Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis










 



"ถ้ามีก็พังทั้งประเทศ! คิดแต่เรื่องบ้าๆ เรื่องดีๆ ไม่ได้คิด การนำผู้หญิงมุสลิมมาเดินแฟชั่น ไม่ว่าในพื้นที่ไหน ถ้ามีการเอาผู้หญิงมุสลิมมาทำแบบนี้ ก็พังกันหมด ขนาดนางงามมาจากอินโดนีเซียที่เป็นประเทศมุสลิม เขายังมีปัญหาเลย"


 


ทันทีที่ ไพศาล พรหมยงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลาม ได้รับรู้นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการจัดเดินแฟชั่นโชว์ของหน่วยราชการก็แสดงความไม่เห็นด้วยออกมาอย่างเกรี้ยวกราดดุดัน


 


เหตุใดเขาจึงมีอารมณ์และปฏิเสธแนวความคิดนี้อย่างเด็ดขาดขนาดนั้น ?


 


ย้อนกลับไปเมื่อวันที่  17พฤศจิกายน ผู้จัดการออนไลน์ได้นำเสนอข่าวเรื่องการจัดประกวดเดินแฟชั่นชุดมุสลิมของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาค 11 (สภ.11กสอ.) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าใน 3 จังหวัดภาคใต้


 


ทั้งนี้ จะมีการคัดเลือกนายแบบและนางแบบ โดยส่วนหนึ่งจะรับสมัครจากในพื้นที่ และกำหนดคุณสมบัติบางอย่าง เช่น อายุไม่เกิน 25 ปี ส่วนสูงนายแบบไม่น้อยกว่า 175 เซนติเมตร ส่วนสูงนางแบบไม่น้อยกว่า 168 เซนติเมตร เอวนางแบบไม่เกิน 25 นิ้ว เมื่อสอบถามกลับไปยัง สภ.11 กสอ. ก็ได้รับการยืนยันว่า มีโครงการดังกล่าวจริง ภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิม


 


เจ้าหน้าที่ประสานโครงการดังกล่าวให้รายละเอียดเพิ่มว่า การเดินแฟชั่นครั้งนี้จะแถลงข่าวในวันที่ 10 มกราคม 2549 ส่วนการเดินแฟชั่นนั้นจะมีขึ้นใน วันที่ 17 มกราคม 2549  โครงการนี้ ได้งบประมาณมาจาก กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต) เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในพื้นที่  เพราะ กอ.สสส.จชต. พบว่า หลายบ้านใน 3 จังหวัดมีความรู้เรื่องการตัดเย็บ แต่ต้องค้าขายผ่านพ่อค้าคนกลางที่มาสั่งตัดเป็นรูปแบบลวดลายแบบต่างๆ  สภ.11 กสอ. จึงสนับสนุนเพื่อจะได้ค้าขายเสื้อผ้าโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว


 


เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการยืนยันอีกว่า ได้ปรึกษากับผู้รู้ทางศาสนาในจังหวัดปัตตานีแล้ว และจะออกแบบเสื้อผ้ารูปแบบใหม่ตามคำแนะนำนั้น นอกจากนี้ทางผู้รู้ทางศาสนาเน้นว่า ห้ามให้ผู้หญิงมุสลิมมาเดินแบบแฟชั่นโชว์  จึงกำหนดให้ผู้เดินแฟชั่นเป็นผู้หญิงจากทางกรุงเทพฯ 3 คน นางแบบอื่นๆ ทั่วไป รวมทั้งนางแบบที่รับสมัครเอง จะเป็นนางแบบไทยพุทธที่แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายมุสลิม


 


อย่างไรก็ตาม ถ้าคนที่สนใจมาเดินแฟชั่นเป็นคนมุสลิมก็รับ เพราะเป็นความเชื่อแต่ละคน ผู้นำทางศาสนาเขาบอกจะไม่ห้ามอะไรมากมาย โดยบอกว่าอยู่ที่แต่ละคนคิด


 


"ทางเราคงพูดได้ว่าคนมุสลิมที่มาเดินแบบคงเป็นส่วนน้อยที่สุด ไม่เน้นนายแบบนางแบบ แต่จะเน้นที่เสื้อผ้าที่ออกแบบมา" เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว


 


แต่การเดินแฟชั่นมุสลิมจะไม่มีผลกระทบอื่นๆ ตามภายหลังจริงหรือ ?


