สัมภาษณ์พิเศษ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช : FTA Warning ระบบฐานข้อมูลวิเคราะห์ FTA

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ





 


เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้สัมภาษณ์ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในรายการเช้าทันโลก โมเดิร์นเรดิโอ เอฟเอ็ม 96.5 เมกกะเฮิร์ต โดยเปิดเผยข้อมูลและตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเอฟทีเอหลายประเด็น  รวมทั้งการประเมินเอฟทีเอที่เจรจาไปแล้วว่าประเทศไทยมีข้อบกพร่องอย่างไร


 

นอกจากนี้ที่ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กำลังจัดทำฐานข้อมูลที่คนธรรมดาสามารถจะเข้าถึงได้ เรียกว่า ระบบ FTA Warning เป็นการเตือนภัยเรื่องเอฟทีเอ เพราะแต่เดิมนั้นเราอาจประเมินในอดีตได้ว่ามีการนำเข้า - ส่งออกเท่าไร แต่ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ ระบบนี้จะมีทั้งตัวเลขปัจจุบัน อดีต และการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือรายไตรมาส

 

ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ที่ www.citsonline.net

 

- - - - - - - - - - - - - - -

 

 

กรรณิการ์ - ตอนนี้อาจารย์ทำฐานข้อมูลให้กระทรวงพาณิชย์อยู่ใช่ไหมคะ เป็นยังไงบ้าง

อัทธ์ - ใช่ครับ จริงๆ ทำเสร็จไปแล้ว เพื่อจะวิเคราะห์ในกรอบเอฟทีเอ ฐานข้อมูลนี้จะประกอบด้วย 45 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา มันก็จะรวมทั้งทั้งประเทศที่ทำเอฟทีเอ และไม่ได้ทำเอฟทีเอ สินค้ามีประมาณ 200 รายการ เป็นตัวเลขการนำเข้าส่งออก เราแยกตามรหัสการส่งออก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการผลิตของไทย ราคาสินค้าของไทย การผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ฐานข้อมูลนี้ก็ยังสามารถที่จะวิเคราะห์หลายๆ ประเด็น ถ้าคนทั่วไปเข้าไปใช้ แต่ไม่แน่ว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้คนทั่วไปเข้าไปใช้หรือเปล่า

 

ระบบนี้สามารถจะวิเคราะห์ได้ว่า 5 ปีที่ผ่านมา เราส่งออกไปในตลาด 45 ประเทศไหนบ้าง รถยนต์ที่ว่าแยกย่อยไปเลย ชิ้นส่วนรถ แวน ปิคอัพ รถจักรยานยนต์ และเราสามารถรู้ประเทศคู่แข่งด้วยว่ามีใครบ้าง จะเห็นศักยภาพของเรา จะวิเคราะห์ได้แล้วว่าแชร์เราเป็นเท่าไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเราสามารถจะวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ศักยภาพในการแข่งขัน โดยมีเกณฑ์ที่เรียกว่า การวิเคราะห์เปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า RCA ได้เลย  5 ปีย้อนหลัง เช่น รถเก๋งของไทยเทียบกับมาเลเซีย มาเลเซียมีโปรตรอน เราก็มีรถยนต์ของเรา ถ้าจะส่งไปขายที่ออสเตรเลีย ศักยภาพการแข่งขันของไทยกับมาเลเซียใน 5 ปีที่ผ่านมามันเป็นอย่างไร มันก็จะบอกเราชัดเจน

 

พอจะบอกได้ไหมคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง

โห คนละเรื่องเลยครับ มาเลเซียยังห่างชั้นกับเราเยอะ อีกไม่กี่วันผมก็จะไปพูดที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เขาให้วิเคราะห์ว่ารถยนต์ของไทยกับมาเลย์ ใครจะเป็นฮับของเอเชีย ตอนนี้พบได้เลยว่ายังห่างชั้นกันอีกเยอะ ของไทยดีกว่ามาก

 

