Skip to main content
sharethis

วันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในการผ่อนคลายสถานการณ์ความรุนแรงบนพื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้นำทางจิตวิญญาณ นักวิชาการ นักพัฒนา ผู้นำชุมชน ตัวแทนจากภาครัฐ ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน ทั้งในศาสนาพุทธและอิสลาม กว่า 150 คน ได้มาพูดคุยกันในรูปแบบการสานเสวนาเรื่อง "ศาสนเสวนาพุทธ - อิสลาม : ความรุนแรงและความสมานฉันท์" ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ และกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด


 


ทั้งนี้ หากสังเกตสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ในระยะหลัง จะพบว่าการก่อเหตุหลายครั้งมีลักษณะมุ่งเป้า หรือมีเจตนาจู่โจมทำลายในจุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม


 


กรณีดังกล่าวคล้ายเป็นการพยายามใช้ความแตกต่างทางศาสนาเป็นเงื่อนไขในการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งหากมองข้ามไปอาจเป็นการเพาะสร้างเชื้อแห่งความอคติระหว่างศาสนาในอนาคตได้  ในอีกแง่หนึ่งคืออาจทำให้เกิดการแบ่งข้าง ซึ่งตรงนี้เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามทางศาสนา


 


เพราะอคติจะทำให้มีการสร้างทัศนคติที่มีรากฐานมาจากความโกรธที่ทำให้เชื่อตลอดเวลาว่าศาสนาของตนโดนทำร้ายจากอีกศาสนา จากความโกรธนี้จะแปรเป็นความเกลียด สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นตัวค้ำชูความรุนแรงทั้งทางตรงและความรุนแรงทางวัฒนธรรม และดูเหมือนว่าก่อนหน้านี้ศาสนายังไม่ได้แสดงบทบาทในฐานะเป็นที่พึ่งในการลดปัญหาความรุนแรงเท่าใดนัก จนทำให้เริ่มมีความไม่เข้าใจในความแตกต่างทางศาสนาเกิดขึ้นแล้ว


 


การสานเสวนานี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความเข้าใจบนจุดร่วมสงวนจุดต่างทางศาสนาที่จริงจังครั้งแรกๆ เป็นการส่งสัญญาณจากผู้นำทางจิตวิญาณและผู้รู้ของทั้งสองศาสนาว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากศาสนา ทั้งสองศาสนาไม่ปรากฏคำสอนเรื่องการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่ทั้งสองศาสนาต้องหันกลับมามองตนเองและยอมรับความจริงกันเสียทีว่า ศาสนามักถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ แต่แก้ไขได้หากศาสนิกเข้าใจแก่นในศาสนาของตนเองอย่างแท้จริง  


 


นอกจากนี้ การสานเสวนาดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดาผู้นำทางจิตวิญญาณของทั้งสองศาสนาเอง หันมามองตัวเองและมองความต่างระหว่างศาสนามากขึ้นด้วย สุดท้ายกลายเป็นคำถามทั้งต่อตนเองและศาสนิกชนของตนว่าเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนาที่บอกว่านับถือแค่ไหน  เพราะหากเข้าใจอย่างแท้จริงนั้น ศาสนาจะนำไปสู่สันติภาพบนความแตกต่าง ไม่ใช่ความรุนแรงที่โดนแอบอ้างว่าเพื่อศาสนาอย่างที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้


 


ประชาไท เข้าร่วมสังเกตการณ์ในปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้ จึงขอนำคำถามจากปากของผู้นำทางจิตวิญญาณของทั้งสองศาสนา มาถามต่อศาสนิกที่บอกว่านับถือในศาสนา  ณ ที่นี้


.........................................................................................................


