Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ใครที่คิดว่าพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548 เป็นพระราชดำรัสที่ชัดเจนมากกว่าพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาปีใดๆ เห็นทีอาจจะต้องคิดใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายคัดค้าน ซึ่ง ณ วันนี้ ย่อมมิได้หมายถึง พรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็น "ขบวนการสนธิ ลิ้มทองกุล" ต่างก็ตีความเข้าข้างตนเองได้อยู่ดี


 


อย่างไรก็ตามต้องนับว่า การอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทั้งในหน้าสื่อทั่วไปตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งมาจากเวที "เมืองไทยรายสัปดาห์" หรือทั้งจากการชี้แจงของรัฐบาลผ่ายทีวีในกรณี "ทำบุญประเทศ" ที่กลายเป็นประเด็นโจมตีกันไปมาว่า เป็นการ "ดึงฟ้าต่ำ" ก็เป็นอันคลี่คลาย หรือแม้แต่ ณ พื้นที่นี้ที่นำเรื่องนี้มากล่าวถึงโดยปราศจากข้อกังวล นั่นก็เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงตรัสเรื่องนี้ไว้ในพระราชดำรัสเป็นที่ชัดเจนอันมีความว่า


 


"การวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลยพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบากแย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี่ ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี"


 


ถ้าเช่นนั้น พระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 บอกอะไรกับสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์ที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกหยิบยกมาอ้างอิงเพื่อหวังผลทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย


 


ในทางหลักวิชาการ THE KING can do no wrong เป็นหลักที่ถือเอากษัตริย์เป็นองค์สมมติเทพ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความถูกผิดทั้งปวง แต่มิได้หมายความว่าสถาบันนี้จะปลอดพ้นไปจากการเมือง เพราะไม่ว่าวางพระองค์ไม่ยุ่งกับการเมืองเพียงใด แต่ดูเหมือนตลอดรัชสมัยที่ผ่านมาของพระองค์ การเมืองก็ยุงกับสถาบันสูงสุดนี้เสมอมา ตั้งแต่กรณี ปรดี พนมยงค์, 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 หรือกระทั่งปัจจุบัน


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงติดตามข่าวสารบ้านเมืองด้วยพระราชหฤทัยแห่งความเป็นห่วงเป็นใยพสกนิกรเสมอมา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ถ้าเช่นนั้นย่อมทรงทราบถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน จึงทรงดำรัสในเรื่องน้ำมันแพง เรื่องพลังงานทางเลือก ติติงกรณีออกทีวีชี้แจงของรัฐบาล หรือกรณีที่เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ทุกฉบับ คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องการวิจารณ์พระองค์ ทั้งยังทรงมีข้อสังเกตในหลักการประชาธิปไตยแบบทางตะวันตกที่เชิดชูกษัตริย์เป็นสมมติเทพ ความว่า


 


"ความจริงเวลาอ่านตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ มีตำราที่คนอ้างเสมอ และคนที่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนกฎหมายอังกฤษต้องอ้างเสมอ เรื่อง THE KING can do no wrong และนักกฎหมายแถวนี้พยักหน้าว่าใช่ ความจริง THE KING can do no wrong คือการดูถูก THE KING อย่างมาก เพราะว่า THE KING ทำไม can do no wrong ไม่ได้ do wrong แสดงให้เห็นว่า เดอะคิงไม่ใช่คน แต่เดอะคิงทำ wrong ได้ สำคัญที่สุด"


 


ความข้างต้นสำคัญอย่างไร สิ่งสำคัญก็คือ พระราชดำรัสนี้บังเอิญไปสอดคล้องกับ ตัวข่าวสารที่สื่อออกมาจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ครั้งที่สนธิ นำผู้ฟังและผู้ชุมนุมร่วมถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" เป็นครั้งแรก (http://www.manager.co.th/Home/ ViewNews.aspx?NewsID=9480000156691) ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งจากปากของสนธิว่า


 


"ผมจะขออนุญาตพูดถึง "ยุทธการทรราช" ที่พยายามแยกพระเจ้าอยู่หัวฯ ออกจากประชาชนของพระองค์ ซึ่งถ้าเขาทำสำเร็จ ถ้าเขาทำสำเร็จ ต่อให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่ก็จะไม่มีความหมายแล้ว"... และท่อนต่อๆ ไป กล่าวถึง ธงทอง จันทรางศุ ว่า


 


"ที่นายธงทอง จันทรางศุ จำได้ไหม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออก เป็นข้ออ้าง นายธงทอง เธอ (สนธิใช้สรรพนามนี้เรียกธงทอง) ให้ร้ายป้ายสีผมด้วยข้อหาที่เป็นเสมือนการประหารชีวิตทางจิตวิญญาณของการเป็นพสกนิกรชาวไทยอย่างร้ายกาจ


 


"เธอกล่าวหาว่าผมจงใจพูดเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจของพระองค์ ในทางหนึ่งคุณธงทองเธออ้างอิงราชเลขาธิการ เลขานุการองคมนตรี อย่างคลุมเครือ และกำกวม


