่ ส.ส.ที่เลวร้าย" ก่อนที่จะขยายความต่อไปว่า "เมื่อก่อนผมยังสามารถเดินขบวนแถวๆ หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ แต่วันนี้ทำเนียบฯ กลายเป็นเขตหวงห้าม โดนใช้กำลังปราบปรามตลอด ขณะที่ประชาชนไปหาด้วยความเดือดร้อนแต่นายกรัฐมนตรีกลับไปช็อปปิ้ง"


 


ยิ่งไปกว่านั้น นายสมยศ ยังกล่าวอีกว่า เราค่อนข้างผิดหวังกับระบบรัฐสภา คนที่เราเลือกเข้าไปไม่มีใครเข้าใจผู้ใช้แรงงานเลย ไม่เคยทำเพื่อคนจน แม้ว่าหลายคนจะมีคุณสมบัติวุฒิภาวะกลับไม่เคยเข้าใจ องค์กรอิสระก็ไม่เคยอิสระตามรัฐธรรมนูญ ล้วนเต็มไปด้วยการวิ่งเต้น ทุจริต ทุกอย่างจึงเป็นระบบที่ล้มเหลวและไม่น่าไว้วางใจ


 


ขณะที่มีเพียงบางมิติเท่านั้น ที่นักเคลื่อนไหวแรงงานเห็นว่า ส.ว.พอที่จะพึ่งพาได้ โดยปัจจุบันประชาชนต้องเดินต่อสู้บนท้องถนนเพียงหนทางเดียว ทั้งยังพบกับความรุนแรงมากขึ้นและมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐเกือบทุกครั้ง


 


"ต้องผลักดันคนที่มีคุณภาพเข้าไปนั่งในวุฒิสภาให้ได้ เพราะพอจะเป็นช่องทางการสื่อสารในระดับบนได้บ้าง แต่ที่สำคัญผมยังไม่เห็นใครที่เป็นความหวังได้ โดย ส.ว.ต้องมีจิตสาธารณะก่อนผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าวันนี้จะไม่มีความหวังสักเท่าไร" นายสมยศ กล่าวในตอนสุดท้าย


 


 


 


 จอน อึ๊งภากรณ์


"ในสภาอภิปรายชนะแต่แพ้ผลโหวต กลายเป็นเรื่องธรรมดา"


 


สำหรับ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กรุงเทพฯ ซึ่งมักจะถูกสังคมเรียกว่าเป็น ส.ว.ภาคประชาชน หรือ ส.ว.เอ็นจีโอ เห็นว่า ไม่ควรตั้งคำถามว่า ส.ว.หรือ ส.ส.ควรมีไหม? ในขณะที่มันมีอยู่ แต่ควรตั้งคำถามว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้หรือเปล่า ซึ่งแน่นอนน่าจะมีการใช้ประโยชน์จาก ส.ว.เนื่องจากไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขณะที่ประชาชนเรียกร้องให้ ส.ว.เป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งก็คงต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ  


 


"ผมเห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ คือไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผมจะสมัคร ส.ส.ต่อไป ใจผมอยากให้นักเมืองไม่สังกัดพรรค" นายจอน พูดทีเล่นทีจริง


 


ทั้งนี้ ส.ว.กรุงเทพฯ มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ส.ว.จะถูกด่า เนื่องจากวุฒิสภาก็เป็นเหมือนองค์กรทั่วไปที่คนเลวก็เข้าไปอยู่ด้วย ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ผมเห็นว่า ส.ว.ไม่เลวเท่าไรเพียงแต่ไม่อิสระ เอาผลประโยชน์ตัวเองมาก่อนเท่านั้น โดยเฉพาะมติเกี่ยวกับองค์กรอิสระที่ ส.ว.ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากเขามีโผอยู่แล้ว"


 