แล้วมีหมวดสินค้าอะไรอีกคะที่ไทยมีศักยภาพในฐานข้อมูลของอาจารย์

มีหลายตัวครับ อย่างสิ่งทอ แต่คำว่ามีศักยภาพก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราเปรียบเทียบกับประเทศไหน ถ้ารถยนต์เราเปรียบเทียบกับมาเลเซียก็ต้องบอกว่าเรามีศักยภาพ แต่ถ้าไปแข่งกับเกาหลีใต้ก็ต้องบอกว่าเราไม่มีศักยภาพ กับญี่ปุ่นเรายิ่งไม่มีศักยภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าเรามีศักยภาพ แต่ถ้าเทียบกับจีน เรามีคุณภาพกว่าแต่ราคาอาจจะสู้จีนไม่ได้ สิ่งทออาจสู้จีนไม่ได้ในแง่ของราคา เราสู้เวียดนามไม่ได้ สู้อินเดีย บังคลาเทศไม่ได้ แต่ในแง่ของตลาดบนเราสู้ได้ ข้อมูลพวกนี้สามารถเข้าไปดูได้หมด

 

นอกจากเรื่องส่งออกแล้ว มันมีประเด็นการนำเข้าด้วย พอเวลานำเข้าอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบภายในประเทศได้ ตรงนี้มีสินค้าอะไรที่น่าห่วงใยบ้าง

สินค้าในปัจจุบันที่น่าห่วงใยที่สุด ผมใคร่ขอเรียนเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ กับ กลุ่มสินค้าที่เป็นน้ำมัน ในแง่ของวัตถุดิบ เศรษฐกิจจะขยายตัวหรือไม่ขยายตัวอย่างไร เรานำเข้าเยอะอยู่แล้ว เช่น พวกเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ เพราะเราไม่สามารถผลิตได้

 

อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ คือน้ำมัน เรานำเข้ามาเยอะ เพราะเราเจอวิกฤตของน้ำมัน ราคาของน้ำมันก็สูงขึ้น ในอนาคตเราต้องประหยัดพลังงาน แล้วก็เร่งพัฒนาวัตถุดิบที่เรานำเข้ามาเยอะๆ

 

เราดูว่าเราส่งออกสินค้าบางตัวได้ดี แต่ว่าที่เป็นสินค้าทุนก็ยังเป็นการนำเข้าอยู่ ตรงนี้ได้บั่นทอนศักยภาพในการแข่งขันของเราไปหรือเปล่า

ต้องมองเป็น 2 ลักษณะคือ ถ้าเป็นสินค้าทุนที่นำเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศ เราต้องนำเข้า เช่น พวกเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องไม้ เราไม่สามารถผลิตเองได้ ก็ต้องนำเข้าต่อไป โดยเฉพาะที่คาดกันว่าจะนำเข้ามาจากโครงการเมกกะโปรเจ็กส์เยอะนั้นก็ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นวัตถุดิบต่างๆ ที่ป้อนตามโรงงานต่างๆ มันถึงเวลาที่รัฐบาลต้องพัฒนาวัตถุดิบทดแทนจากที่เรานำเข้ามา เพราะถ้าเรามองว่า การผลิตสินค้าของเราชิ้นหนึ่ง สมมติว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือยานยนต์ เราต้องพึ่งเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นหรือจากเกาหลี ไม่งั้นชั่วลูกชั่วหลาน 20-30 ปีก็ต้องนำเข้าตลอดเวลา ดังนั้น รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ว่าจะพัฒนา อาร์แอนด์ดี (กองทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา)  เข้ามาทดแทนในส่วนของวัตถุดิบอย่างไร

 

ถึงวันนี้อาจารย์มองเห็นทิศทางการพัฒนาที่จะพัฒนาอาร์แอนด์ดีเพื่อที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้นของอุตสาหกรรมไทยไหมคะ