 


สายตาบนเรือนร่าง ความเป็นคนและวิถีอิสลาม


ปกติการเดินแฟชั่น หรือการประกวดนางงามต่างๆ มักจะถูกตั้งคำถามจากทางสังคมอยู่แล้วว่า เป็นการเห็นคนโดยเฉพาะผู้หญิงเป็นสินค้า คือใช้เรือนร่างเป็นจุดขาย จนมีคำศัพท์เรียกการกระทำดังกล่าวว่า "กระบวนการแปรสาวงามให้เป็นทุน"


 


เมื่อประเด็นนี้ลามไปถึงโลกมุสลิมที่มีข้อห้ามชัดเจนในเรื่องการอวดเรือนร่าง จึงอาจกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงได้


 


"บอกได้เลยว่าถ้ามีโครงการนี้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกมองเลยว่ามีความตั้งใจที่จะทำลายล้างประเพณีอันดีงามของคนไทย-มลายูมุสลิม ไม่เชื่อว่า คนคิดไม่รู้ ไม่เชื่อว่าคนที่มีวุฒิภาวะที่รับราชการจะไม่รู้เรื่องแบบนี้ การที่คิด ก็แสดงว่าคิดทั้งๆ ที่รู้ คือเจตนาที่จะเป็นบ่อนทำลาย  ในคำสอนศาสนาอิสลามมีว่าผู้หญิงไม่ใช่เครื่องมือหากินของใคร


 


"ในประเทศมุสลิมไม่มีการเดินแฟชั่น เพราะถือว่าผิดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง การส่งเสริมของเขาจะขายชุด ไม่ได้ขายคน คือโชว์ชุด ขอถามว่า เวลาเดินแบบ เราดูคนหรือดูชุด ส่วนมากก็ดูคนทั้งนั้น ถ้าดูชุดก็ไม่ต้องเอาผู้หญิงสวยมาเดินหรือเสียค่าตัวแพงหรอก ผู้หญิงไม่ใช่เครื่องมือไปสร้างประโยชน์ แต่เป็นเพศที่ต้องดูแลรักษา ในมุมนี้คนบอกว่า เป็นการกดขี่ทางเพศ แต่ความจริงไม่ใช่ กลายเป็นว่า การเอานางงามมาเดิน มาแต่งตัวอวดกัน กลับกลายเป็นเรื่องที่ยกย่องส่งเสริมให้เป็นวัตถุนิยมกัน" ไพศาล กล่าว


 


เหตุผลที่ไพศาลยกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ อาจเป็นเพราะว่า เรื่องการแต่งกายในศาสนาอิสลามมีความเคร่งครัดสูง โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีพันธะผูกมัดมากกว่าผู้ชาย การแต่งกายของผู้หญิงมุสลิม ถือว่าเป็นกฎหมาย (Law) เลยทีเดียว เป็นสิ่งต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืน ถือว่าผิด ส่วนการแต่งกายของผู้ชายเป็นเพียงวิถีปฏิบัติ (Folkway) เท่านั้น


 


ดังนั้น การจัดเดินแฟชั่นมุสลิมในเดือนเดือนมกราคมนี้ แม้จะเป็นการออกแบบชุดให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามก็ตาม แต่คงปฏิเสธเรื่องการอวด การโชว์เรือนร่างไม่ได้อย่างที่นายไพศาลตั้งข้อสังเกต เพราะการเดินโชว์นั้นหมายถึง การทำให้เห็น เป็นที่จับจ้องแก่สาธารณะ


 


