Skip to main content
sharethis





ผู้คนรับรู้กันไม่มากนักว่า บัดนี้ ตลอดแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ไปจนสิ้นสุดพรมแดนจังหวัดตราด ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง จนชายหาดตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันออกหลายพื้นที่ จมหายกลายเป็นทะเล ทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักอาศัย ผลอาสิน กระทั่งทรัพยากรชายฝั่ง ทั้งทรัพยากรการท่องเที่ยว และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พังพินาศ จนสัมผัสได้ตลอดแนว


 


"วรวุฒิ ตันติวนิช" ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าถึงสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยกับ "ประชาไท" อย่างตรงไปตรงมา


.................................................


 


"ปัญหาชายฝั่งทะเลมีหน่วยงานรับผิดชอบเยอะ การแก้ปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะ จึงกลายเป็นต่างคนต่างทำ ที่ทำไปแล้วก็ไม่ได้ผล


 


อย่างข้อมูลจากการสำรวจและศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ที่กรมทรัพยากรธรณีว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาศึกษา เราพบว่าชายฝั่งอ่าวไทยมีอยู่ 12 แห่ง ที่เกิดปัญหากัดเซาะรุนแรง


 


เราลงเก็บข้อมูลจริงๆ 6 แห่ง คือ ชายฝั่งบ้านพอด อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายฝั่งบ้านทางขึ้น - บ้านเราะ อำเภอท่าศาลา ชายฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชายฝั่งบ้านคลองอู่ตะเภา - บ้านปากแตระ อำเภอระโนด ชายฝั่งบ้านเก้าเส้ง - ทุ่งใหญ่ อำเภอเมืองสงขลา ชายฝั่งบ้านเกาะจีน - ปากน้ำเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา


 


เราพบว่าแต่ละที่ต่างแก้ปัญหากันเอง วิธีการแก้ปัญหา เช่น การสร้างกำแพงกันคลื่น ก่อกำแพงริมหาด สร้างรอดักทราย และถมแนวหินหัวหาด ปัญหา คือ ทำแล้วไม่ได้ผล ทำไปแล้วกลับสร้างปัญหาพื้นที่ใหม่ๆ ตรงจุดต่อไปอีก


 


แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยไม่ไปสร้างปัญหาในพื้นที่ใหม่ๆ ได้อย่างไร มันต้องมีข้อมูลก่อน จึงจะเสนอรูปแบบการแก้ปัญหาได้ เราต้องมีมากกว่าหนึ่งทางเลือก ให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกว่า เขาต้องการใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบไหน


 


บางอย่างที่เราเคยเสนอไป เราคิดว่าวิธีการแบบนี้น่าจะป้องกันชายหาดพังได้ส่วนหนึ่ง แต่ประชาชนกลับไม่อยากได้ก็มี บอกว่าไม่สวย บางแห่งไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว มีปัญหาการกัดเซาะรุนแรง รูปแบบที่เสนอไปชาวบ้านก็ยินดีรับ ทางเราเสนอเพียงรูปแบบวิธีการเท่านั้น ประชาชนจะเป็นคนเลือก จะเอาสวยหรือจะป้องกันคลื่นก็แล้วแต่


 


จากการศึกษาเราได้เสนอการแก้ปัญหาออกเป็น 2 แนวทาง


 


หนึ่ง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบอ่อน เหมาะกับพื้นที่ชุมชนไม่หนาแน่น การกัดเซาะไม่รุนแรง เช่น เติมทรายเข้าไปตรงจุดที่ถูกกัดเซาะ เพื่อให้มีทรายเข้าไปทดแทนเหมือนเดิม อย่างจุดที่มีการสร้างรอดักทรายไว้แล้ว จะมีทรายมาถมอยู่ตรงด้านรับคลื่น ขณะที่อีกด้านหนึ่งชายฝั่งจะถูกกัดเซาะออกไป ไม่มีทรายเข้ามาแทนที่ เราเสนอให้เอาทรายที่มาถมอยู่อีกด้าน ไปถมคืนตรงจุดที่ถูกกัดเซาะ แต่วิธีการนี้ต้องทำบ่อยๆ คำถามก็คือว่า แล้วมีงบประมาณดำเนินการได้ต่อเนื่องหรือไม่ จะดูแลรักษาไหวมั้ย


 


นอกจากนี้ เรายังเสนอให้ย้ายชุมชน และกำหนดเขตกันชนระหว่างชายหาดกับชุมชน อย่างที่ต่างประเทศทำกัน


 


สอง มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาแบบแข็ง เท่าที่มีการเสนอมา ก็คือ การสร้างกำแพงกันคลื่น กำแพงริมหาด รอดักทราย และถมแนวหินหัวหาด อันนี้ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ข้อเสนอนี้สามารถทำได้ เพราเราคำนวณได้ว่า ถ้าสร้างยาว 1 กิโลเมตร จะมีชายฝั่งถูกกัดเซาะไปเท่าไหร่ มันจะหยุดอยู่ตรงไหน


 


ขณะนี้ โครงการสำรวจและการศึกษาอยู่ในขั้นตอนของการร่างผลการศึกษาครั้งสุดท้าย กำลังสรุปผลการรับความคิดเห็นของประชาชน ที่จัดไป 2 ครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสงขลา เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 คาดว่าจะแล้วเสร็จ สามารถนำเสนอหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจังหวัดชายฝั่งทะเลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2548


