Skip to main content
sharethis


วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2005 20:34น. 

อาทิตย์ เคนมี, ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ซอและห์ ตาเละ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการกุศล จ.ยะลา ภายใต้องค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ผู้ซึ่งเคยจัดโครงการแลกเปลี่ยนและให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนมุสลิมในประเทศกัมพูชา ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ไทยจึงต้องจับตาคนที่เป็นมุสลิม โดยเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการจับกุมชาวมุสลิมจากกัมพูชาที่กำลังเดินทางเข้ามาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด


 


"เราต้องแยกระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อเอกราชเพื่ออุดมการณ์กับกลุ่มหัวรุนแรง อย่างเช่นบางกลุ่มในอินโดนีเซียหรือกลุ่มอาบูซายาฟในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการอิสลามที่แท้จริง เป็นกลุ่มมุสลิมนอกแถว และประชาชนก็ไม่ยอมรับกลุ่มนี้" ซอและห์ กล่าว


 


ซอและห์ กล่าวว่า ถ้าคนที่รู้ประวัติความเป็นมาตามข้อมูลเชิงวิชาการ จะพบว่าสายสัมพันธ์ของพี่น้องมุสลิมในประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนมีความผูกพันกันมาเนิ่นนาน โดยชาวมุสลิมทั้งในลาว เวียดนาม และกัมพูชา มีเชื้อสายเดียวกันคือเชื้อสายจาม


 


เขายืนยันว่า แม้ชาวมุสลิมในลาวและเวียดนามจะถูกกดดันจากรัฐบาลอย่างหนัก ขาดอิสรเสรีภาพ แต่เขาเหล่านั้นก็มิเคยกระทำการรุนแรงใดๆ แต่สำหรับชาวมุสลิมในกัมพูชามีข้อแตกต่างประการหนึ่งคือ เป็นผู้มีบทบาททางการเมือง และมีตำแหน่งถึงขั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือกระทั่งเป็นถึงองคมนตรี รวมทั้งเคยร่วมต่อสู้กับพรรคแกนนำของรัฐบาลในการโค่นล้มเขมรแดง


 


ซอและห์ เล่าว่า ชาวมุสลิมในกัมพูชามีความผูกพันกับมาเลเซียค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการอพยพลี้ภัยในช่วงเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชา มาพึ่งพิงประเทศมาเลเซีย โดยทางรัฐบาลมาเลเซียก็ให้การต้อนรับคนเหล่านี้เป็นอย่างดี เนื่องจากศาสนา ภาษา และเชื้อชาติ ใกล้เคียงกัน คือเป็นมุสลิมเชื้อชาติจาม


 


"ปัจจุบันมีชาวมุสลิมเขมรไปอยู่ที่กลันตันเยอะมาก และมีความอยู่ดีกินดี หลายคนก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ที่นั่น คนเขมรที่อพยพไปมาเลเซียไม่เคยสร้างปัญหา ไม่เคยจี้ปล้นอะไรทั้งสิ้น พวกเขาขยันทำงาน จนสร้างฐานะใหญ่โต" ซอและห์ กล่าว


 


ฉะนั้น เมื่อมีคนเขมรกลุ่มแรกเข้าไปบุกเบิกในมาเลเซียแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการเดินทางไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกัน หรือไปเยี่ยมญาติที่อยู่มาเลเซีย บ้างก็ไปศึกษาต่อ และอีกส่วนหนึ่งก็ไปหางานทำ บางคนก็ฝังรกรากอยู่ที่นั่นจนได้สัญชาติมาเลเซีย


 


ซอและห์ เล่าต่อว่า สำหรับเส้นทางที่ชาวมุสลิมเขมรนิยมใช้ จะมีอยู่ 2 เส้นทางด้วยกันคือ เกาะกง จ.ตราด และจากพนมเปญมา อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หากแต่ว่าครั้งนี้อาจจะเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่โดยมีนายหน้าพาไป ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการของไทยสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อร้ายในภาคใต้


 


"โดยปกติแล้วจะมีบริษัทนายหน้าที่จัดส่งแรงงานจากพนมเปญไปมาเลเซีย ซึ่งเจ้าของบริษัทเป็นถึงรัฐมนตรีของพนมเปญ แล้วเขาก็เป็นมุสลิมด้วย เขาจะมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเหล่านี้ให้ไปทำงานที่มาเลเซีย โดยมีพาสปอร์ตการเดินทางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผมเองก็ไม่เคยได้ยินเลยว่ามีมุสลิมจากเขมรไปก่อเหตุการณ์รุนแรง"


 


ซอและห์ กล่าวว่า สำหรับความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมกัมพูชากับ 3 จังหวัดภาคใต้ ส่วนหนึ่งคือเยาวชนที่เข้ามาเรียนศาสนาอยู่ในโรงเรียนปอเนาะต่างๆ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ทั้งยังสามารถท่องคัมภีร์อัลกุรอานได้เป็นอย่างดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net