Skip to main content
sharethis


โดย โชคชัย ศิลารักษ์ : ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบล รายงาน

 


มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต (NATURECARE) ร่วมกับชาวบ้านบ้านผาชัน ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลฯ ทดลองการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ครั้งแรก เตรียมปีหน้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของจ.อุบล ด้านนักท่องเที่ยว ชี้แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ แต่การจัดการยังอ่อน ยินดีเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยว


 


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน2548 ที่ผ่านมา มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต (NATURECARE) ร่วมกับชาวบ้านผาชัน ต.สำโรง อ.โพธ์ไทร จ.อุบลฯ ได้ทดลองการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ ซึ่งได้เชิญนักท่องเที่ยวทดลองจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลฯ ป่าไม้เขต 9 จ.อุบล กว่า 20 คนเข้าร่วม


 


โอกาสนี้นางมัสยา คำแหง ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต เปิดเผยว่า จากการที่เข้ามาทำวิจัยในเรื่องของการจัดการน้ำของพื้นที่บ้านผาซัน แห่งนี้พบว่า บ้านผาซันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยามหาทางแก้ไข รวมทั้งชาวบ้านเองก็ช่วยเหลือตนเอง นั่นคือการขุดบ่อน้ำตื้นขึ้นมาใช้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกในบ้านที่มีอยู่ 134 หลังคาเรือน จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านจะซื้อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นศักยภาพของชุมชนคือการท่องเที่ยวเพราะบ้านผาซันมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก ประกอบกับภูมิประเทศที่สวยงาม จึงมีโครงการให้ชาวบ้านทดลองการบริหารการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ขึ้น ในครั้งนี้ โดยได้เชิญนักท่องเที่ยวจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบล ฯ ป่าไม้ จ.อุบล กว่า 20 คน เข้าร่วม


 


รูปแบบการทดลองในครั้งนี้ ได้กำหนดให้ชาวบ้านบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งการต้อนรับนักท่องเทียว การเตรียมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว การนำเที่ยวโดยใช้ไกด์ซึ่งเป็นผู้นำในหมู่บ้าน ซึ่งสิ่งที่ เนเจอร์ แคร์ ช่วยเหลือก็มีเพียงการทำแผนพัฒนาพื้นที่ ช่วยสำรวจข้อมูล และสรุปปัญหาที่พบเพื่อแก้ไขพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านผาชันต่อไป ซึ่งจะเริ่มการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบได้ภายใน เดือนมกราคมปีหน้า 


 


ด้านนายมานิส คงทน ไกด์ทดลองซึ่งเป็นชาวบ้านผาชัน กล่าวว่า ตนมีความภูมิใจที่ได้รับเลือกเป็นไกด์ในครั้งนี้ แต่ยังพบปัญหาอยู่ว่า ตนยังมีข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ส่วนนี้เองที่เป็นจุดอ่อนหนึ่งทำให้การท่องเที่ยวไม่น่าสนใจ แต่ชาวบ้านเองก็พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข ประกอบกับปัญหาในส่วนหนึ่งคือ ที่ตั้งอยู่หมู่บ้านและแหล่งท่องเที่ยวของในเขตของกรมป่าไม้ การปรับปรุงเส้นทาง หรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะชาวบ้านเกรงจะกระทบต่อสวัสดีภาพของตน แต่ตนตั้งใจว่าจะทำให้การท่องเที่ยวเป็นอีกทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไปให้ได้


 