ก็มีการทำกันอยู่ แต่การเคลื่อนไหวค่อนข้างช้า เรามีสถาบันยานยนต์ สถาบันสิ่งทอ สถาบันอัญมณี เยอะครับ แต่ว่าการขับเคลื่อนในแต่ละสมาคมยังช้า เข้าใจว่าในตัวสมาคมเองก็ค่อนข้างอ่อนแอส่วนหนึ่งตัวที่จะเข้ามาสนับสนุนให้สมาคมเข้มแข็งในเรื่อง R&B มันประกอบด้วยหลายส่วน ตัวสมาคมส่วนหนึ่ง รัฐบาลส่วนหนึ่ง สถาบันการศึกษาส่วนหนึ่ง ต้องมานั่งคุยกัน

 

เวลาคุยกันเรื่องสินค้า ไม่ใช่สินค้าทุนอย่างเดียวที่เข้ามา แต่มันจะมีสินค้าราคาถูกด้วย อย่างกรณีที่ไทยเปิดเสรีกับจีน มันก็จะมีสินค้าราคาถูกเข้ามามาก จากข้อมูลน่าจะมีสินค้าอะไรที่เข้ามาแล้วจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทย

ในส่วนสินค้าที่นำเข้ามาถูกๆ ส่วนใหญ่จะมาจากจีน ถ้าเป็นเกษตรก็เป็นแอปเปิ้ล ผลไม้เมืองหนาว ถ้าเป็นสินค้าอุตสาหกรรมก็จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า กล้อง เครื่องเล่นดีวีดี เหล่านี้ราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพ มันก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย มองเกษตรกรก่อน ต่อไปคนก็จะหันไปซื้อสินค้าจีน โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้าราคาถูก ผู้ประกอบการก็จะขายของได้ลดลง ส่วนแบ่งตลาดของเกษตรกรไทยก็จะลดลง

 

วิธีแก้ก็คือว่า รัฐบาลต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วยดูแลและสกรีนสินค้าพวกนี้ว่ามีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ อย่าไปเน้นราคาถูก แอ๊ปเปิลที่เข้ามีสารเคมีตกค้างหรือเปล่า ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเช็ค ถ้าไปบอกว่าหน้าด่านมีการตรวจเช็ค ใช่ แต่เป็นการสุ่มเช็ค เช็คแบบง่ายๆ ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องให้ความร่วมมือในการตรวจเช็คตรงนี้ด้วย

 

ในส่วนของเอฟทีเอไทย-จีน 2 ปีที่ผ่านมาอยากให้อาจารย์ช่วยประเมินเฉพาะที่เป็นพิกัดภาษีผักและผลไม้ เป็นอย่างไรบ้างคะ

ณ ปัจจุบัน  เราได้ดุลการค้ากับประเทศจีนในกรอบเอฟทีเอ  ผมมีตัวเลขอยู่นิดหนึ่งเพื่อให้ชัดเจนขึ้น ในจีนเราส่งออกไปตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค.48 มูลค่า 12,000 พันล้าน นำเข้ามาเกือบๆ 4,000 ล้าน ฉะนั้นเราก็ได้ดุลการค้ากับจีน เรายังได้ดุลการค้ากับอินเดีย เราได้ดุลการค้ากับนิวซีแลนด์ แต่ที่เราขาดดุลการค้าก็มีอยู่ประเทศเดียว ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ ออสเตรเลีย 12,000 พันล้าน จริงๆ ในกรอบเอฟทีเอ 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ดุลการค้าตลอด

 

กรณีของจีน มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เราได้ดุลจริง แต่เป็นการได้ดุลที่ลดลงก่อนหน้าที่จะเปิดเอฟทีเอหรือเปล่า

ใช่ครับ เพราะว่าเรานำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม  เมื่อเทียบกับการที่เราส่งของไปขายในจีนมากขึ้น

 

ตัวเลขการได้ดุลที่ลดลงมันเยอะไหมคะ

ยังไม่ได้ดูตัวเลขตรงนี้ชัดเจน เดี๋ยวดูชัดเจนแล้วจะตอบอีกที

 