 


พระไพศาล วิสาโล : พุทธศาสนา


 


"ศาสนิกชนต้องกล้าวิจารณ์และก้าวให้พ้นจากการเป็นพวกเขาพวกเรา หรือขยายความเป็นพวกเราให้กว้าง คือต้องคิดว่าทุกศาสนาเป็นเพื่อนกัน ต้องเป็นกัลยาณมิตร ตอนนี้มีความไม่สมมาตรคือศาสนิกชนไม่กล้าวิจารณ์ตัวเอง ไม่กล้าวิจารณ์ความรุนแรงเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่น ในขณะที่ การพลีชีพคือการกล้าที่จะตายเพื่อศาสนาที่เชื่อ"


 


ความมีทิฐิทางความเชื่อและอุดมการณ์สำคัญต่อปัญหาความรุนแรงมาก เพราะเวลาพูดถึงอุดมการณ์ใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รวมศาสนาเข้าไปด้วย ต้องยอมรับว่า การฆ่ากันเพราะความขัดแย้งทางศาสนานั้นมีอยู่จริง อาจจะพูดดูสวยงามได้ว่า ศาสนาไม่ใช่สาเหตุแห่งความรุนแรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงบางครั้งเกิดจากศาสนา แม้แต่ในศาสนาเดียวกันแต่ต่างลัทธิก็มีความรุนแรงระหว่างกัน


 


ทิฐิและอุดมการณ์สามารถนำไปสู่การสร้างความรุนแรงได้ ต้องยอมรับว่า การที่มนุษย์ยึดติดกับอะไรก็ตามแม้ในสิ่งที่ดีก็สามารถทะเลาะกันได้ พระเองก็มีการทะเลาะกันเรื่องศีล เรื่องวินัย สงครามที่เกิดขึ้นในนามสันติภาพก็เกิดขึ้นประจำ


 


ดังนั้น สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องยอมรับความจริงตรงนี้ก่อน ต้องยอมรับว่าทุกศาสนาสามารถเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงและสงครามได้ ยกตัวอย่างเช่น การฆ่านักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ก็ทำในนาม ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  คือถ้ายึดติดและไม่มีสติก็นำไปสู่ความรุนแรงได้ แม้จะเป็นสิ่งดีงามก็ตาม


 


การแก้ปัญหาก็คือ ทุกศาสนาต้องกล้าที่จะวิจารณ์ตัวเองว่า ในศาสนาของเรามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ต้องไม่ยึดติดกับการเป็นพวกเรา ตอนนี้ยึดติดตรงนี้มาก พอเป็นพวกเราก็ไม่วิจารณ์ แต่วิจารณ์ศาสนาคนอื่น ที่ผ่านมา หากคนในศาสนาเรามีความผิดพลาดเรามักปกป้อง ไม่ยอมพูดว่าคนของเราทำความผิดพลาดอะไรบ้าง เราต้องไม่ปกป้องและไม่ควรกลัวพวกเขาด้วย


 


คนในศาสนาพุทธเองก็มีเรื่องที่ผิดพลาดมากมาย พระภิกษุในศรีลังกาก็ไปยิงนายกรัฐมนตรีของเขาซึ่งอ้างว่าทำในนามศาสนา หรือการที่ญี่ปุ่นไปรุกรานจีนและเกาหลี ก็บอกว่าทำภายใต้การมองว่าศาสนาหรือศรัทธาของตนดีกว่าจีนและเกาหลี


 


แต่ช่วงเวลานั้นเองชาวพุทธในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่ไปส่งเสริมสงครามในจีนและเกาหลี แต่ก็ไม่กล้าวิจารณ์ ไม่กล้าต่อต้าน เพราะกลัวในความเป็นชาตินิยมที่จัดมาก


 


สถานการณ์ในขณะนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีสิ่งที่ไม่น่าดูทั้งในพุทธและอิสลาม มีอยู่ในบางบุคคล แต่ศาสนิกชนไม่กล้าท้วงติงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะกลัวโดนวิจารณ์ กลัวโดนโจมตี จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะกลุ่มเหล่านี้กำลังโดนพวกหัวรุนแรงคลั่งชาติ คลั่งลัทธิศาสนาผูกขาดความคิดของสังคม


