Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


สถานการณ์ "เงินคงคลัง" ที่เริ่มลดลง จนทำให้มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2549 ในด้านหลักคือ ขยายกรอบเพดานการกู้เงินในประเทศจาก 170,000 ล้านบาท เป็น 250,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เพิ่มอีกประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐอยู่ในภาวะที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ


ประเทศไทยเคยมีเงินคงคลังเกือบ 400,000 ล้านบาท ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่หลังจากนั้นธุรกิจเกือบทั้งระบบต้องล่มสลายเมื่อเกิดภาวะค่าเงินบาทลอยตัว หุ้นตก บริษัท ห้างร้านปิดกิจการ คนตกงาน ภาระหนี้เพิ่มสูงมากเกือบทุกครัวเรือน ด้วยเพราะการใช้จ่ายเกินตัวของภาคเอกชน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลในช่วงเวลานั้นต้องประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินคงคลังที่มีมากเกือบ 400,000 ล้านบาท ก็ลดลงเรื่อย ๆ จนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง


แต่ความล่มสลายของเศรษฐกิจในปี 2540 ได้ทำให้ประชาชนไทยทุกภาคส่วน ตระหนักถึงความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาของการพึ่งพาทุน เทคโนโลยี และตลาดภายนอกประเทศเป็นด้านหลัก และหันมาศึกษาวิเคราะห์พระราชดำรัสในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างจริงจัง หลังจากที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัส เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งได้มีการขานรับนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติกันหลายหน่วยงาน


โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้นำ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย วางแผน และทำแผนปฏิบัติการในทุกระดับ อีกทั้งเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกัน ตลอดจนเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตที่ดีของคนในชาติ เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่จนถึงบัดนี้จะมีสักกี่คนที่ยังยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงนี้อยู่


 คนส่วนมากมักเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงผู้ประกอบอาชีพอื่น เช่น พ่อค้า ข้าราชการ และพนักงานบริษัทต่างๆ สามารถนำแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างดี


เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสว่า คำว่า "พอเพียง" ในที่นี้หมายถึง "พอมีพอกิน"  และ "พอมีพอกิน" ก็หมายความว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี ประเทศไทยสมัยก่อนพอมีพอกิน มาสมัยนี้อิสระ ไม่มีพอมีพอกิน จึงจะต้องเป็นนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้ทุกคนพอเพียงได้ พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ


ทั้งยังทรงเปรียบเทียบคำว่า พอเพียง กับคำว่า  "Self-Sufficiency"  ที่หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง หรือเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข


ฉะนั้น ความพอเพียงก็แปลว่าความพอประมาณและความมีเหตุผล เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้ สิ่งก่อสร้างจะอยู่มั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจของทุกคนทุกอาชีพ ทั้งที่อยู่ในเมืองและอยู่ในชนบท เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัท ถ้าจะต้องขยายกิจการเพราะความเจริญเติบโตจากเนื้อของงาน โดยอาศัยการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือหากจะกู้ยืมก็กระทำตามความเหมาะสม ไม่ใช่กู้มาลงทุนจนเกินตัวจนไม่เหลือที่มั่นให้ยืนอยู่ได้


เมื่อภาวะของเงินผันผวน ประชาชนก็จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว สำหรับเกษตรกรนั้นก็ทำไร่ทำนา ปลูกพืชแบบผสมผสานในที่แห้งแล้งตามแนว "ทฤษฎีใหม่" ได้สำเร็จ หากไม่มีความพอประมาณในใจตน นึกแต่จะซื้อรถปิคอัพคันใหม่ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ อยู่ร่ำไป ก็ย่อมไม่ถือว่าประพฤติตนอยู่ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ


เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานให้ประชาชนดำเนินตามวิถีแห่งการดำรงชีพที่สมบูรณ์ เป็น วิถีชีวิตไทยที่ยึดเส้นทางสายกลางของความพอดี คือ


ความพอดีด้านจิตใจ : ต้องเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ มีจิตสำนึกที่ดี เอื้ออาทร ประณีประนอม นึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวม


