Skip to main content
sharethis


 


 


เครือข่ายกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและการจัดการน้ำของรัฐ 25 องค์กรเครือข่ายทั่วประเทศ ร่วมชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการเผ่าหุ่นประท้วง ก่อนยื่นหนังสือจี้ "ทักษิณ" หยุดสร้างเขื่อนใหม่ แก้ไขปัญหาจากเขื่อนที่กำลังเป็นปัญหา รวมทั้งค้านไม่เอา พ.ร.บ.น้ำ ชี้เป็นการมุ่งรวบอำนาจในการจัดการน้ำ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำการยืนถือป้ายคัดค้าน พร้อมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวโจมตีนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำของรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยได้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 40 แห่ง เขื่อนขนาดกลางกว่า 200 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้ กลับก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศน์ ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะคาดเดาได้ ภัยแล้ง น้ำท่วม กลับเกิดเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาต่อคนทั้งประเทศและระบบนิเวศน์ของโลก


 


นอกจากนั้น ทางตัวแทนเครือข่าย ได้กล่าวย้ำว่า จะเพิกเฉยต่อการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำของรัฐต่อไปไม่ได้แล้ว ดังนั้น รัฐต้องดำเนินการกระจายอำนาจการจัดการน้ำสู่ชาวบ้าน ชุมชน และประชาชน โดยสนับสนุนประชาชนมีสิทธิมีเสียง และมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำทั้งระบบ


 


เครือข่ายอีสาน โจมตีรัฐบาลโกหกไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย


นายบุญมี คำเรือง กลุ่มผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ชาวบ้านอีสานที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนสิรินธร เขื่อนห้วยละห้า เขื่อนปากมูน เขื่อนหัวนา เขื่อนราศีไศล เขื่อนโป่งขุนเพชร ต่างได้ต่อสู้เรียกร้องกันมานานหลายสิบปี จนถึงบัดนี้แล้วปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด


 


"อยากจะบอกย้ำว่า การสร้างเขื่อน เป็นการทำร้ายวิถีชาวบ้าน เพราะเขื่อนได้ทำลายฐานอาหารที่มั่นคงของผู้คน ทำลายชีวิตของคนที่เกิดมา และคนที่กำลังเกิดในอนาคต แม้กระทั่งในขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในเรื่องค่าชดเชย ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ออกมาว่าจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น นายกฯ ทักษิณ ยังไปอ้างกับสื่อของตัวเองอีกว่าได้แก้ไขปัญหาเขื่อนสิรินธรไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้วยังพูดหลอกลวงอีก จึงอยากเรียกร้องให้ช่วยเยียวยา และฟื้นฟูวิถีชีวิต ชุมชนให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว" นายบุญมี กล่าว


 


ตัวแทนชาวบ้านภาคใต้ ชี้โครงการสร้างเขื่อน สนองภาคอุตสาหกรรม


ในขณะที่ นายอะนล ปานปลอด ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ กล่าวว่า ที่ต้องออกมาคัดค้านก็เพราะว่า คลองกราย เป็นคลองธรรมชาติที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมานาน แต่รัฐจะเข้ามาดำเนินการสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อรองรับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด นำน้ำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม


 


"ซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด แต่จะเกิดผลกระทบโดยตรง เพราะน้ำจะเอ่อท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ตอนนี้ชาวบ้านรู้สึกเบื่อ ไม่รู้ว่ารัฐจะเอาอย่างไร ดังนั้น จึงอยากให้ยุติโครงการนี้เสีย" นายอะนล กล่าว


 


ย้ำโครงการผันน้ำ คือสงครามแย่งชิงน้ำรุนแรง


ด้าน นายสำราญ พิมสาร ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ล่าสุด โครงการผันน้ำดังกล่าว รัฐตั้งชื่อสวยหรูว่า ธนาคารน้ำ โดยดึงน้ำแม่แตงไปเขื่อนแม่งัด ก่อนทำอุโมงค์ผันน้ำไปที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการอ้างว่าเพื่อการเกษตร แต่ความจริงเป็นการผันน้ำไปรองรับการสร้างเมืองใหม่ และนิคมอุตสาหกรรมลำพูน


 


"หากมีการผันน้ำจากแม่แตงไปเพื่อโครงการนี้ ก็จะกระทบต่อผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำแม่แตงทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 23 คลองซอย ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 5 อำเภอ และเชื่อว่าในอนาคตจะต้องเกิดสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างชาวบ้านกับรัฐอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ กลุ่มชาวบ้านคงจะต้องมีการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดในเร็วๆ นี้อีกอย่างแน่นอน" นายสำราญ กล่าว


 


โจมตีรัฐจับมือนายทุน ดันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต้องการไม้สัก-เก็งกำไรที่ดิน


นอกจากนั้น ยังมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ได้เหมารถกันมาจำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย โดยได้พากันยืน ถือธงถือป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วยสีหน้าเคร่งเครียด


 


นายสิงห์ ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้าน บ.ดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ลุกขึ้นกล่าวว่า ก่อนหน้านั้น คนไทยเคยฝากความหวังไว้กับรัฐบาลไทยรักไทย เพราะถือว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่น่าจะทำการแก้ไขปัญหาของพี่น้องได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในขณะนี้ เมื่อรู้ว่ารัฐบาลทักษิณกำลังตัดสินใจผิดในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะการดึงดันที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต่อไป