     


"คือตอนนั้นคุณธงทองท่านได้กล่าวทำนองว่า มีการติดต่อกันระหว่างรัฐบาลกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ไม่ต้องนำมาพูดคุยกัน


      


"เขาบอกอย่างนี้ เขาบอกว่า หนึ่ง เป็นเรื่องภายในรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ สอง โดยธรรมเนียมประเพณี ไม่ว่าของประเทศไทยหรือประเทศอังกฤษ เขาอ้างประเทศอังกฤษนะ ว่าเกี่ยวกับรัฐบาล-พระมหากษัตริย์ ต้องไม่เปิดเผย ซึ่งหมายความว่า บุคคลอื่นก็ไม่ควรกล่าวอ้าง นะฮะ ทีนี้ทั้งสองกรณีนี่มาจากปรัชญาความคิดหรือกระบวนการทางความคิดเดียวกัน และส่งผลใกล้เคียงกัน


 


"ผมนี่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดว่า การกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่ไม่บังควร ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ว่าหลัก ว่าให้ยึดหลักตายตัวว่าการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยนั้น เป็นเรื่องภายในระหว่างรัฐบาลกับพระเจ้าอยู่หัว ถ้าอย่างนั้นแล้ว วันนี้ ทำไมคุณหญิงจารุวรรณถึงกลายเป็นลูกบอล ที่อยู่ในทีมวอลเล่ย์ของรัฐบาลกับอีกฝ่ายหนึ่ง โยนกันไปโยนกันมา...พระมหากษัตริย์ของเรา กับพระมหากษัตริย์ของทางตะวันตก ไม่เหมือนกัน ของเรานี่ประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มต้น จริงๆ แล้วเริ่มต้นแค่ 20 30-40 ปีเอง ที่เหลือนั้นเป็นช่วงของเผด็จการทั้งนั้น พระมหากษัตริย์ของเรามีคุณูปการมากกว่าการเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์เป็นพ่อของแผ่นดิน พระองค์ทรงทำงานในประเทศให้มา 59 ปีแล้ว จะ 60 แล้ว"


 


และขออนุญาตนำข้อความของสนธิในวาระเดียวกันมาอ้างอิงอีกท่อนว่า


 


"พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้เป็นปราชญ์ของแผ่นดิน ท่านเคยเสนอความคิดอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ท่านเอ่ยชื่อปรัชญาอันนี้ว่า ลัทธิราชประชาอาศัย ก็คือ ราชา+ประชา+อาศัย เขาเรียกว่า ลัทธิราชประชาสมาศัย แปลว่าอะไร แปลว่า การกระทำใดๆ ที่มีแนวโน้มไปในทางพยายามแยกพระมหากษัตริย์ออกจากประชาชนนั้นมิบังควร


 


"รวมทั้งการที่เสนอหลักการว่า ประชาชนไม่ควรพูดถึงพระมหากษัตริย์ และการใช้พระราชอำนาจเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระองค์เท่านั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรเช่นกัน การทำความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำไมรู้ไหม เพราะถ้าเราได้รัฐบาลที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเราได้รัฐบาลที่ชั่วร้าย หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เป็นเรื่องรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ประชาชนไม่มีสิทธิ์พูดถึง ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอ่ย แปลว่าอะไร แปลว่า พระองค์ท่านอยู่ในสถานภาพที่ถูกล้อมกรอบโดยรัฐบาล พระองค์ท่านไม่พอใจ ไม่พอพระทัยที่ประชาราษฎร์พสกนิกรลำบาก พระองค์ท่านก็พูดไม่ได้ ตรัสไม่ได้ พวกนี้ก็จะถือหลักว่าเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์คนอื่นอย่ามายุ่ง ก็จะทำอะไรโดยพลการได้ตลอดเวลา แล้วนั่นคือสิ่งซึ่งมันเกิดขึ้นมาภายใน 3-4 ปีที่ผ่านมานี้"


 


ความบังเอิญที่สอดคล้องกันนี้ เมื่อมาถึงตรงนี้ จึงไม่แปลกสำหรับสนธิ ที่จะตีความพระราชดำรัสไปในทางเข้าข้างการเคลื่อนไหวของตนที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ อันมีปลายทางอยู่ที่ "การถวายคืนพระราชอำนาจ" ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


"ระบอบรัฐธรรมนูญ" อันเป็นที่มาของ "ระบบ" ถูกทำให้สั่นคลอนด้วย "ตัวบุคคล" อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกำลังจะสั่นสะเทือนด้วยตัวบุคคลอีกแบบคือ..."สนธิ"


 


หรือสังคมการเมืองไทยไม่มีที่ว่างให้ "ระบบ" ได้สร้างภูมิต้านทานและรักษาแผลเน่าอันเกิดจากรัฐธรรมนูญด้วยตัวของ "ระบบ" เอง


 


กลับหน้าแรกประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net