นายสมาน แก่นพันธ์  ผู้อำนวยการโรงเรียน สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในหมู่บ้าน ที่ผ่านมาตนได้พยายามที่จะร่วมกับชาวบ้านพัฒนาบ้านผาชัน และประสานงบประมาณมาช่วยเหลือด้านการศึกษามาโดยตลอด ประกอบกับทางมูลนิธิเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม มีโครงการนี้ขึ้น ก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการเกษตรและการประมง ซึ่งปัญหาที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้จะนำมาทบทวนและแก้ไขร่วมกัน อาทิ การต้อนรับที่ยังไม่ชัดเจนว่า ใครควรเป็นฝ่ายต้อนรับ การเดินทางที่ไม่สะดวก การจัดนันทนาการในช่วงกลางคืน ต้องปรับปรุงอีกมาก ซึ่งการแก้ไขในส่วนนี้ ตนเห็นว่า ควรเดินทางไปศึกษาดูงานจากที่อื่นๆ ซึ่งเขาประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นแบบอย่างการดำเนินการ และตนให้ความมั่นใจว่าการท่องเที่ยวบ้านผาซันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลฯ โดยการบริหารจัดการของชาวบ้านเอง


 


ขณะที่ตัวแทนของนักศึกษาจากวิทยาลัย พยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ .ในฐานะนักท่องเที่ยวทดลอง กล่าวว่า ตนเห็นว่าจุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งมีระยะทางที่ห่างกัน ทำให้การเดินต้องใช้เวลานาน และควรคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่น่าสนใจออก แต่สิ่งที่ตนประทับใจและตื่นเต้นมากคือ ผาชัน ซึ่งติดกับแม่น้ำโขงนั้นสวยมาก หากบริเวณดังกล่าวควรมีกิจกรรมเพิ่มเติมเช่น การพานักท่องเที่ยวล่องเรือ ชมวิถีชีวิตของชาวบ้านตามลำน้ำโขง หรือให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าในครั้งนี้


 


"สิ่งที่ตนเองและเพื่อนที่จะช่วยชาวบ้านผาชัน คือ จะขอโครงการกับวิทยาลัยฯ เพื่อมาออกค่ายพัฒนา และจะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่บ้านผาชัน ซึ่งตนประทับใจมากโดยเฉพาะน้ำใจของชาวบ้าน"


 


ด้านนางสาวนันทพร เตมิยะ นักศึกษาโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ในฐานะนักท่องเที่ยวทดลองอีกคนกล่าวว่า การจัดการโดยรวมยังไม่ดีพอ เช่น ข้อมูลยังไม่ละเอียดของไกด์ การต้อนรับ การแบ่งงานของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายขับรถนำเที่ยว ฝ่ายบริการอาหาร การจัดนันทนาการตอนกลางคืนควรให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมมากขึ้น และควรเพิ่มเติมให้มีการจำหน่ายของชำร่วยในชุมชนซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน


 


ด้านนางสาวจินดา นาคำ เจ้าหน้าทีป่าไม้เขต 9 อุบลฯ กล่าวว่า ในปีหน้ากรมป่าไม้มีโครงการร่วมกับชุมชนในการจัดทำแหล่งศึกษาป่าชุมชน ซึ่งได้เล็งเป้าหมายมาที่บ้านผาชัน เป็นแหล่งแรกเนื่องจากเห็นศักยภาพของชาวบ้าน พร้อมทั้งเสนอให้มีการแก้ไขการจัดการท่องเที่ยวให้ดีกว่าในครั้งนี้ และคาดว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลต่อไป


 


อนึ่ง บ้านผาชัน ตั้งอยู่ที่ ต.สำโรง อ.โพธ์ไทร จ.อุบลฯ มีจำนวนทั้งหมด 134 ครัวเรือน เนื้อที่ประมาณ 22 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 130 กม.สภาพปัญหาปัจจุบันคือแนวเขตหมู่บ้านกับอุทยานแห่งชาติผาแต้มยังไม่ชัดเจน การขาดแคลนน้ำเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นลานหินสลับกับพื้นที่ป่า  มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ เสาเฉลียงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถ้ำโลง ลานหินนางเข็นฝ้าย ขัวนางนี เสาหินตั้ง โบกผีหลอก ทุ่งดอกไม้ ถ้ำมืด และ ผาชัน ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำโขง อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน โดยมีคำขวัญของหมู่บ้านคือ "เสาเฉลียงสูงสง่า หน้าผาสูงชัน มหัศจรรย์ริมโขง ถ้าโลงขัวนางนี มากมีพันธุ์พฤกษา งามตาทะเลหมอกภูสมุย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net