ได้ค่ะ ทีนี้มาที่ออสเตรเลีย เราขาดดุลมากถึง 12,000 ล้าน ตรงนี้มาจากอะไรคะ

ส่วนใหญ่ๆ ที่เรานำเข้ามาจากออสเตรเลียที่ทำให้เราขาดดุลมากที่สุด ก็คือ อัญมณีและทองคำ

 

อัญมณีและทองคำ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีภาษี คือ ภาษีของกรณีเอฟทีเอไม่ได้ทำให้การนำเข้าอัญมณีและทองคำที่เปลี่ยนแปลงไป

มีทั้งอัญมณี ทองคำ มีทั้งพวกสินค้าวัตถุดิบ มีทั้งนม มีทั้งโคเนื้อ เราจะนำเข้าตรงนี้มาเยอะ ซึ่งถ้าเราดูตัวเลข ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียก็จะมี เพชรพลอย อัญมณี สินแร่ ทองแดง เหล็ก เคมีภัณฑ์ นม ผักผลไม้เมืองหนาว พวกนี้จะเป็นหมวดใหญ่ๆ ที่เรานำเข้ามาสูงทั้งสิ้น ที่ผมคิดคือกรอบของเอฟทีเอ ปรากฏว่าสูงหมดเลย มาเทียบกับกรณีที่เราส่งออกไปในกรอบเอฟทีเอ เราส่งรถยนต์ ส่งเหล็ก ส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า  ผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเล คอมพิวเตอร์ พลาสติก เม็ดพลาสติก อัญมณีเราก็ส่งออกไป แต่เราก็นำเข้าจากออสเตรเลียมาเหมือนกัน เทียบแล้วเราขาดดุล หมวดใหญ่ๆ จะเป็นพวกนี้ที่เรามีศักยภาพในการแข่งขัน

 

เราส่งเหล็กไป เราก็นำเข้าเหล็กมาจากออสเตรเลียเหมือนกัน เรานำเข้า 179 นะครับ แต่เราส่งออกไป 164 ฉะนั้นเราขาดดุลในกรณีของเหล็ก รถยนต์ได้ดุลแน่นอน เพราะเราไม่ได้นำเข้ารถยนต์จากออสเตรเลีย เหล่านี้ที่เป็นตัวหลักๆ ที่ทำให้เราขาดดุลการค้า

 

ก่อนช่วงที่จะลงนามเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย หลายคนก็เป็นห่วงเรื่องโคนม โคเนื้อ ตอนนี้ตัวเลขนำเข้าเป็นอย่างไรบ้าง

ออสเตรเลียเขามีศักยภาพ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในเรื่องของปศุสัตว์ ก็คือ โคเนื้อ เขามีประมาณ 20 ล้านตัว แต่เรามีประมาณ 6 ล้านตัวเท่านั้น ฉะนั้น เขามีศักยภาพในการส่งออกติดอันดับโลก ขณะเดียวกันเขาก็มีอุตสาหกรรมนมที่ดีติดอันดับโลกเช่นกัน ซึ่งเมื่อเทียบความต้องการของบ้านเราแล้ว ความต้องการนมและโคเนื้อ มันไม่เพียงพอ ฉะนั้นการจัดทำเอฟทีเอเพิ่มขึ้น อัตราภาษีค่อยๆ ลดลง นมและโคเนื้อเป็น sensitive list ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ภาษีจะค่อยๆ ทยอยลดลงเป็น 0 ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แต่ในปัจจุบันก็เริ่มทยอยลดลงแล้ว ฉะนั้นเมื่อปัจจุบันการนำเข้าอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจน แต่ในอีก 5 ปี 10 ข้างหน้า การนำเข้าจะเยอะกว่านี้มาก

 

ในเอฟทีเอไม่ใช่แค่เรื่องนำเข้าและส่งออก ยังมีเรื่องการลงทุนและประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้าอีก ตรงนี้อาจารย์ได้ดูด้วยไหม