 


กลุ่มผูกขาดนี้จะเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ และขยายให้ใหญ่โต ศาสนิกชนต้องกล้าท้วงติง อย่าปกป้อง ต้องทำด้วยความเมตตา ทำด้วยสันติภาพ ทำด้วยความเข้าใจ


 


ส่วนสาเหตุหนึ่งที่เกิดกลุ่มหัวรุนแรงขึ้นเพราะถูกกดดัน เช่น ลัทธินาซี เกิดจากการที่เยอรมันถูกรังแกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศชาติจึงยากจนและต้องลุกฮือขึ้นมา เมื่อเกิดลัทธิแปลกๆ ที่รุนแรงและคลั่งชาติ ก็สามารถดึงดูดความรู้สึกของคนที่ยากไร้ได้


 


ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เกิดจากการที่กรรมกรถูกเอาเปรียบ ถูกรังแก ลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งในพุทธศาสนา ในศาสนาฮินดู หรือในศาสนาอิสลามก็เหมือนกัน มักมาจากการถูกรังแกโดยเฉพาะการรังแกที่มาจากรัฐ


 


การที่รัฐเข้าไปใช้ความรุนแรงจะทำให้กลุ่มเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น ถ้าไม่อยากให้กลุ่มเหล่านี้ขยายตัวต้องยุติการกระทำรุนแรงอย่างเหวี่ยงแหจนทำให้เกิดกลุ่มหัวรุนแรงมากขึ้น และเมื่อมาร่วมมือกับลัทธิชาตินิยมหรือนักการเมืองก็จะยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าเขามีปัญหา เขาถูกรุกรานด้วยลัทธิทางโลก มีการเอาศาสนามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการค้า ทำให้กลุ่มที่รักศาสนาถูกกดดันจึงต้องสู้


 


และหากการสู้ไม่ได้รับการยอมรับก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนมีการบิดเบือนเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ผู้คน โดยเอาเรื่องศาสนาและประวัติศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือ


 


ตรงนี้ต้องเข้าใจ ไม่อยากเรียกร้องใคร นอกจากศาสนิกชนให้เข้าถึงหัวใจทางศาสนา มาร่วมมือกัน ต้องกล้าวิจารณ์ตัวเองและเผยแพร่สิ่งที่เราคิดว่าถูก แต่อย่าไปยึดติดกับความคิด อย่าปกป้องพวกของตัวเอง ต้องก้าวให้พ้นจากการเป็นพวกเขาพวกเรา


 


พวกระเบิดพลีชีพ เขามีศาสนาที่มั่นคงมาก เขาเชื่อแบบนั้นจริงๆ เคร่งครัดจริงๆ แต่เขาเลือกที่จะตายเพื่อฆ่าผู้อื่น แต่ศาสนิกชนที่รักสันติภาพไม่กล้าที่ตายเพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่น เป็นความไม่สมมาตรที่เกิดขึ้น


 


……………………………………………………………..


 


อับดุชชะกูร์ บินซาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) : มุสลิม


 


"การขาดผู้นำมุสลิมที่เป็นปราชญ์ ที่กล้ายืนหยัดวิจารณ์ตัวเองว่า สิ่งนี้ทำไม่ถูกต้อง ทำให้คนที่ไม่ใช่นักปราชญ์จริงๆ ไม่ใช่นักวิชาการทางศาสนาจริงๆ ออกมาจูงคนเหล่านั้น"


 


เห็นด้วยกับประเด็นของพระไพศาล วิสาโล มุสลิมเองก็ต้องมองตัวเอง เราต้องยอมรับความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ทั่วโลกมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น เหตุระเบิดที่เกาะบาหลี การเกิดระเบิดที่ลอนดอน การเกิดระเบิดที่อียิปต์ และล่าสุดการเกิดระเบิดที่จอร์แดน สิ่งที่ต้องพูดคืออิสลามสอนให้พิจารณาตัวเองก่อนที่จะตาย ถ้าตายจะถูกสอบสวน