 


ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวต่อว่า โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นั้นกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ต้องสูญเสียผืนป่าสักทองนับหมื่นๆ ไร่ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านได้ทำวิจัยชาวบ้านในเรื่องนี้เสนอไปให้แล้ว แต่รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงของประชาชน ไม่มีการปรึกษา แต่ไปรับฟังผลการศึกษาอีไอเอของกรมชลประทาน ว่าไม่มีผลกระทบ


 


"ซึ่งชาวบ้านยืนยันมาโดยตลอดว่า เขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่เป็นการมุ่งหวังผลประโยชน์แอบแฝง ที่มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร และต้องการไม้สักทองนับแสนๆ ต้น ดังนั้น จึงขอฝากไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้รับรู้ว่า คนที่จะเป็นผู้นำที่ดี ต้องแก้ไขปัญหาของประชาชน ไม่ใช่สร้างปัญหาให้ประชาชน" ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวทิ้งท้าย


 


สร้างเขื่อนแม่ขาน กระทบหนัก หมู่บ้าน-ผืนป่าอุทยานฯ ออบขาน จมใต้น้ำ


นายประพันธ์ จันทร์แก้ว ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนแม่ขาน ก็จะทำให้หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง ต้องถูกน้ำท่วมทั้งพื้นที่ทำกินและบ้านเรือนราษฎรทั้งหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านยอมไม่ได้ เพราะหมู่บ้านนี้อยู่กันมานานกว่า200 ปี


 


"นอกจากนั้น พื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่ ก็จะถูกน้ำท่วมจมหายไปด้วย ย่อมจะสร้างความสูญเสียระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ และชาวบ้านก็ได้พึ่งพาป่าผืนนี้เป็นที่แหล่งหาอาหาร ดังนั้น เราน่าจะอนุรักษ์กันเอาไว้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ กรมชลประมาณไปชี้แจง ซึ่งชาวบ้านก็ยืนยันคัดค้านมาโดยตลอดว่า ไม่เอาเขื่อน" ตัวแทนกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน กล่าว


 


ข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและการจัดการน้ำของรัฐ


เครือข่ายฯ ทั้ง 25 องค์กร ได้ข้อสรุปและข้อเรียกร้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งผลักดันการแก้ไขปัญหา ตามข้อเรียกร้องดังนี้


 


1.รัฐต้องเยียวยา ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีเขื่อนที่สร้างไปแล้ว


2. รัฐต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนใหม่ และใช้แนวทางการจัดการน้ำโดยชาวบ้าน ชุมชน และประชาชน มีส่วนร่วมในการศึกษา มีส่วนร่วมในการศึกษาวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน 3. รัฐต้องยกเลิกโครงการผันน้ำ ซึ่งเป็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากชาวบ้าน ชุมชน และประชาชน ไปให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคเมือง


4. รัฐต้องยุติการผลักดันกฎหมายน้ำ ซึ่งเป็นการรวมศูนย์การตัดสินใจในการจัดการน้ำ และต้องสนับสนุนการกระจายอำนาจในการจัดการน้ำให้กับชาวบ้าน ชุมชน และประชาชน


5. รัฐต้องยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการเอาสมบัติของชาติ ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งถูกลิดรอนสิทธิไปโดยข้ออ้างให้เสียสละเพื่อการพัฒนา ไปให้นายทุนและบริษัทข้ามชาติ


6. รัฐต้องยุติการทำลายองค์ความรู้ในการจัดการน้ำโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องเคารพ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการน้ำโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น


 


ทั้งนี้ เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน รัฐต้องฟังเสียงประชาชน ยอมรับการมีสิทธิมีเสียง และมีส่วนร่วมของชาวบ้านชุมชน เคารพต่อสิทธิชุมชน เคารพต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เคารพต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เคารพต่อข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งต้องยึดแนวทางของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก ที่ได้เสนอยุทธศาสตร์ 7 ประการ ที่ได้เสนอไว้ว่า


1. การได้รับการยอมรับจากสาธารณะ            2. การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน


3. ข้อพิจารณาสำหรับเขื่อนที่มีอยู่แล้ว           4. การสร้างความยั่งยืนให้แก่แม่น้ำและวิถีชีวิต


5. การรับรองกรรมสิทธิ์                              6. มาตรการที่ทำให้เกิดการปฏิบัติตามข้อกำหนด


7. แม่น้ำเพื่อสันติภาพ การพัฒนา และความมั่นคง


 


ตัวแทน ผวจ.เชียงใหม่ ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้อง


หลังจากนั้น นายระพินทร์ ถาวรพันธุ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมารับหนังสือ พร้อมกล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า จะได้รีบนำหนังสือข้อเรียกร้องจากพี่น้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและการจัดการน้ำของรัฐ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป


 


เผ่าหุ่นประท้วง รมว.กระทรวงทำลายทรัพยากรฯ - กระทรวงฆ่าเกษตรกร


จากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนำหุ่นฟางจำลอง โดยมีการเขียนข้อความติดไว้ว่า "ยงยุด รมว.กระทรวงทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุดาลัด รมว.ฆ่าเกษตรกร"มาตั้งไว้บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจุดไฟเผาประท้วง ก่อนพากันแยกย้ายกลับไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net