อย่างไรก็ตาม นายจอน เล่าถึงการทำงานของตนว่า ตอนเข้ามาเป็น ส.ว.ตั้งแต่แรกนั้น ต่างก็ถูกจับมือจัดขั้ว โดยมีเพื่อน ส.ว.เชิญไปเป็นพวก โดยทางสายเอ็นจีโอก็มีการชักชวนกัน เป็นเหมือนการถูกจัดโดยกระบวนการ เพราะ ส.ว.ไม่มีพวกเป็นไปไม่ได้  แต่ถึงอย่างไรประชาชนก็ยังสามารถร้องเรียนได้ทุกเรื่อง


 


"เราได้แต่ยกประเด็นให้สังคมเห็น แต่รายงานของวุฒิสภาส่วนใหญ่รัฐบาลกลับเพิกเฉย ขณะที่บทบาทหน้าที่จริงๆของ ส.ว.ภาคประชาชน ซึ่งผมก็ไม่ค่อยจะเต็มใจใช้คำนี้เท่าไรนัก ก็ช่วยเพิ่มประสานได้ทุกเรื่อง แม้ว่าผมจะมาจากหน่วยงานด้านเอดส์ แต่ทุกอย่างก็เกี่ยวข้องหมด แม้แต่เอฟทีเอ หลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะผมเน้นที่รัฐสวัสดิการ แม้จะแก้หลักกฎหมายไม่ได้ก็ตาม" ส.ว.เอ็นจีโอ กล่าว


 


"สำหรับผม ชนะหรือไม่อยู่ที่สังคมส่วนรวม ผมเชื่อว่ายังมีพื้นที่อยู่ แต่ถ้าจะไม่ให้ ส.ว.รับเงินเดือนผมก็เป็น ส.ว.ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นางสาวไทย ไม่ใช่มีเวลาว่างถึงมาทำได้ ประชาชนเลือกผมเสร็จแล้วก็ด่าว่าไม่ควรให้เงินบำเหน็จบำนาญ แล้วมาเลือกผมทำไม สังคมมอง ส.ว, ส.ส.เป็นคนเลวหมด มันอยู่ที่จิตสำนึกคนมากกว่า


 


ทั้งนี้ ส.ว.เชื่อมกับประชาชนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติมาตลอด แม้ว่าหลายอย่างจะตอบได้ล่วงหน้าว่า สู้แล้วแพ้แน่นอน บางเรื่องภาคประชาชนขอมาก็ต้องใช้ดุลพินิจ ถ้าไม่ไหวก็สู้พอเป็นพิธี ถือเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน


 


นอกจากนี้ นายจอนได้สะท้อนให้ฟังว่า "การอภิรายแต่ละครั้งต้องการให้ประชาชนฟัง ไม่ใช่ให้ ส.ว.ฟังเพราะเขารู้ผลการโหวตก่อนแล้ว เท่ากับว่าในสภาอภิปรายชนะแต่แพ้ผลโหวตกลายเป็นเรื่องธรรมดา เราได้ประโยชน์จากการที่เขารู้ว่าชนะอยู่แล้ว เราจึงได้เวทีอภิปรายเป็นเวลานาน ประชาชนอาจงงว่าอภิปรายไปอีกทาง แต่ทำไมผลโหวตกลับเป็นอีกทางหนึ่งก็ได้ ผมเสียดายที่ไม่มีโทรทัศน์ช่องรัฐสภาเพื่อถ่ายทอดสดตลอดเวลา มีเพียงวิทยุที่ยังไม่ครอบคลุมพอ ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน"


 


ส.ว.จอน ได้ฝากถึงคนของประชาชนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าด้วยว่า "ส.ว.รุ่นหน้า พรรคการเมืองจะเอาคนของตัวเองเข้าไปให้ได้มากที่สุด ผมเสนอว่าแต่ละคนที่คิดจะสมัคร ต้องคิดเป็นอันดับแรกว่าคนที่สนับสนุนเราเป็นใคร ถ้าซ้ำซ้อนเป็นกลุ่มฐานเสียงเดียวกันก็ควรจะคุยกันก่อน ไม่งั้นเสียงก็จะแย่ เพราะทุกส่วนสังคมมีโอกาสส่งตัวแทนทั้งนั้น"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net