ยิ่งในสถานการณ์ที่ง่ายต่อการยั่วยุเช่นนี้ คงต้องทำความเข้าใจกับประเด็นที่มีความอ่อนไหวให้มากขึ้น  ความเข้าใจในเรื่องเรือนร่าง และการแต่งกายตามหลักอิสลามจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ


 


เรือนร่างในวิถีอิสลาม


ในอัลกุรอาน ซูเราะห์นูร โองการที่ 31 ได้ระบุถึงเรื่องเรือนร่างและการแต่งกายในส่วนที่เกี่ยวกับผู้หญิงไว้อย่างชัดเจนว่า "จึงกล่าวแก่ผู้หญิงผู้ศรัทธาทั้งหลายในพวกนาง ลดสายตาของนางลงต่ำ และปกป้องของพึงสงวนของพวกนาง จงอย่าอวดอ้างเครื่องประดับของนาง เว้นแต่ที่เปิดเผย และให้นางปิดผ้าคลุมศีรษะของนางตลอดมาจนถึงหน้าอกของนาง


 


"และจงอย่าให้นางอวดอ้างเครื่องประดับเว้นแต่แก่สามีของนาง หรือบิดาของนาง หรือบิดาของสามีนาง หรือลูกชายของนาง หรือลูกชายของสามีนาง หรือพี่ชายน้องชายของนาง หรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของนาง หรือพวกผู้หญิงของนาง หรือที่มือขวาของนางครอบครอง หรือคนใช้ หรือผู้ชายที่ไม่สนใจ หรือเด็กๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องของสงวนผู้หญิง และจงอย่าให้นางกระทืบเท้าของนางเพื่อเครื่องประดับที่นางซ่อนไว้อยู่นั้นจะเป็นที่รู้กัน และสูเจ้าทั้งหลายจงหันกลับมาลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! เพื่อสูเจ้าจะได้เจริญ"


 


นอกจากนี้ วจนะของศาสดามูฮัมหมัดศ็อลลัมลอรุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวเตือนเรื่องการอวดเสื้อผ้าไว้อีก ดังนี้


 


"ผู้ใดก็ตามที่สวมใส่เสื้อผ้าแห่งศักดิ์ศรีหรือแห่งศักดินาและอวดบรรดาศักดิ์ในโลกนี้ ก็จงทราบด้วยว่าอัลลอฮ์จะทรงสวมเสื้อผ้าแห่งความอัปยศให้แก่เขาในวันฟื้นคืนชีพพร้อมกับจุดไฟเผาเสื้อผ้านั้นเสียด้วย"


 


คำสอนต่างๆ ข้างต้น ทำให้เข้าใจได้ว่า ศาสนาอิสลามเคร่งครัดเรื่องการแต่งกายหรือการปกปิดเรือนร่างเป็นอย่างมาก


 


เสาวนีย์ จิตหมวด คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ผู้นับถือศาสนาอิสลาม อธิบายถึงหลักสำคัญของการแต่งกายในศาสนาอิสลามที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นจากคำสอนในพระคัมภีร์ว่า ต้องแต่งกายที่ปิดเรือนร่างให้มิดชิด ไม่เป็นลักษณะของการอวดเผยโฉมหน้า หรือเป็นลักษณะของการพรีเซนต์ตัวเอง ดังนั้นการเดินแฟชั่นใดๆ จึงไม่ถูกต้องกับหลักการทางศาสนา


 


คำอธิบายของ เสาวนีย์ สอดคล้องกับ มูฮัมหมัดเปาซี แยนา จากสภายุวมุสลิมโลก ที่กล่าวเสริมว่า "ประเด็นการเอาผู้หญิงไปเดินแฟชั่น มันคล้ายกับการกำลังทำให้สังคมอื่นที่ปฏิบัติแบบนั้นหรือเอาสังคมในเชิงบันเทิงมาทำให้เกิดในคนมุสลิม โดยใช้การพรีเซ็นต์การแต่งกายแบบมุสลิมเพื่อส่งเสริมเรื่องการซื้อขายเรื่องเสื้อผ้ามาเป็นเหตุผล