ดูครับ เราดูเรื่องภาคบริการ คนไทยพูดถึงเรื่องภาคบริการน้อยมาก ในขณะที่ภาคบริการเป็นภาคที่ทำรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 50 %  ภาคบริการจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นจุดสรุปของประเทศไทยเกี่ยวกับเอฟทีเอ ภาคบริการเกี่ยวข้องกับการลงทุน เรื่องของการเคลื่อนย้ายคน มีทั้งการที่บริษัทไทยต้องไปทำ ไปตั้งในจีน ในอนาคต และบริษัทจีนเข้ามาไทย บริษัทไทยต้องเข้าไปแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่น สหรัฐต้องเข้ามาตั้งบริษัทของเขาในประเทศไทย ถามว่ากฎระเบียบเหล่านี้เราได้คุยกันมากพอหรือยัง

 

ประเด็นที่สองคือ การเคลื่อนย้ายคนในภาคบริการ การที่คนไทยไปทำงานในญี่ปุ่น ในสหรัฐ ออสเตรเลีย ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ต้องเข้ามาแข่งขัน เข้ามาแย่งงานคนไทยทำ เหล่านี้ยังไม่มีการคุยให้ชัดเจน ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน น่าห่วงใย ปัจจุบันสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ายุทธศาสตร์ภาคบริการไทย ไม่มี ฝากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปจัดทำโดยด่วน ผมก็ยังสงสัยอยู่จนทุกวันนี้ว่า เวลาเราพูดถึงเอฟทีเอในกรอบของภาคบริการ ไม่รู้หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือ รัฐบาลเอาตรงไหนไปคุย หรือเอาตรงไหนเป็นเกณฑ์

 

ถ้ายกตัวอย่างภาคบริการของไทยกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเปิดให้เราประมาณ 60 หรือ 70 รายการ แต่เราเปิดให้ญี่ปุ่นประมาณ 14 สาขาภาคบริการใหญ่ๆ  ซึ่งเกี่ยวข้องกับลอจิสติกส์ การขนส่ง การซ่อมรถยนต์ การศึกษา เป็นตัวใหญ่ๆ ทั้งสิ้น และญี่ปุ่นมีศักยภาพ ถามว่าผู้ประกอบการไทยจะทำอย่างไร ตรงนี้ยังไม่มีการพูดกัน เรื่องของการถือหุ้นจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ ยังไม่พูดให้ชัดเจน ถ้าบริษัทไทยต้องไปลงทุนในญี่ปุ่น ใครที่จะไป บริษัทไทยที่จะไปลงทุนในญี่ปุ่นจะเป็นบริษัทเล็ก ผมไม่ห่วงบริษัทใหญ่เขามีศักยภาพ มีเงินทุน มีเทคโนโลยี มีการพัฒนาบุคลากร แต่ที่เป็นห่วงคือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก 80-90% ของบริษัทไทยเป็นแบบนี้

 

ดังนั้น ถ้าจะให้อานิสงส์ของการทำเอฟทีเอเกิดขึ้นจริง มันจะต้องตกทอดมาที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย เมื่อไรก็ตามที่มันไปตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจใหญ่ มันไม่ใช่เอฟทีเอ ที่บอกว่า win-win situation

 

เท่าที่ฟังอาจารย์พูดมา ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ลักษณะการทำเอฟทีเอขณะนี้ผลประโยชน์จะไปตกอยู่ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการทำเอฟทีเอกับสหรัฐขณะนี้ด้วย อาจารย์มองอย่างไร

ไทย สหรัฐที่เป็นห่วงอยู่มากที่สุดตอนนี้คือ เรื่องภาคบริการ สถาบันการเงิน สหรัฐมีโปรดักส์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการเงินออกมามาก ขณะที่ภาคธนาคารของไทยยังไม่สามารถรองรับตรงนี้ได้ เรื่องโทรคมนาคม การขนส่ง เราสู้ไม่ได้เลย เราอาจได้เปรียบตรงสินค้าเกษตรที่จะขยายตลาดมากขึ้น