 


ดังนั้นต้องกลับมามองและยอมรับว่า เหตุการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีมุสลิมทำ ในภาคใต้ก็เช่นกัน แม้ว่าข้อกล่าวหาจากรัฐจะเป็นอย่างไร หรือประชาชนจะไม่เชื่อในฝ่ายรัฐ แต่ถามว่ามีคนมุสลิมทำหรือไม่ ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ ส่วนเหตุผลหรือแรงผลักในการกระทำนั้นต้องแยกไว้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง


 


เราที่มาเสวนากันในครั้งนี้ต้องบอกว่า อยู่ในฐานะที่เป็นนักวิชาการหรือในฐานะที่เป็นผู้นำมุสลิมดังนั้นจะต้องออกมาแสดงความคิดเห็นและถามตัวเองว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่มุสลิมจริงหรือไม่ ดร.อับดุลบาจะห์ นักวิชาการศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยนานาชาติที่มาเลเซีย ได้แยกศาสนิกไว้เป็น 3 กลุ่ม คือ


1.ศาสนิกชนที่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง จะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้กลุ่มนี้คิดแบบนั้น


2.ศาสนิกชนที่มักง่าย ยึดศาสนาเพียงพิธีกรรม แต่ชีวิตไม่ได้ผูกพันกับศาสนามีทั้งพุทธและมุสลิม เช่น จะเชิญพระหรือโต๊ะอิหม่ามมาทำพิธีเฉพาะตอนขึ้นบ้านใหม่ หรือประกอบพิธีอะไรบางอย่างเท่านั้น


3.กลุ่มที่เข้าใจในหลักศาสนาที่ถูกต้อง กลุ่มเหล่านี้ก็มีจริง


 


ดังนั้นเมื่อศาสนิกมีหลายกลุ่มก็มีความคิดหลายแบบ เชค ยูซุป ประธานสหภาพนักปราชญ์มุสลิม เขามองเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวมุสลิมก่อน และสรุปว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้


1.การขาดแนวคิดด้านศาสนาที่ถูกต้อง


2.การขาดผู้นำมุสลิมที่เป็นปราชญ์ ที่กล้ายืนหยัดวิจารณ์ตัวเองว่าสิ่งนี้ทำไม่ถูกต้อง ทำให้คนที่ไม่ใช่นักปราชญ์จริงๆ ไม่ใช่นักวิชาการทางศาสนาจริงๆออกมาจูงคนเหล่านั้น


3.ความอยุติธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจริงบนโลกนี้


 


สิ่งเหล่านี้ชาวมุสลิมเองต้องยอมรับ และถ้าจะแก้ปัญหาภาคใต้ให้เป็นรูปธรรม ต้องยอมรับด้วยว่าชาวบ้านไม่วางใจรัฐ หากเป็นไปได้ก็ควรมีองค์กรภาคประชาชนช่วยผลัก คือต้องมีองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรรัฐช่วยค้ำจุน ความไว้วางใจใน กอส. ยังมีอยู่ในภาพรวมของคนที่รักสันติ


 


และเรารู้ว่าชาวมุสลิมเชื่อผู้นำทางจิตวิญญาณสูง ต้องทำให้ผู้นำเหล่านั้นเคลื่อนมาอยู่ข้างหน้า มองข้ามเรื่องความเป็นไทย มลายู พุทธ มุสลิม ก่อน ต้องสร้างแนวคิดในการมองว่าเป็นมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ผู้นำองค์กรศาสนาต้องกล้ามายืนตรงนั้น รวมทั้งผู้นำด้านอื่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องออกมายืนตรงนั้นด้วย ส่วนในเรื่องวิธีที่เป็นรูปธรรมต้องเอาไปพูดคุยกันอีกที เพราะเราเองก็มีนักวิชาการอยู่มากมาย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net