 


"แต่การส่งเสริมการซื้อขายเสื้อผ้าที่ทำในลักษณะของการเดินแฟชั่น มันเป็นบ่งบอกว่าเป็นการโชว์อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้ออ้างที่จะเลี่ยงใดๆ ได้เลย


 


"ในเรื่องนี้มันขัดกับหลักศาสนาที่ว่า หญิงที่จะเผยโฉมอย่างดงามหรือแต่งตัวฟิตได้ คือผู้หญิงที่อยู่กับสามีของนางเท่านั้น ในความหมายอิสลามคือสามีภรรยาเสนอตัวกันอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อออกไปข้างนอก การแต่งตัวรัดรูปก็จะกลายเป็นข้อบัญญัติที่เริ่มออกนอกกรอบแล้ว เขาปกปิดใบหน้า กับฝ่ามือจริง แต่ส่วนอื่นรัดรูปจนผู้ชายมองตัวเขาว่า ร่างเขาสวยมาก ร่างเขาดีมาก จนเกิดจินตนาการขึ้นมาว่า ถ้าฉันได้อยู่กับนาง ได้นอนกับนาง ถ้าฉันได้นอนกับผู้หญิงคนนี้ ฉันคงจะสำเร็จ เป็นภาพจินตนาการที่วัยรุ่นจะคิดกับผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวแบบนั้น และการเดินแฟชั่นก็อาจส่งเสริมการมองเรือนร่างแบบนั้น


 


"นี่คือความจริงที่เป็นบาปชัดเจน เพราะการโชว์จะทำให้เกิดความเบิกบานใจต่อผู้ที่กำลังมอง แล้วเกิดการยั่วยุ ตรงนั้นจะถือว่าผิดศีลธรรม"


 


บาปในคัมภีร์กับความจริงที่ปรากฏ          


แม้ว่าศาสนาอิสลามจะมีบทบัญญัติที่เคร่งครัดเรื่องการปกปิดเรือนร่างจากความงามของร่างกายเพื่อไม่ให้ดึงดูดจินตนาการของเพศตรงข้ามก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน คนมุสลิมเองสามารถรับรู้เรื่องวิธีการการแสดงความงามของเรือนร่างได้ตลอดเวลา


 


อาจรับรู้ผ่านแฟชั่น หรืออาจรับรู้ผ่านการเห็น การคลุกคลีกับเพื่อนต่างวัฒนธรรมที่ไม่เคร่งครัดเรื่องการแต่งกาย หรืออาจรับรู้จากสื่อต่างๆ ที่ปัจจุบันนั้นเข้าถึงได้แทบทุกบ้าน และถ่ายทอดเรื่องราวแทบทุกชนิดบนโลก ไม่เว้นแม้แต่เรื่องรูปลักษณ์ทางความงามที่มองแบบสากล


 


การรับรู้ในความงามที่เข้าถึงได้ได้ตลอดเวลาแบบนี้ ทำให้ง่ายต่อการสร้างสำนึกเรื่องความงามใหม่ในคนมุสลิมเช่นกัน ความงามที่เน้นรูปลักษณ์ภายนอก ถึงแม้จะขัดกับหลักการสอนของศาสนาอิสลาม แต่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะกับวัยรุ่น ในระยะหลังนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสำนึกเรื่องความงามที่แสดงออกทางความคิดหรือทางการปฏิบัติที่ขัดกับหลักศาสนาให้เห็นมากขึ้น


 


มูฮัมหมัดเปาซี แสดงความเห็นด้วยในความกังวลที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนมุสลิมรุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว และยอมรับว่า เรื่องแบบนี้เป็นช่องว่างระหว่างวัยในพื้นที่ แต่เป็นปัญหาที่คนมุสลิมจะต้องหาพื้นที่ตรงกลางมาคุยกันโดยใช้เครื่องมือภายในสังคมมุสลิมมาแก้ปัญหาเอง


 


ดังนั้นจึงไม่ควรส่งเสริมแนวคิดเรื่องความงามแบบการเดินแฟชั่นซ้ำเพื่อปัญหาทีมีอยู่อีก เพราะอาจทำให้คนที่อยากจะสอนลูกหลานให้กลับมาเดินตามหลักศาสนาไม่พอใจ ตรงนี้เหมือนกับเป็นการส่งเสริมให้ลูกหลานของชาวมุสลิมเดินไปในทางที่ผิดจากคำสอนในอัลกุรอ่าน


 


"เรื่องเดินแฟชั่น ถ้าถามเด็กวัยรุ่นหรือนักศึกษาที่เป็นมุสลิม เขาอาจจะเอาด้วย บรรดาผู้ใหญ่ที่เป็นมุสลิมก็กำลังเป็นห่วงเรื่องตรงนี้อยู่แล้ว ถ้ามาส่งเสริมเรื่องแฟชั่น มันจะผิดวัตถุประสงค์ของเขาที่กำลังพยายามสอนลูกหลานในด้านนี้ ยอมรับว่า ผู้หญิงไทยมุสลิมก็มีบางส่วนที่เขาชอบแฟชั่น รักสนุก ต้องกลับมามองก่อนเลยว่า เขารู้หรือไม่ว่าแต่งกายแบบไหนผิด แบบไหนถูก แต่ถ้ารู้อยู่แล้วไม่ปฏิบัติตรงนี้จะมีโทษ


 


"แต่ถ้าเป็นเพราะเขาอยู่ในสังคมแบบอื่นมานานแล้วไม่มีใครมาบอก หรือบอกแล้วทำให้ต้องปรับตัวไปไปเรื่อยๆ ตรงนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องพิพากษาว่า จะต้องตกนรก"


 


"มุสลิมแต่งให้สวยงามได้ แต่ต้องอยู่บนฐานทางศาสนาที่ไม่ใช่การอวดเรือนร่าง เช่น ใส่สีฉูดฉาดจนเป็นที่น่าสนใจแก่คนอื่น การอยู่ในสังคมใหญ่แต่งตัวดีหรือแต่งให้สวยได้ เพียงแต่ต้องรักษากฎเกณฑ์เอาไว้ หนังสือแฟชั่นมุสลิมก็มี เช่น แฟชั่นนิสา แต่นั่นก็อยู่บนฐานที่ผู้ใหญ่คัดค้าน ไม่ต้องอะไรมาก เดี๋ยวนี้เห็นการแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมในภาคใต้ก็เจอเยอะที่แต่งกายไม่ถูก เช่น ใส่ฮิญาบจริง แต่สวมเสื้อแขนสั้น กางเกงรัดรูป


 


"การเดินแฟชั่นน่าจะเป็นวิถีแบบตะวันตกมากกว่า ศาสดาก็สอนว่าอย่าไปเลียนแบบคนอื่น เดี๋ยวจะเป็นพวกเขา ถ้าเลียนแบบพวกแฟชั่น มันก็จะกลายเป็นพวกแฟชั่น ไม่ใช่พวกมุสลิม"


 


แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง นักวิชาการประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีพื้นเพอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงความเป็นห่วงต่อประเด็นดังกล่าว และตั้งคำถามต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าด้วยการจัดเดินแฟชั่นว่า ทำไมต้องมีการเสนอโครงการที่มีลักษณะ Sensitive ทางวัฒนธรรมแบบนี้


 


"มันเป็นเรื่องความไม่เข้าใจทางวัฒนธรรมเหมือนกัน บางทีอาจจะมาจากความหวังดี แต่อาจไม่เข้าใจวัฒนธรรม ต้องถามเขาก่อนตั้งแต่แรกเลยว่า อยากจะให้มีหรือไม่ให้มี ต้องถามทุกกลุ่ม ไม่ใช่คิดไว้หรือตั้งโจทย์ไว้แล้วจึงไปถามว่าจะทำได้ในแบบใด แม้แต่คนตัดเย็บเสื้อผ้าเองก็ต้องถามเขาว่า อยากพัฒนาด้วยการเดินแฟชั่นหรือไม่


 


"การถามนี้เพื่อจะได้นำทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากภายในพื้นที่มาคุยกัน คือให้เขาคุยกันเองก่อน วัยรุ่น กับผู้ใหญ่เขาคิดต่างกัน ทางวัยรุ่นอาจจะเห็นด้วยมากก็จริง แต่การแก้ปัญหาหรือการลดช่องว่างทางความคิดตรงนั้นน่าจะมาจากการคุยกันเองมากกว่าการคิดจากข้างนอก ทางเจ้าหน้าที่เองก็จะไม่ถูกว่าว่าไม่เคารพการตัดสินใจของเขา ไม่เคารพวัฒนธรรมของเขา


 


"หรือแม้แต่การที่จะให้มีการเดินแฟชั่นมุสลิมโดยใช้คนพุทธก็ตาม  การมองโดยปกติ ใครจะรู้ได้ว่าคนที่เดินแบบอยู่นั้น เป็นคนมุสลิมหรือไม่ มันจะทำให้เกิดการตั้งคำถามที่พูดต่อๆ กันไปว่า ทำไมเดี๋ยวนี้คนมุสลิมมาเดินแฟชั่น เวลามีการพูดประเด็นแบบนี้ขึ้นมา ความรู้สึกไม่ดีบางอย่างจะเกิดขึ้น แม้คนทั่วไปอาจจะดูว่าสวยดีเหมือนแฟชั่นผ้าไหม แต่คนมุสลิมจะรู้สึกแบบใด"


 


อย่างไรก็ตาม แพร เองมองว่า การแต่งกายของคนมุสลิมใน 3 จังหวัด มีลักษณะที่ปรับไปให้ความสำคัญกับความสวยงามมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าความคิดของคนแต่ละ Generation แตกต่างกัน จุดที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการเดินแฟชั่นมุสลิมคือ เป็นการกระตุ้นจากภายนอกที่อาจทำให้คนในพื้นที่ไม่พอใจได้


 


"การแต่งกายของคนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ดูจะมีพัฒนาการ ในช่วงอายุต่างกันก็จะมีมุมมองในเรื่องแฟชั่นหรือการแต่งกายที่ต่างกัน ช่วง 30 ปีมานี้ คนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการแต่งกายให้ดูดี ดูสวยขึ้นเช่นกัน อาจมองได้ว่า ส่วนหนึ่งกำลังก้าวสู่ความเป็นทุนนิยม


 


ผู้มีอายุอาจจะรู้สึกว่าตรงนี้เป็น Culture Shock เพราะเขาชินกับการแต่งกายในชุดมุสลิมพื้นบ้าน เช่น กูรงบานง ที่เป็นกระโปรงคลุมลงมาจนหมด แต่หลังจากนั้นมา ในช่วงหนึ่ง มีละครเรื่องเมืองดาหลา นางเอกจะสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว คนในพื้นที่ก็หันมานิยม เรียกว่าชุดดาหลา แต่ผู้ใหญ่ก็จะมองว่าเป็น กูรงบานงแบบเดิมดีกว่า


 


"ตรงนั้นก็เป็นความอะลุ่มอล่วยที่เขาจะคุยกันเองภายใน เช่นว่า หากยังอยู่ในหลักการปกปิดมิดชิด แม้เสื้อผ้ารัดรูปขึ้นแต่ยังคลุมฮิญาบ ก็ทำได้ ตรงนั้นจะเป็นเรื่องการประนีประนอมระหว่างวัยจากภายในพื้นที่ แต่การจัดการเดินแฟชั่นในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการกระตุ้นจากด้านนอก


 