 


สาเหตุที่เราศึกษาเรื่องชายหาดถูกกัดเซาะ เพราะกรมทรัพยากรธรณีทำงานเกี่ยวกับธรณีวิทยา รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายหาดมานาน เราพบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันมีความรุนแรงขึ้นจนน่าเป็นห่วง จึงได้ว่าจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาเข้ามาศึกษาให้เป็นเรื่องเป็นราว


 


นอกจากนี้ เรายังติดตามผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่หาดทรายทอง อำเภอเมืองระยองด้วย ตอนนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องลงไปสำรวจหลังฤดูมรสุมอีกครั้ง ในเดือนมกราคม 2549


 


อันที่จริงสิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่ทำขึ้นมากันคลื่นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่คำตอบสำหรับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะคลื่นที่มาปะทะกับแนวกันคลื่น ยังคงเซาะทรายตรงฐานสิ่งก่อสร้างออกไปเหมือนเดิม


 


ตอนนี้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นบางแห่ง ในอำเภอตะกัวป่า จังหวัดพังงา จะสร้างกำแพงกันคลื่น อ้างว่าเพื่อป้องกันคลื่นสึนามิ ทั้งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกำแพงสูงแค่ 1 - 2 เมตร ขณะที่คลื่นสึนามิสูง 7 - 8 เมตร อย่างนี้จะไปป้องกันอะไรได้


 


ประเทศไทยมีหน่วยงานต่างๆ ดูแลชายฝั่ง 42 หน่วยงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชายฝั่งมากที่สุด คือ กรมการขนส่งและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม ถ้าใครจะก่อสร้างอะไรลงไปในทะเล ต้องขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี


 


ขณะที่การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กลับขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ตรงนั้นใครรับผิดชอบ ส่งผลให้ที่ผ่านมา กลายเป็นต่างคนต่างทำ ต่างรีบร้อนกันแก้ปัญหา


 


สำหรับการแก้ปัญหาในภาพรวม ตอนนี้กรมทรัพยากรธรณี กำลังปักหมุดตลอดแนวชายฝั่งทั่วประเทศ ยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร หมุดนี้จะเชื่อมโยงกับดาวเทียม ดูความเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่ง เฝ้าระวังการกัดเซาะชายหาด


 


การเฝ้าระวังหมายถึงจะมีการเข้าไปตรวจสอบอย่างน้อยปีละครั้ง แต่เราตั้งเป้าว่า จะพยายามเข้าไปตรวจสอบให้ได้ปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงก่อนและหลังฤดูมรสุม เพื่อดูว่าชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีการกัดเซาะมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาจัดลำดับ ถ้าพบว่าจุดไหนไม่มีการกัดเซาะอย่างรุนแรงแล้ว ก็จะไม่กำหนดให้เป็นจุดเฝ้าระวังพิเศษ


 


ตอนนี้ทางฝั่งอันดามันตลอดแนวชายฝั่ง ติดตั้งเสร็จแล้วกว่า 1,000 จุด ปัญหาการกัดเซาะทางฝั่งอันดามันมีไม่มาก ไม่น่าเป็นห่วง


 


ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย จะเริ่มปักหมุดปีงบประมาณ 2549 ใช้เวลา 5 ปี จึงจะครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งทั้งหมด ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ไปจนตลอดชายฝั่งภาคตะวันออก


 


เมื่อก่อนเรานำภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งเป็นหลัก ซึ่งระยะเพียง 2 - 3 ปี เราจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดๆ ต้องนำภาพถ่ายดาวเทียมต่อเนื่อง 5 ปี มาเทียบดูถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เราเลยต้องใช้วิธีปักหมุดเอามาเทียบกันปีต่อปี เพื่อดูว่ามีชายฝั่งถูกกัดเซาะไปเท่าไหร่


 


สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง นอกจากการปลูกสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลงไปในทะเลแล้ว ยังมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น


 


ปัญหาขณะนี้ ก็คือ พอเกิดปัญหาการกัดเซาะขึ้นมา แต่ละหน่วยงานก็รีบร้อนแก้ปัญหา จะถมหินสร้างเขื่อนอย่างเดียว ไม่รู้ว่าสาเหตุของปัญหา คือ อะไร ต่างคนต่างแย่งกันทำ ไม่มีข้อมูลสนับสนุน


 


เพราะฉะนั้น ที่เราทำ คือ ศึกษาก่อนว่าสาเหตุ คือ อะไร เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจว่า จะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบไหน ถ้าเป็นพื้นที่ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นรับผิดชอบ ก็จะเสนอให้เขาเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนว่า จะเลือกวิธีการไหน


 


สำหรับกรมทรัพยากรธรณี จะรอให้ได้ข้อมูลภาพรวมของปัญหาก่อนว่า เป็นอย่างไร ถึงจะศึกษาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม


 


เราเคยของบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเอง แต่ทางกระทรวงการคลังไม่ให้ บอกว่ากรมทรัพยากรธรณี มีหน้าที่ศึกษาและให้ความรู้กับประชาชนเท่านั้น การแก้ปัญหาต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำ


 


การศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งครั้งนี้ เราจ้างนักวิชาการมหาวิทยาลัย เพราะต้องการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า ดีกว่าไปจ้างภาคเอกชนราคาแพงๆ มาศึกษา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net