ความพอดีด้านสังคม : ต้องมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รู้จักผนึกกำลัง และที่สำคัญมีกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากฐานรากที่มั่นคงและแข็งแรง


ความพอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด และที่สำคัญใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคงอยู่เป็นขั้นเป็นตอนไป


ความพอดีด้านเทคโนโลยี : รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการ และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้านของเราเอง และสอดคล้องเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของเราเอง


ความพอดีด้านเศรษฐกิจ : เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพอควร พออยู่ พอกิน สมควรตามอัตตภาพ และฐานะของตน


สำหรับในภาคอุตสาหกรรม พระองค์ทรงตรัสว่า ก็สามารถนำ "เศรษฐกิจพอเพียง" มาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกันคือ เน้นการผลิตด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกินไป เพราะหากทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็จะต้องพึ่งพิงสินค้าวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตสินค้า เราต้องคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ในประเทศก่อน จึงจะทำให้ประเทศไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติอย่างเช่นปัจจุบัน ดังนั้น เราจะต้องช่วยเหลือประเทศให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นการช่วยลด ปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วนที่เรานำมาใช้ในการผลิตให้เป็นลักษณะพึ่งพา ซึ่งมีมาแล้วเกือบ 20 ปี แต่ทุกคนมองข้ามประเด็นนี้ไป ตลอดจนได้รับผลจากภายนอกประเทศทำให้ประชาชนหลงลืม และมึนเมาอยู่กับการเป็นนักบริโภคนิยม รับเอาของต่างชาติเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว และรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" มาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มงานพัฒนาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะด้านการเกษตร ซึ่งโดยทั่วไปเน้นการ ผลิตสินค้า เพื่อส่งออกเป็นเชิงพาณิชย์ คือ เมื่อปลูกข้าวก็นำไปขาย และก็นำเงินไปซื้อข้าว เมื่อเงินหมดก็จะไปกู้ เป็นอย่างนี้มาโดยตลอดจนกระทั่ง ชาวนาไทยตกอยู่ในภาวะหนี้สิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎร


ณ เวลานี้ เสมือนว่าระบบเศรษฐกิจของไทยกำลังละเลยและเริ่มห่างไกลกับคำว่า "พอเพียง" มากขึ้นทุกขณะ ด้านหนึ่งคือการใช้จ่ายเกินตัวของประชาชน การพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อเงินสด เงินด่วน ที่กู้ง่าย-เร็ว แต่คิดอัตราดอกเบี้ยโหด ซึ่งประชาชนยินดีจ่ายเพื่อสนองความต้องการของตนเอง ทำให้คนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นในภาวะที่รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย


 


อีกด้านสำคัญคือ การใช้จ่ายแบบมือเติบของรัฐบาลในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับรากหญ้าผ่านเงินกู้กองทุนหมู่บ้านและการอัดฉีดเม็ดเงินและงบประมาณในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หรือเมกกะโปรเจ็กต์ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล


วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 5 ธันวาคม 2548 พระองค์ท่านได้ตรัสตอกย้ำในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" อีกครั้ง โดยย้ำให้ผู้บริหารระดับนโยบายของประเทศทั้งนายกฯ รองนายกฯ ทำเศรษฐกิจพอเพียงให้เคยชิน ก็อาจจะทำให้อีก 40 ปีประเทศชาติ เพราะถ้าประเทศไม่ประหยัดประเทศไปไม่ได้


"คนอื่นไม่ประหยัด ถ้าคณะรัฐมนตรีประหยัด คณะรองนายกฯ จะทำให้ไปได้ดีขึ้นเยอะ"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสด้วยว่า ถ้าทุกคนเลื่อมใสว่าจะต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะว่าถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ เศรษฐกิจพอเพียง ต้องทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศได้ดี ไปได้ดี


คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจอันใหญ่หลวงมาได้ ด้านหลักสำคัญมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" หาใช่มีไว้ยึดปฏิบัติในห้วงเวลาวิกฤติเท่านั้น แต่สามารถยึดเป็นแนวทางได้ตลอดชีวิต ที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 


 


***********************





 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net