"มองในมุมนี้ทำให้ผู้ใหญ่ของคนมุสลิมไม่ต่างจากกับผู้ใหญ่อื่นๆ ที่มีต่อวัยรุ่นทั่วไป ถามว่าผู้ใหญ่พุทธเขาอยากเห็นลูกหลานใส่สายเดี่ยวกันแค่ไหน แล้วตรงนั้นไม่ดีตรงไหน ในเมื่อสังคมก็มาตั้งคำถามกันว่า คดีข่มขืนมาจากการแต่งตัวล่อแหลมหรือไม่


 


"เรื่องแบบนี้เขาจะมีวิธีการจัดการกันเองภายใน แต่หากคนอื่นเข้าไปพูด กระทำ หรือจัดการ มันทำให้มีปัญหาตามมาได้ เพราะตรงนั้นอาจหมายถึงการกระทำที่อาจแปรเป็นความไม่เข้าใจระหว่างกัน ตอนนี้คนในสามจังหวัดภาคใต้กับรัฐไทยมีความไม่เข้าใจกันมากอยู่แล้ว ดังนั้นหากลงไปส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในลักษณะการเดินแฟชั่น โดยอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง ก็ต้องคิดอีกชั้นด้วยว่า ควรพัฒนาแบบใดจึงจะไม่เข้าใจผิดกัน"


 


แพร กล่าวเสริมในสิ่งที่รัฐควรจะทำมากกว่าว่า "ท้องถิ่นมีความหลากหลาย ถ้าคิดว่าจะเคารพความหลากหลาย ก็ควรให้เขาออกแบบเอง แล้วก็เติมให้บางส่วน เช่น ถ้าจะส่งออกเสื้อผ้า ต้องสวยแค่ไหน เติมตรงนั้นจะไม่ขัดกับหลักศาสนาเลย อีกอย่างคือ ถามว่าอะไรที่เขาต้องการ อะไรไม่ต้องการ บางคนอยากทำพิซซ่าส่งออกก็มี แต่ไม่รู้ว่าจะถนอมอาหารอย่างไรให้ไปถึงเมกกะได้ เคยได้ฟังมา แต่เราไม่ได้เรียนฟู้ดไซน์ เลยไม่รู้จะบอกอย่างไร แต่ตรงนี้เป็นความต้องการของเขา ต้องไปถามตรงนั้นว่า ต้องการจริงๆ หรือเปล่า จะได้นำไปสู่การส่งเสริมเรื่องการอบรมการถนอมอาหาร เป็นต้น


 


"ใน 3 จังหวัดภาคใต้มีศักยภาพในการพัฒนาการผลิต แต่ควรรอบคอบเรื่องวิธีการ บางเรื่องเขามีภูมิปัญญา มีทางออกเองอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร ถ้าสิ่งเหล่านั้นมาจากวัฒนธรรมของเขาเองเขาก็จะยอมรับได้ ควรช่วยในสิ่งที่เขาทำไม่ได้เช่น หาตลาด รองรับราคาค่าขนส่ง หรืออย่างบอกว่าจะไปทำเอฟทีเอ แล้วพื้นที่ตรงนี้จะมีอะไรดีขึ้น เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง  หรือในทางกฎหมายก็ช่วยได้ เช่น ปรับแก้กฎหมายในส่วนที่พ่อค้าคนกลางจะไม่ไปกดขี่เขาเป็นต้น"


 


ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความอ่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งใดที่เข้าไปกระทบจากภายนอกแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะเงื่อนไขเหล่านั้นสามารถนำไปขยายให้ใหญ่โตได้ไม่ยากด้วย "ข่าวลือ" ที่สำเร็จมาแล้วในหลายต่อหลายครั้ง


 


หวังเช่นกันว่าประเด็น "แฟชั่นโชว์มุสลิม" จะไม่กลายเป็นความหวังดีที่ถูกแปรสภาพเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่อย่างที่หลายคนเป็นห่วง


 


 


 


อ่านความเห็นท้ายข่าว


 


กลับหน้าแรกประชาไท


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net