 

แต่ก็จะเป็นพวกอุสาหกรรมเกษตรของบริษัทใหญ่ๆ ใช่ไหมคะ

ใช่ บริษัทเกษตรใหญ่ ใครมั่งล่ะครับในเมืองไทยที่ส่งออกสินค้าเกษตร ฉะนั้น ที่ขาดอยู่ในปัจจุบันก็คือ การศึกษาว่า เราจะช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในกรอบของเอฟทีเออย่างไรในอนาคต ถ้าเปิดเอฟทีเอแล้ว ตรงนี้ก็เป็นอีกอันที่ยังขาดและต้องพูดกัน ทั้งเรื่องเงินทุน บุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยี่จะขับเคลื่อนอย่างไร ซึ่งเอสเอ็มอีนี้ทุนไม่เยอะ แต่ต้องสู้ในกระแสโลกาภิวัตน์  รัฐบาจะเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร

 

แล้วในส่วนที่เขามาสู้ในบ้านเรานี่จะทำอย่างไร

เรากำลังสู้กับบริษัทใหญ่ๆ กับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐ จริงๆ ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมากมายก็ตอบได้ทันที ลองไปถามแม่ค้า พ่อค้าตามถนนหนทางก็ต้องบอกว่าเราสู้ไม่ได้อยู่แล้ว กรณีของไทยสหรัฐ ไทยญี่ปุ่น ไทยออสเตรเลีย เราค่อนข้างจะเปิดครบทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ แต่ในกรณีของจีนและอินเดีย เราเปิดเฉพาะสินค้าอยู่ มองแล้วก็แปลกๆ นะว่า เออ แทนที่เราจะแข่งขันเล็กๆ ในแง่ของบริษัท ในแง่ความสามารถของคน แต่เราไม่แข่งขัน เราไปแข่งขันในแง่ของการค้าและการลงทุนกับบริษัทใหญ่ๆ เลย ซึ่งค่อนข้างจะเสี่ยง

 

เราทำเอฟทีเอเมื่อเราไม่พร้อมใช่ไหมคะ

มันมีปัญหาที่ว่า เราไม่มีช่องทางการเจรจาในกรอบของดับบลิวทีโอ หลายประเทศที่เป็นสมาชิกดับบลิวทีโอให้ความสำคัญหันมาเจรจาแบบสองประเทศดีไหม โดยแนวคิดแล้ว ผมว่าดี มานั่งคุยกันสองคน เอ ทางนั้นมันเดินไม่ได้ มาเดินทางนี้กันดีไหม ประเด็นก็คือว่า เวลาเจรจากัน เราต้องมานั่งคุยด้วยความเป็นธรรมและเห็นประโยชน์ของประเทศ นั่นคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนามากกว่าเดิม ที่เจรจาในกรอบของดับบลิวทีโอ  

 

สิ่งที่สำคัญต่อไป คือ ขณะนี้รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ กำลังจัดทำเอฟทีเอไปเรื่อยๆ  แล้วเรามีความจำเป็นแค่ไหน มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ  ณ วันนี้เราเคยมองย้อนหลังกลับไปไหมว่า สิ่งที่เราได้เซ็นไปแล้ว ออสเตรเลีย จีน อินเดีย มีตรงไหนบ้างที่ติดขัด ต้องกลับมาแก้ไขอย่างไร รัฐบาลไม่เคยเหลียงหลังเลย รัฐบาลเดินหน้าอย่างเดียว ปัญหาเดิมๆ ก็คือ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การขออนุญาตภายใน 6 เดือน การกักสินค้าที่ท่าเรือ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเลย มันเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ผู้ประกอบการก็ยังบ่นอยู่

 

สิ่งที่อยากเสนอวันนี้ก็คือ ต้องตั้งคณะกรรมการ follow up เอฟทีเอ หรือ คณะกรรมการติดตามเอฟทีเอทีที่ได้เซ็นไปแล้ว








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท