แนะนำหนังสือ : "ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม : จดหมายถึงผู้ที่กล้าสอน"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ







 

ภาพจาก www.amazon.com

 

 

ท่ามกลางกระแสคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกลุ่มองค์กรครู ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมากมายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ รวมไปถึงประเด็นสืบเนื่องจากการหยุดการเรียนการสอนเพื่อเข้าร่วมประท้วง ก็ก่อให้เกิดคำถามถึงจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพที่เรียกว่า "ครู"

 

ไม่ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะถูกอธิบายเยี่ยงไรในสังคมไทย แต่ในสายตาของนักการศึกษานอกระบบ และนักเขียน ชาวบราซิล อย่าง เปาโล แฟร์ (Paolo Freire) กลับมองว่า การประท้วงเพื่อเรียกร้องสภาพแวดล้อมทางการสอนที่ดีกว่า "เป็นสิ่งจำเป็นและยังจำเป็น" เนื่องจาก "แท้ที่จริงแล้วครูที่หยุดงานประท้วงกำลังสอนบทเรียนสำคัญให้แก่เด็กๆ ด้วยการทำให้พวกเขาเห็นของจริง ซึ่งเป็นการต่อสู้อย่างมีความหมาย และนักเรียนยังได้รับบทเรียนอื่นๆ ในระบบประชาธิปไตยอีกด้วย" (จากหนังสือ "ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม จดหมายถึงผู้ที่กล้าสอน  Teachers as Culture Workers) 

 

ในหนังสือ Teachers as Culture Workers หรือครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรมฯ เปาโล แฟร์ พยายามชี้ให้เห็นว่า "การลดทอนการสอนให้เป็นเพียงกระบวนการสร้างความรู้สึกที่ดีๆ โดยเฉพาะการทำตัวเหมือนพ่อแม่ที่คอยพะเน้าพะนอต่อลูกๆ... เท่ากับเป็นการประกาศว่า ครูดีเหมือนพ่อแม่ ดังนั้นครูจะไม่มีวันประท้วง...อุดมการณ์นี้เองที่ทำให้ครูหมดความสามารถที่จะประท้วงเพื่อผลดีแก่เด็ก อย่างเช่นการเรียกร้องต่อผู้บริหารของโรงเรียน และต่อนักการเมือง เพื่อสภาพการทำงานที่ดีกว่า

 

"แม้ว่าชนชั้นปกครองไม่ได้จงใจสร้างหรือกำหนดม่านหมอกอุดมการณ์นี้ แต่อำนาจการปกปิดความจริงของพวกเขาได้สนองประโยชน์แก่ชนชั้นของพวกเขาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้"

 

อุดมการณ์อันเป็นมายาคติเหล่านี้เอง ที่ เปาโล แฟร์ ให้ความเห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาการศึกษา คือ ผู้สอนต้องกล้าที่จะปฏิเสธต่อมายาคติเดิมๆ เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ซึ่งนั่นหมายรวมถึง "การกล้าปฏิเสธที่จะไม่หลับหูหลับตาใช้ชุดการศึกษาที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนในสำนักงานของตนได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงอำนาจอันเด็ดขาด" เพราะคู่มือการสอนประเภทนี้จะ "สกัดกั้นความกล้าที่จะสร้างสรรค์ อธิปไตยของครูและอธิปไตยของโรงเรียน"

 

เปาโล แฟร์ กล่าวว่า การมีชีวิตอย่างถ่อมตน ความรักความเมตตา ความกล้า ขันติธรรม การตัดสินใจอย่างแน่วแน่ การสร้างสมดุลระหว่างความอดทน-ไม่อดทน และการรู้จักประหยัดถ้อยคำ

คือคุณสมบัติสำคัญสำหรับครูหัวก้าวหน้าที่จะทำให้ "โรงเรียนมีความสุขสนุกสนาน...เป็นโรงเรียนที่คิด มีส่วนร่วม สร้างสรรค์ มีความรัก มีการพูดคุย มีการคาดเดา อ้าแขนรับชีวิตด้วยอารมณ์แรงกล้าและความรู้สึกที่เข้มข้น ไม่ใช่โรงเรียนที่เงียบเหงาแล้วลาจากกัน"

 

เปาโล แฟร์ ให้ความเห็นว่านักการศึกษา หรือครู มีสิทธิที่จะผนึกกำลังกัน "เพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขา สิทธิที่ว่านี้รวมถึงเสรีภาพในการสอน เสรีภาพในการพูด เสรีภาพที่จะได้รับสภาพการทำงานด้านการศึกษาที่ดีกว่า สิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนในระหว่างลาเพื่อศึกษาเพิ่มเติม สิทธิที่จะรวมกลุ่มกัน สิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแก้เผ็ด สิทธิต่อหน้าที่ที่ต้องกระทำอย่างจริงจังและรวมพลังกัน และสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องหลอกลวง" เพราะ "ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานั้นไม่ได้มีเฉพาะแต่ปัญหาการสอนเท่านั้น แต่อาจเป็นปัญหาทางการเมือง ทางจริยธรรมและปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย"

 

ขณะที่ เปาโล แฟร์ สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของครูในหลายๆ ด้าน แต่เขาก็ย้ำไว้ในหนังสือ ว่า "ครูก็เป็นมนุษย์เหมือนกับนักเรียน" ครูจึงมีสิทธิที่จะถูกตั้งข้อสงสัย มีสิทธิที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเรียน

 

เมื่อเป็นดังนี้เราจึงไม่สามารถที่จะคาดหวังการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ "จากครูผู้ประท้วงการบริหารที่เคร่งครัดจำกัดเสรีภาพในการสอน  แต่ตัวเองก็จำกัดเสรีภาพของผู้เรียนอย่างน่าละอายใจในเวลาเดียวกัน"

 

คำถามที่น่าสนใจสำหรับวันนี้เกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษาของกลุ่มองค์กรครู ก็คือ วันนี้กลุ่มครูที่กำลังแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตย พร้อมเปิดใจให้นักเรียนของพวกท่านตั้งคำถาม ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์การสอนของพวกท่านแล้วหรือยัง?

 

กลับหน้าแรกประชาไท








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท